พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาในทางที่ถูกเป็นอย่างไร

 
มือใหม่หัดธรรม
วันที่  18 เม.ย. 2564
หมายเลข  34080
อ่าน  8,122

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

อยากเรียนถามถึงสิ่งที่ถูกต้องและที่ควรจะเป็นไปเกี่ยวกับพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชานั้นเป็นอย่างไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้างคะ

ได้รับชมข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านได้บั่นคอตัวเองและจากคำบอกกล่าวของบรรดาคนผู้ใกล้ชิดกล่าวว่าพระรูปนั้นต้องการถวายเป็นพุทธบูชา และการกระทำดังกล่าวนั้น ถือเป็นการบำเพ็ญบารมี 

อยากทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นหากพิจารณาตามหลักธรรมแล้วเป็นอย่างไรหรือคะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มือใหม่หัดธรรม
วันที่ 18 เม.ย. 2564

อยากสอบถามถึงพระชาดกในอดีตชาติในคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ด้วยค่ะ ว่ามีในชาติใดหรือไม่ที่พระโพธิสัตว์เจ้าได้สละชีวิตของท่านเพื่อเป็นการบำเพ็ญบารมี และเรื่องราวเป็นอย่างไรบ้าง

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้รู้คุณ ของ ผู้อื่น ไม่ว่ามาก หรือ น้อย จึงทำการบูชา ในประการต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดว่า จะเป็นการบูชาด้วยสิ่งใด ซึ่ง การบูชา มี 2 อย่าง คือ อามิสบูชา และ ธรรมบูชา หรือ ปฏิบัติบูชา

-อามิสบูชา คือ การบูชา ด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ

-ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยคุณความดี

ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมบูชา ผู้มีพระคุณสูงสุด คือ ผู้ที่ให้ความเข้าใจพระธรรม มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาอุบาสิกา เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็ยังบูชาพระพุทธเจ้า ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา คือ ตอนเย็น ย่อมถือดอกไม้ ของหอม ไปบูชาพระพุทธเจ้า ที่กุฏิของพระพุทธเจ้า ดังเช่น ที่ พระวิหารเชตวัน กุฏิของพระพุทธเจ้า เรียกว่า คันธกุฎี คือกุฎีที่มีกลิ่นหอม เพราะ อาศัย ผู้มีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า ย่อมบูชา พระพุทธองค์ด้วยดอกไม้ ของหอมประการต่างๆ หากไม่มีศรัทธา กุศลจิต ย่อมจะไม่มีการบูชาด้วยอามิสเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ย่อมไม่ละเลย และ บูชาพระพุทธเจ้าทั้งอามิส และ ปฏิบัติบูชา และ หลังจากบูชาด้วยดอกไม้ ของหอมแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ที่พระวิหารเชตวัน อันเป็นบูชา ด้วย ปฏิบัติบูชา ครับ

ดังเช่นที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวว่า

พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เลิศประเสริฐสูงสุด ควรไหมที่จะบูชาพระพุทธองค์ แม้อามิสบูชา ก็ควรเลิศที่สุด และ หากไม่มีศรัทธาแล้ว ก็คงไม่มีดอกไม้สักเพียงช่อเดียว แต่เพราะมีศรัทธา มีกุศลจิต จึงมีการจัดดอกไม้ให้ บูชาพระพุทธเจ้าให้สมควรกับบุคคลที่เลิศที่สุด

อย่างไรก็ดี การบูชาด้วยคุณความดี โดยเฉพาะความเข้าใจพระธรรม เป็นการบูชาที่เลิศ เพราะ นำมาซึ่งการดับกิเลส และ เป็นพุทธประสงค์ของพระองค์ ในการที่พระองค์บำเพ็ญบารมีมา เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจธรรม บรรลุธรรม อันจะเป็นการหมดทุกข์ดังเช่นพระพุทธองค์

บูชาด้วยปัญญา ปัญญา ก็จะทำให้เจริญกุศลประการต่างๆ ในการบูชาทั้งอามิส และธรรม ครับ ปฏิบัติบูชา หรือ ธรรมบูชา นี้ เป็นบูชาสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ท่านจะบูชา...พระรัตนตรัย...ด้วยอะไร


เรียนความเห็นที่ 1

พระโพธิสัตว์สละชีวิต เชิญอ่านลิงก์นี้ครับ

ว่าด้วยผู้สละชีวิตเป็นทาน [อรรถกถาสสปัณฑิตชาดกที่ ๖]

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑- หน้าที่ ๔๒๑

จริงอยู่ ชื่อว่าอามิสบูชา (การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ) นั้น ไม่สามารถจะดำรงพระศาสนาแม้ในวันหนึ่งบ้าง แม้ชั่วดื่มข้าวยาคู (ข้าวต้ม) ครั้งหนึ่งบ้าง จริงอยู่ วิหารพันแห่ง เช่นมหาวิหาร เจดีย์พันเจดีย์ เช่นมหาเจดีย์ ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ บุญ ผู้ใดทำไว้ ก็เป็นของผู้นั้นผู้เดียว ส่วนสัมมาปฏิบัติ (การปฏิบัติโดยชอบ) ชื่อว่า เป็นการบูชาที่สมควรแก่พระตถาคต, เป็นความจริง ปฏิบัติบูชา นั้น ชื่อว่า ดำรงอยู่แล้ว สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย”


ทำสิ่งที่ผิด ด้วยความหลงงมงาย ทำด้วยอกุศล แต่สำคัญว่าเป็นกุศล แล้วผลจะเป็นอย่างไร นั่น ไม่ใช่การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่การบูชาพระรัตนตรัย เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ดี จะนำมาซึ่งผลที่ดีไม่ได้เลย และ ประการที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การเข้าใจพระธรรมผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้วยังเผยแพร่สิ่งที่ผิด ให้กับคนอื่นๆ อีก ทำให้บุคคลเหล่านั้น ออกจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางเข้าใจความจริงได้เลย กล่าวได้ว่า ทำลายทั้งตนเอง ทำลายทั้งผู้อื่น และทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่โทษเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า พระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสะสมอบรมมา ตั้งแต่เริ่มตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งยากแสนยากที่จะรู้ได้ และเพื่อทรงแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ด้วย จากที่สัตว์โลกมากไปด้วยกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) มี ความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิด เป็นต้น ก็สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจนกระทั่งดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมประกาศความจริง เป็นระยะเวลานานถึง ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงของผู้ที่เป็นสาวกหรือพุทธบริษัท ดังนั้น จึงไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียว ที่จะให้เกิดอกุศล หรือ ความหลงงมงายเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นเหตุเป็นผลโดยตลอด ซึ่งผู้ฟังผู้ศึกษาก็สามารถเทียบเคียงได้ตามความเป็นจริง

บุคคลผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ก็จะไม่ละเลยโอกาสของกุศลในชีวิตประจำวัน แม้การบูชา ก็เป็นกุศล เป็นความดี ไม่ได้มีข้อบังคับห้ามว่า ไม่ให้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการบูชาต่างๆ เพราะสามารถที่จะกระทำได้ เป็นกุศล เป็นความดี เพราะสำหรับผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่บูชาด้วยเครื่องสักการบูชาต่างๆ เท่านั้น แต่ก็มีการฟังพระธรรมมีการศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นด้วย เพราะเข้าใจว่า การบูชาอย่างสูงสุด ก็จะต้องเป็นการบูชาด้วยการน้อมประพฤติตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ขัดเกลากิเลสของตนเอง ดังนั้น ในฐานะที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่จะทำให้เกิดการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ดียิ่งนั้น จึงไม่มีทางอื่น นอกจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงแล้วน้อมประพฤติตามเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะฉะนั้น บูชาด้วยอย่างอื่น ก็ไม่มีค่าเท่ากับการบูชาด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดขึ้นเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มือใหม่หัดธรรม
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นที่ช่วยอธิบายธรรมค่ะ ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่ช่วยอธิบายให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ