ผู้เพิ่งจากไป คุณย่าสงวน สุจริตกุล คุณย่า ๕ แผ่นดิน สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  28 พ.ค. 2564
หมายเลข  34298
อ่าน  5,302

คุณย่าสงวน สุจริตกุล คุณย่า ๕ แผ่นดิน ผู้มีอายุ ๑๐๔ ปี อดีตกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จากพวกเราไปแล้วโดยอาการสงบ เมื่อเวลา ๖.๐๖ น. ของวันนี้ คือ วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังมีการออกอากาศรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทางสถานีวิทยุกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ คลื่น A.M. ๑๔๒๒ kHz. ช่วงเวลา ๖.๐๐ น. - ๗.๐๐ น. ของทุกวัน)

ประวัติโดยย่อของคุณย่าสงวน สุจริตกุล

คุณย่าเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณย่าเป็นบุตรีของพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) เป็นหลานป้าของ พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานอาของ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

คุณย่าสงวน สุจริตกุล คุณย่า ๕ แผ่นดิน

จากนักกีฬาทีมชาติ สู่เส้นทางธรรม

" ... คุณย่าเล่าให้ฟังว่า คุณย่าสนใจเล่นกีฬาทั้งเทนนิสและแบดมินตันมาแต่วัยเด็กอายุ ๘ ขวบ คุณย่าก็หัดตีเทนนิสและแบดมินตันแล้ว โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ ๖ เป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด (สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ทรงเป็นน้องสาวของคุณพ่อคุณย่า พระพิบูลย์ไอศวรรย์) สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงโปรดการกีฬา มีสนามเทนนิสส่วนพระองค์ที่สวนนกไม้ พระราชวังดุสิต คุณย่าฝึกซ้อมกีฬาอย่างเอาจริงเอาจัง กลางวันตีเทนนิส กลางคืนเปิดไฟซ้อมแบดมินตัน

รางวัลของความตั้งใจฝึกฝนเทนนิสและแบดมินตัน คือ คุณย่าชนะเลิศ ในการแข่งขันกีฬาเทนนิสและแบดมินตัน จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย โดยไปแข่งขันที่ต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย พม่าสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬา Seap Game มาได้ ไม่นับการแข่งในประเทศ ที่คุณย่าชนะหลายครั้งหลายหน จนได้ถ้วยรางวัลมากมาย ซึ่งคุณย่ากับเพื่อนได้รวบรวม (ถึง ๓ เข่ง) นำไปสมทบสร้างพระพุทธรูปพระประธานองค์ใหญ่ ที่วัดจิตภาวัน บางละมุง

(ถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี ซึ่งคุณย่าเล่าว่า ต้องชนะเลิศติดต่อกันสามปีซ้อน จึงจะได้ถ้วยรางวัลมาครอบครอง)

(คุณย่าสงวน สุจริตกุล รับพระราชทานถ้วยรางวัล จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙)

จนกระทั่ง เมื่ออายุได้ ๕๐ ปี คุณย่าเริ่มสนใจในพระธรรม มีโอกาสได้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ทางวิทยุ และ คุณย่าถึงกับเขียนจดหมายไปหาท่านอาจารย์ เมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจคำศัพท์บาลีหรือข้อความที่ท่านอาจารย์บรรยาย ซึ่งท่านอาจารย์ได้แนะนำให้คุณย่าไปฟังท่านบรรยายที่วัดมหาธาตุฯ และ จากวันนั้นจนวันนี้ คุณย่าติดตามฟังการบรรยายของท่านอาจารย์อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

นอกจากฟังธรรมแล้ว คุณย่ายังบันทึกเทป (เพื่อกันลืม) และถอดเทปการบรรยายธรรมทางวิทยุของท่านอาจารย์ ด้วยความมุ่งมั่นและสนใจจริง ตั้งแต่เริ่มฟังจนบัดนี้ เกือบจะครบ ๔๖ ปี ในเดือนตุลาคม ศกนี้ (พุทธศักราช ๒๕๕๕) จากผลงานการถอดเทปของคุณย่าเพื่อกันลืมนั้น ได้เป็นผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งแก่พระพุทธศาสนา นั่นคือ หนังสือของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงแรกๆ หลายรายการ อาทิ แนวทางเจริญวิปัสสนา ๑ - ๔ บารมีในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ล้วนมาจากการถอดเทปของคุณย่าทั้งสิ้น ยกเว้น หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ซึ่งเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียว ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้เขียนขึ้นไว้ด้วยตัวของท่านเอง (ตีสองจนรุ่งเช้า เป็นเวลาถอดเทปของคุณย่าในปัจจุบัน ส่วนสมัยก่อนนั้น คุณย่าบอกว่าถอดเทปแทบทั้งวัน) ... "

จากประวัติโดยย่อข้างต้น ให้ได้เห็นว่า คุณย่าเป็นแบบอย่างอันดี แก่สหายธรรม เป็นผู้ที่ศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์ ด้วยความมั่นคง มาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งท่านยังเป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการอีกด้วย

คุณย่าสงวน สุจริตกุล มอบเงินสมทบกองทุนสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่พระธรรมในประเทศอินเดีย

ข่าวจากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา แจ้งว่า เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา คุณย่าสงวน สุจริตกุล อดีตกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ผู้มีอาวุโสสูงสุดในปัจจุบัน ด้วยอายุ ๑๐๔ ปี ได้เดินทางมามอบเงินสมทบ "กองทุนสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่พระธรรมในประเทศอินเดีย" ผ่านทางท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นท่านแรก โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรณพ หอมจันทร์ เป็นผู้รับมอบ (ในช่วงนี้กำลังดำเนินการจัดหาที่ดินและก่อสร้างมูลนิธิพระธรรม - Dhamma Foundation ณ เมืองลัคเนาว์ ประเทศอินเดีย)

การเดินทางมาฟังพระธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งสุดท้ายของคุณย่า

ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ คุณย่าได้เดินทางมาที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยในห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลมาเป็นเวลานาน โดยคุณย่าบอกกับท่านอาจารย์ว่า คุณย่าอยากมาโรงเรียน พร้อมทั้งอยู่รับฟังธรรม ขณะมีการถ่ายทอดสดการสนทนาธรรมออนไลน์ ที่กำลังทำการถ่ายทอดสดจากมูลนิธิฯ ในวันนี้ด้วย

" ... ความไม่รู้ ก็ทำให้พอใจ ติดข้อง ในสิ่งที่ปรากฏ ทั้งทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เป็นอย่างนี้ ไม่มีวันจบ นานแสนนานมาแล้ว ออกจากกรงของสังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดดับสืบต่อของธาตุรู้ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ได้เลย จนกว่า สามารถที่จะรู้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร? และ จะดับสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ได้อย่างไร? แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสนยาก ถ้าไม่มีบารมี คือ คุณความดี และ ความมั่นคง ในการที่จะเป็นผู้ที่มีโอกาส ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ... "

สุจินต์ บริหารวนเขตต์

(สนทนาธรรมเนื่องในโอกาสวันครบ ๘ รอบอายุ ๙๖ ปี คุณย่าสงวน สุจริตกุล ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ทแอนด์สปา ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕)

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 341

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.

" ... ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ ดังนี้ ... "

(ณ กาลครั้งหนึ่ง กับภาพหมู่ครั้งสุดท้ายของคุณย่า ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓)

(ภาพคุณย่าและข้อความจากใจคุณย่า ในคราวเจริญกุศลครบรอบอายุ ๙๖ ปี เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ทแอนสปา)

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 391

" ... แม้ตัวเธอ เมื่อป้องกันความเกิดขึ้นแห่งอกุศล ซึ่งยังไม่เกิด ขจัดที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการหลงลืมสติเสีย (ก็) ชื่อว่า สงวน คือ ปกครองตน ฉันนั้น ; เมื่อเธอสงวนตนได้อย่างนี้อยู่ เธอจักบรรลุคุณพิเศษทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตระ ... "

กราบเท้ายินดียิ่งในกุศลทุกประการที่คุณย่าได้บำเพ็ญแล้ว อันเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับพวกเรา สมาชิกชมรมบ้านธัมมะทุกคน

(ภาพเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔)

(ภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔)

ขอเชิญอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง ของคุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

- บันทึกสุดท้าย แด่ คุณป้าสงวน สุจริตกุล

- คุณย่าสงวน สุจริตกุล คุณย่า ๕ แผ่นดิน สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓

- คุณย่าสงวน สุจริตกุล มอบเงินสมทบกองทุนสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่พระธรรมในประเทศอินเดีย

- ผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือธรรมะ ของมูลนิธิฯ ... คุณย่า สงวน สุจริตกุล

- ประมวลภาพ บูชาคุณ คุณย่าสงวน สุจริตกุล

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านอัมพวา รีสอร์ทแอนด์สปา ๑๗ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕

- วันสุกดิบ งานครบรอบคล้ายวันเกิดครบ ๘ รอบ คุณย่าสงวน สุจริตกุล ๑๗ ต.ค. ๕๕

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ๙๖ ปี คุณย่าสงวน สุจริตกุล

- ขอแสดงความยินดีกับ คุณย่าสงวน สุจริตกุล ที่ได้รับรางวัล หอเกียรติยศ Hall of Fame จากสยามกีฬา

- "สงวน สุจริตกุล" ตำนานนักหวด 5 แผ่นดิน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Dusita
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบ ยินดี ในคุณงาม ความดี ของ คุณ ย่า ค่ะ..

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขอกราบแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของคุณย่าสงวน สุจริตกุล ด้วยค่ะ เป็นความจริงที่สุดที่การจากไป เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถทราบได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวาระสุดท้าย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kulwilai
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบเท้ายินดียิ่งในกุศลทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้ว ด้วยความเคารพ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขอกราบคุณย่าค่ะ กราบขอบพระคุณในกุศลจิต และคุณงามความดี ที่คุณย่า ได้กระทำไว้ต่อ คนรุ่นหลังค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pnat121214
วันที่ 28 พ.ค. 2564

สาธุ สาธุ สาธุ

 

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 28 พ.ค. 2564

 

กราบเท้าโสมนัสยินดียิ่งในกุศลคุณงามความดีทั้งหลายที่คุณย่าสวงวน สุจริตกุลได้บำเพ็ญมาตลอดเวลาอันยาวนานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาในกุศลทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้ว

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ข้อมูลในเมนูต่างๆของเว็ปไซต์บ้านธัมมะ มาจาก กุศลวิริยะของคุณย่า ครับ

นอกจากฟังธรรมแล้ว คุณย่ายังบันทึกเทป (เพื่อกันลืม) และถอดเทปการบรรยายธรรมทางวิทยุของท่านอาจารย์ ด้วยความมุ่งมั่นและสนใจจริง ตั้งแต่เริ่มฟังจนบัดนี้ เกือบจะครบ ๔๖ ปี ในเดือนตุลาคม ศกนี้ (พุทธศักราช ๒๕๕๕) จากผลงานการถอดเทปของคุณย่าเพื่อกันลืมนั้น ได้เป็นผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งแก่พระพุทธศาสนา นั่นคือ หนังสือของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงแรกๆ หลายรายการ อาทิ แนวทางเจริญวิปัสสนา ๑ - ๔ , บารมีในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ล้วนมาจากการถอดเทปของคุณย่าทั้งสิ้น  ยกเว้น หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ซึ่งเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียว ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้เขียนขึ้นไว้ด้วยตัวของท่านเอง (ตีสองจนรุ่งเช้า เป็นเวลาถอดเทปของคุณย่าในปัจจุบัน ส่วนสมัยก่อนนั้น คุณย่าบอกว่าถอดเทปแทบทั้งวัน) ..."

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Kalaya
วันที่ 28 พ.ค. 2564

อนุโมทนาและกราบคำสอน คำกล่าว  ที่ปรากฎค่ะ ที่ได้บันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาพระธรรมค่ะ สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ยุรีรัตน์
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบคุณย่าสงวนด้วยความเคารพ กราบท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพยิ่งด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jong_sai
วันที่ 28 พ.ค. 2564

สาธุๆๆครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิพรรณี
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนา กับคุณย่าสงวน สุจริตกุล เป็นอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
k_cmu
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลศรัทธา และผลงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งของ คุณย่าสวงวน สุจริตกุล ด้วยความเคารพครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pulit
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนากุศลต่างๆที่คุณย่าได้บำเพ็ญมา กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Thanan
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขอกราบอนุโมทนาในกศุลจิตมาโดยตลอดที่ได้บำเพ็ญกุศลของคุณย่าสงวน  กราบอนุโมทนายิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pattarakornnontajid
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบบูชากุศลจิต คุณย่า สงวน สุจริตกุล ที่ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดในการเผยแพร่ธรรมะ คือสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ สาธุ สาธุ สาธุ...ครับ

 

 

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Tommy9
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนา กุศลที่ท่านได้กระทำไว้ดีแล้ว นำท่านสู่สุขคติภูมิ สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
kanchana.c
วันที่ 28 พ.ค. 2564

บันทึกสุดท้าย... แด่ คุณป้าสงวน สุจริตกุล

ได้ทราบข่าวว่า คุณป้าสงวน สุจริตกุล เสียชีวิตแล้วเมื่อเช้าวันนี้ (28 พ.ค. 2564) ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่ออายุเกือบ 105 ปี ไม่มีโอกาสได้เห็นท่านผู้มีบุญที่มีอายุเกิน 100 ปี และยังสามารถมาฟังธรรมที่มูลนิธิ ฯ ได้อีกแล้ว ตามพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงไว้ว่า “ชีวิตนี้น้อยหนอ สัตว์ย่อมตายหย่อนแม้กว่า 100 ปี แม้หากผู้ใดเป็นอยู่เกินไป ผู้นั้นย่อมตายแม้เพราะชราโดยแท้” (ขุททกนิกาย มหาวรรค)

ได้มีโอกาสสนิทสนมกับคุณป้าเมื่อเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียครั้งแรก (ของเรา) เมื่อมกราคม - กุมภาพันธ์ 2530 โดยการนำของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ การเดินทางครั้งนั้นยาวนานถึง 23 วัน ไปทั้งกัลกัตตา ดาร์จีลิง สิกขิม ชัยปุระ ถ้ำอชันตา ออโรล่า ป้อมแดง ทัชมาฮาล กรุงนิวเดลี ฯลฯ นั่งรถรอนแรมไปทั้งกลางวันทั้งกลางคืน คนขับรถอินเดียลงมาจุดเตาปิ้งโรตีข้างทาง ตอนนั้นเราเพิ่งไปฟังธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายที่วัดบวรนิเวศใหม่ๆ ยังไม่รู้จักใครเลย แต่ด้วยความศรัทธาในพระธรรมที่ได้ฟัง จึงสมัครร่วมเดินทางทันทีที่ได้ข่าว กลัวจะว้าเหว่เพราะไม่รู้จักสนิทกับใครเลย แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะผู้ร่วมเดินทางปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้เข้าใจแล้ว จึงได้รับความเมตตาจากคณะที่เดินทางไปด้วยกัน โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่ มีคุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ คุณป้าสงวน สุจริตกุล คุณน้าชมัย กรลักษณ์ เป็นต้น ที่คอยดูแลกลัวจะหิวในระหว่างเดินทาง ท่านนำขนมชาววังมากมายไปแจกผู้ร่วมเดินทาง ยังจำรสชาติของขนมพายเรือสับปะรดลำเล็กๆ ที่ทั้งสวยงามและอร่อย และคุณป้ายังนำมาความบันเทิงด้วยเรื่องเล่าตลกๆ ตลอดการเดินทาง เช่น เรื่องพ่อแม่ส่งลูกชายไปเรียนเมืองนอก เมื่อเรียนจบนำภรรยาฝรั่งกลับมาด้วย แม่เห็นครั้งแรกอุทานว่า “เวรกรรม” ลูกสะใภ้ดีใจเข้าไปกอด ที่แม่บอกว่า “welcome” (ยินดีต้อนรับ) เมื่อเห็นคุณป้าครั้งใด ก็เตรียมหัวเราะไว้ก่อนได้เลย การเดินทางไปอินเดียครั้งแรกนั้นจึงประทับใจมากๆ ชุ่มชื่นหัวใจด้วยความเข้าใจพระธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายตามสังเวชนียสถานทุกแห่ง และความบันเทิงจากความเมตตาของคณะผู้ร่วมเดินทาง ทำให้มั่นคงในการศึกษาพระธรรมมากขึ้น

และวันเวลาก็ผ่านไปนานนับสิบๆ ปี ได้รู้จักคุณป้ามากขึ้น รู้ว่า แม้คุณป้าจะชอบเล่าเรื่องตลกให้คนหัวเราะ แต่คุณป้าจริงจังกับการศึกษาพระธรรมมากที่สุดเท่าที่เคยเห็น เพราะคุณป้าถอดคำบรรยาย “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ของท่านอาจารย์จากเทปคาสเซทด้วยลายมือที่สวยงาม เก็บไว้เป็นเล่มๆ นับได้หลายร้อยเล่ม มีคนขอยืมไปแล้วไม่คืนก็มาก แต่คุณป้าก็ถอดใหม่ จนเมื่อ พ.ศ. 2535 ท่านอาจารย์ให้พิมพ์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นหลักฐานไม่ให้สูญหาย คุณป้าถอดเทปเสร็จแล้วก็ให้คุณอ้อม สวิณี แสนทอง นำมาให้ที่บ้านเย็นวันอาทิตย์ (ตอนนั้นไม่สะดวกไปการเดินทางไปมูลนิธิฯ) เพื่อพิมพ์เก็บไว้ และต่อมาคุณป้าไม่ได้ไปที่มูลนิธิฯ ก็ให้คุณพรชัย ไปเอาที่บ้านคุณป้าไปให้ที่มูลนิธิฯ จึงได้พิมพ์ติดต่อกันจนครบทั้ง 2,081 ตอน และทางมูลนิธิฯได้จัดทำเป็น e book ในเว็บไซต์ www.dhammahome.com

กุศลจิตที่คุณป้าอยู่กับพระธรรมเกือบตลอดเวลาที่ได้ฟัง ได้เขียน ได้อ่านทบทวน ได้พิจารณาพระธรรมนั้น และขออุทิศกุศลทั้งหมดที่ทำมาแล้ว เป็นพลวปัจจัยให้คุณป้าสงวน สุจริตกุศล มีความสุขในภพภูมิที่อยู่ตลอดไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ในวัฏฏะค่ะ

กราบเท้าคุณป้าเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
khampan.a
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบเท้ายินดียิ่งในความดีทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้ว ด้วยความเคารพ ครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
รู้จบลงที่รู้
วันที่ 28 พ.ค. 2564

ขอกราบแสดงความไว้อาลัยในการจากไปของคุณย่าสงวนผู้เป็นรัตตัญญูบุคคลที่สมควรแก่การเคารพกราบไหว้

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
Tran
วันที่ 28 พ.ค. 2564

With all due respect, I bow to you.

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Nataya
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้ว 

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
nuch chayanut
วันที่ 28 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาในกุศลธรรมของคุณย่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
Tathata
วันที่ 29 พ.ค. 2564

กราบเท้ายินดียิ่งในกุศลทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้ว ด้วยความเคารพ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
รู้จบลงที่รู้
วันที่ 29 พ.ค. 2564

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.

"...ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ ดังนี้..."

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 391

"...แม้ตัวเธอ เมื่อป้องกันความเกิดขึ้นแห่งอกุศล ซึ่งยังไม่เกิด ขจัดที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการหลงลืมสติเสีย (ก็) ชื่อว่า สงวน คือ ปกครองตน ฉันนั้น ; เมื่อเธอสงวนตนได้อย่างนี้อยู่ เธอจักบรรลุคุณพิเศษทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตระ..."

มาย้อนอ่านประวัติคุณย่าสงวนแล้วท่านเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรแก่ข้อธรรมทั้งสองนี้ทุกประการ ได้เคยร่วมเดินทางไปอินเดียกับคุณย่า และชื่นชมในจิตที่ตั้งมั่นในการศึกษาพระธรรมและวิริยะบารมีที่ถอดเทปคำสอนของท่านอาจารย์ตลอดมา 

ด้วยความรัก/อาลัย และเคารพ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
apichet
วันที่ 29 พ.ค. 2564

กราบเท้าคุณย่าสงวน สุจริตกุล ขอระลึกถึงคุณที่ท่านทำไว้ดีแล้วในธัมมะ ยินดีในกุศล และขออุทิศกุศลให้คุณย่าอีกคนด้วยครับ

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
จิตโอภาส
วันที่ 30 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการที่คุณย่าสงวน สุจริตกุล ได้บำเพ็ญแล้วด้วยความเคารพค่ะ 

 

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 1 มิ.ย. 2564

ขอโอกาสเล่าประสบการณ์ถึงครั้งหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้ามานั่งร่วมรับประทานอาหารโต๊ะเดียวกันกับท่านอาจารย์สุจินต์และคุณย่าสงวน สุจริตกุล (ผมขออนุญาตเรียกท่านโดยขอใช้คำนำหน้าว่า"คุณย่า") ซึ่งขณะนั้นคุณย่าก็กำลังรอท่านอาจารย์มาที่โต๊ะอาหาร พอได้เวลา ท่านอาจารย์มาถึง ท่านอาจารย์ก็พูดสนทนากับคุณย่าถึงทุกอย่างเป็นธรรม ชึ่งขณะนั้นก็มีอาหารหลายชนิดที่วางอยู่บนโต๊ะที่มีผู้จัดอาหารเตรียมไว้ก่อนแล้ว คุณย่าก็ตอบท่านอาจารย์ไปทำนอง (ผมขอใช้คำว่า"ทำนอง" เพราะไม่ได้จำประโยคที่คุณย่าพูดโดยตรง) ว่า งั้นก็กินธรรม คือคุณย่ากล่าวถึงอาหารบนโต๊ะว่าเป็นธรรม ท่านอาจารย์ก็หัวเราะ ผมก็อดหัวเราะไม่ได้ซึ่งเป็นคำจริงและเป็นประโยชน์ครับ

....

ขออุทิศส่วนกุศลแด่คุณย่าสงวน สุจริตกุล มา ณ ที่นี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
worasak
วันที่ 1 มิ.ย. 2564

กราบอนุโมทนา และขออุทิศกุศลที่ได้เจริญแล้วให้คุณย่าสงวนด้วยครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ