เพราะอะไรมหากุศลจิตจึงเกิดเป็นญานสัมปยุตและประกอบด้วยโสมนัสเวทนา

 
lokiya
วันที่  24 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34480
อ่าน  552

ต้องประกอบเหตุปัจจัยอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมทั้งหลาย ที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดั่ง ที่กล่าวว่า ธรรมไม่อิสระ ไม่อิสระ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่ง คำว่า เหตุปัจจัย ดู เหมือนพูดง่าย แต่มีความละเอียดลึกซึ้ง เพราะ เป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ มี ปัจจัย 24 ปัจจัย ปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง หรือ หลายๆ ปัจจัยก็ได้ ซึ่ง สำหรับ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทีเป็นเจตสิกฝ่ายดี เมื่อเป็นเจตสิกแล้ว ก็เป็นสภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้น เป็นไปได้ ซึ่ง ปัญญา เป็นความเห็นถูกนั้น ก็เป็นความเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่มีหลายระดับ ซึ่ง ปัญญา มี 5 ประการดังนี้

1. ปัญญาที่เชื่อกรรม และ ผลของกรรม

2. ปัญญาที่เป็นไปในการเจริญสมถภาวนา

3. ปัญญาที่เป็นไปในการวิปัสสนา

4. ปัญญาในมรรคจิต

5. ปัญญาในผลจิต

จะเห็นนะครับว่า ปัญญามีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ ปัญญา ควาเมห็นถูกขั้น ต้น จนถึงสูงสุด ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ด้วยอาศัยเหตุปัจจัย ซึ่ง เหตุปัจจัยให้ เกิดปัญญา ก็ด้วยการฟังพระธรรม ซึ่งพระธรรม นี่เป้นปัจจัยกว้างๆ แต่ หากจะ พิจารณารายละเอียดเหตุให้เกิดปัญญาแล้ว ก็มีปัจจัยหลายประการ

1. การเคารพยำเกรง ผู้ที่เป็นมิตรผู้มีปัญญา

2. การสอบถาม สนทนากับผู้มีปัญญา

3. ความเป็นผู้ได้ ความสงบกาย และ สงบใจ

4. เป็นผู้มีศีล

5. เป็นผู้ฟังมาก

6. เป็นผู้มีความเพียร

7. เมื่ออยู่ในทีป่ระชุม สนทนาในสิ่งที่เป็นประโยชน์

8. มีปัญญาเข้าใจความจริขงอสภาพธรรม

นี่เป็นเหตุ 8 ประการ ให้ได้ ปัญญา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

เหตุ ๘ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา [ปัญญาสูตร]

จาก ที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า ปัญญา ความเข้าใจ อาศัยเหตุปัจจัย การสะสม มา จึงเกิดขึ้นได้ การจะมีปัญญาได้ ก้ด้วยการคบสัตบุรุษ การฟังพระธรรม ศึกษา พระธรรมของท่าน ที่เป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นต้น และ ก็เกิด กุศลจิต ประการต่างๆ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ตามทีได้ศึกษา และ ปัญญาก็เพิ่มขึ้นไปตาม ลำดับ ทั้ง ปัญญาที่เชื่อกรรม และ ผลของกรรม ก็เจริญขึ้นได้ ด้วยการศึกษา พระธรรม ปัญญาขั้น สมถภาวนา วิปัสสนา มรรค ผล จะมีได้ ปราศจากการฟัง ศึกษาพระธรรมไมได้เลย ครับ สมดังเช่น ที่พระพุทะเจ้าตรัสไว้ว่า ฟังด้วยดี ย่อม ได้ปัญญา ฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง ธรรมที่ได้ฟังด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา ความ เข้าใจ สะสมไปทีละน้อย ครับ

และเหตุให้เกดิปัญญา อีก 4 ประการ คือ

ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณี ได้แสดงไว้ดังนี้ เหตุให้เกิดกุศลที่มีปัญญานั้น มีดังนี้

โดยกรรม

หมายถึง กุศลกรรมที่ทำแล้วปราถนาน้อมไปให้มีปัญญา ตามปกติ ที่ทำกุศล บางครั้งก็ทำโดยไม่คิดอะไร บางครั้งทำไปเพื่อหวังได้เกิดในภพ ภูมิ ที่ดี หรือบางครั้งทำไปเพื่อจะได้สิ่งตอบแทนมา เช่น ลาภ สักการะ เป็นต้น แต่ กุศลใดที่ทำแล้ว น้อมบุญที่ทำไปนั้นเพื่อให้เข้าใจธรรม หรือเพื่อให้มีปัญญา โดยจุดประสงค์เพื่อดับกิเลส กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัย การกระทำที่กล่าวมา คือ ทำกุศลแล้วน้อมกุศลไปเพื่อมีปัญญา

โดยความเกิดขึ้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

เมื่อเกิด ก็เพราะกุศลนั้นเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด จะทำ ให้กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ครับดังเช่น บุคคลที่เคยอบรมปัญญา มา เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา แต่ภพภูมินั้น เป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน แต่เพราะเคยอบรมปัญญามาในอดีต สิ่งเหล่านั้นไม่สูญหาย เทวดาเหล่านั้น ย่อมระลึกเองได้บ้าง กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจึงเกิดขึ้น เพราะความเกิดขึ้น ของกุศลนั้นเอง

โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์

กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาคือปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ เหมาะสม เหมือน การปลูกต้นไม้ ผล ที่จะออกก็ต้องอาศัยกาลเวลา ไม่ใช่แค่ วัน สองวัน ปัญญาที่จะเกิดก็เช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม อบรมมาจนถึงเวลา (อินทรีย์แก่กล้า) ปัญญาก็จะเกิดขึ้นครับ ปัญญามีหลายระดับ ตัวอย่าง เช่น ปัญญาขั้น สติปัฏฐาน ก็ต้องอาศัย ความแก่รอบของอินทรีย์ คือ ฟังจนเข้าใจ จนเหตุปัจจัยพร้อม สติก็เกิดระลึก สภาพธัมมะ ดังนั้น การอบรมปัญญาหรือ ปัญญาจะเกิดขึ้น ต้องมีเวลา และอดทนที่จะฟังต่อไป ขณะใดที่เดือดร้อน ว่า ปัญญาไม่เกิด สติไม่เกิด เพราะเราไม่เข้าใจเหตุของปัญญาว่าจะต้อง มีความแก่ รอบของอินทรีย์ คือ กาลเวลาและเหตุปัจจัยพร้อมที่ได้สะสมมา เป็นระยะเวลา ยาวนานครับ

โดยความเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส

ทุกคนก็อยากจะมีปัญญา แต่ ปัญญาจะเกิดขึ้น ก็ต้องมีเหตุ คือ ความเป็นผู้ห่าง ไกลจากกิเลส ตรงนี้สำคัญมาก ห่างไกลจากกิเลส เป็นอย่างไร คือ ถ้าเต็มไป ด้วยอกุศลมากๆ ไม่มีเมตตา โกรธ โลภ เป็นต้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ห่างไกลจาก กิเลส แต่ผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสนั้น คือ กุศลจิตเกิดบ่อยขึ้น (ขณะที่กุศลเกิด อกุศลไม่เกิด) เพราะอาศัยการฟังพระธรรม และรู้ประโยชน์ ของการเจริญกุศล ทุกประการ เพราะขณะที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศลและถ้าอกุศลมีกำลัง มาก ปัญญาขั้นสติปัฏฐานที่ฟังมาน้อย จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อ ยังไม่เป็นผู้ ที่ห่างไกลจากกิเลส ดังมีคำกล่าวว่า ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส โดยการฟังพระธรรม โดยเฉพาะ เรื่อง บารมี 10 ซึ่งเป็นกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ทาน ศีล เมตตา ขันติ เป็นต้น เมื่อเข้าใจเหตุของปัญญาแล้ว ก็จะไม่ประมาทใน การเจริญกุศล เป็นผู้ที่มีเมตตามากขึ้น อดทนมากขึ้นพร้อมๆ กับการฟังเรื่อง การเจริญสติปัฏฐาน นี้เป็นเหตุปัจจัย ที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น โดยเฉพาะ ปัญญาขั้น สติปัฏฐานครับ

จาก ที่กล่าวมาแสดงถึง ทั้งการสะสมมาในอดีต ทีเป็นปัจจัยให้มีการเกิด เกิดจาก กรรมที่ทำให้มีปัญญา และ อาศัยเหตุปัจจัยอื่นๆ อันแสดงให้เห็นว่า ปัญญาจะเกิดขึ้น ได้ ก็ต้องเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ แต่ มีการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ สม ดังที่พระเถระกล่าวว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒- หน้าที่ 49

๑. มหาจุนทเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็น เหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯลฯ

ดังนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องปัญญา ความเข้าใจ หน้าที่ที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ต่อไป ปัญญาจะค่อยๆ เกิด เจริญขึ้นเอง ทีละน้อย เมื่อดำเนินในหนทางที่ถูก ใน อนาคต ย่อมเกิดปัญญา และ เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงการดับกิเลสได้ ในที่สุด เพราะ ปัญญา ไม่ได้หายไปไหนหากเกิดแล้ว แต่สะสมต่อไป จนในที่สุด มีกำลัง ทำหน้าที่ดับกิเลส โดยอาศัย เหตุปัจจัยให้เกิดปัญญาตามที่กล่ามมา ทั้งหมด ครับ


ซึ่งการเกิดขึ้นของกุศลประกอบด้วยปัญญาและมีโสมนัสเวทนา ก้ต้องเป็นผู้มีความเข้าใจถูกที่มีกำลังนั่นเองและอาศัยเหตุปัจจยอื่นๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กุศลโสมนัส ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ได้อธิบายไว้ดีแล้วดังนี้ครับ

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงเหตุให้เกิดมหากุศลโสมนัสว่า

ประการที่ ๑ เพราะอารมณ์ประณีต

อารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะทำให้จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์ หรือทำให้จิตผ่องใสโสมนัส ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะให้เกิดความโสมนัส ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในการกุศลก็ตาม ถ้าสิ่งที่เป็นวัตถุทานในการกระทำกุศลนั้นเป็นสิ่งซึ่งประณีต ก็ย่อมทำให้เวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นเป็นโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น อารมณ์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการที่จิตจะเป็นมหากุศลโสมนัส

ประการที่ ๒ เป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา

คือ ความเลื่อมใสในกุศล ถ้าเป็นคนที่ไม่เลื่อมใสในกุศล แม้มีผู้ชักชวนให้ทำ เขาก็ทำอย่างเฉยๆ ธรรมดาๆ ไม่มีความสนใจ ไม่ได้เกิดความโสมนัส แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่เลื่อมใสในกุศล ขณะที่มีโอกาสที่จะได้ทำกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดปีติโสมนัสได้ ซึ่งทุกท่านจะสังเกตจากชีวิตประจำวันของท่านเองได้ว่า บางครั้ง ดูเหมือนจะเป็นกุศลที่ไม่มาก แต่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มในกุศลนั้นได้

ประการที่ ๓ เป็นผู้ที่มีความเห็นถูก

จึงเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส เช่น เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่ใช่ในวัตถุ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องแยก เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่ใช่เลื่อมใสในวัตถุ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก และมีความเข้าใจธรรม เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย จะรู้สึกได้ว่า ในขณะนั้นเกิดปีติโสมนัสที่เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นความพอใจในวัตถุ ในขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นมหากุศลโสมนัสได้ไหม นี่เป็นความละเอียด ที่จะต้องแยก

ประการที่ ๔ เป็นผู้ที่เห็นอานิสงส์ของกุศล

เวลาที่กุศลจิตเกิด สภาพของจิตผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อนด้วยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่มีการขาดความเมตตาในบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าจิตที่ผ่องใสเป็นกุศลนั้นไม่เป็นโทษเป็นภัย เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ว่า ด้วยจิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัยเป็นเหตุ ย่อมไม่เป็นผลให้เกิดโทษภัยขึ้นได้ เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลาย มีวิบากที่เป็นสุข ไม่ใช่นำมาซึ่งวิบากที่เป็นทุกข์ เมื่อเป็นผู้ที่เห็นอานิสงส์ของกุศล เวลาที่มีโอกาสได้ เจริญกุศล ก็เป็นกุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคนจริงๆ คนในโลกนี้มีเท่าใด แล้วจำนวนผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องมีเท่าใด ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม มีน้อยมากเทียบส่วนกันไม่ได้เลย พระธรรมจึงสำหรับเฉพาะผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อนจริงๆ ปัญญาเอง ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน เพราะได้เกิดในถิ่นที่มีพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีโอกาสได้พึ่งพิงบุคคลผู้มีปัญญา พร้อมกับได้ฟังความจริงซึ่งเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะเป็นเหตุให้ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ขณะที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้น ก็เป็นการสะสมปัญญาต่อไปแล้ว ก็เพราะว่าเคยเป็นผู้ได้เห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงจะเป็นอย่างนั้นได้ ที่สำคัญจะต้องไม่ขาดการการฟังการศึกษาพระธรรม ตราบใดที่ยังมีการฟัง การศึกษา การสนทนา ไม่ละเว้นโอกาสอันสำคัญนี้ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป (เก็บเล็กผสมน้อย) ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานจริงๆ ในการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพียงแค่วันนี้ ชาตินี้เท่านั้นต้องเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด

ขณะที่เข้าใจพระธรรม ปลาบปลื้มที่ได้เข้าใจ ที่คลายจากความไม่รู้ นั่นก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในชีวิตประจำวัน ของขณะที่เป็นมหากุศล ที่ประกอบด้วยปัญญาและมีความรู้สึกที่เป็นโสมนัส เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

ขอเชิญคลิกฟัง/อ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ชุดแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 24 มิ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ