สอบถามเรื่องการปฎิบัติ

 
Tb.
วันที่  30 มิ.ย. 2564
หมายเลข  34525
อ่าน  696

สวัสดีครับ ทีมงาน Dhamma Study & Support Foundation ผมกำลังศึกษาเกี่ยวกับธรรมะครับ อยากสอบถามเรื่องการปฎิบัติเกี่ยวกับกรรมฐาน ในเรื่องรูปณาน อรูปณาน รวมถึงสิ่งแปลกๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนี้ครับ

1. กสินทั้ง 10 กองมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกไหมครับ

2. เราสามารถที่จะข้ามมาอรูปณานเลยได้ไหมครับ

3. อานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียวเพียงพอไหมครับ

4. หลังจากเหตุการณ์หนึ่งๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง ผมรู้สึกสงบ มีสติ รับรู้สิ่งรอบๆ ได้กว้างขึ้น ในหัวมีแต่ความว่างเปล่า พร้อมตายอยู่ตลอดเวลา สิ่งๆ นี้เรียกว่าอะไรครับ ผมไม่รู้ว่าต้องทำยังไง หรือเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ผมพยายามหาคำตอบมาตลอด 2 เดือนแล้วครับ

รบกวนทีมงาน และขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กสิณ ทั้งสิ้น ทั้งปวง หมายถึง อารมณ์ของสมถภาวนา ๑๐ อย่าง ในบรรดาอารมณ์ ๔๐ ได้แก่ปฐวีกสิณ (ดิน) อาโปกสิณ (น้ำ) เตโชกสิณ (ไฟ) วาโยกสิณ (ลม) โลหิตกสิณ (สีแดง) นิลกสิณ (สีเขียว) ปีตกสิณ (สีเหลือง) โอทาตกสิณ (สีขาว) อาโลกกสิณ (แสงสว่าง) อากาสกสิณ (ช่องว่าง)

แม้ในการบริกัมม์กสิณ คือ การเริ่มบำเพ็ญสมถภาวนานั้น ในร้อยคนหรือในพันคนย่อมสามารถจะกระทำสำเร็จได้เพียงคนเดียว และเมื่อเจริญสมถภาวนาคือบริกัมม์กสิณไปแล้ว ที่อุคคหนิมิตจะเกิดได้ในร้อยคนหรือพันคนนั้นย่อมสามารถเพียงคนเดียว

เมื่ออุคคหนิมิตเกิดแล้ว การรักษานิมิตไว้ และการประคับประคองจิตให้สงบมั่นคงขึ้นจนปฏิภาคนิมิตเกิดแล้วบรรลุอัปปนาสมาธินั้น ในร้อยคนหรือพันคนย่อมสามารถเพียงคนเดียว ในบรรดาผู้ที่บรรลุฌานสมาบัติ ๘ แล้วนั้น ในร้อยคนพันคนจะฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ นี้ได้เพียงคนเดียว ในบรรดาผู้ที่ฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ ได้แล้ว ในร้อยคนหรือพันคนจะสามารถแสดงฤทธิ์ได้เพียงคนเดียว และในบรรดาผู้แสดงฤทธิ์ได้ร้อยคนหรือพันคนนั้น ผู้ที่จะแสดงฤทธิ์ได้อย่างฉับพลัน ก็จะสามารถสักคนเดียว

เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงอรูปฌานเลย

และเรื่องทำแล้ว มีแต่ความว่างเปล่า นั่นคือ ทำแล้วไม่รู้อะไร มีแต่เพิ่มโทษคือกิเลส คือ ความไม่รู้ครับ

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรมให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้

ดังนั้น เรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

- สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน

สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส

ส่วน สมถภาวนา หมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน

สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ

ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌาน แต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

ดังนั้นประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน

สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร

พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา .. สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เรื่อง มรรคหรือสติปัฏฐาน (วิปัสสนา)

เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373

อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับ ว่าเป็นทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็นทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ

อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.

จะเห็นนะครับว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ

เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ธรรม จึงเป็นเรื่องละเอียด หากไม่เริ่มจากปัญญาความเข้าใจถูกก่อน ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้แสดงสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ปัญญา) ไว้เป็นประการแรก ดังนั้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ย่อมจะทำให้สามารถเข้าใจหนทางดับกิเลสที่ถูกต้องว่า คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากอนุบาล คือ สมถภาวนาก่อน เพราะอนุบาลจริงๆ คือ เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนาก่อนครับ ถึงจะถึง ป. ๑ ป. ๒ คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ครับ

ดังนั้น เบื้องต้นของการอบรมปัญญา จึงไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาก่อนครับ เพราะสมถและวิปัสสนาเกิดพร้อมกัน ในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่แล้วตามที่กล่าวมาครับ

ต้องไม่ลืมและปรับความเข้าใจใหม่ว่า อนุบาล คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม หรือ เรื่องการเจริญวิปัสสนาครับ เริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ค. 2564

อานาปานสติคืออะไร อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

อานาปานสติ มีประโยชน์อย่างไร ถ้าอบรมถูก ด้วยความเข้าใจถูก หากอบรมโดยนัย สมถภาวนา ก็ถึงฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าอบรมโดยนัย วิปัสสนา ย่อมถึงการดับกิเลส เป็นพระอรหันต์ได้ครับ

ทำอย่างไร ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้น ว่าใครทำ เรา หรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติ ว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรม อานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้ กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็น อานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมี สภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฎที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนี้เสมอ คำว่า "อนัตตา" บังคับบัญชาไม่ได้ การอบรมโดยนัย สมถและวิปัสสนา ไม่มีตัวตนที่จะเลือกอารมณ์ เช่น จะเลือกเป็นไปในอานาปานสติ เป็นต้น แล้วแต่สติและปํญญาว่าจะเกิดระลึกรู้สภาพธัมมะอะไร ซึ่งอาจรู้สภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน เสียง เป็นต้น ก็ได้ครับ ขอให้เข้าใจความจริงก่อนนะครับว่า การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ว่าในส่วนใดหรืออภิธรรมก็เื่พื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และอภิธรรมก็มีอยู่ในขณะนี้เองครับ เพียงแต่ว่า เราจะรู้ชื่อหรือจะเข้าใจความจริงของอภิธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ของการอบรมปัญญาดับกิเลสครับ แม้ขณะที่หายใจ ก็มีสภาพธัมมะที่มีจริง คือ เย็น ร้อน ที่อาศัยเนื่องอยู่กับลมหายใจ แต่ก็แล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกสภาพธัมมะอะไรครับ แต่เบื้องต้นในการอบรมปัญญาและการศึกษาธัมมะที่ถูกคือ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เพราะอภิธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่ควรจะศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั้น มีมาก แต่ก็เข้าใจได้ตามกำลังปัญญาของตน

สำหรับ สมถภาวนาเป็นการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส (อกุศล) ให้มาก มั่นคงขึ้น จนตั้งมั่นเป็นสมาธิแนบแน่น ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้ และจุดประสงค์ก็ต้องตรงด้วย ว่าอบรมเจริญสมถภาวนา เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลส และที่ควรจะได้พิจารณา คือ สมถภาวนาดับกิเลสไม่ได้ เพียงแค่ข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลังแห่งความสงบของจิต เท่านั้น แต่ที่จะดับกิเลสได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา เท่านั้น

การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ที่สะสมมา ไม่ได้มีการบังคับว่า จะต้องเจริญ เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง แม้จะไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา ก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้นการเจริญขึ้นของการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะเป็นไป เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่ได้ฌาน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Tb.
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ในชีวิตประจำวันผมขณะที่ทำงาน จะมีความวุ่นวาย ความเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก และหลังเลิกงานผมจะมีเวลาว่างเล่นเกมส์ ซึ้งเป็นเกมส์ที่ต้องใช้สมาธิ จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น รวมกับตลอดทั้งวันผมจะดูดบุหรี่ ในระหว่างที่ดูดบุหรี่นั้น ผมต้องการความเย็นจากบุหรี่ ผมเลยกำหนดลม-เข้าออก มองเห็นควันจาก ปาก-คอ-ท้อง แล้ววนย้อนกลับไปมา รวมถึงช่องว่างจากคอ ไปถึงในตัว และจะเห็นภาพช่องท้องว่างเปล่าหลังจากควันออก ทุกครั้งจนเห็นภาพ เพียงเพราะอยากได้ความเย็น จนวันหนึ่งเกิดจุดหักเหจุดตกต่ำที่สุดของชีวิต ทำให้ผมอยากนั่งสมาธิ ศึกษาธรรมะ

หลังจากนั้นผมชอบศึกษา และฟังพระธรรมคำสอนต่างๆ จะมีอาการเวลาที่อ่าน หรือกำลังฟังธรรมนั้นๆ เกิดอาการปั้งในหัว และอาการนั้นทำให้ผมรู้สึกรู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังเผชิญ วางมันลง และทำให้ผมอยากรู้และศึกษาไปเรื่อยๆ

การนั่งสมาธิของผมในตอนนี้นั้น เป็นการรู้ลมหายใจ และจับช่องว่างในท้อง จนผ่านอาการต่างๆ มา รู้สึกถึงความว่างมืดไม่มีที่สิ้นสุด หรือบางทีก็รู้สึกแค่ว่าตัวเองหายไป แล้วก็เกิดความคิดมองเห็นตัวเองกับก้อนสีขาวแยกออกจากกันเหมือนในหุ่นยนต์กระดูก หรือการที่ยืนอยู่ใกล้ขยะเน่าเสีย ผมก็ไม่รู้สึกถึงกลิ่นเหม็น ถ้าตอนนั้นนิ่งสงบมากๆ

ผมเป็นคนชอบให้ทาน สวดมนต์ ภาวนา รักษาศีลครับ ความรู้สึกว่าง ปล่อยวางที่มีสติแบบนี้อยู่ตลอดทั้งวัน บางทีก็ไปรับรู้ความรู้สึกความคิดคนอื่น ทำให้ตอนนี้นั้นผมเป็นคนสันโดษ อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากคุยกับใครถ้าไม่จำเป็น คนรอบข้างมองว่าผมแปลก และเห็นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าขำ ชอบล้อเลียน บางครั้งผมอยากพยายามกลับไปเดินเร็วๆ โมโหหงุดหงิด หรือด่าก็ทำไม่ได้แล้วครับ

สิ่งที่ผมเป็นอยู่นี้นั้นดีหรือไม่ แก้ไขยังไง หรือควรหยุดดีครับ เพราะผมเหมือนกำลังกลายเป็นคนบ้า ตัวน่าตลกในสายตาคนอื่น ความรู้อันน้อยนิดของผมในตอนนี้ไม่สามารถจะตอบคำถามตัวเองได้เลยครับ อยากให้พี่ๆ ทีมงานช่วยชี้ทางแนะนำ แก้ไขด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 1 ก.ค. 2564

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

การอบรมปัญญาที่ถูกต้องเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เริ่มจากเข้าใจว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน เห็น เป้นธรรม โกรธก็เป็นธรรม กิเลสก็เป็นธรรม สี เสียง กลิ่น รส เป็นธรรม ธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ปกติ กิเลสเกิดมาก ก็ปกติ แต่ หนทางที่ถูก คือ เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วว่าคืออะไร ปกติเป็นเรา แต่ที่ถูกคือ ปกติขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเป้นเรื่องของปัญญา คือ ปัญญาที่เข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ คือ พยายามจดจ้องลมหายใจ แต่ไม่มีปัญญารู้อะไร ก็จะเพิ่มความไม่รู้ เพิ่มกิเลส เพิ่มความหงุดหงิด และเราไม่ได้มีปัญญาขั้นการฟังมากพอ ไม่รู้จักจริงๆ ว่าสติในพระพุทธศาสนาคืออะไรที่ถูกต้องกันแน่ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำแล้วเพิ่มกิเลส เพิ่มความไม่รู้ จนจะเป็นบ้า นั่นผิดทางแน่นอน ควรกลับมาเริ่มต้นที่ฟังให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร ความจริงคืออะไร สติคืออะไรเป็นเบื้องต้นครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

สติ

เริ่มต้นศึกษาธรรมอย่างไรดี

สำหรับผู้เริ่มต้น

แด่ ... ผู้เริ่มต้น

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

จะเริ่มต้นศึกษาธรรมะอย่างไร

ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร

ธรรมะ ปรมัตถธรรม อภิธรรม

ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Tb.
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขอบคุณที่สละเวลามาตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ