ขอถามเกี่ยวกับโทสเจตสิกหน่อยครับ

 
ผู้มาใหม่
วันที่  13 เม.ย. 2564
หมายเลข  34048
อ่าน  477

ถ้าผมอยู่ในศาสนาที่มีคำสอนว่าฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารไม่บาป และผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมจึงไปฆ่าสัตว์เพื่อมาทำอาหารโดยไม่ได้โกรธเคืองกับมันเลย ระหว่างที่ฆ่าสัตว์นั้นเกิดโทสเจตสิกไหมครับ

ขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะที่มีเจตาฆ่า ขณะนั้น มีโทสะเกิดร่วมด้วยกับจิต เวทนาความรู้สึกเป็นโทมนัส ขุ้นใจ ไม่สบายใจ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม หากมีเจตนาฆ่าเกิดขึ้นขณะใด จิตไม่ดีขณะนั้น จะกล่าวว่าไม่โกรธไม่ได้เลยเพราะกิเลสคือโทสะ เกิดแล้ว บาปเกิดในใจแล้วครับ

บุญอยู่ที่จิต ขณะใด เป็นไปในทาน (การให้) ศีล (งดเว้นบาปทางกาย วาจา) สมถและวิปัสสนาเป็น บุญ บุญไม่ได้อยู่ที่อาหาร อยู่ที่สภาพจิตนั้นต่างหากครับ ว่าเป็นอย่างไร ขณะที่หวังจะได้บุญ เป็นบุญไหม? ทานเนื้อสัตว์ แต่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ขณะที่งดเว้นไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นกุศลเป็นบุญ ขณะที่ทานมังสวิรัติและชอบ ติดในรส เป็นโลภะ เป็นความติดข้องไม่ใช่บุญ ขณะที่เป็นบุญ คือไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลส แต่มีสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ความไม่ติดข้อง เป็นต้น บุญจึงอยู่ที่จิตเป็นสำคัญครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ดารละเว้นยากปาณาติบาต ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่พ้นจากจิตและเจตสิก ซึ่งจะต้องเป็นจิตที่ดี และมีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากบาปในขณะนั้นด้วย ดังนั้น ขณะที่งดเว้นจากการฆ่า คือ ขณะจะต้องมีเจตนางดเว้นจากบาป เช่น ขณะที่งดเว้นเฉพาะหน้า งดเว้นจากการตบยุง อย่างนี้มีเจตนางดเว้นจากบาป และ ขณะที่สมาทานศีลด้วยเจตนาจะงดเว้นจากบาป ขณะนั้น ก็เป็นการมีศีลในขณะจิตนั้น

แต่การทานเจ ขณะนั้นไม่ได้มีวิรตีเจตสิกที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์เฉพาะหน้า จึงไม่ได้เกิดกุศลขั้นศีล แต่เป็นความเข้าใจผิดที่คิดจะได้บุญเพราะไม่ทานเนื้อสัตว์ ครับ

ส่วนมหาทาน หมายถึง การรักษาศีลห้า แต่ การไม่ทานเนื้อสัตว์ไม่ได้มีเจตนารักษาศีลห้า จึงไม่ใช่มหาทาน ครับอย่างไรก็ดี เราควรพิจารณาเรื่องการทานเจ ทานเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องว่าคืออย่างไร

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถามว่าขณะที่ทานเนื้อ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าหรือเปล่าครับ ไม่มีเจตนาฆ่าในขณะนั้น แต่มีเจตนา ที่จะบริโภค ถามต่อว่า คนที่ทานมังสวิรัติกับคนที่ทานเนื้อ จิตขณะนั้นต่างกันไหม ถ้าเป็นปุถุชน จิตขณะนั้น มีความต้องการ (โลภะ) เหมือนกันไหม ก็เจตนาที่จะทานเหมือนกันโลภะเหมือนกันครับ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ทานเนื้อ กับปุถุชนทานมังสวิรัติจิตของคนทั้งสองที่ทาน ต่างกันไหม พระอรหันต์ติดในรสไหม พระอรหันต์มีเจตนาฆ่าเนื้อตอนนั้นไหม ปุถุชนทานมังสวิรัติ ติดในรสไหม ถ้าติดในรส (โลภะ) เป็นบุญหรือบาป ถ้าเป็นโลภะ

ดังนั้นอาหารจะทำอะไรได้ ถ้าจิตมากไปด้วยกิเลส สัตว์จะบริสุทธิ์ได้มิใช่เพราะอาหาร แต่เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่าบุญ บาป อยู่ที่เจตนา และเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่?

เชิญคลิกอ่านที่นี่....

เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ [อามคันธสูตรที่ ๒]

กรรมที่เป็นบุญ บาป อยู่ที่เจตนา

การบริโภคเนื้อสัตว์

ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งนะครับ เพราะอาจจะมีคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ในแนวคิดที่ทานเจคือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้บริโภค ลดการบริโภคลงเสียบ้างก็คงจะลดการฆ่าลงไปได้

แต่หากทานเนื้อสัตว์กัน สัตว์ก็ถูกฆ่ามากขึ้น? การที่สัตว์ถูกฆ่า ก็ต้องคิดแล้วหละว่าเกิดจากอะไร ในทางพระพุทธศาสนาและความเป็นจริงนั้น การที่ถูกฆ่าก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้เคยทำไว้ ดังนั้น สัตว์นั้น จึงมีกรรมที่ต้องถูกฆ่า จะบริโภคน้อยลงหรือมากขึ้น สัตว์ก็ต้องถูกฆ่า เพราะอกุศลกรรมให้ผล มนุษย์ทำไมถึงถูกฆ่าได้ทุกวัน ก็ไม่ได้บริโภคเนื้อมนุษย์ เป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ ทำไมยังถูกฆ่าทุกวัน เพราะคนนั้นที่ถูกฆ่า อกุศลกรรมให้ผลเพราะเคยทำอกุศลไว้ ดังนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้สัตว์ถูกฆ่าน้อยลง แต่กรรมไม่ดีต่างหาก ที่ทำให้สัตว์ถูกฆ่าครับ และถ้าคิดละเอียดขึ้น ทำไมถึงทำกรรมไม่ดี อันเป็นเหตุให้ถูกฆ่า ก็เพราะกิเลสที่มีนั่นเอง ดังนั้นพระธรรมเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีกิเลสน้อยลงจนไม่มีอีกและด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงแสดงพระธรรม เพื่อการพ้นทุกข์คือ ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เมื่อคนนั้นไม่เกิด ใครจะฆ่าคนนั้นได้อีกครับ

กรรมจึงขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ อาหารไม่สามารถทำให้สัตว์บริสุทธิ์ หรือ เศร้าหมองได้ กิเลสทำให้สัตว์ไม่บริสุทธิ์เศร้าหมอง ปัญญาทำให้สัตว์บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมองครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรมไม่เปลี่ยนเลย เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แม้แต่ในเรื่องของการฆ่า ต้องประกอบด้วยมูล ๒ ตามข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒- หน้าที่ ๔๘๐

บทว่า มูลโต ความว่า ปาณาติบาต มีมูล ๒ คือโทสะ และ โมหะ


จะเห็นได้เลย ว่า โดยสภาพของการปลงชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วงไปนั้น โดยมูลรากแล้วมีมูล ๒ คือ โทสะและ โมหะความไม่รู้ โทสะเมื่อเกิดขึ้นกับจิตใด จิตนั้นก็มีโทสะเป็นมูล (โทสมูลจิต) และไม่ปราศจากโมหะด้วยในขณะนั้น สภาพธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามีความปรารถนาดีหวังดีต่อผู้อื่น จะฆ่าผู้อื่นไม่ได้เลย แต่ที่ฆ่าเพราะอะไร? นี่ก็ทำให้ได้พิจารณาได้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

ข้อที่ควรจะได้พิจารณาเพิ่มเติม คือ

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๖๗

“ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพ (การเกิด) นี้เป็นทุกข์ สัตว์ก็ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มตกภัตตชาดก)


แต่ละชีวิต ก็รักชีวิตของตนเองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ด้วยกันเองหรือเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อตนเอง ก็รักชีวิตของตนเอง ฉันใด สัตว์อื่น ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ควรฆ่าหรือเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ครับ

ขอเชิญฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติม ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

เจตนาฆ่า

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 14 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ