พระภิกษุกับการเมือง

 
khampan.a
วันที่  25 มี.ค. 2564
หมายเลข  33936
อ่าน  1,026

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๗๘

บทว่า ทุปฺปพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และละเครือญาติ แล้วบวช มอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก

บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา (เที่ยวบิณฑบาต) ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ์ เป็นการยาก





พระภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง สละเพศคฤหัสถ์ทุกประการแล้ว จะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์อีกได้อย่างไร ถ้ามัวมาทำกิจของคฤหัสถ์ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต

ข้อความในพระวินัยปิฎก แสดงไว้ชัดเจนว่า แม้การออกไปดูกองทัพ ยังไม่ควรแก่พระภิกษุเลย แล้วอย่างอื่นที่ยิ่งกว่านี้ พระภิกษุจะทำได้อย่างไร ซึ่งต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้ คือ ภิกษุฉัพพัคคีย์ ที่ออกไปดูกองทัพของพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งกำลังจะยกทัพออกไปรบ การกระทำดังกล่าวของภิกษุฉัพพัคคีย์ ไม่เหมาะไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ยังตรัสคำที่เตือนสติได้ดีเป็นอย่างยิ่ง ว่า "จะได้ประโยชน์อะไรด้วยการดูพระราชาผู้เพลิดเพลินในการรบ พระคุณเจ้าควรเฝ้าพระผู้มีพระภาคมิใช่หรือ?" และการกระทำดังกล่าวเป็นที่ติเตียนอย่างมากของประชาชน ความก็ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงติเตียนพฤติกรรมของภิกษุฉัพพัคคีย์ โดยประการต่างๆ เป็นอันมาก แล้วได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ดังนี้

ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุ


([เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ ปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘ แห่งอเจลกวรรคที่ ๔ หน้า ๖๑๖)

* * ข้อความในอรรถกถา อธิบายถึง เว้นไว้แต่มีเหตุ ไว้ดังนี้ "เมื่อมีอันตรายแห่งชีวิต และอันตรายแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไปด้วยคิดว่า เราไปในกองทัพนี้ จักพ้นไปได้" * *


ข้อที่น่าพิจารณา คือ การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่พระภิกษุ แม้จะไม่มีพระวินัยบัญญัติ บัญญัติไว้โดยตรง แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้กับมหาปเทส (ข้อเทียบเคียงใหญ่,ข้ออ้างใหญ่) โดยเฉพาะในข้อที่ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่าสิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้น ไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย”


([เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๖๑)


อีกประการหนึ่ง การที่พระภิกษุ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั่นก็คือ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ จะเป็นเหตุนำมาซึ่งการล่วงละเมิดพระวินัยอีกหลายๆ ประการ และที่สำคัญเมื่อพระภิกษุทำผิดพระวินัย ซึ่งก็คือ เท่ากับทุจริต (ประพฤติชั่ว) ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า อยู่ ก็ไม่เจริญ ตายไป ก็ไม่เจริญ ตามข้อความใน[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓
ภัททกสูตร ดังนี้

ภิกษุ ชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ยินดีความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ขวนขวายความชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ย่อมไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ


ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ภิกษุกับการชุมนุมทางการเมือง

เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาตามพระธรรมวินัย

จะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต


บวชทำไม

กล่าวคำจริง หวังดี เกื้อกูล

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 26 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Kalaya
วันที่ 26 มี.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะในความจริงนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 มี.ค. 2564

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด เพื่อผู้ศึกษาจะได้ไม่ทำผิด เพราะเป็นภัยต่อตนเองอย่างยิ่งด้วยการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pulit
วันที่ 26 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 27 มี.ค. 2564

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขออัญเชิญข้อความบางส่วนจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๑๘๔ ว่า

ดูกร โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษาอย่างนี้อีกว่า เราจักไม่ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล
และในตระกูลมีกรณียกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอจึงเป็นผู้เก้อเขิน

เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อ ไม่สำรวมจิตย่อมห่างจากสมาธิ. เพราะฉะนั้นแหละ โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน

ดูกร โมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกันก็จำต้องหวังการพูดมาก เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ.

ดูกร โมคคัลลานะ อนึ่ง เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงไม่ แต่มิใช่ว่าจะไม่สรรเสริญ ความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงก็หามิได้ คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะอันใดเงียบเสียงไม่อื้ออึ่ง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะเห็นปานนั้น.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ