การบวชอุทิศให้บุพการี

 
vichit
วันที่  5 เม.ย. 2550
หมายเลข  3331
อ่าน  5,952

ไม่ทราบว่าเรื่องนี้มีในครั้งพุทธกาลหรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไรในเรื่องนี้บางคนอาจไม่อยากจะบวช แต่เป็นการฝืนทำตามประเพณีหรือความเชื่อ กรุณาช่วยแนะนำด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 6 เม.ย. 2550

ในสมัยครั้งพุทธกาลส่วนมากผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะท่านรู้จักตนเอง ตามความเป็นจริง เพราะท่านได้สะสมอุปนิสัยในการเห็นประโยชน์ของกุศล เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของการครองเรือน จึงออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิตท่านเหล่านั้นท่านแสวงหาความจริงเพื่อการหลุดพ้นจากวัฏฏะ คือท่านบวชเพื่อตัวท่านจะหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์ ไม่ใช่บวชเพื่อผู้อื่น แต่การทำบุญเพื่ออุทิศให้แก่บุพการีสามารถทำได้หลายประเภทคือทั้งทาน ศีล ภาวนา ก็อุทิศได้จึงไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้แต่บางท่านที่บวชเข้าไปแล้ว ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย การบวชนั้นย่อมมีโทษต่อผู้บวช และไม่มีกุศลจะอุทิศให้แก่บุพการี การบวชนั้นก็ช่วยบุพการีไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 6 เม.ย. 2550

การตอบแทนพระคุณท่าน มิใช่ด้วยการบวชแต่ให้ท่านเข้าใจพระรรม ชื่อว่าตอบแทนจริงๆ ครับ และควรเข้าใจจุดประสงค์ในการบวชที่ถูกต้องครับ ดังแสดงดังต่อไปนี้ ลองอ่านดูนะ เรื่องการตอบแทนพระคุณมารดา บิดาที่แท้จริง

บุคคล ๒ พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 357

เชิญคลิกอ่านที่นี่ >>> บุคคล ๒ พวก ที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

เรื่องจุดประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 73

ข้อความบางตอนจาก รัฐปาลเถรคาถา

จริงอยู่ กามทั้งหลายวิจิตรด้วยรูป เป็นต้น คือมีรูปแปลกๆ โดยเป็นรูปสีเขียว เป็นต้น. กามทั้งหลายแสดงความชอบใจโดยประการนั้นๆ ด้วยรูปแปลกๆ นั้นอย่างนี้แล้ว ย่อมย่ำยีจิต คือไม่ให้ยินดีในการบรรพชาเพราะเหตุนั้น เราเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย โดยมีความยินดีน้อยมีทุกข์มาก เป็นต้น เพราะฉะนั้น คือเพราะการเห็นโทษในกามคุณนั้น เราจึงบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 6 เม.ย. 2550

ยุคนี้ไม่เหมาะที่จะบวชเพราะบวชแล้วอยู่ยาก ทำอะไรก็อาบัติง่ายมาก เช่น พระพุทธเจ้าบัญญัติไม่ให้พระภิกษุรับเงินทอง ฯลฯ และในพระไตรปิฏกมีกล่าวไว้ว่า ภิกษุในอนาคตบวชแล้วไม่ทำตามพระวินัย ตกนรกเป็นส่วนมาก การที่จะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการเจริญกุศลทุกอย่าง บุญมี ๑๐ อย่าง ตั้งแต่ ทานการให้ การช่วยเหลือคนอื่น การฟังธรรม การอนุโมทนาเวลาเห็นคนอื่นทำความดี การอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ การให้ธรรมะ การอุทิศกุศลให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นบุญเป็นกุศลจิตที่สามารถอุทิศให้ได้ แต่ถ้าบุพการียังมีชีวิต เราก็พาท่านไปทำบุญ ทำทาน ฟังธรรมบ้าง เลี้ยงดูท่าน อยู่เป็นเพื่อนท่านเท่าที่มีโอกาส

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 6 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มหา
วันที่ 13 เม.ย. 2550

ดูเหมือนหลายท่าน จะมองเรื่องการบวชเป็นเรื่องไม่ดี แต่ในสมัยพุทธกาลก็มีบางคนที่ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา หรือเพื่อที่จะทำที่สุดทุกข์แต่ประการใด เพียงแค่ต้องการจะเรียนมนต์เท่านั้น แต่แล้วก็ได้เข้าใจธรรมะ ได้ดวงตาเห็นธรม แล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ ใครเลยจะสามารถรู้ได้เล่า ว่าผู้ที่บวชมาแล้วตามประเพณีในปัจจุบันเขาอาจจะไม่สึก แล้วก็ปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปในเพศบรรพชิตก็ได้ จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของอัธยาศัยและการสั่งสมมา ไม่ใช่ว่าการบวชมาไม่ดี แล้วเป็นอยู่ยาก ที่บวชมาแล้วประพฤติไม่ดี อยู่ลำบาก มันเป็นเรื่องของบุคคลต่างหาก ไม่ใช่เพราะการบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
sutta
วันที่ 13 เม.ย. 2550

การบวชเพื่อขัดเกลาอกุสลธรรมให้เบาบางลง

บวช เป็นภาษาบาลี มาจาก ป (ทั่ว) + วช (เว้น) ดังนั้นจึงแปลว่าเว้นทั่ว เว้นจากคิหิสัญโญชน์ เว้นจากกามทั้งปวง เว้นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย ดังนั้น กุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตควรตั้งปุพพเจตนาเพื่อขัดเกลาอกุสลธรรมให้เบาบางลง และเจริญกุสลอันเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ อันจะนำไปสู่อุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่สุด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 13 เม.ย. 2550

บุคคลที่จะรู้จริตและอัธยาศัยของสัตว์อย่างแท้จริงอันประกอบด้วยพระญาณต่างๆ คือ พระพุทธเจ้า พระองค์มิได้บังคับให้ใครบวชหรือไม่บวช แต่พระองค์ทรงทราบว่าใครควรบวช แม้ตอนแรกจุดประสงค์จะไม่ถูก แต่เขามีอุปนิสัยในเพศบรรพชิต ใครรู้ พระพุทธเจ้ารู้ ดังเช่นพระวังคีสะ เรียนมนต์ ทำนายกะโหลกคนตายว่า จะไปเกิดที่ไหน พระองค์ตรัสว่าถ้าต้องการเรียนมนต์กับเรา ก็ต้องบวช เพราะพระวังคีสะ มีอุปนิสัยจนถึงพระอรหันต์ นั่นเอง ถามว่าใครรู้ ก็พระพุทธเจ้ารู้ ถามว่าทำไม พระพุทธเจ้าไม่ให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบวช ก็ท่านไม่ได้มีอุปนิสัย ที่จะละเพศฆราวาส และได้เป็นถึงพระอรหันต์ ดังนั้นการจะให้บุคคลใดบวชแม้เพื่อเรียนมนต์ ก็ด้วยพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้ว่าเขามีอุปนิสัยแต่ปัจจุบันมิใช่ใครอยากบวชก็บวช โดยไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช และความเข้าใจพระธรรม ถ้าอัธยาศัยเป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร และคำว่า มีอัธยาศัยอย่างนั้น คำว่าอัธยาศัยคือ ไม่ยินดีในการครองเรือน และวัตถุกาม ไม่มีใครบังคับแต่ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

เรื่อง เมื่อฟังธรรมจนเข้าใจแล้วจึงบวช

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 6

เชิญคลิกอ่านที่นี่ >>> เมื่อฟังธรรมจนเข้าใจแล้วจึงบวช [ฆฏิการสูตร]

ฆฏิการช่างหม้อ เป็นพระอนาคามี ทำไมไม่บวช

โชติปาล ฟังธรรมจนเข้าใจจึงบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
sutta
วันที่ 13 เม.ย. 2550

จุดประสงค์ของการบวชที่ถูกต้อง

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 73

ข้อความบางตอนจาก รัฐปาลเถรคาถา

จริงอยู่ กามทั้งหลายวิจิตรด้วยรูป เป็นต้น คือ มีรูปแปลกๆ โดยเป็นรูปสีเขียวเป็นต้น. กามทั้งหลายแสดงความชอบใจโดยประการนั้นๆ ด้วยรูปแปลกๆ นั้นอย่างนี้แล้ว ย่อมย่ำยีจิต คือ ไม่ให้ยินดีในการบรรพชาเพราะเหตุนั้น เราเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย โดยมีความยินดีน้อยมีทุกข์มากเป็นต้น เพราะฉะนั้น คือ เพราะการเห็นโทษในกามคุณนั้น เราจึงบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
sutta
วันที่ 13 เม.ย. 2550

ผู้ศึกษาธรรมควรรู้ ..จุดประสงค์ของการบวชเป็นบรรพชิต

ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตนั้นเพราะเห็นว่าชีวิตของฆราวาสคับแคบ ไม่สามารถเจริญกุศลได้เต็มที่ตลอดเวลา ชีวิตบรรพชิตไม่มีกิจธุระที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง หรือวิตกกังวลมากอย่างชีวิตฆราวาสบรรพชิตนั้นตั้งแต่เช้าก็มีแต่เรื่องของกุศลจิต มีการสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธคุณการออกบิณฑบาตรซึ่งเป็นการเจริญกุศลทั้งผู้ให้และผู้รับ มีการศึกษาธรรม สนทนาธรรม ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นชีวิตที่บำเพ็ญประโยชน์ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ ฉะนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงของการบรรพชา อุปสมบทนั้นก็เพื่ออบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แต่ถ้าบรรพชาอุปสมบทแล้วไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเมื่อสึกออกมาแล้วก็อาจจะเป็นบุคคล ที่ประพฤติไม่ดีแต่สำหรับผู้ที่บวชและได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้วนั้นจะไม่สึกเลยเพราะการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องอบรมเจริญปัญญานานมากไม่ใช่เพียงหนึ่งชาติ แสนชาติดังนั้น เมื่ออบรมเจริญปัญญาในสภาพฐานะของบรรพชิตจนได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิตแล้วจะไม่หวนกลับมาสู่การเป็นคฤหัสถ์อีกเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
devout
วันที่ 15 เม.ย. 2550

การบวชเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา เพราะกระทำได้ยาก ต้องเป็นอัธยาศัยใหญ่จริงๆ คือ ผู้นั้นต้องยินดีพอใจในการบวช จึงจะเป็นกุศล การบวชไม่ได้ขึ้นกับยุคสมัย แต่เป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ที่ต้องการจะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต

ขออนุโมทนาความเห็นของท่าน มหา ที่ว่า "จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของอัธยาศัยและการสั่งสมมา ไม่ใช่ว่าการบวชไม่ดี แล้วเป็นอยู่ยาก ที่บวชมาแล้วประพฤติไม่ดี อยู่ลำบากมันเป็นเรื่องของบุคคลต่างหาก ไม่ใช่ เพราะการบวช "

การบวชเป็นชีวิตที่ประเสริฐ แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศคฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงขึ้นอยู่กับการสั่งสมของแต่ละบุคคลจริงๆ

ขออนุโมทนา ท่านที่มีความยินดีพอใจในการบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
คนรักหนัง
วันที่ 15 เม.ย. 2550

ตามพระวินัย ผู้บวชใหม่ต้องถือนิสสัยอยู่กับพระอุปปัชฌาย์ ๕ ปี พระอุปปัชฌาย์ต้องมีความรู้พระธรรมวินัย สามารถแนะนำ สั่งสอนพระบวชใหม่ได้ ทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ (กิจของพระมีเพียง ๒ อย่างนี้เท่านั้น) พระอุปปัชฌาย์ต้องดูแล พระบวชใหม่ผู้นั้นอย่างดี เหมือนพ่อดูแลลูก ถ้าถึง ๕ ปี แล้วความประพฤติปฏิบัติของพระบวชใหม่นั้นยังไม่ถูกต้อง ก็ต้องถือนิสสัยอยู่กับพระอุปปัชฌาย์ต่อไป ไม่มีกำหนด

ดังนั้น การที่จะมากำหนดว่า จะบวชเท่านั้นวัน เท่านี้ปี ไม่มีหรอกครับ ในคำสอนของพระผู้มีพระภาค แต่ปีนี้ก็เป็นปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ แล้ว อีกไม่นานก็จะเห็นพระภิกษุมีเพียงผ้ากาสาวะพันคอหรือห้อยที่ติ่งหูเท่านั้น และพ.ศ. ๕๐๐๐ พระพุทธศาสนาก็จะสูญจากโลกนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มหา
วันที่ 17 เม.ย. 2550

พ.ศ.๕๐๐๐ ไม่ใช่พระพุทธศาสนาสูญจากโลกนะ แต่ที่หมดไปจากโลกคือ พระอริยบุคคลชั้นเบื้องต้น คือพระโสดาบันต่างหาก แต่ว่าเพศแห่งภิกษุยังคงอยู่ต่อไปไม่มีกำหนด

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 เม.ย. 2550

ตัวชี้วัดว่าศาสนาจะอันตรธานคือ ปริยัติ ถ้าขาดปริยัติ พระพุทธศาสนาก็ชื่อว่าอันตรธานเช่นกัน ส่วนเพศก็มีกำหนดอันตรธาน เช่นกัน มิใช่ อยู่ต่อไปไม่มีกำหนดเมื่อใด ภิกษุทุศีลไม่เห็นสาระ จึงทิ้งท่อนผ้า ชื่อว่า เพศอันตรธาน จึงมีกำหนดครับสำหรับเพศ และเพศ มิใช่เครื่องวัดว่า ศาสนาจะอันตรธาน ปริยัติครับเป็นตัวชี้วัดศาสนาอันตรธาน ขอยกข้อความที่ เพศมีกำหนดอันตรธาน และปริยัติอันตรธาน ชื่อว่าศาสนาอันตรธานครับ ลองอ่านดูนะ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 171

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จักมีโคตรภูบุคคลผู้มีผ้ากาสายพันคอ เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีธรรมอันลามก ชนทั้งหลายให้ทาน ในคนผู้ทุศีล ผู้มีธรรมอันลามกเหล่านั้น อุทิศสงฆ์ อานนท์ในกาลนั้น เรากล่าวว่า
ทักษิณาไปแล้วในสงฆ์ มีผลนับไม่ได้ประมาณไม่ได้. แต่นั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ ชนเหล่านั้นคิดว่า นี้ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า พวกเราจะต้องการอะไร ด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้านี้ จึงทิ้งท่อนผ้าโยนไปเสียในงา. ในกาลนั้น เพศชื่อว่าหายไป.ได้ยินว่า การห่มผ้าขาวเที่ยวไปเป็นจารีตของคนเหล่านั้น มาแต่ครั้งพระกัสสปทศพลดังว่านี้ ชื่อว่า การอันตรธานไปแห่งเพศ.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

การอันตรธานแห่งปริยัตินั่นแล เป็นมูลแห่งอันตรธาน ๕ อย่างนี้ ชื่อว่า อันตรธานมี ๕ อย่าง คือ อธิคมอันตรธาน อันตรธานเห่งการบรรลุ ๑ ปฏิปัตติอันตรธานอันตรธานแห่งการปฏิบัติ ๑ ปริยัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งปริยัติ ๑ ลิงคอันตรธาน อันตรธานแห่งเพศ ๑ ธาตุอันตรธาน อันตรธานแห่งธาตุ ๑.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 175 เมื่อปริยัติ ยังทรงอยู่ พระศาสนา ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธานไป ฉันนั้น เหมือนกันแล.

จบ อรรถกถาวรรคที่ ๑๐

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
มหา
วันที่ 18 เม.ย. 2550

เพศแห่งบรรพชิตอันตรธานแน่ แต่ที่บอกว่าอยู่ต่อไปไม่มีกำหนดนั้น ไม่ใช่ว่าจะอยู่ตลอดจนถึงแสนๆ กัปป์ หมายความว่าท่านไม่ได้ระบุแน่นอนว่ากี่พันปีกันแน่เพศแห่งบรรพชิตถึงจะอันตรธานไป ระบุเพียงแต่ว่าพระอริยบุคคลยุคสุดท้ายเท่านั้น ถ้าหากว่ามีข้อความในพระไตรปิฎก กล่าวว่า กี่พันปีเพศแห่งบรรพชิตหรือภิกษุอันตรธานแน่นอน โปรดระบุมาด้วยถึงจะเกิน พ.ศ. ๕๐๐๐ เพศแห่งภิกษุก็ยังมีอยู่ แต่ระบุไม่ได้ว่ากี่พันปีเท่านั้นถึงจะหมดสิ้น นี่คือความหมายส่วนปริยัติก็ยังคงพอมีอยู่ แต่ที่หมดแน่คือ ไม่มีผู้บรรลุมรรค ผล แล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
study
วันที่ 18 เม.ย. 2550

ขอเรียนความเข้าใจตามอรรถกถาทั้งหลายที่กล่าวถึงอายุของพระศาสนาคือ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ จะดำรงอยู่ ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี เท่านั้น ข้อความนี้ควรจะหมายถึงว่า ทั้งปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม ปฏิเวธสัทธรรม รวมถึงผู้ที่ปฏิญญาว่าเป็นว่าเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธด้วย เท่ากับว่าเมื่อสิ้นพระศาสนาแล้วไม่มีใครรู้จักคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว จริงอยู่ในยุคนั้นอาจมีผู้ที่เรียกกันว่านักบวช แต่ไม่มีการประพฤติอย่างนักบวช เหมือนโคตรภูภิกษุเป็นภิกษุเพียงชื่อเท่านั้น แต่ความเป็นพระภิกษุหามีไม่

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 59 [พระพุทธศาสนาอาจตั้งอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี]

ก็ในเวลาจบการร้อยกรองพระพุทธพจน์นั้น มหาปฐพีเหมือนเกิดความปราโมทย์ให้สาธุการอยู่ว่า พระมหากัสสปเถระ ทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ให้สามารถเป็นไปได้ตลอดกาลประมาณ ๕,๐๐๐ พระวรรษา ดังนี้ก็หวั่นไหวเอนเอียง สะเทือนสะท้านเป็นอเนกประการ จนถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุดและอัศจรรย์ทั้งหลายเป็นอันมากก็ได้ปรากฏมีแล้ว ด้วยประการฉะนี้. สังคีติใดในโลก ท่านเรียกว่า ปัญจสตาสังคีติ เพราะ พระธรรมสังคาหกเถระ ๕๐๐ รูปทำ, และ เรียกว่า เถริกาสังคีติ เพราะพระเถระ ทั้งหลายนั่นแลทำแล้ว สังคีตินี้ ชื่อปฐมมหาสังคีติ ด้วยประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 เม.ย. 2550

เรื่อง เพศ ดำรงอยู่ได้ห้าพันปี เท่านั้น เพราะปริยัติอันตรธาน เพศก็แปรเปลี่ยนไปมิใช่ภิกษุ และกำหนดอายุ เพศ ๕,๐๐๐ ปี ก็อันตรธาน เพราะอันตรธานแห่งปริยัติเป็นเหตุ ปริยัติก็อันตรธาน ๕,๐๐๐ ปี ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 554
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถาโคตมีสูตร

ก็คำว่า วสฺสสหสฺส นี้ ตรัสโดยมุ่งถึงพระขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้น ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระขีณาสพผู้สุกขวิปัสสก ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระอนาคามี ๑,๐๐๐ โดยมุ่งถึงพระสกทาคามี ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระโสดาบันปฏิเวธสัทธรรมถูกดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี โดยอาการดังกล่าวมานี้แม้พระปริยัติธรรมก็ดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปีนั้นเหมือนกัน. เพราะเมื่อปริยัติธรรมไม่มี ปฏิเวธธรรมก็มีไม่ได้ แม้เมื่อปริยัติธรรมไม่มี ปฏิเวธธรรมไม่มี ก็เมื่อปริยัติธรรมแม้อันตรธานไปแล้วเพศ (แห่งบรรพชิต) ก็จักแปรเป็นอย่างอื่นไปแล .

เรื่อง เมื่อ ปริยัติ อันตรธาน เพศก็อันตรธานด้วย

ดังนั้น เพศจึงดำรงได้ ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น ตามปริยัติที่อันตรธาน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 172

การอันตรธานแห่งปริยัตินั่นแล เป็นมูลแห่งอันตรธาน ๕ อย่างนี้ ชื่อว่า อันตรธานมี ๕ อย่าง คือ อธิคมอันตรธาน อันตรธานเห่งการบรรลุ ๑ ปฏิปัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งการปฏิบัติ ๑ ปริยัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งปริยัติ ๑ ลิงคอันตรธาน อันตรธานแห่งเพศ ๑ ธาตุอันตรธาน อันตรธานแห่งธาตุ ๑.

เรื่อง เพศเปลี่ยนไป ชื่อว่าดำรงศาสนาไม่ได้ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 250 ข้อความบางตอนจาก

สัมปสาทนียสูตร

แต่วงศ์ของสมณะผู้นุ่งผ้าขาว ไม่สามารถจะดำรงศาสนาไว้ได้ตั้งแต่กาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามกว่ากัสสปะ.

เรื่อง เพศเปลี่ยนไป เช่น นุ่งผ้าขาว ก็ไม่ใช่ภิกษุ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 171

แต่นั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ ชนเหล่านั้นคิดว่า นี้ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า พวกเราจะต้องการอะไร ด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้านี้ จึงทิ้งท่อนผ้าโยนไปเสียในงา. ในกาลนั้น เพศชื่อว่าหายไป. ได้ยินว่า การห่มผ้าขาวเที่ยวไปเป็นจารีตของคนเหล่านั้น มาแต่ครั้งพระกัสสปทศพล ดังว่านี้ ชื่อว่าการอันตรธานไปแห่งเพศ.

เมื่อเป็นดังข้อความที่พระไตรปิฎกกล่าวมาทั้งหมด เมื่ออ่านแล้ว แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปี เท่านั้น เพราะปริยัติอันตรธาน ๕,๐๐๐ ปีเมื่อปริยัติอันตรธาน อีก ๔ ก็อันตรธาน รวมทั้งเพศด้วย ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับอนุโมทนา

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
citta89121
วันที่ 18 เม.ย. 2550

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
คนรักหนัง
วันที่ 19 เม.ย. 2550

อนุโมทนา กับคุณแล้วเจอกัน และคุณstudy ด้วยนะครับ ที่ยกข้อความจาก

พระไตรปิฎกมา ก็สรุปได้แล้ว ว่า พระพุทธศาสนา จะดำรงอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงเฉพาะในภูมิมนุษย์นี้เท่านั้น แต่สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น ยังคงมีพุทธศาสนาอยู่ เนื่องจากมีพระอริยบุคคลอยู่ทุกชั้น โดยเฉพาะรูปพรหมชั้นสุทธาวาสบางองค์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
ปังคุง
วันที่ 19 เม.ย. 2550

ก่อนหน้าที่จะได้ศึกษาพระธรรม อย่างละเอียด ผมก็เคยบวช ตามประเพณีเพราะมีความเชื่ออย่างที่คนทั่วไปเข้าใจคือเป็นบุญใหญ่ แต่ไม่ได้เข้าใจจุดประสงค์ของการบวชเลย จากการศึกษาก็พอจะทราบว่าผู้ที่ต้องการบวชเพราะเห็นโทษของกาม คือการติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นการประพฤติที่ประสงค์ที่จะขัดเกลาตนเองอย่างยิ่ง จึงสละทุกอย่างทั้งอาคารบ้านเรือนและวงศาคณาญาติทั้งหลาย เมื่อได้เห็นพระภิกษุในสถานที่ใดจึงมักจะมีความเลื่อมใส ให้ความเคารพแก่ท่านเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทั้งนี้เพราะเริ่มมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าท่านประพฤติในสิ่งที่ประพฤติได้ยาก ยิ่งในสมัยปัจจุบันการที่จะดำรงตนในเพศบรรพชิตที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยยิ่งยากมาก เพราะโยมทั้งหลายไม่มีความเข้าใจในกิจของท่าน ก็เป็นเหตุ ให้ท่านทำผิดพระวินัยมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าโทษที่ท่านจะได้รับย่อมหนักตามด้วย หากมีความเข้าใจพระธรรมคำสอนจริงๆ แล้ว ตัวผู้นั้นเองจะทราบอุปนิสัยของตนเองว่า จริงๆ แล้วเราต้องการที่จะออกจากกามหรือยังพอใจอยู่กันแน่ หรือว่าบางทีเพียงเพราะได้ยินว่าการบวชจะทำให้สามารถที่จะบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น ก็อยากจะบรรลุธรรมจึงบวชก็มี แต่ความจริงการที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะมีความอยากเป็นเหตุแต่เพราะความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ขั้นการฟังต่างหาก ดังนั้นหากเริ่มต้นก็ผิด แล้วหนทางที่จะเดินไปโดยถูกต้องจะมีได้อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
คนรักหนัง
วันที่ 19 เม.ย. 2550

ขอชี้แจงเรื่องพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นรูปพรหมชั้นสุทธาวาส ที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ๗ พระองค์ มิใช่หมายความว่า มีพระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้าพร้อมกันได้ ๗ พระองค์ แต่เป็นเพราะท่านมีอายุยืนยาวมาก แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า จะปรินิพพานไปแล้ว ๗ พระองค์ ตัวท่านเองก็ยังไม่ปรินิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
มหา
วันที่ 19 เม.ย. 2550

ข้อความโดยตรง จากจตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค วรรณนา (ภิกขุนิกขันธก วรรณนา ว่าด้วยครุธรรม ๘)

... เชิญคลิกอ่าน ...

ความสิ้นไปแห่งพระปริยัติธรรม [จุลลวรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 20 เม.ย. 2550



อนุโมทนาท่าน มหา ครับ ที่ช่วยเพิ่มเติมความละเอียดซึ่งจะได้ตรวจสอบความละเอียดในเรื่องนี้กันต่อไป โดยผู้รู้และวิทยากรของมูลนิธิฯ

อนุโมทนาครับ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
reflect
วันที่ 21 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนา

พุทธบริษัทควรเกื้อกูลกันและกันด้วยธรรม มิใช่ข่มกันและกันด้วยความรู้ความเข้าใจของตน

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
suntarara
วันที่ 14 พ.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
suwit02
วันที่ 11 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 11 โดย devout

การบวชเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา เพราะกระทำได้ยาก ต้องเป็นอัธยาศัยใหญ่จริงๆ คือ ผู้นั้นต้องยินดีพอใจในการบวช จึงจะเป็นกุศล การบวชไม่ได้ขึ้นกับยุคสมัย แต่เป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ที่ต้องการจะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต

ขออนุโมทนาความเห็นของท่าน มหา ที่ว่า " จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของอัธยาศัยและการสั่งสมมา ไม่ใช่ว่าการบวชไม่ดี แล้วเป็นอยู่ยากที่บวชมาแล้ว ประพฤติไม่ดี อยู่ลำบาก มันเป็นเรื่องของบุคคลต่างหาก ไม่ใช่ เพราะการบวช " การบวชเป็นชีวิตที่ประเสริฐ แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศคฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงขึ้นอยู่กับการสั่งสมของแต่ละบุคคลจริงๆ

ขออนุโมทนา ท่านที่มีความยินดีพอใจในการบวช

ขออนุโมทนาครับ

ผมเห็นด้วยว่า ถ้าออกบวชด้วย ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาแล้วการบวชจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ และผู้บวชจะได้รับประโยชน์มาก แต่ถ้าบวชเพื่อเลี้ยงชีวิต ทำให้พระศาสนาเสื่อม ก็เป็นโทษแก่ผู้กระทำมากเช่นกัน สำหรับการออกบวชด้วยศรัทธานั้น เนื่องจาก พรหมจรรย์นี้มีการศึกษาไปโดยลำดับ มีการกระทำไปโดยลำดับ ผมจึงขอเสนอให้ผู้ที่ประสงค์จะออกบวชได้ทดสอบตนเองว่า ยินดีพอใจในการออกบวช จริงหรือไม่ และความยินดีพอใจนั้น ยั่งยืนยาวนานเพียงใด ดังต่อไปนี้

ให้ทดลองรักษาอุโบสถศีล ในวันอุโบสถ ถ้ามีใจผ่องใส ยินดีในการรักษา อุโบสถศีลนั้น (โดยปกติของตนเอง) ก็ขยายระยะเวลาการอยู่ในอุโบสถศีลนั้นออกไปให้มากยิ่งขึ้น ถ้ารักษาอุโบสถศีลตลอดกาลเป็นนิตย์แล้วยังยินดียิ่งอยู่ก็รักษาศีล ๑๐ ของสามเณร และค่อยๆ ขยายระยะเวลาออกไป โดยนัยเดียวกัน ถ้ารักษาศึลตลอดกาลเป็นนิตย์ แล้วยังยินดียิ่งอยู่ ก็ขอเชิญ ศึกษาพระปาฏิโมกข์ และเตรียมอัฏฐบริขาร ไว้ได้เลยครับ สาธุ

ปล.๑.ระยะเวลาทดลองรักษาศีล ตั้งแต่เริ่มทดสอบ จน เสร็จการทดสอบประมาณ ๒ ปี (ไม่ควรต่ำกว่า ๑ ปี) และในช่วงที่ทดลองรักษาศีลของสามเณร นั้น ถ้าละบ้านเรื่อนไปอาศัยในวัดด้วย ก็จะใกล้เคียงการออกบวชยิ่งขึ้น

๒. พระอุปัชฌาย์/อาจารย์ มีความสำคัญ แก่การออกบวชมากต้องใส่ใจแสวงหา เพราะ มิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

... เชิญคลิกอ่าน ...

ชื่อและปฏิญญาว่าสมณะ [มหาอัสสปุรสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
คุณ
วันที่ 31 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
lovedhamma
วันที่ 26 มี.ค. 2554

การตอบแทนพระคุณท่าน มิใช่ด้วยการบวชแต่ให้ท่านเข้าใจพระรรม ชื่อว่าตอบแทนจริง อีกประการ หากการบวชช่วยให้ขึ้นสวรรค์ได้จริงแบบนี้ มันก็เท่ากับว่า "นรก ไม่มีในโลก ใครทำอะไรไม่ดี ก็เท่ากับว่าให้ลูกหลานรุ่นหลังมาชักผ้าเหลืองขึ้น สวรรค์ทั้งนั้น อย่างนั้นน่ะหรือครับ " เพราะฉะนั้น ผมเห็นด้วยเลยว่า คำสอนของอ.สุจินต์ ถูกที่สุด การตอบแทนบุญคุณพ่อ แม่ ที่ดีที่สุดคือ ให้ท่่านรู้จักธรรมะ และ การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นั่นแหละครับถูกที่สุดและในโลกธรรมะของผม จะ ไม่มีการบวชตามประเพณีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบวชหน้าไฟ บวชสามเณรภาคฤดูร้อน บวชพระภิกษุ แต่จะเป็นการบวชตามศาสนาต่างหาก

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 11 ก.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิต

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ