[คำที่ ๙] เมตตา
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “เมตตา”
โดย อ. คำปั่น อักษรวิลัย
เมตตา มาจากคำภาษาบาลีตรงตัว คือ เมตฺตา (อ่านว่า เมด-ตา) มาจากคำว่า มิตฺต (ความเป็นมิตร,ความเป็นเพื่อน) + ณ ปัจจัย แปลง อิ เป็น เอ และลง อา สระที่สุดศัพท์ สำเร็จรูปเป็นเมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี มุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น ดังข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีว่า
“เมตตา มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ มีการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นกิจ มีการกำจัดความโกรธ ความอาฆาตเป็นอาการปรากฏ มีการมองเห็นสิ่งที่น่าพอใจของสัตว์ทั้งหลาย (คือไม่เป็นศัตรู) เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เมตตานี้มีการสงบพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดขึ้นแห่งเสน่หา(ความติดข้อง หรือ โลภะ)เป็นวิบัติ”
เมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี มีความปรารถนาดี ไม่มีความหวังร้ายหรือมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การที่เมตตาจะมีหรือจะเกิดขึ้นจนมีกำลังยิ่งขึ้นในจิตใจของแต่ละบุคคลได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาและอบรม ในเบื้องต้นต้องเห็นโทษของความโกรธ และเห็นคุณของความไม่โกรธ ประการที่สำคัญ คือ การได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงที่เป็นปัจจัยแก่เมตตา ย่อมจะทำให้ความโกรธลดลง และทำให้เมตตาเกิดในชีวิตประจำวันได้
การที่จะเป็นผู้มีเมตตาได้ตลอดไป คือ ไม่มีความโกรธเกิดอีกเลยนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล พระอนาคามี เป็นบุคคลผู้ละความโกรธได้อย่างเด็ดขาด และการที่ผู้ใดจะมีเมตตาเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้นั้น ก็เป็นเพราะผู้นั้นอบรมเจริญปัญญารู้ว่า สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งสมมติบัญญัติเรียกชื่อไปตามอาการที่ปรากฏต่างๆ กันเท่านั้น แต่โดยลักษณะที่แท้จริงแล้ว เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ
การกระทำในสิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เมตตาจึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน การที่จะมีเมตตา มีได้ทุกขณะเลยในขณะที่ไม่รู้สึกโกรธ หรือว่าไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่าตัวเองมีเมตตาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็จะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่มีเมตตา ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว ถ้ารู้ตัวอย่างนี้ ความโกรธก็จะลดลง เมตตาก็จะเพิ่มขึ้นแทนความโกรธได้
การที่จิตใจแต่ละบุคคล มีความรู้สึกเป็นเพื่อน เป็นมิตรกับผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นี่คือ ความเป็นผู้มีเมตตา ใครก็ตามที่คิดจะเจริญเมตตาจริงๆ นั้น ไม่ยากเลย คือ ไม่ต้องท่องเมตตา เพราะเมตตา ไม่ใช่เรื่องท่อง แต่เป็นธรรมที่ควรอบรมให้มีขึ้น โดยการช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับคนอื่น แล้วก็สังเกตจิตใจของตนเอง เวลาที่เกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลใด ก็แสดงว่าขาดเมตตาต่อบุคคลนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม คือ การน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความจริงใจ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า
กราบแทบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
ข้อความบางตอนจาก..
มานัตถัทธสูตรที่ ๕
ลำดับนั้น มานัตถัทธพราหมณ์ นั่งบนอาสนะของตนแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า ไม่ควรทำมานะในใคร ควรมีความเคารพในใคร พึงยำเกรงใคร บูชาใครด้วยดีแล้ว จึงเป็นการดี ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ไม่ควรทำมานะในมารดา บิดา พี่ชาย และในอาจารย์ เป็นที่ ๔ พึงมีความเคารพในบุคคลเหล่านั้น พึงยำเกรงบุคคลเหล่านั้น บูชาบุคคลเหล่านั้นด้วยดี แล้วจึงเป็นการดี บุคคลพึงทำลายมานะเสีย ไม่ควรมีความกระด้างในพระอรหันต์ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะมิได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเพราะอนุสัยนั้น ฯ
ข้อความบางตอนจาก..
หนังสือเมตตา
การอบรมเจริญเมตตานั้น จะเป็นไปได้เมื่อรู้ .. ลักษณะของ เมตตา คือ ไมตรี ความรู้สึกเป็นมิตร ความสนิทสนม ความเกื้อกูล ความนำประโยชน์สุขมาให้ ขณะใดที่เมตตาเกิด ขณะนั้นจิตอ่อนโยนปราศจากมานะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยกตน สำคัญตน และข่มบุคคลอื่น การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ นั้น จะขัดเกลาอกุศลธรรมหลายอย่าง ปกติอาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามี มานะ อิสสา มัจฉริยะ โทสะ และอกุศลธรรมอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่ออบรมเจริญเมตตาขึ้น อกุศลธรรมเหล่านั้นก็จะละคลายลงน้อยไปด้วย
ศีกษาเพิ่มเติม คลิ๊กที่..
แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๑๑
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0607
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0608
ขออนุโมทนาค่ะ