สนทนาพิเศษ พระธรรมวินัยกับกฏหมาย (ภาคบ่าย) ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๔

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  31 มี.ค. 2564
หมายเลข  33966
อ่าน  1,217

อ.จริยา เจียมวิจิตร  :  ประเด็นที่บอกว่า ไม่สามารถจะแก้ไขได้ในขณะนี้ ไม่ใช่เพราะตัวกฏหมาย ในตัว กฏหมายคณะสงฆ์ มาตรา ๑๕ ตรี เขียนไว้ให้ชัดเลย ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องทำ ใน ๑๕ ตรี นี้ เป็นอำนาจมหาเถรสมาคม อำนาจของมหาเถรสมาคมมีข้อหนึ่ง ซึ่งเราเคยสนทนากันหลายครั้งแล้ว "..รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา.." หลังจากนั้น ก็บอกให้ มหาเถรสมาคม มีอำนาจออกกฏมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง กติกา มติ อะไรต่างๆ แต่ต้องออกให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ไม่มีทาง เพราะองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ มหาเถรสมาคม ไม่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองมีหน้าที่ หน้าที่ของท่านคือ รักษาพระธรรมวินัย แต่กลับไปออกกฏ อย่างกฏเร็วๆ นี้ที่เราเห็น เรื่องที่มีหนังสือบอกกับกรมการขนส่งฯ ว่า ถ้าพระมาขอใบขับขี่ ให้แจ้งพระว่า ถ้าทำผิดแล้ว จะถูกจับเหมือนกับประชาชน อย่างนี้แปลว่าอะไร? แปลว่ายอมให้ทำได้ ใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ขัดพระธรรมวินัยไหม? ก็แปลว่า ท่านไม่รักษาหลักพระธรรมวินัย ตามที่กฏหมายเขียนไว้ เพราะฉะนั้น ที่กราบเรียนตอนต้นว่า ไม่มีทาง ไม่มีทางเพราะเหตุที่ว่า องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนาในขณะนี้ ไม่กระทำตามพระธรรมวินัยที่ท่านมีอำนาจ ที่จะดูแลพระทั้งหลาย ให้รักษาพระธรรมวินัย

อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์  : ถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ไม่มีใครสามารถจะรู้อะไรตามความเป็นจริงได้เลย ใครสร้างรูปเคารพต่างๆ ในวัด กวนอิม พระพิฆเนศ ใครสร้างในวัด? เห็นไหม? แล้วทำไมรู้ว่าผิดแล้วไม่พูด อคติหรือเปล่า? มี(อคติ)ก็ไม่รู้ กลัวอะไร ที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้อง ว่านี่ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โทษเพราะว่าไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่กล้าที่จะรู้ว่า สิ่งใดผิด และสิ่งใดถูก แต่ถ้าสิ่งนั้นผิด แล้วรู้จริงๆ ว่าผิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงอนุญาตให้มีการสร้างรูปต่างๆ เหล่านี้ในพระเชตวัน หรือที่ไหนเลย ผิดไหม? มีไว้ทำไม? แล้วใครสร้าง? ถามเลย ว่าใครสร้าง? ตอบได้ไหม? ใครสร้าง? นี่คือความจริง อคติหรือเปล่า? ถ้าไม่ตอบ!!

ธรรมะละเอียดมาก บ่งถึงสิ่งที่มี แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าขณะนั้น เป็นกุศลหรืออกุศลประเภทไหน เพราะอะไร ถ้ารู้ก็ตอบ ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง ใช่ไหม?

แต่ในวัด ใครสร้างอะไรได้ไหม? ใครเป็นผู้อนุญาตให้สร้าง? นั่นหรือ คือผู้ที่เข้าใจพระธรรม? และถ้าเป็นเถระอายุมาก อาจจะเป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคมเพราะอายุ แต่ว่าธรรมะล่ะ? แล้วจะนำพระพุทธศาสนาไปไหน? นอกจากไปสู่ความไม่รู้เรื่อยๆ แล้วก็อคติเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น แม้แต่อคติที่พูดกัน ก็มีจริง ถ้าไม่ยกตัวอย่าง ก็ไม่รู้ว่าอคติอยู่ไห ขณะที่รู้ว่าใครสร้าง ทำไมไม่บอก? อคติหรือเปล่า? กลัวอะไร? ภยาคติ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ไม่ใช่อยู่ที่อื่น ไม่ใช่มีเหตุการณ์อะไร แล้วเราก็ไป "เรียนชื่อ" แต่ทั้งหมด "ทุกขณะ เปิดเผยความจริง" ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เพราะอะไร เป็นกุศลหรืออกุศล จะแก้ไขอย่างไร อกุศลทั้งหมดมาจากความไม่รู้ ไม่รู้หมด ว่าอะไรถูกอะไรผิด 

ควรไหม ที่จะมีรูปอย่างนั้นในวัด? แล้วทำไมมี? มากวัด มากมาย แล้วค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แทนที่จะเอาสิ่งนั้นไปเป็นประโยชน์ ก็กลับไปเสียเงินเสียทองโดยไร้ประโยชน์ แค่มีไว้ทำไม ก็ผิดแล้ว ตอบไม่ได้เลย มีไว้ทำไม? ไว้กราบไหว้หรือ? แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ ทรงแสดงพระธรรมไว้หรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น ความถูกต้องคือความเห็นถูไม่เกรงกลัวอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเป็นประโยชน์ ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย พูดสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ไหม? ทุกคนต้องตรง ถ้าไม่ตรง ก็เป็น "อคติ"

ตัวอย่างมีทุกวัน เพราะฉะนั้น ก็ สามารถจะพิจารณาได้ทุกเหตุการณ์ โดยความเป็น "ผู้ตรง" เป็นธรรมะ ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น!! แต่ถ้าไม่มีธรรมะ ก็ไม่มีใครเลย แต่พอมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มีธาตุรู้ มีทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย แต่ไม่รู้ ก็เลยคิดกันเอง ว่าผู้นั้นเป็นเถระ มีเถรสมาคม แต่ต้องรู้ว่า "พระธรรมวินัย" เท่านั้น ทุกกาลสมัย ไม่ว่าจะเป็นกฏหมาย สามารถเทียบเคียงได้ พระธรรมวินัยว่าอย่างไร ถ้าไม่มีเงินมีทอง จะสร้างอะไรต่ออะไรได้ไหม? แล้วสร้างทำไม? สร้างเพื่ออะไร? เข้าใจธรมะหรือเปล่า? แต่สร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เคารพในพระรัตนตรัยหรือเปล่า? ถ้าเข้าใจจริงๆ ไม่มีอคติ

อ.จรัญ ภักดีธนากุล  : ถ้าเราไม่ทำอะไร ปล่อยแบบนี้ต่อไป วันหนึ่ง มันจะเสื่อมโทรมจนสุดขีด แล้วรอเหตุการณ์เหมือนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต้องมาชำระล้าง สะสาง เอาพวกอลัชชี พวกไม่มียางอาย พวกปลอมบวช ออกหมด

อ.คำปั่น อักษรวิลัย  : การที่พระภิกษุไปทำกิจของคฤหัสถ์ เกลือกกลั้วกับคฤหัสถ์ เป็นการไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลมากมาย แล้วก็สามารถล่วงพระวินัยได้มากข้อด้วย

ข้อความใน ภัททกสูตร มีข้อความแสดงไว้ชัดเจนว่า ภิกษุที่ยินดีในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่ไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ ผิดพระวินัย ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมะได้ เพราะว่า มีอาบัติเป็นเครื่องกั้น และถ้าท่านไม่เห็นโทษ ไม่แก้ไข มรณภาพไป ชาติถัดไป ถัดจากชาตินี้เลย ก็คือ อบายภูมิ เท่านั้น เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงชัดเจนว่า อาบัติที่ภิกษุมีความจงใจที่จะล่วงละเมิด เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมะได้ แน่นอน และมีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ก็คือ ถัดจากชาตินี้เลย

ติดตามบันทึกการสนทนาพิเศษ(ภาคเช้า) ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 31 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Soomnuek
วันที่ 31 มี.ค. 2564

ดิฉันมีความไม่สบายใจค่ะ. คือว่าแม่ของฉันไปรับธรรมมะกับพุทธจี้กงแล้วมีความเชื่อว่ารับแล้วไม่ตกนรกเพราะว่าจี้กงเครียกับเจ้ากรรมนายเวรได้แล้วพยายามให้ฉันเชื่อแบบเดียวกับท่านแต่ฉันไม่เชื่อ  แม่ก็บอกว่าฉันลบหลู่.  ฉันจะพูดอย่างไรดีคะให้ท่านเข้าใจฉันไม่อยากทำร้ายจิตใจท่านคะ. ขอความกรุณาช่วยอธิบายให้ด้วยค่ะ. ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
โพธิ์ศรี
วันที่ 1 เม.ย. 2564

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านด้วยสาธุครับผม

 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 1 เม.ย. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

ค่อยๆ พูดให้ท่านฟัง  ในความเป็นเหตุเป็นผล เมื่อถึงโอกาสอันควร  สิ่งที่คุณแม่ทำ นั้น  เป็นการหลงเชื่อในคำบอกกล่าวของบุคคลอื่น ซึ่งไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง  และที่สำคัญ การไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การลบหลู่  แต่เป็นการแสดงความจริง เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นจะได้ไม่หลงผิดอีกต่อไป  เพราะถ้ากล่าวถึงความลบหลู่แล้ว เป็นการทำลายคุณความดีของผู้นั้นให้หมดสิ้นไป ดุจการเหยียบย่ำด้วยเท้า แต่สิ่งที่คุณแม่ได้ไปทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณอะไรเลย เพราะเต็มไปด้วยความหลงผิด การกล่าวชี้แจงในเหตุในผล จึงไม่ใช่การลบหลู่แต่อย่างใด ถ้าท่านรับฟังก็ย่อมเป็นการดีอย่างยิ่ง แต่ถ้าท่านไม่รับฟัง  ก็ไม่มีใครทำอะไรได้  เราก็ทำหน้าที่ของการเป็นลูกที่ดีต่อไป  เข้าใจถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ก็เบาสบาย ไม่เดือดร้อน ครับ 

...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ