รู้สึกหิวก็รู้เพียงหิวเกิดแล้วอย่างไรอีกคะ ต้องพิจารณาอย่างไร?

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ก.พ. 2564
หมายเลข  33703
อ่าน  628

เห็นเกิดเห็นอย่างไรคะ เช่น รู้สึกหิวก็รู้เพียงหิวเกิดแล้วอย่างไรอีกคะ? ต้องพิจารณาอย่างไรคะ? 


โดยคุณ อัญชลี แสงทอง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่ คำแต่ละคำ เช่น คำว่า สติ คำว่า ปัญญา ในพระพุทธศาสนาก็มีความละเอียด ต้องอาศัยการฟังคำของพระพุทธเจ้าว่าความหมายที่แท้จริงคืออย่างไร อย่างเช่น คำว่า สติ ไม่ได้หมายความว่า การรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ หมายถึง เป็นสติ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งจากตัวอย่างที่ผู้ถามยกมา เช่น รู้สึกหิว ก็รู้ว่าหิวเกิด  นี่ไม่ใช่สติในพระพุทธศาสนา เพราะ สติในพระพุทธศาสนาต้องเป็นไปในทางกุศล และ การรู้ว่าหิวก็รู้ว่าหิว ไม่ได้เป็นไปเพื่อเกิดปัญญา ความเข้าใจถูกในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะก็ยังเป็นเรานั่นแหละที่หิว ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เราที่หิว นี่คือ ความแตกต่างกันของสติ ซึ่งจะขอเริ่มที่ธรรมทีละคำ ด้วยคำว่า สติ ให้ผู้ถามได้เข้าใจคำนี้ก่อนครับ โดยไม่ต้องจะพยายามทำ โดยจะให้พิจารณาอย่างไร แต่ขอให้เริ่มอ่านและฟังให้เข้าใจในธรรมทีละคำ เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจถูกในขั้นการฟังเป็นเบื้องต้น ครับ

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ  ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี ๔ ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี ๔ ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้

สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

สติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ขอเพิ่มเติมความละเอียดของสติดังนี้ ครับ

โดยมาก คนไทย นำภาษาบาลีมาใช้ โดยไม่ตรงกับความหมายของภาษาบาลี  และไม่ตรงกับความหมายของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ อย่างเช่น คำว่า สติ

สติในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไร ก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ สรุปว่า คนไทยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ชื่อว่า มี สติ ความหมายสตินี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

สติ ที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าระดับใด ขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยครับ สติทำหน้าที่ระลึก และกั้นกระแสกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิด ครับ

ดังนั้น ต้องเป็นกุศล จึงจะมีสติ และขณะที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรในขณะนั้น รู้ว่าเดินอยู่นั่งอยู่ แต่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ไม่เป็นกุศล หรือ เพียงรู้ว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่สติ ครับ

สมดังข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า สุนัขบ้าน เดิน มันก็รู้ว่ามันเดินอยู่ แต่ ไม่ใช่การรู้ในการอบรมปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 684

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา. แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา


เชิญคลิกฟังคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่ถาม ลิงก์นี้ครับ

แล้วจะทำยังไง -จะไปพยายามทำให้สติสัมปชัญญะเกิด

ลักษณะของสติ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Witt
วันที่ 10 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Tathata
วันที่ 10 ก.พ. 2564

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.พ. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีตัวตนที่พิจารณา ไม่มีตัวตนที่ระลึก ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา จากการได้ฟังพระธรรมที่แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ นั้น มีมาก ไม่ได้มีเฉพาะความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เท่านั้น แต่ทุกขณะของชีวิตไม่ปราศจากธรรมเลย การอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องเบาสบาย ไม่ใช่เรื่องหนัก ด้วยความอยากความต้องการ แต่เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประวัน ธรรม ทำกิจหน้าที่ของธรรม ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ครับ 

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ