กิเลส มีอะไรบ้างครับ
กิเลสมีกี่ประเภทครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลส เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก
กิเลส มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ทิฏฐิกิเลส อันได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๒. วิจิกิจฉากิเลส อันได้แก่ ความสงสัย ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๓. โทสะกิเลส อันได้แก่ ความโกรธความขุ่นมัวใจ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๔. โลภะกิเลส อันได้แก่ ความติดข้อง ต้องการ ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง
๕. โมหะกิเลส อันได้แก่ ความหลงลืมไม่รู้ความจริง เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๖. ถีนะกิเลส อันได้แก่ ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซา เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๗. อุทธัจจะกิเลส อันได้แก่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๘. อหิริกะกิเลส อันได้แก่ ความไม่ละอายต่อบาป เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๙. มานะกิเลส อันได้แก่ ความสำคัญตน การเปรียบเทียบ ทำให้ใจเศร้าหมอง
๑๐. อโนตตัปปะกิเลส อันได้แก่ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ทำให้ใจเศร้าหมอง
ท่าน อ.สุจินต์ ถ้าจะเอาต้นไม้มาขุดราก แล้วทำให้เป็นท่อนๆ แล้วผ่า ทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไฟเผา ก็ไม่ยากที่จะกระทำได้ แต่ตัณหา(โลภะ)ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นนามธาตุ ต้องเพราะการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะทำลายตัณหาออกได้เป็นประเภท คือ ต้องละตัณหา ซึ่งเกิดพร้อมกับความเห็นผิดเสียก่อน ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังยังไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วก็เห็นโทษของตัณหา แล้วก็พยายามที่จะดับตัณหา โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้ผลจริงๆ คือ เพื่อที่จะรู้ได้ว่า ธรรมใดเป็นสิ่งซึ่งจะต้องละและดับก่อน มิฉะนั้นแล้วถ้าเพียรที่จะละตัณหา ย่อมไม่สามารถที่จะละตัณหาได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ละความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้
(ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา มีแต่ธรรมะ บังคับบัญชาไม่ได้)
ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
กิเลสเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑- หน้าที่ ๔๒๔
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพหยาบ ถ้ากิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใครๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ในที่บางแห่ง ได้ไซร้ จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป โอกาสของกิเลสเหล่านั้น ไม่พึงมี(ให้บรรจุ)เลย”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๖๔๙
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดากิเลส ย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี มีแต่จะให้ตกนรก”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก หาริตจชาดก)
กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลสเวลาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเขาเองเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วยและจะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น กิเลสจะเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีไม่ได้เลย
กิเลสมีมากมายหลายประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด ตามที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ เช่น โลภะ (สภาพธรรมที่ติดข้อง ยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มานะ (ความสำคัญตน) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) เป็นต้น ทั้งหมดนั้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดำ ซึ่งจะถูกดับด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระ
จะเห็นได้ว่า กิเลสในชีวิตประจำวัน มีมากมายมหาศาล แม้แต่ในวันนี้เอง เมื่อเทียบส่วนกันระหว่างอกุศล กับ กุศล แล้ว เทียบส่วนกันไม่ได้เลย เพราะมีอกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศล นั่นเอง ถ้ากิเลสมีรูปร่าง (แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นนามธรรม) ไม่มีที่เพียงพอสำหรับเก็บเลย ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิด จะไม่ปราศจากกิเลสเลย ตามแต่ประเภทของอกุศลจิตนั้นๆ และสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะอีกด้วย
เมื่อรู้ว่ามีกิเลสมากอย่างนี้ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้นจนสามารถดับกิเลสประการต่างๆ ได้จริง ซึ่งจะต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม นับวันกิเลสก็มีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าตนเองมีกิเลส หรือ เพราะเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว นั่นเอง ครับ
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
กิเลสมากอยู่ที่ไหน
...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...