จิตเดิมแท้ประภัสสร
จิตเดิมแท้ ประภัสสร เป็นเพียงวาทะกรรมใช่หรือไม่?
ค้นหาความเข้าใจของคำว่า "จิตเดิมแท้ประภัสสร" ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อมีการฟังธรรมจนเข้าใจ และขัดเกลากิเลสตามลำดับขั้น ละโมหะ โทสะ โลภะได้เป็นสมุจเฉท จนปัญญาเจริญขึ้นและสามารถระลึกถึงสภาพธรรม ณ ขณะที่ปรากฎ จิตที่ถูกขัดเกลาจนสิ้นกิเลสแล้ว ย่อมเป็นจิตเดิมแท้ประภัสสร เป็นความเข้าใจที่ตรงตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่าคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นว่า จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที
ประการที่สำคัญ "จิตเดิมแท้" ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า จิตเกิดทีละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน จิตที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย จิตเดิมอยู่ไหน? ในเมื่อจิตเกิดดับสืบต่อทีละขณะ เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
ส่วน จิตประภัสสร มีจริง ซึ่งเป็นจิตที่ผ่องใส มุ่งหมายถึง ภวังคจิต และ กุศลจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิตใคร ก็ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย และสำหรับกุศลจิต ก็ชัดเจนว่า อกุศลประการต่างๆ ไม่สามารถเกิดร่วมกับกุศลจิตได้เลย จึงผ่องใส เป็นจิตประภัสสร ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอเชิญรับฟังเพิ่มเติม...
จิต - ปัณฑระ - ประภัสสร - ภวังค์
ข้อความบางตอน...
ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “ปภัสสร” หรือ “ปภัสสรํ” หรือ “ปภัสสระ” หมายถึง ภวังคจิต และกุศลจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภวังคจิตของคน ของเทพ ของสัตว์เดรัจฉาน อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิตเลย แต่ ภวังคจิตทุกประเภท ทุกภูมิเป็นประภัสสรทั้งหมด เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีอกุศล เจตสิกเกิดร่วมด้วย
ประภัสสร ได้แก่ ภวังคจิต และ จิตที่ดีงาม
ข้อความบางตอน...
ถ้าใช้คำว่า ปัณฑระ หมายความถึง จิตทุกประเภท แต่พอถึง ประภัสสร หมายถึง ภวังคจิต และ จิตที่ดีงามคือกุศล