พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ลักขณสูตร เรื่อง มหาปุริสพยากรณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ค. 2564
หมายเลข  34559
อ่าน  1,230
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 1

๗. ลักขณสูตร

เรื่อง มหาปุริสพยากรณ์

[๑๓๐] ข้าพเจ้า (พระอานนทเถระเจ้า) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้ ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง ประกอบด้วย รัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗. พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าหนึ่งพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ํายีเสนาของข้าศึกได้. พระองค์ทรงชนะโดยธรรม โดยเสมอ มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต มิได้มีเสา เขื่อน ไม่มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม มั่งคั่งแพร่หลาย มีความเกษมสําราญ ไม่มีเสนียด ถ้าเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้นเป็นไฉน ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือถ้าครองเรือนจะได้เป็น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 2

พระเจ้าจักรพรรดิ. อนึ่ง ถ้าพระมหาบุรุษนั้นเสด็จออกผนวช จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก. ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษในโลกนี้

    ๑. มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี การที่พระมหาบุรุษมีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดีนี้ เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ

    ๒. พื้นภายใต้ฝ่าพระบาทของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้นมีซี่กําข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง แม้การที่พื้นภายใต้ฝ่าพระบาท ของพระมหาบุรุษมีจักรเกิดขึ้นมีซี่กําข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงนี้ก็เป็นมหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ

    ๓. มีส้นพระบาทยาว

    ๔ . มีพระองคุลียาว

    ๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อน นุ่ม

    ๖. มีฝ่าพระหัตถ์ฝ่าพระบาทมีลายประหนึ่งตาข่าย

    ๗. มีข้อพระบาทลอยอยู่เบื้องบน

    ๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

    ๙. เสด็จยืนมิได้น้อมพระวรกายลงเอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง ลูบคลําได้ถึงพระชานุทั้งสอง

    ๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

    ๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจทองคํา คือมีพระตจะประดุจหุ้ม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 3

ด้วยทอง

    ๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียดธุลีละอองจึงมิได้ติดอยู่ในพระวรกาย

    ๑๓. มีพระโลมาขุมละเส้น เสมอไปทุกขุมขน

    ๑๔. มีพระโลมามีปลายช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียวเหมือนสีดอกอัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ

    ๑๕. มีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม

    ๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน คือหลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จงอยพระอังสาทั้งสอง และ พระศอ

    ๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ

    ๑๘. มีระหว่างพระอังสาเต็ม

    ๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระวรกายของพระองค์ พระวรกายของพระองค์เท่ากับวาของพระองค์

    ๒๐. มีลําพระศอกลมเท่ากัน

    ๒๑. มีปลายเส้นประสาทสําหรับนํารสอาหารอันดี

    ๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์

    ๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่

    ๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน

    ๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 4

๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม

๒๗. มีพระชิวหาใหญ่

๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกการะเวก

๒๙. มีพระเนตรดําสนิท

๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาโค

๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระโขนง มีสีขาวอ่อนควรเปรียบด้วยนุ่น

๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนี้แล ที่พระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ... อนึ่ง ถ้าพระมหาบุรุษเสด็จออกผนวชจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก. ภิกษุทั้งหลาย พวกฤษีแม้เป็นภายนอก ย่อมทรงจํามหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้ แต่ฤษีเหล่านั้นย่อมไม่ทราบว่าเบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมที่ตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ไว้ สัตว์ที่บําเพ็ญกุศลกรรมนั้น ย่อมครอบงําเทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 5

ว่าด้วยบุรพาธิการของพระตถาคต

[๑๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กําเนิดก่อนเป็นผู้ยึดมั่นในกุศลธรรม ยึดมั่นไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การบําเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติดีในมารดา บิดา สมณพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในธรรม เป็นอธิกุศลอื่นๆ. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงํา เทวดาทั้งหลาย ในโลกสวรรค์โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์. กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์. ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาถึงความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้.

ทรงเหยียบพระบาทเสมอกัน

[๑๓๒] พระมหาบุรุษนั้น มีพระบาทตั้งอยู่เป็นอันดี คือ ทรงเหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น ทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน ทรงจรดพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน พระมหาบุรุษทรงถึงพร้อมด้วยลักษณะนั้น หากอยู่ครองเรือน จะเป็นพระราชาจักรพรรดิ เป็นผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชา มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง ถึงพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗. และมีพระราชโอรสมากกว่าพัน ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า พระรูปสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ํายีเสนา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 6

ของข้าศึกได้. และพระมหาบุรุษนั้นทรงชนะโดยธรรมเสมอ มิต้องใช้อาชญามิต้องใช้ศัสตราทรงครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขตมิได้มีเสาเขื่อนมิได้มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม มั่งคั่งแพร่หลาย มีความเกษมสําราญ ไม่มีหมู่โจร เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้คือไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ที่เป็นข้าศึกศัตรู จะข่มได้. อนึ่ง ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้ คือ ไม่มีเหล่าข้าศึกศัตรูภายใน หรือภายนอกคือราคะ โทสะหรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ใครๆ ในโลกนี้จะข่มได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าว คาถาประพันธ์ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๓๓] พระมหาบุรุษยินดีแล้วในสัจจะ ในธรรมในการฝึกตน ในความสํารวม ในความสะอาดในศีลในอุโบสถกรรม ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ทรงยึดถือมั่นคง ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ.

    เพราะกรรมนั้นพระมหาบุรุษจึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์เสวยสุข และสมบัติเป็นที่เพลินยินดี จุติจากไตรทิพย์แล้วเวียนมาในโลกนี้ เหยียบปฐพีด้วยพระบาทอันเรียบ

    พวกพราหมณ์ผู้ทํานายพระลักษณะมาประชุมกัน แล้วทํานายว่า พระราชกุมารนี้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 7

มีฝ่าพระบาทตั้งประดิษฐานเรียบ เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ไม่มีใครข่มได้ พระลักษณะนั้นย่อมเป็นนิมิตส่องความนั้น

พระราชกุมารนี้เมื่ออยู่ครองเรือนไม่มีใครข่มได้ มีแต่ครอบงําพวกปรปักษ์ เหล่าศัตรูมิอาจย่ํายีได้ ใครๆ ที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้หาข่มได้ไม่ เพราะผลแห่งกุศลกรรมนั้น

หากพระราชกุมารนี้ออกทรงผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ้งเป็นอัครบุคคลไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ ข่มได้ ย่อมเป็นผู้สูงสุดกว่านรชน อันนี้เป็นธรรมดาของพระกุมารนั้น.

ว่าด้วยการบรรเทาความสะดุ้งกลัว

[๑๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในกาลก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ได้นําความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาความหวาดกลัวและความสะดุ้ง จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ได้ให้ทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวาร. ตถาคตนั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงโลกสวรรค์ เพราะธรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูนไพบูลย์ไว้แล้ว. ตถาคตได้ครอบงําเทวดาทั้งหลายอื่นในเทวโลกโดยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาถึงความเป็น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 8

อย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้ คือ ใต้ฝ่าเท้าทั้งสองมีจักรเกิด มีซี่กําพันหนึ่ง มีกงมีดุมบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระหว่างอันกุศลกรรมแบ่งเป็นอันดี. พระมหาบุรุษถึงพร้อมด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้ คือ มีบริวารมาก คือมีบริวารเป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นกุมาร. ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกทรงผนวช จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลคือ มีบริวารมาก มีบริวารเป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๓๕] พระมหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ นําความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดสะดุ้ง ขวนขวายในการคุ้มครองรักษาป้องกัน

    เพราะกรรมนั้นพระมหาบุรุษจึงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินยินดี ครั้นจุติจากทิพย์แล้ว เวียนมาในโลกนี้ ย่อมได้ลายจักรทั้งหลาย มีซี่กําพันหนึ่ง มีกง มีดุมโดยรอบ ที่ฝ่าพระบาททั้งสอง

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 9

    พวกพราหมณ์ผู้ทํานายลักษณะมาประชุมกันแล้ว เห็นพระราชกุมารมีบุญลักษณะเป็นร้อยๆ แล้วทํานายว่า พระราชกุมารนี้จักมีบริวารย่ํายี ศัตรู เพราะจักรทั้งหลายมีกงโดยรอบอย่างนั้น

    ถ้าพระราชกุมารนั้นไม่ออกทรงผนวชจะยังจักรให้เป็นไป และปกครองแผ่นดินมีกษัตริย์ที่มียศมากติดตามแวดล้อมพระองค์

    หากทรงผนวชทรงยินดีในเนกขัมมะ จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง พวกเทวดา มนุษย์ อสูร ท้าวสักกะ ยักษ์ คนธรรพ์ นาค นก และสัตว์ ๔ เท้าที่มียศมาก จะแวดล้อมพระองค์ ผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว.

    [๑๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว วางอาชญา วางศัสตรา มีความละอาย มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ตถาคตย่อมครอบงํา เทวดาทั้งหลายอื่นในโลก โดยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 10

เป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการคือ ส้นพระบาทยาว ๑ มีพระองคุลียาว ๑ พระวรกายตรงดังกายพรหม ๑. พระมหาบุรุษนั้นถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งหลายเหล่านั้น หากครองเรือนจะเป็นพระราชาจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้คือ มีพระชนมายุตั้งอยู่ยืนยาว ทรงรักษาพระชนมายุยืนยาว ไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึกศัตรู จะสามารถปลงพระชนม์ชีพในระหว่างได้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้คือ มีพระชนมายุยืนตั้งอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุยืนยาว ไม่มีข้าศึกศัตรู จะเป็นสมณพราหมณ์ เทวดา มารพรหม ใครๆ ในโลกสามารถปลงพระชนม์ชีพในระหว่างได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า.

    [๑๓๗] พระมหาบุรุษทรงทราบการฆ่าสัตว์ให้ตายเป็นภัยแก่ตน ได้เว้นจากการฆ่าสัตว์อื่นแล้วเบื้องหน้าแต่มรณะได้ไปสู่สวรรค์ เพราะกรรมที่ทรงประพฤติดีแล้วนั้นเสวยวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทรงทําดีแล้ว

    จุติ (จากสวรรค์) แล้วเวียนมาในโลกนี้ย่อมได้พระลักษณะ ๓ ประการ คือ มีส้นพระบาทยาว ๑ พระกายเกิดดีตรงสวยงามดุจ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 11

กายพรหม มีพระพาหางาม มีความเป็นหนุ่มทรวดทรงงามเป็นสุชาต ๑ มีนิ้วพระหัตถ์นิ้วพระบาทยาวอ่อนดังปุยฝ้าย ๑ พระชนกเป็นต้น ทรงบํารุงพระราชกุมาร เพื่อให้มีพระชนมายุยืนยาว เพราะพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ

    ถ้าพระราชกุมารทรงครองเรือน ก็จะให้พระชนม์ชีพยืนยาว ถ้าออกทรงผนวชก็จะให้พระชนม์ชีพยืนยาวกว่านั้น เพื่อให้เจริญด้วยอํานาจ และความสําเร็จ พระลักษณะนั้นเป็นนิมิต เพื่อความเป็นผู้มีพระชนมายุยืนด้วยประการดังนี้.

    [๑๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต และมีรสอร่อย. ตถาคตย่อมเข้าถึงโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทําสั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้ คือมีมังสะอูมในที่ ๗ สถาน คือ ที่หลังพระหัตถ์ทั้งสอง ก็มีมังสะอูม ที่หลังพระบาททั้งสอง ก็มีมังสะอูม ที่พระ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 12

อังสาทั้งสอง ก็มีมังสะอูม ที่ลําพระศอ ก็มีมังสะอูม. พระมหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น หากครองเรือนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือย่อมได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีตมีรสอร่อย. ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวช ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้ คือ ทรงได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต มีรสอร่อย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์ในลักษณะเหล่านั้นว่า.

    [๑๓๙] พระมหาบุรุษเป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยวของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม และน้ำที่ควรดื่ม มีรสอันสูงสุด และเลิศเพราะกรรมที่ทรงประพฤติดีแล้วนั้น พระมหาบุรุษนั้นจึงบันเทิงยิ่งนานในสวนนันทวัน

    มาในโลกนี้ ย่อมได้มังสะอูมใน ๗ แห่ง ได้ฝ่าพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม บัณฑิตผู้ฉลาดในพยัญชนะ และนิมิต กล่าวไว้เพื่อความเป็นผู้ได้ของเคี้ยว และของบริโภคอันมีรส

    ลักษณะนั้นใช่ว่าจะส่องความแม้แก่พระ-

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 13

มหาบุรุษผู้เป็นคฤหัสถ์เท่านั้น ถึงพระมหาบุรุษออกทรงผนวชก็ย่อมได้ของควรเคี้ยว และของควรบริโภคนั้นเหมือนกัน พระองค์ได้ของควรเคี้ยว และควรบริโภคมีรสอันสูงสุดบัณฑิตทั้งหลายกล่าวแล้วว่า พระองค์เป็นผู้ตัดกิเลสเป็นเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ทั้งปวงเสีย.

    [๑๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อน กําเนิดก่อน เป็นผู้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือด้วยการให้ ด้วยการกล่าวคําเป็นที่รัก ด้วยการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์. ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นเแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๑ พระหัตถ์และพระบาทมีลายดังตาข่าย ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทั้งสองนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้ คือ มีบริวารชนอันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชนที่พระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดีนั้น เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นกุมาร ฯลฯ เมื่อพระ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 14

มหาบุรุษนั้นออกทรงผนวชเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อพระมหาบุรุษทรงผนวชเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลคือ มีบริวารชนอันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชนที่พระองค์สงเคราะห์เป็นอย่างดีนั้น เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๔๑] พระมหาบุรุษทรงทําแล้ว ทรงประพฤติแล้ว ซึ่งการให้ ๑ ซึ่งความเป็นผู้ประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ซึ่งความเป็นผู้กล่าวคําเป็นที่รัก ๑ ซึ่งความเป็นผู้มีฉันทะเสมอกัน ๑ ให้เป็นความสงเคราะห์อย่างดีแก่ชนเป็นอันมาก ย่อมไปสู่สวรรค์ด้วยคุณอันตนมิได้ดูหมิ่น

    จุติจากสวรรค์แล้วเวียนมาในโลกนี้ ก็เป็นพระกุมารยังหนุ่มแน่นงดงาม ย่อมได้ความเป็นผู้มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ความเป็นผู้มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายเป็นตาข่ายงามอย่างยิ่ง และมีส่วนสวยน่าชมด้วย

    พระองค์มาสู่แผ่นดินนี้ มีบริวารชนอันพระองค์ตรวจตราและสงเคราะห์ดี ตรัสด้วย

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 15

คําเป็นที่น่ารัก แสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้ ทรงประพฤติคุณงามความดีที่พระองค์ชอบเป็นอย่างยิ่ง

    ถ้าพระองค์ทรงละ การบริโภคกามทั้งปวงเป็นพระชินะตรัสธรรมกถา แก่ประชุมชน ชนทั้งหลายก็จะสนองคําของพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนัก ครั้นฟังธรรมแล้วย่อมจะพากันประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม.

    [๑๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม แนะนําประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นําประโยชน์ และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปรกติ. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทําสั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ จุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ นี้คือ มีพระบาทดุจสังข์คว่ํา ๑ มีพระโลมาล้วนมีปลายช้อยขึ้นข้างบนทุกๆ เส้น ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทั้งสองนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะได้อะไร เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะได้รับผลข้อนี้ คือ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุขสูงสุด ดีกว่าหมู่ชนบริโภคกาม. ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 16

เป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุขสูงสุด ดีกว่าสรรพสัตว์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๔๓] พระมหาบุรุษพิจารณาก่อนจึงกล่าวคําอันประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรมแสดงกะประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นําประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ตระหนี่ ได้เสียสละบูชาธรรมแล้ว

    พระองค์ย่อมไปสู่สุคติ บันเทิงอยู่ในสุคตินั้น เพราะกรรมอันพระองค์ประพฤติดีแล้ว มาในโลกนี้ย่อมได้พระลักษณะ ๒ ประการเพื่อความเป็นผู้มีความสุขอันอุดม

    พระมหาบุรุษนั้นมีพระโลมามีปลายช้อยขึ้นข้างบนและมีพระบาทตั้งอยู่เป็นอันดี พระมังสะและพระโลหิตปิดบัง อันหนังหุ้มห่อแล้ว และมีพระเพลาเบื้องบนงาม

    พระมหาบุรุษเช่นนั้น หากครองเรือน จะถึงความเป็นผู้เลิศกว่าพวกที่บริโภคกาม ไม่มีใครๆ ยิ่งกว่า พระองค์ทรงครอบงําชมพูทวีปเสียสิ้น

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 17

    อนึ่ง หากพระองค์ออกทรงผนวช ก็จะทรงพระวิริยะอย่างประเสริฐ ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง ไม่มีใครๆ ยิ่งกว่าพระองค์ได้ ทรงครอบงําโลกทั้งปวงอยู่.

    [๑๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชา จรณะ หรือกรรมโดยความตั้งใจว่า ทําอย่างไรชนทั้งหลายนี้ พึงรู้เร็ว พึงสําเร็จเร็ว ไม่พึงลําบากนาน. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้คือมีพระชงฆ์เรียวดังแข้งเนื้อทราย. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะได้รับผลข้อนี้ คือ จะทรงได้พาหนะอันคู่ควรแก่พระราชา ซึ่งเป็นองค์เสนาแห่งพระราชา และเครื่องราชูปโภค อันสมควรแก่พระราชาโดยพลัน ฯลฯ ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือ กิเลสเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้ผลข้อนี้ คือจะทรงได้ ปัจจัยอันควรแก่สมณะ และบริษัท อันเป็นองค์ของสมณะ และเครื่องสมณูปโภค อันควรแก่สมณะโดยพลัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๔๕] พระมหาบุรุษทรงปรารภอยู่ว่า ทําไฉนพวกชนทั้งหลายพึงรู้แจ่มแจ้งเร็วในศิลปะใน

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 18

วิชา ในจรณะ และในกรรม และก่อนบอกศิลปะที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ ด้วยความตั้งใจว่า ผู้ศึกษาจะไม่ลําบากนาน

    ครั้นทํากุศลกรรมมีความสุขเป็นกําไรนั้นแล้ว ย่อมได้พระชงฆ์ทั้งคู่เป็นที่ชอบใจ มีทรวดทรงดี กลมกล่อม เป็นสุชาต เรียวไปโดยลําดับ มีพระโลมามีปลายช้อยขึ้นข้างบนมีหนังอันละเอียดหุ้มห่อแล้ว

    บัณฑิตทั้งหลาย ชมพระมหาบุรุษนั้นว่าพระองค์มีพระชงฆ์ดุจแข้งเนื้อทราย และชมพระลักษณะ และพระโลมาเส้นหนึ่งๆ อันประกอบด้วยสมบัติที่ใครๆ ปรารถนารวมเข้าไว้ในที่นี้ พระมหาบุรุษเมื่อยังไม่ทรงผนวชก็ได้ลักษณะนั้นในที่นี้เร็วพลัน

    ถ้าออกทรงผนวช ทรงยินดีด้วยความพอพระทัยในเนกขัมมะ มีพระปรีชาเห็นแจ้ง ทรงพระวิริยะยอดเยี่ยม จะทรงได้พระลักษณะเป็นอนุโลมแก่พระลักษณะที่สมควรเร็วพลัน.

    [๑๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถาม

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 19

ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กรรมส่วนกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนอกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่ไม่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ไม่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทําอยู่ พึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน อนึ่ง กรรมอะไรที่ข้าพเจ้าทําอยู่ พึงเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อ สุขตลอดกาลนาน. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์. ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้คือมีพระฉวีสุขุมละเอียด เพราะพระฉวีสุขุมละเอียด ธุลีละอองมิติดพระวรกายได้. พระมหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้ คือ มีปัญญามาก ไม่มีบรรดากามโภคีชนผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐ กว่าพระองค์. ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือมีพระปรีชามาก มีพระปรีชากว้างขวาง มีพระปรีชาร่าเริง มีพระปรีชาว่องไว มีพระปรีชาเฉียบแหลม มีพระปรีชาทําลายกิเลส ไม่มีสรรพสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๔๗] พระมหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 20

ประสงค์จะรู้ทั่วถึงเข้าหาบรรพชิต สอบถามตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งความเจริญ อยู่ภายในไตร่ตรองอรรถกถา

    มาอุบัติเป็นมนุษย์ มีพระฉวีละเอียดเพราะกรรมที่ได้ปัญญา บัณฑิตผู้ฉลาดในลักษณะ และนิมิต ทำนายว่า พระราชกุมารเช่นนี้ จะทรงหยั่งทราบอรรถ อันสุขุมแล้วเห็นอยู่

    ถ้าไม่เข้าถึงบรรพชาก็จะยังจักรให้เป็นไปปกครองแผ่นดิน ในการสั่งสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ และในการกําหนด ไม่มีใครประเสริฐหรือเสมอเท่าพระองค์

    ถ้าพระราชกุมารเช่นนั้นออกทรงผนวชยินดีด้วยความพอพระทัยในเนกขัมมะ มีพระปรีชาเห็นแจ่มแจ้ง ทรงได้พระปรีชาอันพิเศษอันยอดเยี่ยม บรรลุโพธิญาณ ทรงพระปรีชาประเสริฐกว้างขวางดังแผ่นดิน.

    [๑๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจแม้คนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองผลาญ ไม่ทําความ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 21

โกรธ ความเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสําหรับนุ่งห่ม คือผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้คือ มีฉวีวรรณดังทองคํามีผิวหนังคล้ายทองคํา. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ จะได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียด ทั้งได้ผ้าสําหรับนุ่งห่มคือผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ ทรงได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทรงได้ผ้าสําหรับนุ่งห่ม คือผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนั้นว่า

    [๑๔๙] พระมหาบุรุษทรงอธิษฐานความไม่โกรธและได้ให้ทานคือ ผ้าเป็นอันมากล้วนแต่มีเนื้อละเอียดมีสี ดํารงอยู่ในภพก่อนๆ ทรงเสียสละ เหมือนฝนตกทั่วแผ่นดิน.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 22

    ครั้นทรงทํากุศลกรรมนั้นแล้ว จุติจากโลกมนุษยโลก เข้าถึงเทวโลก เสวยวิบากอันเป็นผลกรรมที่ทรงทําไว้ดี มีพระฉวีเปรียบด้วยทอง ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ย่อมครอบงําในเทวโลก

    ถ้าเสด็จครองเรือน ไม่ปรารถนาที่จะทรงผนวช ก็จะทรงปกครองแผ่นดินใหญ่ ทรงได้รัตนะ ๗ ประการ และความเป็นผู้มีพระฉวีสะอาดละเอียดงาม ครอบงําประชุมชนในโลกนี้

    ถ้าทรงผนวชก็จะได้ผ้าสําหรับทรงครองเป็นเครื่องนุ่งห่มอย่างดี และเสวยผลกรรมที่เป็นประโยชน์ดีที่ทรงทําไว้ในภพก่อน ความหมดสิ้นแห่งผลกรรมที่พระองค์ทําไว้หามีไม่.

    [๑๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้นําพวกญาติมิตร สหายผู้มีใจดีที่สูญหายพลัดพรากไปนาน ให้กลับมาพบกัน นํามารดาให้พบกับบุตร นําบุตรให้พบกับมารดา นําบุตรให้พบกับบิดา นําบิดาให้พบกับบุตร นําบิดากับพี่น้องให้พบกัน นําพี่ชายกับน้องสาวให้พบกัน นําน้องสาวกับพี่ชายให้พบกันครั้นนําเขาให้พบพร้อมเพรียงกันแล้ว ก็ชื่นชม. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลก

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 23

สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์แล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ มีพระโอรสมาก พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ํายีเสนาของข้าศึกได้. ถ้าทรงออกผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือมีพระโอรสมาก พระโอรสของพระองค์มีจํานวนหลายพัน ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า มีความเพียรเป็นองคสมบัติ กําจัดเสนาอื่นเสียได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

    [๑๕๑] พระมหาบุรุษเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ได้ทรงนําพวกญาติมิตรที่สูญหายพลัดพรากไปนานให้มาพบกัน ครั้นทําให้เขาพร้อมเพรียงกันแล้วก็ชื่นชม

    เพราะกุศลกรรมนั้นพระองค์จงหลีกไปสู่ไตรทิพย์ เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินและยินดี จุติจากเทวโลกแล้ว

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 24

เวียนมาเกิดในโลกนี้ ย่อมได้อังคาพยพที่ปิดบัง ตั้งอยู่ในฝัก

    พระมหาบุรุษเช่นนั้นมีพระโอรสมาก พระโอรสของพระองค์มากกว่าพัน ล้วนแกล้วกล้าเป็นวีรบุรุษ สามารถให้ศัตรูพ่ายไป ให้ปีติเกิด และทูลถ้อยคําน่ารัก แก่พระมหาบุรุษที่ยังทรงเป็นคฤหัสถ์

    เมื่อพระมหาบุรุษทรงผนวชบําเพ็ญพรต มีพระโอรสมากกว่านั้น ล้วนแต่ดําเนินตามพระพุทธพจน์ พระลักษณะนั้นย่อมเป็นนิมิตส่องความนั้น สําหรับพระมหาบุรุษที่เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต.

    [๑๕๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกันรู้จักกันเอง รู้จักบุรุษ รู้จักบุรุษพิเศษ หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรแก่สักการะนี้ บุคคลนี้ควรแก่สักการะนี้ ดังนี้ แล้วทําประโยชน์พิเศษในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อนๆ . ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการนี้ คือ มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดังต้นนิโครธ ๑ เมื่อทรงยืนอยู่ไม่ต้องทรงน้อมพระวรกายลง ย่อมลูบคลําพระชานุทั้งสอง

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 25

ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทั้งสองนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีคลังเต็มบริบูรณ์ ถ้าทรงออกผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผล คือ เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ทรัพย์ของพระองค์นั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริโอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นทรัพย์อย่างหนึ่งๆ . พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

    [๑๕๓] พระมหาบุรุษเมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์พิจารณาแล้วสอดส่อง แล้วคิดหยั่งทราบว่า บุคคลนี้ควรแก่สักภาระนี้ดังนี้แล้วทํากิจพิเศษของบุรุษในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อน.

    ก็และพระมหาบุรุษทรงยืนตรงไม่ต้องน้อมพระวรกายลงก็ถูกต้องพระชานุทั้งสองด้วยพระกรทั้งสองได้ และมีพระกายเป็น

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 26

ปริมณฑลดุจต้นนิโครธที่งอกงามบนแผ่นดินด้วยผลกรรมที่ประพฤติมาดีแล้ว ยังเป็นส่วนเหลือ.

    มนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญาอันละเอียดรู้จักนิมิตและลักษณะมากอย่างทํานายว่า พระโอรสนี้เป็นพระดรุณกุมาร ยังทรงพระเยาว์ย่อมได้พระลักษณะอันคู่ควรแก่คฤหัสถ์มากอย่าง.

    กามโภคะอันควรแก่คฤหัสถ์เป็นอันมากย่อมมีแก่พระราชกุมารผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในมรดกวิสัยนี้ ถ้าพระราชกุมารนี้ทรงละกามโภคะทั้งปวง จะทรงได้อนุตตรธรรม อันเป็นทรัพย์สูงสุด.

    [๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อน กําเนิดก่อน เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่าทําไฉน? ชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสุตะ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญ

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 27

ด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง ดังนี้. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการนี้ คือ มีส่วนพระกายข้างหน้าดังว่ากึ่งกายข้างหน้าราชสีห์ ๑ มีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี ๑ มีลําพระศอกลมเสมอกัน ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร? เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือมีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คือไม่เสื่อมจากทรัพย์และข้าวเปลือก ไม่เสื่อมจากนาและสวน ไม่เสื่อมจากสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า ไม่เสื่อมจากบุตรและภรรยา ไม่เสื่อมจากทาสและกรรมกร ไม่เสื่อมจากญาติ ไม่เสื่อมจากมิตร ไม่เสื่อมจากพวกพ้อง ไม่เสื่อมจากสรรพสมบัติ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร? เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือมีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คือไม่เสื่อมจากศรัทธา ไม่เสื่อมจากศีล ไม่เสื่อมจากสุตะ ไม่เสื่อมจากจาคะ ไม่เสื่อมจากปัญญา ไม่เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๕๕] พระมหาบุรุษย่อมปรารถนาความเจริญกับด้วยประชาชนเหล่าอื่นว่า ทําไฉน พหุชนพึงไม่เสื่อมศรัทธา ศีล สุตะ พุทธิ จาคะธรรม คุณอันให้ประโยชน์สําเร็จมาก ทรัพย์

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 28

ข้าวเปลือก นา สวน บุตร ภรรยา สัตว์ทั้งสองเท้าและสัตว์ทั้งสี่เท้า ญาติ มิตร พวกพ้อง และพละ วรรณะ สุข ทั้ง ๒ ประการดังนี้ ทั้งหวังความมั่งมีและความสําเร็จ.

    พระมหาบุรุษนั้นมีส่วนพระกายข้างหน้าดํารงอยู่เป็นอันดี ดังว่ากึ่งกายข้างหน้าแห่งราชสีห์ และมีพระศอกลมเสมอกัน ทั้งมีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี ลักษณะทั้ง ๓ นี้เป็นบุพพนิมิต ไม่เสื่อมปรากฏอยู่ เพราะกรรมที่พระมหาบุรุษประพฤติดีแล้ว ทําแล้วในกาลก่อน.

    พระมหาบุรุษแม้ดํารงอยู่ในคิหิวิสัย ย่อมทรงเจริญด้วย ข้าวเปลือก ทรัพย์ บุตร ภรรยา สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า ถ้าทรงตัดกังวลเสีย ทรงผนวช ย่อมทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันประเสริฐ มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา.

    [๑๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 29

ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือมีเส้นประสาทสําหรับนํารสอาหารอันเลิศ กล่าวคือพระมหาบุรุษนั้นมีเส้นประสาทมีปลายข้างบนประชุมอยู่ที่พระศอ สําหรับนํารสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ําเสมอทั่วพระวรกาย. พระองค์สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลําบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุ อันทําอาหารให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลําบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุ อันทําอาหารให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก อันควรแก่ปธานะ เป็นปานกลาง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๕๗] พระมหาบุรุษไม่เบียดเบียน ไม่ย่ํายีสัตว์ด้วยฝ่ามือ ด้วยท่อนไม้ ด้วยก้อนดิน ด้วยศัสตรา ด้วยให้ตายเอง ด้วยบังคับให้ผู้อื่นฆ่าด้วยจําจอง หรือด้วยให้หวาดกลัว.

    เพราะกรรมนั้นนั่นแหละ พระมหาบุรุษไปจากมนุษย์โลกจึงบันเทิงใจในสุคติและเพราะทํากรรมมีผลเป็นสุข จึงได้สุขมากและมีเส้น

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 30

ประสาทสําหรับรับนํารสอาหารอันดี เสด็จมาในโลกนี้แล้ว จึงทรงได้รสอาหารดีเลิศ

    เพราะฉะนั้น พวกพราหมณ์ผู้ฉลาดมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งจึงทํานายว่า พระราชกุมารนี้จักมีความสุขมาก ลักษณะนั้นย่อมส่องอรรถนั้น สําหรับพระราชกุมารผู้ยังดํารงอยู่ในคฤหัสถ์หรือบรรพชิต.

    [๑๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชําเลืองตาดู เป็นผู้ตรง มีใจตรงเป็นปรกติ แลดูตรงๆ และแลดูพหุชนด้วยตาน่ารัก. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้คือมีพระเนตรสีดําสนิท ๑ มีดวงพระเนตรดุจตาโค. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นผู้ที่ชนทั้งหลายเห็นแล้วน่ารักใคร่ พอใจของพราหมณ์และคฤหบดี ของชาวนิคม และของชาวชนบท ของโหราจารย์ และมหาอํามาตย์ ของกองทหาร ของนายประตู ของอํามาตย์ ของบริษัท ของพวกเจ้า ของเศรษฐี ของพระราชกุมาร ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็น

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 31

พระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นผู้ที่ชนทั้งหลายเห็นแล้วรัก เป็นที่รักใคร่พอใจของ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค และคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะนั้นว่า

    [๑๕๙] พระมหาบุรุษไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชําเลืองดู เป็นผู้ตรง มีใจตรง เป็นปรกติแลดูพหุชนด้วยปิยจักษุ

    พระองค์เสวยวิบาก อันเป็นผลบันเทิงอยู่ในสุคติทั้งหลาย มาในโลกนี้มีดวงพระเนตรดุจตาโค และมีพระนัยน์ตาดําสนิท มีการเห็นแจ่มใส

    พวกมนุษย์ผู้ประกอบ ในลักษณศาสตร์มีความละเอียด ผู้ฉลาดในนิมิต มีบทมาก ฉลาดในการตรวจ เห็นนัยน์ตามีสีดําสนิทและดวงตาเป็นดุจตาโค จะชมเชยพระราชกุมารนั้นว่า พระองค์เป็นที่น่ารัก

    พระมหาบุรุษดํารงอยู่ในคฤหัสถ์เป็นที่เห็นน่ารัก เป็นที่รักของชนมาก ก็ถ้าพระองค์ทรงละเพศคฤหัสถ์เป็นพระสมณะแล้ว ย่อมเป็นที่รักของพหุชน และยังชนเป็นอันมากให้สร่างโศก.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 32

    [๑๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน เป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในธรรมทั้งหลาย ฝ่ายกุศล เป็นประธานของชนเป็นอันมากด้วยกายสุจริต ด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต ในการบําเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติดีในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณะ ในการปฏิบัติดีในพราหมณ์ ในความเคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่นๆ . ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้คือมีพระเศียรได้ปริมณฑลดุจประดับด้วยอุณหิส. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นที่คล้อยตามของมหาชนที่เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นที่คล้อยตามแห่งมหาชน ที่เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 33

    [๑๖๑] พระมหาบุรุษเป็นหัวหน้าในธรรมทั้งหลายที่เป็นสุจริต ทรงยินดีในธรรมจริยาเป็นที่คล้อยตามชนเป็นอันมาก เสวยผลบุญในสวรรค์

    ครั้นเสวยผลแห่งสุจริตแล้วมาในโลกนี้ได้ถึงความเป็นผู้มีพระเศียรดุจประดับด้วยอุณหิส พวกที่ทรงจําพยัญชนะและนิมิตอยู่ทํานายว่าพระราชกุมารนี้ จักเป็นหัวหน้าหมู่ชนมาก

    หมู่ชนที่ช่วยเหลือพระองค์ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้จักมีมาก แม้ในเบื้องต้นครั้งนั้นพวกพราหมณ์ก็พยากรณ์พระองค์ว่าพระราชกุมารนี้ ถ้าเป็นกษัตริย์จะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะได้รับความช่วยเหลือในชนมากโดยแท้

    ถ้าพระองค์ออกทรงผนวชจะปราดเปรื่องมีความชํานาญพิเศษ ในธรรมทั้งหลาย และชนเป็นอันมาก จะเป็นผู้ยินดียิ่งในคุณ คือความสั่งสอนของพระองค์ และจะคล้อยตาม.

    [๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คําจริง ดํารงคําสัตย์ มีถ้อยคําเป็นหลักฐาน ควรเชื่อถือ ไม่พูดลวงโลก. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะ

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 34

กรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ คือมีโลมาขุมละเส้น ๑ และมีอุณาโลมในระหว่างคิ้วมีสีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นที่ประพฤติตามของมหาชน ที่เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าออกทรงผนวชจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ เป็นที่ประพฤติตามของมหาชนที่เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๖๓] ในชาติก่อนๆ พระมหาบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัจจะมีพระวาจาไม่เป็นสอง เว้นคําเหลวไหล ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดจากใครๆ ตรัสโดยคําจริง คําแท้ คําคงที่

    มีพระอุณาโลมสีขาวสะอาดอ่อนดีดังปุยนุ่น เกิดในระหว่างพระโขนง และในขุมพระโลมา ทั่วไป ไม่มีพระโลมาเกิดเป็นสองเส้น มีพระสรีระอันพระโลมาเส้นหนึ่งๆ ขึ้นสะพรั่ง

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 35

    พวกผู้รู้พระลักษณะ ฉลาดในนิมิต ที่ปรากฏ เป็นจํานวนมากมาประชุมกัน แล้วทํานายพระมหาบุรุษว่า พระอุณาโลมตั้งอยู่ดีโดยนิมิต บ่งว่า ชนเป็นอันมากย่อมประพฤติตาม

    พระมหาบุรุษแม้ดํารงอยู่ในคิหิวิสัย มหาชนก็ประพฤติตาม เพราะกรรมที่ทรงทําไว้มากในชาติก่อน หมู่ชนย่อมประพฤติตาม พระมหาบุรุษผู้ตัดกังวลทรงผนวชเป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้สงบ.

    [๑๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนในภพก่อน ในกําเนิดก่อน ละคําส่อเสียด เว้นขาดจากคําส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่ไปบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้รู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คําที่ทําคนให้พร้อมเพรียงกัน. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการคือ มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ๑ มีพระทนต์ไม่ห่าง ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ ๒ ประการ

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 36

นั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ มีบริษัทไม่แตกกัน บริษัทของพระองค์ที่ไม่แตกกัน เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ บริษัทไม่แตกกัน บริษัทของพระองค์ที่ไม่แตกกัน เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้.พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๖๕] พระมหาบุรุษไม่ได้กล่าววาจาอันส่อเสียดทําความแตกแก่พวกที่ดีกัน ทําความวิวาทเป็นเหตุให้แตกกันมากไป ทําการที่ไม่ควรเป็นเหตุให้ทะเลาะกันมากไป ทําความแตกกันให้เกิดแก่พวกที่ดีกัน

    ได้กล่าววาจาดี อันทําความไม่วิวาทให้เจริญ อันยังความติดต่อกันให้เกิดแก่พวกที่แตกกัน บรรเทาความทะเลาะของชน มีความสามัคคีกับหมู่ชน ยินดีเบิกบานอยู่กับ

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 37

ประชาชน

    ย่อมเสวยวิบากอันเป็นผลเบิกบานอยู่ในสุคติ มาในโลกนี้ย่อมมีพระทนต์ไม่ห่างเรียบดี และมีพระทนต์ ๔๐ ซี่เกิดอยู่ในพระโอษฐ์ตั้งอยู่เป็นอย่างดี

    ถ้าพระองค์เป็นกษัตริย์ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จะมีบริษัทไม่แตกกัน หากพระองค์เป็นสมณะจะปราศจากกิเลส ปราศจากมลทิน บริษัทของพระองค์จะดําเนินตาม ไม่มีความหวั่นไหว.

    [๑๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อน กําเนิดก่อน ละคําหยาบ เว้นขาดจากคําหยาบ กล่าวแต่คําที่ไม่มีโทษเพราะหูชวนให้รักจับใจ ชนส่วนมากรักใคร่ชอบใจ. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการคือ มีพระชิวหาใหญ่ ๑ มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม เมื่อตรัสมีกระแสดุจเสียงนกการะเวก ๑. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้คือ มีพระวาจาอันชนเป็นอันมากเชื่อถือ ชนเป็นอันมากที่เชื่อถือถ้อยคําของพระองค์ เป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาว

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 38

นิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นราชกุมาร ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ มีพระวาจาอันมหาชนเชื่อถือ มหาชนที่เชื่อถือพระวาจาของพระองค์เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นอสูร เป็นนาค เป็นคนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๖๗] พระมหาบุรุษไม่ได้กล่าววาจาหยาบ ทําความด่าความบาดหมาง ความลําบากใจ ทําความเจ็บใจ อันย่ํายีมหาชน เป็นคําชั่วร้าย ได้กล่าววาจาอ่อนหวาน ไพเราะมีประโยชน์ดีกล่าววาจา

    เป็นที่รักแห่งใจอันไปสู่หทัย สะดวกหู เสวยผลแห่งวาจาที่ประพฤติดี และเสวยผลบุญในสวรรค์ ครั้นเสวยผลแห่งกรรมที่ประพฤติดีแล้ว มาในโลกนี้ ได้ถึงความเป็นผู้มีเสียงดุจเสียงพรหม และมีพระชิวหาไพบูลย์กว้าง มีคําที่ตรัสอันมหาชนเชื่อถือ

    ผลนี้ย่อมสําเร็จแก่พระองค์ แม้เป็นคฤหัสถ์ตรัสอยู่ฉันใด ถ้าออกทรงผนวช

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 39

เมื่อตรัสคําที่ตรัสดีมากแก่มหาชน คํานั้นมหาชนก็เชื่อถือฉันนั้นโดยแท้.

    [๑๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อน กําเนิดก่อน ละคําเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคําเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คําที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย พูดแต่คํามีหลักฐาน มีที่อ้างมีที่กําหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร. ตถาคตย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้คือ มีพระหนุดุจคางราชสีห์. พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะได้อะไร เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจะได้รับผลข้อนี้คือ ไม่มีใครๆ ที่เป็นมนุษย์ เป็นข้าศึกศัตรูกําจัดได้ ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้คือ ไม่มีข้าศึกศัตรู ภายในภายนอก คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ใครๆ ในโลกกําจัดได้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคํานี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๖๙] พระมหาบุรุษไม่กล่าวคําเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวคําปราศจากหลักฐาน มีคลองพระวาจาไม่เหลวไหล ทรงบรรเทาเสียซึ่งคําไม่เป็น

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 40

ประโยชน์ ตรัสแต่คําที่เป็นประโยชน์ และคําที่เป็นสุขแก่มหาชน

    ครั้นทํากรรมนั้นแล้วจุติจากมนุษย์โลกเข้าสู่เทวโลกเสวยวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทําดีแล้วจุติแล้วเวียนมาในโลกนี้ ได้ความเป็นผู้มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ที่ประเสริฐกว่าสัตว์สี่เท้า

    เป็นพระราชาที่เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ยากนักที่ใครจะกําจัดพระองค์ได้ พระองค์เป็นผู้ใหญ่ยิ่งของมวลมนุษย์ มีอานุภาพมาก เป็นผู้เสมอด้วยเทวดา ผู้ประเสริฐในไตรทิพย์ เป็นเหมือนพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทวดา

    เป็นผู้มั่นคง อันคนธรรพ์ อสูร ท้าวสักกะและยักษ์ ผู้กล้าไม่กําจัดได้โดยง่ายเลย พระมหาบุรุษเช่นนั้น ย่อมเป็นใหญ่ทุกทิศในโลกนี้โดยแท้.

    [๑๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อนภพก่อน กําเนิดก่อน ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สําเร็จความเป็นผู้อยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด และการโกงด้วยการรับสินบน การหลอกลวง และตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจํา การตีชิง การปล้น

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 41

และการกรรโชก. ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทํา สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์. พระมหาบุรุษนั้น ย่อมครอบงํา เทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์ โดยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์. ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ คือมีพระทนต์เสมอกัน ๑ มีพระทาฐะสีขาวงาม ๑. พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทั้ง ๒ นั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชา มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชํานะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง ถึงพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗. และมีพระราชโอรสมากกว่าพัน ล้วนเป็นผู้แกล้วกล้า พระรูปสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ํายีเสนาของข้าศึกได้. และพระมหาบุรุษนั้นทรงชนะโดยธรรมเสมอ มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตรา ทรงครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต มิได้มีเสาเขื่อน มิได้มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม มั่นคงแพร่หลาย มีความเกษมสําราญ ไม่มีหมู่โจร เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้ผลข้อนี้ คือ มีบริวารสะอาดได้แก่มีบริวารเป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี เป็นชาวนิคม เป็นชาวชนบท เป็นโหราจารย์ เป็นมหาอํามาตย์ เป็นกองทหาร เป็นนายประตู เป็นอํามาตย์ เป็นบริษัท เป็นเจ้า เป็นเศรษฐี เป็นกุมาร. ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือมีบริวารสะอาด บริวารของพระองค์ที่สะอาดนั้นได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 42

มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้. พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ ในพระลักษณะเหล่านั้นว่า

    [๑๗๑] พระมหาบุรุษละมิจฉาอาชีวะเสีย ยังความประพฤติให้เกิดแล้วด้วยสัมมาอาชีวะอันสะอาด อันเป็นไปโดยธรรม ละกรรมอันไม่เป็นประโยชน์ ประพฤติแต่กรรมที่เป็นประโยชน์ และเป็นสุขแก่มหาชน.

    ทํากรรมมีผลดีที่หมู่สัตบุรุษผู้มีปัญญาอันละเอียด ผู้ฉลาดสรรเสริญแล้ว เสวยสุขอยู่ในสวรรค์เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัติ เป็นที่ยินดีเพลิดเพลินอภิรมย์อยู่เสมอด้วยท้าวสักกะผู้ประเสริฐในชั้นไตรทิพย์.

    จุติจากสวรรค์แล้ว ได้ภพที่เป็นมนุษย์ยังซ้ำได้ซึ่งพระทนต์ที่เกิดในพระโอษฐ์สําหรับตรัสเรียบเสมอ และพระทาฐะสีขาวหมดจดสะอาด เพราะวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทําดี.

    พวกมนุษย์ผู้ทํานายลักษณะที่มีปัญญาอันละเอียด ที่มหาชนยกย่องเป็นจํานวนมากประชุมกันแล้ว พยากรณ์ว่า พระราชกุมารนี้

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 43

จะมีหมู่ชนที่สะอาดเป็นบริวาร มีพระทนต์ที่เกิดสองหนเสมอ และมีพระทาฐะมีสีขาวสะอาดงาม.

    ชนเป็นอันมากที่สะอาดเป็นบริวารของพระมหาบุรุษ ผู้เป็นพระราชาปกครองแผ่นดินใหญ่นี้ ไม่กดขี่เบียดเบียนชาวชนบท ชนทั้งหลายต่างประพฤติกิจเป็นประโยชน์และเป็นสุขแก่มหาชน.

    ถ้าพระองค์ออกทรงผนวชจะเป็นสมณะปราศจากบาปธรรม มีกิเลสดังธุลีระงับไป มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว ปราศจากความกระวนกระวาย และความลําบาก จะทรงเห็นโลกนี้ โลกอื่น และบรมธรรมโดยแท้.

    คฤหัสถ์เป็นจํานวนมาก และพวกบรรพชิตที่ยังไม่สะอาด จะทําตามพระโอวาทของพระองค์ ผู้กําจัดบาปธรรมที่บัณฑิตติเตียนเสียแล้ว พระองค์จะเป็นผู้อันบริวารที่สะอาดผู้กําจัดกิเลสเป็นมลทินเป็นดังว่า ตออันให้โทษห้อมล้อมแล้ว.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. ภิกษุทั้งหลายชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

    จบลักขณสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 44

อรรถกถาลักขณสูตร

ลักขณสูตรมีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

ต่อไปนี้จะพรรณนาบทที่ยากในลักขณสูตรนั้น บทว่า ทวตฺตึสีมานิตัดบทเป็น ทวตฺตึส อิมานิ บทว่า มหาปุริสลกฺขณานิ ความว่า ความปรากฏแห่งมหาบุรุษนิมิตแห่งมหาบุรุษ เป็นเหตุให้รู้ว่า นี้คือมหาบุรุษ. บทเป็นอาทิว่า พระมหาบุรุษ ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะเหล่าใด ดังนี้พึงทราบโดยนัยที่พิสดารแล้วในมหาปทาน เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่าพวกฤษีแม้ในภายนอกก็ยังทรงจํามหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้ แต่พวกฤษีเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมที่ตนทําสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ไว้ ... ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้ดังนี้ เพราะอนุรูปแก่เรื่องนี้เกิดขึ้น ด้วยว่า สูตรนี้ มีเรื่องเกิดขึ้นของสูตรนั้น ตั้งขึ้นที่ไหน ตั้งขึ้นในระหว่างพวกมนุษย์ภายในบ้าน.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้น ชาวเมืองสาวัตถี นั่งประชุมสนทนากันในบ้านที่ประตูบ้านและที่หอนั่งเป็นต้น ของตนของตนว่า พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระรัศมีแผ่ออกจากพระวรกายวาหนึ่ง มหาปุริสลักษณะ ๓๒ เมื่อเปล่งพระรัศมีมีสี ๖ ประการฉายแสงจากข้างนี้ ข้างนี้ ย่อมงามเหลือเกินประดุจดอกไม้สวรรค์แย้มบานทั้งหมด ประดุจสวนดอกบัวที่แย้มกลีบ ประดุจเสาระเนียดวิจิตรด้วยแก้วต่างๆ ประดุจท้องฟ้าซึ่งสะพรั่งด้วยดาวและพะยับแดด มิได้บอกว่าก็ลักษณะนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดขึ้นด้วยกรรมนี้ พระผู้มีพระภาค-

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 45

เจ้าตรัสว่าลักษณะนี้ เกิดขึ้น อย่างนี้ เพราะพระองค์ให้ทานแม้เพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือ เพียงข้าวทัพพีหนึ่งเป็นปัจจัยลักษณะเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โดยที่พระศาสดาได้ทรงทํากรรมอะไรไว้หนอ.

    ลําดับนั้น พระอานนทเถระ จาริกไปภายในหมู่บ้านได้สดับการสนทนานี้ ทําภัตตกิจเสร็จแล้ว มาสู่วิหาร กระทําวัตรปฏิบัติแด่พระศาสดาแล้ว ถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้กถาข้อหนึ่งภายในหมู่บ้าน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอฟังมาอย่างไรอานนท์ ได้กราบทูลให้ทรงทราบทั้งหมด.

    พระศาสดาสดับถ้อยคําของพระเถระแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายที่นั่งแวดล้อมอยู่ทรงแสดงลักษณะทั้งหลายโดยลําดับว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษเหล่านี้มีอยู่ ๓๒ ประการ ตรัสอย่างนั้น เพื่อแสดงถึงลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะกรรม.ในบททั้งหลายว่า ชาติ เป็นต้นก่อน ความว่าขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชาติ ด้วยสามารถเกิดแล้ว ตรัสว่า ภพ ด้วยสามารถเกิดอย่างนั้น ตรัสว่า กําเนิดด้วยสามารถอาศัยอยู่ หรือด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่ บทแม้ทั้ง ๓ นั้นมีอธิบายว่า ในขันธสันดานที่เคยอาศัยอยู่ ดังนี้.

    บัดนี้ เพราะขันธสันดานนั้นย่อมเป็นไปแม้ในเทวโลกเป็นต้น แต่กุศลกรรมอันสามารถจะยังลักษณะให้เกิด ทําไม่ง่ายนักในเทวโลกนั้น เมื่อเป็นมนุษย์นั้นแหละ ลักษณะนั้นจึงทําได้ง่าย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงกรรมที่พระองค์ทรงกระทําแล้วตามความเป็นจริง จึง

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 46

ตรัสว่า ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ดังนี้ หรือว่า นั้นไม่ใช่เหตุ จริงอยู่พระมหาบุรุษแม้เป็นช้าง ม้า โค กระบือ วานร เป็นต้น ก็ทรงบําเพ็ญบารมีได้เหมือนกัน แต่เพราะพระองค์ดํารงอยู่ในอัตภาพเห็นปานนั้นไม่สามารถแสดงกรรมที่ทรงกระทําแล้วโดยง่าย แต่พระองค์ดํารงอยู่ในความเป็นมนุษย์จึงสามารถแสดงกรรมที่พระองค์ทรงกระทําแล้วโดยง่าย ฉะนั้น จึงตรัสว่า ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ดังนี้. ทฬฺหสมาทาโน แปลว่า ถือมั่น.บทว่า ในธรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า ยึดมั่นไม่ถอยหลัง ได้แก่ยึดแน่นเป็นนิจคือยึดมั่นไม่ถอยหลัง จริงอยู่จิตของพระมหาสัตว์ย่อมม้วนกลับจากอกุศลกรรมดุจปีกไก่ต้องไฟฉะนั้น จิตของพระมหาบุรุษบรรลุกุศลย่อมเหยียดดุจเพดาน เพราะฉะนั้น พระตถาคตเป็นผู้ยึดมั่นเป็นผู้มั่นไม่ถอยหลัง อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารหรือพรหม ก็ไม่สามารถจะให้พระองค์สละความยืดมั่นในกุศลได้. มีเรื่องเล่าว่า

    ครั้งก่อนพระมหาบุรุษอุบัติในกําเนิดกระแต คราวนั้น เมื่อฝนตกห้วงน้ำไหลมาพัดเอารังของกระแตเข้าไปในมหาสมุทร มหาบุรุษคิดว่า เราจักนําลูกน้อยออกให้ได้ จึงจุ่มหางแล้วสลัดน้ำจากมหาสมุทรไปข้างนอก ในวันที่ ๗ ท้าวสักกะทรงรําพึงแล้วเสด็จมาในที่นั้น ถามว่า ท่านทําอะไร มหาบุรุษบอกเรื่องราวแก่ท้าวสักกะนั้น. ท้าวสักกะทรงบอกถึงความที่น้ำจะนําออกจากมหาสมุทรได้ยาก. พระโพธิสัตว์รุกรานว่า ไม่ควรพูดกับคนเกียจคร้านเช่นนั้น ท่านอย่ายืนตรงนี้เลย ท้าวสักกะคิดว่า เราไม่สามารถจะให้ผู้มีใจประเสริฐเลิกละสิ่งที่ตนถือมั่นได้ จึงนําลูกน้อยมา ส่งให้

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 47

    แม้ในกาลที่พระโพธิสัตว์ถือกําเนิดเป็นมหาชนก พระโพธิสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทร เทวดาถามว่า

    เพราะเหตุไร ท่านจึงว่ายข้ามมหาสมุทร.

    ทรงกล่าวว่า เราว่ายข้ามเพื่อไปถึงฝังแล้วจะครองราชสมบัติ ในแคว้นอันเป็นของตระกูล แล้วบริจาคทาน เมื่อเทวดากล่าวว่า มหาสมุทรนี้ลึกและกว้างขวางมาก เมื่อไรจักข้ามถึงได้ ตรัสว่า มหาสมุทรนี้ก็เช่นเดียวกับมหาสมุทรของท่าน แต่อาศัยความตั้งใจของเราปรากฏเหมือนเหมืองน้อยๆ ท่านนั่นแหละจักเห็นเราผู้ว่ายข้ามมหาสมุทรแล้วนําทรัพย์จากฝังมหาสมุทรมาครองราชสมบัติในแคว้นอันเป็นของตระกูลแล้วบริจาคทานดังนี้. เทวดาคิดว่าเราไม่อาจจะให้บุรุษผู้มีใจประเสริฐเลิกละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ จึงอุ้มพระโพธิสัตว์นําไปให้บรรทม ณ อุทยาน พระมหาสัตว์นั้นยังมหาชนให้ยกขึ้นซึ่งเศวตฉัตรแล้วทรงทําการบริจาคทานวันละ ๑๐ แสน ต่อมาเสด็จออกทรงผนวช. พระมหาสัตว์อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหมก็ไม่อาจให้เลิกละกุศลสมาทานได้. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตถาคตเป็นผู้ยึดมั่น ไม่ถอยกลับในธรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย ดังนี้.

    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงแสดงความยึดมั่นไม่ถอยหลังในธรรมอันเป็นกุศลจึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ในกายสุจริต ดังนี้. ในบทนี้ว่า ในการบริจาคทาน คือ การให้ด้วยสามารถการให้ทานนั่นเอง การบริจาคด้วยสามารถทําการบริจาค. บทว่า ในกาลสมาทานศีล คือในกาลบําเพ็ญศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และจตุปาริสุทธิศีล. บทว่า ในการรักษาอุโบสถ

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 48

คือในการเข้าอุโบสถอันต่างด้วยวัน ๑๔ ค่ําเป็นต้น. บทว่า มตฺเตยฺยตาย คือในวัตรอันควรทําแก่มารดา. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ. บทว่า อฺตรฺตเรสุ จ คือในกุศลธรรมเห็นปานนี้อื่นๆ . ในบทว่า อธิ-กุสเลสุ นี้ อธิบายว่า กุศลมีอยู่ อธิกุศลมีอยู่ กามาวจรกุศลแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าเป็นกุศล รูปาวจรเป็นอธิกุศล แม้ทั้งสองนั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล อรูปาวจรเป็นอธิกุศล แม้ทั้งหมดเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นกุศล กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้สาวกบารมี เป็นอธิกุศล อธิกุศลแม้เหล่านั้นก็ชื่อว่า เป็นกุศล กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้ปัจเจกโพธิ เป็นอธิกุศล อธิกุศลแม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล แต่กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้สัพพัญุตญาณ ท่านประสงค์ว่าเป็นอธิกุศลในที่นี้ พระตถาคตได้เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ยึดมั่นไม่ถอยหลังในธรรมเป็นอธิกุศลเหล่านั้น ในบทนี้ว่า เพราะกรรมนั้น ตนกระทําสั่งสม อธิบายว่า กรรมที่ตนทําแม้คราวเดียวก็เป็นอันกระทําเหมือนกัน แต่เพราะทําเนืองๆ เป็นกรรมอันตนสั่งสม. บทว่า เพราะกรรม ที่พอกพูน คือ กรรมที่ตนทําอันเป็นกอง ท่านกล่าวว่า พอกพูน พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงกล่าวบทว่า เพราะกรรมอันพอกพูน จึงทรงแสดงว่า เมื่อเราทํากรรม จักรวาลคับแคบนัก ภวัคคพรหมต่ํานัก กรรมอันเราพอกพูนไว้อย่างนี้. บทว่า เพราะไพบูลย์ คือ เพราะไม่มีประมาณ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า กรรมที่เราทําไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ. บทว่า ย่อมถือเอายิ่งคือย่อมครอบงํา อธิบายไว้ว่า ได้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลายเหล่าอื่น. บทว่า ได้เฉพาะ คือบรรลุ.

    บทนี้ว่า ด้วยฝ่าพระบาททุกส่วน เป็นคําพิสดารของบทว่า ทรง

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 49

เหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น. ในบททั้งหลายนั้น บทว่า ทุกส่วนคือมีทุกแห่ง อธิบายว่า พระมหาบุรุษไม่ทรงจดครั้งแรกโดยส่วนหนึ่ง ไม่ทรงจดภายหลังโดยส่วนหนึ่ง ทรงจดพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน ทรงยกขึ้นเสมอกัน. ก็แม้หากว่า พระตถาคตจะทรงย่างยกพระบาทด้วยพระดําริว่า เราจักเหยียบเหวหลายร้อยชั่วคน ทันใดนั้นเองที่ลุ่มก็จะสูงขึ้นเป็นที่เสมอกับแผ่นดินเหมือนเบ้าทองเต็มด้วยลมฉะนั้น. พระตถาคตจะเข้าไปแม้สู่ที่สูงในภายใน เมื่อยกพระบาทขึ้นด้วยทรงพระดําริว่า เราจักเหยียบในที่ไกล ภูเขาแม้ประมาณเท่าเขาพระสิเนรุน้อมลงมาใกล้พระบาทเหมือนยอดหวายที่ถูกลนไฟ ฉะนั้น เป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อพระตถาคตทรงยกพระบาทด้วยทรงพระดําริว่า เราจักทําปาฏิหาริย์เหยียบภูเขายุคนธร ภูเขาจะน้อมลงมาใกล้พระบาท พระองค์ก็เหยียบภูเขานั้น แล้วเหยียบถึงภพดาวดึงส์ด้วยพระบาทที่สอง ที่ซึ่งจักรลักษณะควรประดิษฐานไม่อาจจะเป็นที่ไม่เรียบ ตอ หนาม กรวด กระเบื้อง อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูกเป็นต้น หรือของที่มีแต่ก่อน. หลีกไปหมด หรือหายเข้าไปยังแผ่นดินในที่นั้นๆ ทั้งหมด.

    จริงอยู่ มหาปฐพีนี้มีพื้นเสมอดาระดาดไปด้วยดอกไม้แรกแย้ม ย่อมมีขึ้นด้วยศีลเดช ด้วยบุญญเดช ด้วยธรรมเดช ด้วยอานุภาพแห่งทศบารมีของพระตถาคต. บทว่า มีสาครเป็นขอบเขต คือสาครสีมา อธิบายว่าก็เมื่อพระมหาบุรุษทรงครองราชสมบัติ ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี แม่น้ำก็ดีในระหว่างมิได้เป็นเขต มหาสมุทรนั่นแหละเป็นเขต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีสาครเป็นขอบเขต บทว่า มิได้มีเสาเขื่อน มิได้มีนิมิต ไม่มี

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 50

เสี้ยนหนาม คือไม่มีโจร จริงอยู่ โจรทั้งหลายท่านกล่าวว่าเป็นเสาเขื่อน เพราะอรรถว่ามีสัมผัสกระด้าง เป็นนิมิต เพราะอรรถว่า เป็นปัจจัยแห่งอันตราย เป็นเสี้ยนหนาม เพราะอรรถว่า ทิ่มเทง. บทว่า อิทฺธํ คือสําเร็จ. บทว่า ผีตํ คือ อุดมสมบูรณ์ด้วยสรรพสมบัติ. บทว่า เขมํ คือไม่มีภัย. บทว่า สิวํ คือไม่มีอันตราย. บทว่า นิรพฺพุทํ อธิบายว่า เว้นจากหมู่โจร คือ เว้นจากโจรที่คุมกันเป็นพวกๆ เที่ยวไป. บทว่า ไม่มีใครข่มได้ คือ ข้าศึกศัตรูข่มไม่ได้ อธิบายว่า ใครๆ ก็ไม่สามารถจะให้เขาหวั่นไหวจากสถานะได้. บทว่า ข้าศึก คือปรารถนาเป็นปฏิปักษ์.บทว่า ศัตรู คืออมิตรที่ทําร้ายตอบ แม้ทั้งสองนั้นก็เป็นไวพจน์ของข้าศึก.บทว่า ข้าศึก ศัตรูภายใน ได้แก่ กิเลสมีราคะเป็นต้นที่ตั้งขึ้นในภายในบทว่า ข้าศึก ศัตรูภายนอก ได้แก่ พวกสมณะเป็นต้น จริงดังนั้นแม้พวกสมณะ มีเทวทัตและโกกาลิกะเป็นต้น แม้พราหมณ์ มีโสณทัณฑะและกูฏทัณฑะเป็นต้น แม้เทวดาเช่นท้าวสักกะ แม้มารผู้ติดตามตลอด ๗ ปี แม้พรหมมีพกาพรหมเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะข่มพระพุทธเจ้าได้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสกรรม คล้ายกรรม ลักษณะและอานิสงส์แห่งลักษณะไว้ กรรมอันผู้มีความเพียรมั่นกระทําแล้วสิ้น ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปป์ ชื่อว่า กรรม มหาปุริสลักษณะคือมีพระบาทประดิษฐานไว้ดีแล้ว เกิดขึ้นโดยนัยว่า โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ภาวะแห่งกรรมอันผู้มั่นคงกระทําแล้ว ชื่อว่า คล้ายกรรม ความเป็นผู้มีพระบาทประดิษฐานไว้ดีแล้ว ชื่อว่า ลักษณะ ความเป็นผู้อันข้าศึกข่มไม่ได้ ชื่อว่าอานิสงส์แห่งลักษณะ.

    บทว่า พระโบราณกเถระทั้งหลาย กล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนั้น ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประเภทแห่งกรรม

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 51

เป็นต้น ในพระลักษณะนั้นแล้ว พระโบราณกเถระจึงกล่าวคํานี้ต่อไป ท่านกล่าวหมายถึงคาถาประพันธ์ ก็พระโบราณกเถระทั้งหลายทราบว่าคาถาวรรณนา อันพระอานนทเถระตั้งไว้ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ แล้วจึงไป ต่อมาพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า การยกอรรถขึ้นบทเดียว. บทว่า ในสัจจะคือ วจีสัจ. บทว่า ในธรรม คือในธรรมได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า ในการฝึก คือในการฝึกอินทรีย์. บทว่า ในความสํารวม คือ ในความสํารวมด้วยศีล. ในบทนี้ว่า ความเป็นผู้สะอาด ศีลเป็นที่อยู่ อุโบสถกรรม อธิบายว่า ความเป็นผู้สะอาด ๓ อย่าง มีความเป็นผู้สะอาดทางกายเป็นต้น ศีลอันเป็นที่อยู่คือ ศีลอาลัย อุโบสถกรรม คือ อุโบสถ. บทว่า อหึสาย คือไม่เบียดเบียน. บทว่า สมนฺตมาจริ คือ ประพฤติสิ้นเชิง. บทว่า อนุภิ แปลว่า เสวยแล้ว. บทว่า เวยฺยฺชนิกา คือ ผู้ท่านายลักษณะ. บทว่า ปราภิภู คือสามารถข่มผู้อื่น. บทว่า อันศัตรูทั้งหลาย คือ ศัตรูข่มไม่ได้. ในบทว่า ไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ ข่มได้ พระมหาบุรุษนั้นเป็นอัครบุคคลโดยส่วนเดียวเท่านั้น ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ พึงข่มได้. บทว่า อันนี้แหละเป็นธรรมดาของพระมหาบุรุษนั้น ความว่า นี้เป็นธรรมดาคือนี้เป็นสภาวะของพระมหาบุรุษนั้น.

    บทว่า อุพฺเพคอุตฺตาสภยํ คือ ภัยคือความสะดุ้ง และภัยคือความหวาดเสียว. อธิบายว่า ในภัยทั้งสองนั้น ภัยอาศัยการปล้น การจองจําเป็นต้น จากโจร หรือจากพระราชา หรือจากข้าศึก ชื่อว่า เป็นความหวาดสะดุ้ง ภัยทําให้เกิดขนพองเพราะอาศัยสัตว์มีช้างและม้าดุเป็นต้น หรืองูและยักษ์เป็นต้นเพียงชั่วครู่ ชื่อว่า ภัยคือความหวาดเสียว ทําให้ภัยทั้งหมดนั้นบรรเทาคือสงบ. บทว่า สํวิธาตา แปลว่า จัดแล้ว. ถามว่า

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 52

จัดอย่างไร? คือสร้างโรงทานในที่ที่รังเกียจในดงแล้วให้ผู้ที่มาในดงนั้นบริโภคแล้วให้พวกมนุษย์พาไปส่ง เมื่อชนทั้งหลายไม่อาจเข้าไปยังที่นั้นได้ สั่งพวกมนุษย์ให้พาเข้าไป ตั้งอารักขาในที่เหล่านั้นๆ แม้ในตัวเมืองเป็นต้น จัดอย่างนี้. บทว่า ได้ให้ทานพร้อมด้วยวัตถุบริวาร ความว่า ได้ให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่าง มีข้าวและน้ำเป็นต้น.

    ในบททั้งหลายนั้น บทว่า ข้าวได้แก่ ข้าวยาคู อธิบายว่า เมื่อให้ข้าวยาคูนั้น ไม่ได้วางไว้ที่ประตูแล้วให้ ได้โปรยข้าวตอกและดอกไม้ไว้ในที่ฉาบทาด้วยของเขียวภายในนิเวศน์ ปูอาสนะผูกเพดานกระทําสักการะด้วยของหอมและธูปเป็นต้น นิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้นั่งแล้วถวายข้าวยาคู อนึ่ง เมื่อถวายข้าวยาคูได้ถวายพร้อมกับกับด้วย. เมื่อเสร็จการดื่มข้าวยาคู ได้ชําระเท้า เอาน้ำมันทา ถวายของเคี้ยวหลายๆ อย่างมากมาย ในที่สุดได้ถวายโภชนะอันประณีต มีสูปะและพยัญชนะหลายอย่าง เมื่อถวายเครื่องดื่มได้ถวายเครื่องดื่ม ๘ อย่าง มีอัมพปานะเป็นต้น. ครั้นถวายข้าวยาคู แม้นั้นแล้ว เมื่อจะถวายผ้าไม่ได้ถวายผ้าล้วนๆ เท่านั้น แต่ถวายผ้าอันเพียงพอมีชั้นเดียวและสองชั้นเป็นต้น ได้ถวายเข็มบ้าง ด้ายบ้าง กรอด้ายบ้าง ในที่ที่ทําการเย็บบ้าง ได้ถวายอาสนะ ข้าวยาคู น้ำมันทาเท้า น้ำมันทาหลัง เครื่องย้อม ใบไม้ต่างชนิด รางย้อมผ้า โดยที่สุด สีย้อมจีวรบ้าง กัปปิยการกบ้าง. บทว่า ยาน คือรองเท้า. แม้เมื่อถวายรองเท้านั้น ก็ได้ถวายถุงใส่รองเท้า ไม้แขวนรองเท้า น้ำมันทารองเท้า และทานวัตถุมีข้าวเป็นต้น ดังกล่าวแล้วในหนหลัง ทําให้เป็นบริวารของรองเท้านั้นนั่นเอง. แม้เมื่อถวายดอกไม้ก็ไม่ได้ถวายดอกไม้ล้วนๆ เหมือนกัน ได้เคล้าดอกไม้นั้นด้วย

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 53

ของหอม แล้วถวายสิ่งทั้ง ๔ อย่างเหล่านี้ ในภายหลัง กระทําให้เป็นบริวารของดอกไม้นั้น. แม้เมื่อถวายของหอม เพื่อบูชาต้นโพธิเจดีย์ อาสนะและคัมภีร์เป็นต้น และเพื่อรมเรือนเจดีย์ ก็ไม่ได้ถวายของหอมล้วนทีเดียว ได้ถวายสิ่ง ๕ อย่างเหล่านี้ ในภายหลัง พร้อมด้วยเครื่องบด เครื่องฝนและภาชนะสําหรับใช้. แม้เมื่อถวายเครื่องลูบไล้มีหรดาล มโนสิลา ชาดเป็นต้น ก็มิได้ถวายเครื่องลูบไล้ล้วนๆ ทีเดียว ได้ถวายสิ่ง ๖ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง พร้อมกับภาชนะใส่เครื่องลูบไล้ให้เป็นบริวารของเครื่องลูบไล้นั้น. บทว่า ที่นอน คือเตียงและตั่ง แม้เมื่อถวายเตียงและตั่งนั้น ก็ไม่ได้ถวายเตียงและตั่งล้วนทีเดียว ได้ถวาย แม้ที่สุดกระดานและไม้ชําระ พร้อมด้วยผ้าโกเชาว์ ผ้ากัมพล เครื่องลาดและขาเตียง กระทําสิ่ง ๗ อย่างในภายหลัง ให้เป็นบริวารของเตียงและตั่งนั้น. แม้เมื่อให้ที่อยู่ก็ไม่ได้ให้เพียงเรือนเท่านั้น ได้กระทําเตียงและตั่งที่ตกแต่งเป็นอย่างดี ประดับด้วยมาลากรรมและลดากรรม แล้วถวายสิ่ง ๘ อย่างเหล่านี้ในภายหลังกระทําให้เป็นบริวารของที่อยู่นั้น. บทว่า ประทีป คือน้ำมันประทีป อธิบายว่าเมื่อถวายน้ำมันประทีป ไม่ได้ถวายน้ำมันล้วนเท่านั้นด้วยคําว่า ท่านทั้งหลาย จงยังประทีปให้สว่างด้วยน้ำมันนี้ ณ เนินเจดีย์ เนินโพธิ์ โรงฟังธรรม เรือนอาศัย ที่บอกคัมภีร์ ได้ถวายสิ่ง ๙ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง พร้อมด้วยไส้ตะเกียง หม้อดินเล็กๆ และภาชนะใส่น้ำมันเป็นต้น ทําให้เป็นบริวารของน้ำมันประทีปนั้นเอง.

    บทว่า สุวิภตฺตนฺตรานิ ตัดบทเป็น สุวิภตฺต อนฺตรานิ. บทว่า ราชาโน คือกษัตริย์ผู้อภิเศกแล้ว. บทว่า โภคิกา คือ นายบ้าน. บทว่า กุมารา คือ ราชกุมาร. การให้พร้อมด้วยบริวารชื่อว่า กรรมในที่นี้ จักรลักษณะอันเกิดขึ้นโดยนัยว่า โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ ด้วยเหตุนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 54

พระมหาบุรุษได้ถวายทานกระทําให้มีของบริวารดังนี้ ชื่อว่า คล้ายกรรม จักรลักษณะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารมาก ชื่อว่าอานิสงส์.

    บทว่า พระโบราณกเถระกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนั้น ท่านกล่าวคาถานี้แสดงถึงอรรถนั้น. จริงอยู่ คาถามี ๒ อย่าง คือแสดงอรรถนั้น ๑ แสดงอรรถพิเศษ ๑. ในสองอย่างนั้นคาถาที่ท่านแสดงอรรถอันมาในบาลีนั่นแล ชื่อว่า แสดงอรรถนั้น. คาถาที่ท่านแสดงอรรถอันไม่ได้มาในบาลี ชื่อว่า แสดงอรรถพิเศษ แต่คาถานี้แสดงอรรถนั้น.

    ในบทเหล่านั้นบทว่า ปุเร แปลว่า ในชาติก่อน. บทว่า ปุรตฺถ เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นเอง. บทว่า ปุริมาสุ ชาตีสุ คือ เป็นการแสดงมุ่งไว้ถึงกรรมที่คนทําแล้วในชาติก่อนแต่ชาตินี้. บทว่า อุพฺเพคอุตฺตาสภยาปนูทโน แปลว่า ปลดเปลื้องภัยคือความหวาดเสียวและภัยคือความสะดุ้ง. บทว่า อุสฺสุโก แปลว่า น้อมไปแล้ว. บทว่า พระกุมารมีลักษณะประกอบด้วยบุญเป็นร้อย ความว่า ลักษณะหนึ่งๆ เกิดขึ้นด้วยบุญกรรมเป็นร้อยๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ ชนทั้งหลายย่อมไม่พอใจว่า ใครๆ พึงเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ในจักรวาลอันหาที่สุดมิได้ พึงกระทํากรรมอย่างหนึ่งๆ ถึง ๗ ครั้ง พระโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้นอุบัติเพราะกระทํากรรมที่ชนทั้งหลายประมาณเท่านี้ กระทําแล้วครั้งหนึ่งๆ คูณด้วยร้อย เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายพอใจความนี้ว่า พระโพธิสัตว์มีลักษณะประกอบด้วยบุญเป็นร้อย. บทว่า มนุสฺสาสุรสกฺกรกฺขสา ได้แก่มนุษย์ ๑ อสูร ๑ ท้าวสักกะ ๑ รากษส ๑.

    บทว่า อนฺตรา คือในระหว่าง จุติสืบต่อจากปฏิสนธิ. การเว้น

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 55

จากปาณาติบาต ชื่อว่า กรรมในที่นี้ ชนทั้งหลายเมื่อจะทําปาณาติบาตเหยียบด้วยปลายเท้า เพราะกลัวจะได้ยินเสียงเท้า ไปฆ่าผู้อื่น ชื่อว่า คล้ายกรรม. ต่อแต่นั้น ชนเหล่านั้นคิดว่า ชนจงรู้กรรมนั้น ของคนเหล่านั้นด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีเท้า โก่งภายใน โก่งภายนอก มีเท้ากระโหย่ง ปลายเท้าด้วน ส้นเท้าด้วน ก็โลกกับทั้งเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตเสด็จไปด้วยปลายเท้าไม่ถูกผู้อื่นฆ่า เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีส้นยาว ย่อมเกิดขึ้น. ชนทั้งหลายมีกายสูง จะไปฆ่าผู้อื่น เกรงว่าคนอื่นจักเห็น จึงก้มลงไปฆ่าผู้อื่น อนึ่ง ชนเหล่านั้น คิดว่า ชนเหล่านี้ ไปฆ่าผู้อื่นอย่างนี้แล้วคนอื่นจงรู้กรรมนั้นของชนเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงทําเป็นคนค่อม เป็นคนแคระหรือเป็นคนพิการ โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตเสด็จไปอย่างนั้น ไม่ถูกผู้อื่นฆ่าด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้นมหาปุริสลักษณะคือมีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม ย่อมเกิดขึ้น. อนึ่งชนทั้งหลายมีมือถืออาวุธหรือไม้ค้อนแล้วกําหมัดฆ่าผู้อื่น ชนเหล่านั้น คิดว่า ชนจงรู้ความที่ชนเหล่านั้น ถูกคนอื่นฆ่าด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีนิ้วสั้น มีมือสั้น มีนิ้วงอหรือมือแป โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตเป็นผู้ไม่ถูกคนอื่นฆ่าอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีพระองคุลียาวย่อมเกิดขึ้น นี้คือ คล้ายกรรมในบทนี้ ก็ลักษณะ ๓ อย่างนี้แหละชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีอายุยืน เป็นอานิสงส์แห่งลักษณะ.

    ในบทนี้ว่า ฆ่า เป็นเหตุให้สัตว์ตาย เป็นภัยแก่ตน อธิบายว่าการฆ่ากล่าวคือมรณะ เป็นภัยจากการฆ่าให้ตาย คือ ฆ่าเป็นเหตุให้สัตว์ตาย เป็นภัย รู้ภัยนั้นของตนแล้วเว้นเสีย. บทว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 56

ความว่า บุคคลรู้ว่า ภัยแต่ความตายของเรา ชีวิตเป็นที่รักของเรา ฉันใดแม้ของผู้อื่นก็ฉันนั้น ได้เป็นผู้เว้นขาดเบื้องหน้าแต่ความตาย. บทว่า สุจริเตน แปลว่า ประพฤติดีแล้ว. บทว่า สคฺคมคมาสิ แปลว่า ไปสู่สวรรค์. บทว่า จวิย ปุนริธาคโต คือเคลื่อนไปแล้วกลับมาในโลกนี้อีก. บทว่า ทีฆปาสุณิโก แปลว่า มีส้นพระบาทยาว. บทว่า พฺรหฺมาวสุชฺชุ แปลว่า มีพระวรกาย ตรงดีเหมือนพรหม. บทว่า สุภุโช คือพระพาหางาม. บทว่า สุสุ คือแม้ในเวลาแก่ ก็ยังดูหนุ่ม. บทว่า สุสณฺิโต ถึงพร้อมด้วยทรวดทรงงาม. บทว่า มุทุตลุนงฺคุลิยสฺส คือมีพระองคุลีอ่อนและนุ่ม. บทว่า ปุริสวรคฺคลกฺขเณหิ แปลว่า ด้วยลักษณะอันเลิศ ของบุรุษผู้ประเสริฐ. บทว่า จิรยาปนาย ได้แก่ เพื่อให้เป็นไปอยู่นาน คือ เพื่อความเป็นผู้มีอายุยืน. บทว่า จิรํ ยเปติ แปลว่า ให้เป็นไปอยู่นาน. บทว่า จิรตรํ ปพฺพชติ ยทิ ตโต หิ ความว่า ผิว่า ให้เป็นไปอยู่นานกว่านั้น ย่อมบวชแน่. บทว่า ยาปยติ วสิทฺธิภาวนาย ความว่าเป็นผู้ถึงความชํานาญ ย่อมให้เป็นอยู่ด้วยอิทธิภาวนา.

    บทว่า รสิตานํ คือ สมบูรณ์ด้วยรส. ในบทว่า ขาทนียานํ เป็นต้น ได้แก่ของเคี้ยวมีแป้งเป็นต้น ชื่อว่าของควรเคี้ยว. บทว่า โภชนียานิ ได้แก่ โภชนะ ๕. บทว่า สายนียานิ ได้แก่ เนยใส เนยข้นเป็นต้นที่ควรลิ้ม. บทว่า เลหนียานิ ได้แก่ข้าวปายาสทําด้วยแป้งเป็นต้นที่ควรเลีย. บทว่า ปานานิ ได้แก่ปานะ ๘. การให้โภชนะอันประณีตนี้ พระตถาคตได้ให้แล้ว ตลอด ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปป ชื่อว่า กรรมในที่นี้. เมื่อโภชนะเศร้าหมอง ตกถึงท้องโลหิตซูบซีด เนื้อเหี่ยวแห้ง ชื่อว่า คล้ายกรรมเพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้ให้ของเศร้าหมองคิดว่า ชนจงรู้ความที่ของ

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 57

เศร้าหมองอันสัตว์เหล่านั้นให้แล้วด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีเนื้อน้อย มีโลหิตน้อยมีข้าวและน้ำหาได้ยากดุจมนุษย์เปรต. แต่เมื่อโภชนะประณีต ตกถึงท้องเนื้อและเลือดย่อมเจริญ สัตว์ทั้งหลายมีกายสมบูรณ์ น่าเลื่อมใส น่ารักน่าเอ็นดู เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตเป็นผู้ให้โภชนะอันประณีตตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีมังสะอูมในที่ ๗ แห่งย่อมเกิดขึ้น พระลักษณะอูมในที่ ๗ แห่งนั้นแหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้ได้ของประณีต ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ชชฺชโภชนํ อถ เลหสายิตํ ได้แก่ ของเคี้ยวของบริโภคของเลียและของลิ้ม. บทว่า อุตฺตมคฺครสทายโก แปลว่า ผู้ให้รสเลิศเป็นผู้สูงสุดหรือผู้ให้รสเลิศอันสูงสุด. บทว่า สตฺตจุสฺสเท คือ พระลักษณะอูมในที่ ๗ แห่ง. บทว่า ตทตฺถโชตกํ คือ แสดงอาหารมีของเคี้ยวของบริโภคเป็นต้น อธิบายว่า ยังลาภให้เป็นไปแก่ปริพาชกเหล่านั้น. บทว่า ปพฺพชฺชํ ปิ จ แปลว่า แม้บวชอยู่. บทว่า ตทาธิคจฺฉติ ตัดบทเป็น ตํอธิคจฺฉติ. บทว่า ลาภีรุตฺตมํ ตัดบทเป็น ลาภี อุตฺตมํ.

    ในบทว่า ทาเนน เป็นต้น ความว่า บุคคลบางพวกเป็นผู้ควรสงเคราะห์ ด้วยการให้อย่างเดียว ก็สงเคราะห์บุคคลนั้นด้วยการให้ ได้ให้เครื่องบริขารนักบวชแก่นักบวช ให้ของใช้คฤหัสถ์แก่พวกคฤหัสถ์. บทว่า ด้วยกล่าวคําเป็นที่รัก ความว่า ก็บุคคลบางพวก เป็นผู้พูดว่า ผู้นี้ย่อมให้ทานที่ควรให้แต่ลบหลู่ทานทั้งหมดด้วยคําเดียว แล้วทําให้ฉิบหาย การให้ของผู้นั้นจะมีประโยชน์อะไร บางพวกเป็นผู้พูดว่า ผู้นี้ไม่ให้ทานก็จริงถึงดังนั้น เมื่อจะพูดย่อมลบหลู่ดุจด้วยน้ำมัน ผู้นี้จงให้ก็ตาม อย่าให้ก็ตาม

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 58

คําพูดของเขาย่อมถึงค่าพันหนึ่ง. บุคคลเห็นปานนี้ ไม่หวังทาน หวังคําพูดน่ารักอย่างเดียว สงเคราะห์เขาด้วยคําพูดน่ารัก. บทว่า ด้วยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ ด้วยถ้อยคําอันเจริญด้วยประโยชน์ เพราะบุคคลบางพวกไม่หวังทาน ไม่หวังคําพูดน่ารัก ย่อมหวังถ้อยคําเป็นประโยชน์ให้เกิดความเจริญแก่ตนเท่านั้น สงเคราะห์บุคคลเห็นปานนี้ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้ว่า ท่านควรทําสิ่งนี้ ท่านไม่ควรทําสิ่งนี้ ควรคบบุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรคบบุคคลเห็นปานนี้. บทว่า สมานตฺตตาย คือ ด้วยความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน จริงอยู่บุคคลบางพวกไม่หวังแม้แต่อย่างเดียวในทานเป็นต้น หวังความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกันอย่างนี้ว่า นั่งที่นั่งเดียวกัน นอนแท่นเดียวกัน บริโภคร่วมกัน ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลเลวโดยชาติ ยิ่งด้วยโภคะ เป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะไม่อาจทําการบริโภคร่วมกับบุคคลนั้นได้ เมื่อไม่ทําอย่างนั้น เขาก็โกรธ ผู้ที่เลวโดยโภคะ แม้ยิ่งด้วยชาติก็เป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะเขาไม่ปรารถนาบริโภคร่วมกับผู้ที่สมบูรณ์ด้วยโภคะ ด้วยถือว่า เราเป็นคนมีชาติ เมื่อเขาทําย่อมโกรธ แต่ผู้ที่เลวแม้โดยทั้งสองอย่างเป็นผู้สงเคราะห์ง่าย เพราะเขาไม่ปรารถนาบริโภคร่วมกับคนนอกนี้ เมื่อไม่กระทํา ก็ไม่โกรธ แม้คนเช่นกับด้วยบุคคลทั้งสองก็เป็นผู้สงเคราะห์ง่าย บรรดาภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทุศีล เป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะไม่อาจทําการบริโภคร่วมกับเขาได้ เมื่อไม่ทําอย่างนั้น ย่อมโกรธ ภิกษุมีศีลเป็นผู้สงเคราะห์ง่าย เพราะผู้มีศีลเมื่อเขาทําบ้าง เมื่อเขาไม่ทําบ้าง ก็ไม่โกรธ ย่อมไม่เห็นคนอื่นแม้ทําการบริโภคร่วมกับตนด้วยจิตลามก แม้การบริโภคร่วมกับผู้มีศีลก็ทําได้ง่ายเพราะฉะนั้น สงเคราะห์บุคคลเห็นปานนี้ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอด้วย

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 59

ประการฉะนี้. บทว่า สุสํ คหิตสฺส โหนฺติ แปลว่า เป็นผู้อันเขาสงเคราะห์ได้ง่าย อธิบายว่า ชนนั้นจงให้ก็ดี อย่าให้ก็ดี จงกระทําก็ดี อย่ากระทําก็ดี ชนทั้งหลายเป็นอันสงเคราะห์อย่างดีแล้ว ย่อมไม่ทําลายกัน ย่อมให้ในกาลที่ควรให้แก่เขา ชนทั้งหลายย่อมคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เขาเห็นจะไม่มี จึงไม่ให้ด้วยเหตุนั้น เรื่องอะไรเราจะบํารุงผู้ให้อย่างเดียว เราจะไม่บํารุงผู้ไม่ให้ผู้ไม่กระทําดังนี้. กรรมคือการสงเคราะห์มีทานเป็นต้น ที่เขาทําตลอดกาลนานชื่อว่า กรรม ในที่นี้ ชนใดเป็นผู้ไม่สงเคราะห์อย่างนี้ ชนนั้นจงรู้ความที่เขาไม่สงเคราะห์ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นในเรื่องนี้ เขาจึงเป็นผู้มีมือและเท้ากระด้างและเป็นผู้มีลักษณะของคนที่ตั้งอยู่ไม่เรียบ ชื่อว่า คล้ายกรรม ก็โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตทรงเป็นผู้สงเคราะห์ตลอดกาลนานด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ลักษณะ ๒ อย่างนี้ ย่อมเกิดขึ้น. ทั้งสองลักษณะนี้แหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารอันสงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี ชื่อว่าอานิสงส์.

    บทว่า กริย แปลว่า ทําแล้ว. บทว่า จริย แปลว่า ประพฤติแล้ว. บทว่า อนวมเตน แปลว่า ด้วยไม่ดูหมิ่น. อธิบายว่า ไม่ใช่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ใช่ด้วยทานอันตนให้แล้ว ไม่ได้ด้วยความเย้ยหยัน. บทว่า จวิย แปลว่าเคลื่อนแล้ว. บทว่า มีส่วนสวยน่าชมยิ่งนัก ความว่า งามยิ่งนัก น่าเลื่อมใส มีส่วนดีคือฉลาดด้วยดีและน่าชมคือประกอบด้วยสิ่งพึงชม. บทว่า สุสุกุมาโร แปลว่า กุมารดี. บทว่า พึงเป็นบริวารชนของพระองค์ ความว่า พระองค์มีบริวารชนผู้ทําตามด้วย

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 60

ถ้อยคําของพระองค์. บทว่า พึงตรวจตรา คือ ควรตรวจตราตามความพอใจในสิ่งที่ควรทําและไม่ควรทํา.

    บทว่า มหิมํ ตัดบทเป็น มหึ อิมํ. บทว่า ปิยวทู หิตสุขตํชิคึสมาโน คือเป็นผู้พูดน่ารักมุ่งประโยชน์และสุข. บทว่า วจนปฏิกรสฺสาภิปฺปสนฺนา ตัดบทเป็น วจนปฏิกรา อสฺส อภิปฺปสนฺนา. บทว่า ธมฺมานุธมฺมํ คือธรรมและสมควรแก่ธรรม.

    บทว่า อตฺถูปสฺหิตํ ได้แก่อาศัยประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า บทว่า ประกอบด้วยธรรม คืออาศัยกุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า แนะนําชนเป็นอันมาก คือกล่าวถ้อยคําชี้แจงแก่ชนเป็นอันมาก. บทว่า ปาณีนํ ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย. บทว่า ทั้งปวงมีอาทิว่าเป็นผู้เลิศ เป็นไวพจน์ของกันและกัน. วาจาเป็นวาจาภาษิต เป็นวาจายกให้เด่น เป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรม ในที่นี้. ชนใด ไม่กล่าววาจาอีกให้เด่นเห็นปานนี้ ชนนั้นจงรู้ถึงผู้ไม่กล่าวด้วยวาจายกให้เด่นด้วยเหตุนี้ ดังนั้นจึงเป็นผู้มีเท้าดุจสังข์ในเบื้องต่ํา และมีขนลงเบื้องต่ํา ชื่อว่าคล้ายกรรม โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตทรงกล่าววาจายกให้เด่นเห็นปานนี้ตลอดกาลนานด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ํา และพระลักษณะคือมีพระโลมามีปลายช้อยขึ้นข้างบนย่อมเกิดขึ้น. ลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อ ลักษณะ. ความเป็นผู้สูงสุดชื่อว่าอานิสงส์. คําว่า เอริยํ ได้แก่กล่าวอยู่. คําว่า พหุชนํ นิทํสยิ ได้แก่แสดงประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก. คําว่า ธมฺมยาคํ ได้แก่ยัญ คือธรรมทาน. คําว่า อุพฺภมุมฺปติตโลมวา สโส ความว่ามี พระโลมาตั้งขึ้น. คําว่า ปาทคณฺิรหุ ได้แก่ข้อพระบาททั้งสอง. คําว่า สาธุ สณฺิตาได้แก่ตั้งไว้อย่างดี. คําว่า มงฺสโลหิตาจิตา ความว่า มีพระมังสะและพระ

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 61

โลหิตปกปิดไว้. บทว่า ห่อหุ้มด้วยหนัง ได้แก่ห่อหุ้มคือซ่อนไว้ด้วยหนัง. บทว่า วชฺชติ แปลว่าไป. บทว่า อโนมนิกฺกโม ได้แก่ คือเป็นอยู่ประเสริฐ เป็นอยู่ไม่เลว

    ในบทว่า สิปุปํ วา เป็นต้น ความว่า ศิลปะแม้สองอย่างนี้คือศิลปะอย่างต่ํา และศิลปะอย่างสูง ชื่อว่า ศิลปะ. ศิลปะอย่างต่ําได้แก่ ศิลปะทําท่อ ศิลปะทําหม้อ ศิลปะช่างทอ ศิลปะช่างตัดผม ศิลปะอย่างสูงได้แก่ลวดลาย การคํานวณอย่างสูง. บทว่า วิชฺชา ความว่า วิชามีหลายอย่าง มีวิชาหมองูเป็นต้น. บทว่า จรณะ ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๑๐ ปาฏิโมกข์สังวรศีล. บทว่า กรรม ได้แก่ ปัญญาความรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน. บทว่า กิลิเสยฺยุํ แปลว่า พึงลําบาก อธิบายว่า พระมหาบุรุษคิดว่า ขึ้นชื่อว่าอันเตวาสิกวัตรเป็นทุกข์ อันเตวาสิกวัตรนั้นอย่าได้มีแก่พวกเขานานนัก. บทว่า อันคู่ควรแก่พระราชา ความว่า ราชพาหนะมีช้างและม้าเป็นต้นอันสมควรแก่พระราชา ราชพาหนะเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวว่า ราชงฺคานิ เพราะเป็นองค์แห่งเสนาของพระราชา. เพราะบทว่า เครื่องราชูปโภค คือราชภัณฑะอันเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคและรัตนะ ๗ อย่างเหล่านั้นนั่นแลของพระราชา. บทว่า อันสมควรแก่พระราชา นี้ถือเอาเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นทั้งหมด. บทว่า อันสมควรแก่สมณะ ได้แก่ไตรจีวรเป็นต้น อันสมควรแก่พวกสมณะ. บทว่า อันเป็นองค์ของสมณะ ได้แก่บริษัท ๔ อันเป็นส่วนพวกสมณะ. บทว่า เครื่องอุปโภคของสมณะ ได้แก่บริขารอันเป็นเครื่องอุปโภคของสมณะ. บทว่า อันสมควรแก่สมณะ เป็นชื่อของบริขารเหล่านั้น. ก็การบอกศิลปะเป็นต้น โดยความเคารพตลอดกาลนานชื่อว่า กรรมในที่นี้ ไม่บอกศิลปะโดยความ

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 62

เคารพอย่างนี้ ยังพวกอันเตวาสิกให้ลําบากด้วยการนั่งหลังงอและเหยียดแข้งเป็นต้น ย่อมเป็นเหมือนเนื้อแข้งของผู้นั้นถูกขีดให้ตกไป. แต่โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงบอกด้วยความเคารพด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระชงฆ์ดุจแข้งทราย เรียวขึ้นไปโดยลําดับ ย่อมเกิดขึ้นชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีลาภอันสมควร ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ยตุปฆาตาย คือ ศิลปะอันใด ย่อมไม่เป็นเพื่อเข้าไปเบียดเบียนใครๆ . บทว่า กิลิสฺสติ แปลว่า จักลําบาก บทว่า สุขุมตฺตโจตฺถฏา แปลว่า หุ้มด้วยหนังอันละเอียด.

    ถามว่า ก็ลักษณะอื่นย่อมเกิดขึ้นด้วยกรรมอื่นหรือ. ตอบว่า ไม่เกิดก็ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นอนุพยัญชนะ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในข้อนี้.

    บทว่า สมณํ วา ความว่า ชื่อว่า สมณะเพราะอรรถว่ามีบาปสงบแล้ว. บทว่า พฺราหฺมณํ วา ความว่า ชื่อว่า พราหมณ์ เพราะอรรถว่ามีบาปอันลอยแล้ว. ในบทว่า เป็นผู้มีปัญญามากเป็นต้น ความว่าเป็นผู้ประกอบด้วยมหาปัญญา เป็นต้น ความต่างกันของมหาปัญญาเป็นต้นมีดังต่อไปนี้.

    ในบททั้งหลายนั้น มหาปัญญา เป็นไฉน มหาปัญญา คือ บุคคลย่อมกําหนดสีลขันธ์ อันมีคุณมาก กําหนดสมาธิขันข์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันมีคุณมากเพราะกําหนดฐานะและอฐานะ วิหารสมาบัติ อริยสัจจ์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 63

พละ โพชฌงค์ อริยมรรค สามัญญผล อภิญญา นิพพาน อันมีคุณมาก.

    ปุถุปัญญา เป็นไฉน ปุถุปัญญา คือ ญาณ ย่อมเป็นไปในขันธ์ต่างๆ มาก ย่อมเป็นไปในญาณธาตุต่างๆ มาก ในอายตนะต่างๆ มาก ในปฏิจจสมุปบาทมาก ในการได้รับสุญญตะต่างๆ มาก ในอรรถต่างๆ มาก ในธรรมทั้งหลาย ในนิรุติทั้งหลาย ในปฏิภาณทั้งหลาย ในสีลขันธ์ต่างๆ มาก ในสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่างๆ มาก ในฐานะและอฐานะต่างๆ มาก ในวิหารสมาบัติต่างๆ มาก ในอริยสัจจ์ต่างๆ มาก ในสติปัฏฐานต่างๆ มาก ในสัมมัปปธานทั้งหลาย ในอิทธิบาททั้งหลาย ในอินทรีย์ทั้งหลาย ในพละทั้งหลาย ในโพชฌงค์ทั้งหลาย ในอริยมรรคต่างๆ มาก ในสามัญญผลทั้งหลาย ในอภิญญาทั้งหลาย ในพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์ ล่วงธรรมอันสาธารณ์แก่ปุถุชน.

    ทาสปัญญา เป็นไฉน ทาสปัญญา คือ บุคคลบางพวกในโลกนี้เป็นผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบรรเทิง ย่อมบําเพ็ญศีลบริบูรณ์ บําเพ็ญอินทรียสังวรบริบูรณ์ บําเพ็ญโภชเนมัตตัญู ชาคริยานุโยค สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ให้บริบูรณ์ บุคคลเป็นผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบรรเทิง ย่อมแทงตลอดฐานะและอฐานะ บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง ย่อมบําเพ็ญ วิหารสมาบัติให้บริบูรณ์ บุคคลมากด้วยความรื่นเริง ย่อมแทงตลอดอริยสัจจ์ บุคคลย่อมเจริญสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง ย่อมทําให้แจ้งซึ่งสามัญญผล

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 64

ย่อมแทงตลอดอภิญญาทั้งหลาย บุคคลผู้มากด้วยความรื่นเริง มากด้วยเวท มากด้วยความยินดี มากด้วยความบรรเทิง ย่อมทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์.

    ชวนปัญญา เป็นไฉน ชวนปัญญา คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน มีในภายใน มีในภายนอก หยาบ ละเอียด เลวหรือประณีต รูปใดอยู่ไกลหรือใกล้ รูปนั้นทั้งหมดย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน... วิญญาณทั้งหมดนั้นย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา จักษุ...ชราและมรณะที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ย่อมแล่นไปเร็วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า สิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์เพราะอรรถว่า น่ากลัว ชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่า หาสาระมิได้ เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทําให้แจ้ง ทําให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปเร็ว ในพระนิพพาน อันดับเสียซึ่งรูปโดยไม่เหลือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ... ชรา มรณะที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะอรรถว่า สิ้นไป...ทําให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปเร็ว ในพระนิพพาน อันดับเสียซึ่งชราและมรณะโดยไม่เหลือ รูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีสิ้น มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีคลายกําหนัดเป็นธรรมดา มีการดับ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทําให้แจ้ง ทําให้จริงย่อมแล่นไปเร็วใน

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 65

พระนิพพานอันดับรูปโดยไม่เหลือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ...ชราและมรณะอันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่งอาศัยกันเกิดขึ้น มีสิ้น มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีคลายกําหนัดเป็นธรรมดา มีการดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตรึก พิจารณา ทําให้แจ้ง ทําให้เป็นจริง ย่อมแล่นไปในพระนิพพาน อันดับชราและมรณะโดยไม่เหลือ.

    ติกขปัญญา เป็นไฉน ติกขปัญญา คือบุคคลย่อมตัดกิเลสได้เร็ว ย่อมไม่อาศัยกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาศัยคือละ บรรเทา ทําให้สิ้นสุดถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว วิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ธรรมอันลามกเป็นอกุศล ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ราคะ, โทสะ,โมหะ, โกธะ, อุปนาหะ ผูกโกรธไว้, มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, ปลาสะ ตีเสมอท่าน, อิสสา ริษยา, มัจฉริยะ ตระหนี่, มายา เจ้าเล่ห์, สาเถยยะ โอ้อวด, ถัมภะ หัวดื้อ, สารัมภะ แข่งดี, มานะ ถือตัว, อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, มทะ มัวเมา, ปมาทะ เลินเล่อ, กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขาร การปรุงแต่งทั้งปวง กรรมอันทําให้ไปสู่ภพทั้งปวง อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ เป็นอันได้บรรลุแล้วทําให้แจ้งแล้วถูกต้องแล้วด้วยปัญญา.

    นิพเพธิกปัญญา เป็นไฉน นิพเพธิกปัญญา คือ บุคคลบางพวกในโลกนี้ มากไปด้วยความหวาดสะดุ้ง มากไปด้วยความหวาดกลัว มากไปด้วยความกระสัน มากไปด้วยความไม่พอใจ มากไปด้วยความไม่ยินดี ย่อมไม่ยินดีจนออกหน้าในสังขารทั้งปวง บางพวกเบื่อหน่าย คือทําลาย กองโลภอันตนไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยทําลาย บางพวกเบื่อหน่ายคือ ทําลายกองโทสะ กองโมหะ ความโกรธ การผูกโกรธ... กรรมอันจะนําไปสู่ภพทั้งปวง อันตนไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยทําลาย.

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 66

    บทว่า เข้าไปหาบรรพชิต คือเข้าไปใกล้บรรพชิตผู้เป็นบัณฑิต. บทว่า เป็นผู้มุ่งประโยชน์ในภายใน ความว่า บุคคลบางคนมีปกติแสวงโทษ กระทําโทษไว้ภายใน เพราะความที่ตนมีจิตขุ่นเคืองแล้วตรึกตรองฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้ทรงตรึกตรองเหมือนอย่างนั้น ทรงกระทําประโยชน์ไว้ภายในแล้วทรงตรึกตรองคือใคร่ครวญด้วยคําอันประกอบด้วยประโยชน์. บทว่า ปฏิลาภคเตน คือไปเพื่อ หวังลาภ. บทว่า อุปฺปาฏนิมิตฺตโกวิทา คือเป็นผู้ฉลาดในลางและนิมิต. บทว่า อเวจฺจ ทกฺขติ รู้แล้วจักเห็น. บทว่า อตฺถานุสิฏีสุ ปริคฺคเหสุ จ ความว่า ในการกําหนดในการสั่งสอนที่เป็นประโยชน์ คือญาณทั้งหลายอันกําหนดถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์.

    บทว่า เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ความว่า ไม่ใช่เพราะความที่ตนละความโกรธได้ด้วยอนาคามิมรรค เพราะความที่ตนไม่อยู่ในอํานาจของความโกรธ อย่างนี้ว่า แม้หากว่า ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราก็จะบรรเทาความโกรธนั้นเร็วพลันทีเดียว. บทว่า ไม่ขัดใจ คือไม่ติดเหมือนหนามงอๆ แทงจุดสําคัญของร่างกายในที่นั้นๆ .

    ในบทว่า ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย เป็นต้น ความว่า ความโกรธเกิดขึ้นก่อน ความพยาบาทมีกําลังกว่าความโกรธนั้น ความจองล้างจองผลาญมีกําลังกว่า ความพยาบาทนั้น พระตถาคตไม่ทรงทําด้วยคําทั้งหมดนั้น จึงไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ. บทว่า ไม่ทําความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ คือไม่ทําให้ปรากฏด้วยกายวิการหรือวจีวิการ ความเป็นผู้ไม่โกรธตลอดกาลนานและให้เครื่องลาด

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 67

เนื้อละเอียดเป็นต้น ชื่อว่า กรรมในที่นี้. จริงอยู่ ผิวพรรณของคนมักโกรธเป็นผิวพรรณเศร้าหมอง หน้าตาดูน่าเกลียด ชื่อว่า เครื่องตกแต่งเช่นผ้าสําหรับปกปิดก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ชนใดมักโกรธท่าเดียวและไม่ให้ผ้าสําหรับปกปิด ชนนั้นจงรู้ความที่เขาเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีทรวดทรงน่าเกลียด. แต่หน้าของคนไม่โกรธ ย่อมแจ่มใส ผิวพรรณย่อมผ่องใส. จริงอยู่สัตว์เป็นผู้น่าเลื่อมใสด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ด้วยให้อามิส ด้วยให้ผ้า ด้วยเครื่องกวาดหรือด้วยความเป็นผู้ไม่โกรธ. เหตุแม้ ๔ อย่างนี้ ก็เป็นอันพระตถาคตได้ทรงกระทําแล้ว ตลอดกาลนานทีเดียว ด้วยเหตุนั้นโลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่เหตุเหล่านี้ พระตถาคตทรงกระทําแล้วด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะ มีสีเหมือนทองย่อมเกิดขึ้นชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะนี้แล ชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้ได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดเป็นต้น ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า อภิวิสชฺชิ แปลว่า ตกแล้ว ความว่า ฝนตกทั่วแผ่นดินฝนท่านกล่าวว่า สุระ เหมือนฝนตกทั่วแผ่นดินใหญ่. บทว่า สุรวรตโรริวอินฺโท คือดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าสุระทั้งหลาย. บทว่า ไม่ปรารถนาเป็นนักบวช คือปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่นักบวช. บทว่า มหตึมหึ คือแผ่นดินใหญ่. บทว่า อจฺฉาทนวตฺถโมกฺขปาปุรณานํ คือผ้านุ่งและผ้าห่มอันสูงสุด. บทว่า ปนาโส แปลว่าความพินาศ. บทว่า นํามารดากับบุตรให้พบกัน ความว่า พระราชาผู้ดํารงอยู่ในราชสมบัติ สามารถทํากรรมนี้ได้ เพราะฉะนั้น แม้พระโพธิสัตว์เมื่อครองราชสมบัติก็ทรงตั้งมนุษย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงทําการงานที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง มีทางสี่แพร่งเป็นต้นภายในพระนคร ในทิศทั้ง ๔ นอกพระนคร พวกมนุษย์

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 68

เหล่านั้น เห็นมารดาบ่นเพ้อหาบุตรว่า บุตรของเราอยู่ไหน เราไม่เห็นบุตรดังนี้ แล้วพูดว่า มานี้เถิดแม่ ท่านจะเห็นบุตร ได้พามารดานั้นไปอาบน้ำให้บริโภคแล้วแสวงหาบุตรแสดงแก่มารดานั้น. ในบททั้งปวงมีนัยนี้ การทําให้ญาติทั้งหลายมีความพร้อมเพรียงกันตลอดกาลนานชื่อว่า กรรมในที่นี้ ก็ญาติทั้งหลาย เป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกันแล้ว ย่อมปกปิดโทษของกันและกัน จริงอยู่ชนเหล่านั้น ในเวลาทะเลาะกันย่อมทะเลาะกันก็จริง แต่เมื่อเกิดโทษขึ้นแก่คนหนึ่งก็ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ เมื่อมีคนพูดว่านี้เป็นโทษของคนคนหนึ่ง ทั้งหมดจะลุกขึ้นพูดว่า ใครเห็น ใครได้ยิน ในบรรดาญาติของเรา ไม่มีผู้ทําเห็นปานนี้ ก็พระตถาคตเมื่อทรงทําการสงเคราะห์ญาตินั้นเป็นอันทรงทํากรรมคือการปกปิดโทษนี้ตลอดกาลนาน ลําดับนั้นโลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่กรรมเห็นปานนี้ อันพระตถาคตนั้นทรงกระทําด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ลักษณะคือมีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีโอรสมาก ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า วตถจฺฉาทิยํ ได้แก่ปกปิดด้วยผ้า คือซ่อนไว้ในผ้า. บทว่า อมิตฺตตาปนา แปลว่า เผาผลาญพวกอมิตร. บทว่า คิหิสฺส ปีติชนนา คือยังปีติให้เกิด เพื่อเป็นคฤหัสถ์.

    บทว่า ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน ความว่า ย่อมรู้จักบุคคลที่เสมอกันด้วยเหตุนั้นๆ อย่างนี้ว่า ผู้นี้เสมอด้วยตารุกขนิครนถ์ผู้นี้เสมอด้วยโปกขรสาติ. บทว่า ย่อมรู้จักบุรุษ คือ รู้จักบุรุษว่า บุรุษนี้ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด. บทว่า รู้จักบุรุษพิเศษ คือ ไม่ทําถั่วเขียวเสมอด้วยถั่ว-

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 69

ราชมาศ ย่อมรู้ความวิเศษของผู้ประเสริฐโดยคุณ. บทว่า บุคคลนี้ควรสักการะนี้ ความว่า บุรุษนี้ ควรท่านสักการะชื่อนี้ เขาได้เป็นการกบุคคลเพราะรู้จักบุรุษพิเศษว่า บุรุษนี้ได้เป็นผู้ทําให้เป็นบุรุษพิเศษมาก่อน เขาได้ให้ทานแก่ผู้ควร จริงอยู่ ผู้ใดให้กหาปณะกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ควรกหาปณะหนึ่งผู้นั้น ย่อมทําให้กหาปณะกึ่งหนึ่งของผู้อื่นฉิบหายไป ผู้ใดให้สองกหาปณะผู้นั้น ย่อมทําให้หนึ่งกหาปณะของตนฉิบหายไป เพราะฉะนั้น ไม่ทําแม้ทั้งสองอย่างนี้ ชื่อว่า เขาได้ให้ทานแก่ผู้ควร. ในบทว่า ทรัพย์คือศรัทธาเป็นต้น พึงทราบความที่ศรัทธาเป็นต้น เป็นทรัพย์ ด้วยอรรถคือให้ได้สมบัติ กรรมคือการสงเคราะห์ผู้เสมอกัน อันบุคคลรู้จักบุรุษพิเศษ กระทําแล้วตลอดกาลนาน ชื่อว่า กรรมในที่นี้. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้กรรมนั้นของพระโพธิสัตว์ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะสองอย่างนี้ ย่อมเกิดขึ้นชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะสองอย่างนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ. ธนสมบัติชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ตุลิย แปลว่า พิจารณาแล้ว. บทว่า ปวิจิย แปลว่าค้นคว้าแล้ว. บทว่า มหาชนสงฺคาหกํ คือสงเคราะห์มหาชน. บทว่า สเมกฺขมาโน คือ เพ่งเสมอ.

    บทว่า มนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญายิ่ง ความว่า มนุษย์ผู้ทํานายลักษณะมีปัญญายิ่ง คือมีปัญญาละเอียด. บทว่า พหุวิวิธคิหีนํ อรหานิ แปลว่า สมควรแก่พวกคฤหัสถ์หลายๆ อย่าง. บทว่า ปฏิลภติ ทหโรสุสู กุมาโร ความว่า พวกนักพยากรณ์ทํานายว่า พระโพธิสัตว์หนุ่มนี้จักได้เป็นพระกุมาร. บทว่า มหิปฺปติสฺส คือ พระราชา.

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 70

    บทว่า โยคกฺเขมกาโม คือใคร่ความเกษมจากโยคะ บทว่าด้วยปัญญา คือด้วยปัญญาแห่งกรรมอันตนทําแล้ว ความเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่มหาชน ชื่อว่า กรรมในที่นี้. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความเป็นผู้หวังความเจริญอย่างเดียว เพราะความเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่มหาชนด้วยเหตุนี้ของพระโพธิสัตว์นั้นดังนั้น พระลักษณะ ๓ ประการอันบริบูรณ์ครบถ้วน อันไม่เสื่อมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้น นั้นชื่อว่า คล้ายกรรมลักษณะ ๓ ประการนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ. ความไม่เสื่อมจากทรัพย์เป็นต้น และจากศรัทธาเป็นต้น ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ด้วยศรัทธา ความว่า ด้วยความเชื่อเพราะความสําเร็จ ด้วยความเชื่อเพราะความเลื่อมใส. บทว่า ด้วยศีล คือด้วยศีล ๕ ด้วยศีล ๑๐ บทว่า ด้วยสุตะ คือ ด้วยการฟังพระปริยัติ. บทว่า ด้วยพุฑฺฒิ คือด้วยความเจริญแห่งธรรมเหล่านั้น อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทรงดําริอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายพึงเจริญด้วยธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร. บทว่า ด้วยธรรม คือด้วยโลกิยธรรม. บทว่า ด้วยคุณอันให้ประโยชน์สําเร็จมาก คือด้วยคุณอันสูงสุดมาก แม้อื่นๆ . บทว่า อหานธมฺมตํ คือธรรมอันไม่เสื่อม. บทว่า มีเส้นประสาทสําหรับนํารสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ําเสมอทั่วพระวรกาย ความว่าวัตถุแม้ประมาณเท่าเมล็ดงา ตั้งอยู่ที่ปลายลิ้นย่อมแผ่ไปในที่ทั้งหมดฉันใด เส้นประสาทย่อมทํารสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ําเสมอฉันนั้นความคือการกระทําให้ไม่มีโรค. ชื่อว่ากรรมในที่นี้ โลหิตของผู้ถูกประหารด้วยฝ่ามือเป็นต้น ย่อมขังอยู่ในที่นั้นๆ เป็นปมโน กลัดหนองในภายในและแตกในภายใน ด้วยอาการอย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้มีโรคมาก. แต่พระ

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 71

ตถาคตทรงกระทำกรรมอันทําให้ไม่มีโรคนี้ตลอดกาลนาน. โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้กรรมนั้นของพระตถาคตนั้น ด้วยเหตุนี้ดังนั้น ลักษณะคือมีเส้นประสาทสําหรับนํารสอาหารอันเลิศอันทําให้ไม่มีโรค ย่อมเกิดขึ้นชื่อว่า คล้ายกรรม ลักษณะนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ด้วยให้ตายเองและบังคับให้ฆ่า คือด้วยบังคับอย่างนี้ว่าท่านทั้งหลายจงให้ผู้นี้ตายจงฆ่าผู้นี้ดังนี้. บทว่า ด้วยจองจํา คือด้วยให้เข้าไปอยู่ในเรือนจํา. บทว่า โอชสา แปลว่า มีรสอร่อย.

    บทว่า ไม่ถลึงตาดู คือไม่เพ่งด้วยอํานาจความโกรธเหมือนปูนําตาออก. บทว่า ไม่ค้อนตาดู คือไม่ชายตามอง. บทว่า ไม่ชําเลืองตาดู ความว่า ผู้ที่โกรธหลับตา ไม่ดู ในขณะที่คนอื่นเขาดู กลับโกรธมองดูผู้ที่เดินไปอีก พระตถาคตมิได้เป็นอย่างนั้น. บาลีว่า วิเธยฺยเปกฺขิตา ดังนี้บ้างนี้ก็มีความอย่างเดียวกัน. บทว่า เป็นผู้ตรงมีใจตรงเป็นปกติ ความว่าเป็นผู้มีใจตรง เป็นผู้เพ่งตรง คือได้เป็นผู้เพ่งอย่างเปิดเผย คือ ไพบูลย์กว้างขวางเช่นเดียวกับใจตรง. บทว่า ดูน่ารัก คือพึงดูด้วยใจรัก. กรรมคือการดูด้วยจักษุเป็นที่รักของมหาชนตลอดกาลนาน ชื่อว่า กรรมในที่นี้ผู้โกรธเมื่อแลดูย่อมเป็นเหมือนตาบอดข้างเดียว เหมือนตากาย่อมจะเป็นคนตาเหล่และตาขุ่นมัวทีเดียว. แต่ผู้มีจิตผ่องใสเมื่อแลดู ประสาทมีสี ๕ ของตาทั้งสองนั้นปรากฏ. ก็พระตถาคตย่อมทรงแลดูอย่างนั้น. อนึ่ง โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงดูรู้ความที่พระตถาคตนั้นทรงแลดูด้วยจักษุเป็นที่รักตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น มหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ อัน

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 72

กระทําความสมบูรณ์แก่พระเนตรย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะทั้งสองประการนี้แหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้ดูด้วยความรัก ชื่อว่าอานิสงส์.

    บทว่า อภิโยคิโน คือประกอบในลักษณะศาสตร์. บทว่า พระตถาคตเป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ความว่า ได้เป็นหัวหน้าคือเป็นผู้ใหญ่ได้ในหมู่ของชนเป็นอันมาก ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือทิฏฐานุคติของพระตถาคตนั้น ความเป็นหัวหน้าชื่อว่ากรรมในที่นี้ ผู้ใดเป็นหัวหน้ากระทํากุศลธรรม มีทานเป็นต้น ผู้นั้น เป็นผู้ไม่เก้อเขินเงยศีรษะ เป็นผู้มีศีรษะบริบูรณ์ด้วยปิติและปราโมทย์เที่ยวไป ก็พระมหาบุรุษได้เป็นอย่างนั้น ที่นั้นโลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้กรรมคือการเป็นหัวหน้านี้ ของพระมหาบุรุษนั้นด้วยเหตุนี้ ดังนั้นลักษณะคือมีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะนี้แหละชื่อว่า ลักษณะความเป็นผู้อนุวัตรตามมหาชน ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า หมู่ชนที่ช่วยเหลือ คือพวกที่ทําการช่วยเหลือ เป็นอันมาก จักมีแก่พระองค์. บทว่า ครั้งนั้นพวกพราหมณ์ย่อมพยากรณ์ ความว่า พวกพราหมณ์พยากรณ์อย่างนั้น ในคราวที่พระองค์ทรงพระเยาว์. บทว่า ปฏิหารกํ แปลว่า ความเป็นผู้ช่วยเหลือ. บทว่า วิสวี แปลว่ามีความชํานาญสั่งสมแล้ว. บทว่า ประพฤติตาม คือประพฤติตามอัธยาศัย. การกล่าวความจริงตลอดกาลนาน ชื่อว่า กรรมในที่นี้ โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระองค์ตรัสถ้อยคําไม่เป็นที่สอง คือถ้อยคําบริสุทธิ์ตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น พระลักษณะคือมีพระโลมาขมละเส้นๆ เสมอ

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 73

กันไปทุกขุมขนและพระลักษณะคือพระอุณาโลมย่อมเกิด ชื่อว่า คล้ายกรรม. ลักษณะทั้งสองนี้แหละชื่อว่าลักษณะ ความเป็นผู้อนุวัตรตามโดยความอนุวัตรตามอัธยาศัยแก่มหาชน ชื่อว่า อานิสงส์.

    การกล่าววาจาไม่ส่อเสียดตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. บทว่า อเภชฺชปริโส แปลว่า ไม่นําบริษัทให้แตกกัน. นัยว่า ผู้กล่าววาจาส่อเสียดทําลายความสามัคคี ฟันย่อมไม่สมบูรณ์และย่อมเป็นผู้มีฟันห่าง อนึ่ง โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตมีพระวาจาไม่ส่อเสียด ตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ลักษณะทั้งสองนี้ย่อมเกิด ชื่อว่า คล้ายกรรม ลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ ความที่บริษัทไม่แตกกัน ชื่อว่าอานิสงส์.

    บทว่า จตุโร ทส แปลว่า ๔๐. บทว่า อาเทยฺยวาโจ แปลว่ามีคําควรเชื่อถือได้. ความเป็นผู้ไม่กล่าวคําหยาบ ตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้ ผู้ใดเป็นผู้มีวาจาหยาบ ชนจงรู้ความที่เขาเหล่านั้น กลับลิ้นกล่าววาจาหยาบ ด้วยเหตุนี้. ดังนั้น ผู้นั้นจะมีลิ้นกระด้าง มีลิ้นอําพราง มีสองลิ้น หรือติดอ่าง อนึ่งผู้ใดกลับลิ้นไปมาไม่พูดวาจาหยาบ ผู้นั้นจะเป็นผู้ไม่มีลิ้นกระด้าง ไม่มีลิ้นอําพราง ไม่สองลิ้น ลิ้นของเขาอ่อน มีสีเหมือนผ้ากัมพลสีแดง เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตมิได้กลับลิ้นไปมา แล้วตรัสวาจาหยาบด้วยเหตุนี้. ดังนั้น พระลักษณะคือมีพระชิวหาใหญ่ย่อมเกิดขึ้น อนึ่งเสียงของผู้กล่าววาจาหยาบย่อมแตก ชนจงรู้ความที่เขาทําเสียงแตกแล้วกล่าววาจาหยาบ ดังนั้น เขาย่อมเป็นผู้มีเสียงขาดหรือมีเสียงแตก หรือมีเสียงเหมือนกา. อนึ่ง ผู้ใดไม่กล่าววาจาหยาบอันทําให้เสียงแตก เสียงของผู้นั้น ย่อมเป็นเสียงไพเราะและเป็นเสียงน่ารัก.

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 74

เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตไม่ตรัสวาจาหยาบ อันทําให้เสียงแตก ตลอดกาลนานด้วยเหตุนี้. ดังนั้น พระลักษณะคือมีเสียงดุจเสียงพรหมย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่าคล้ายกรรม. พระลักษณะทั้งสองนี้แหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีวาจาควรเชื่อถือ ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ทําความเจ็บใจ คือ ทําความเจ็บใจเพราะประกอบด้วยการด่า. บทว่า พหุชนปฺปมทฺทนํ แปลว่า ย่ํายีชนเป็นอันมาก. พึงประกอบ . อักษร ในบทนี้ว่า อพาฬฺหํ คิรํ โส น ภณิ ผรุสํ ด้วย ภณิศัพท์ข้างหน้า. บทว่า หนัก คือ ถ้อยคําหนัก มีกําลัง คือ หยาบยิ่งนัก ในบทนี้มีอธิบายว่า เขามิได้พูดคําหนัก. บทว่า สุสหิตํ แปลว่า ประกอบความรักด้วยดี. บทว่า สขิลํ แปลว่า อ่อน. บทว่า วาจา คือคําพูดทั้งหลาย. บทว่า สะดวกหู ความว่า ความสุขทางหู ปาฐะว่า กณฺณสุขํ ก็มี, อธิบายว่า ความสุขย่อมมีแก่หูอย่างใด ย่อมกล่าวอย่างนั้น.

    บทว่า เวทยิถ แปลว่า เสวยแล้ว. บทว่า พฺรหฺมสฺส แปลว่าเป็นผู้มีเสียงดุจเสียงพรหม. บทว่า ไม่มีใครกําจัดได้ ความว่า เป็นผู้อันใคร ๆ ไม่สามารถกําจัด คือให้เคลื่อนจากคุณธรรมหรือฐานะได้ การไม่พูดถ้อยคําเพ้อเจ้อ ชื่อว่า กรรมในที่นี้ ผู้ใดกล่าวคําเช่นนั้น ชนจงรู้ความที่เขาเหล่านั้น คางสั่น แล้วพูดคําเพ้อเจ้อด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีคางเข้าไปแล้วในภายใน หรือมีคางคด หรือมีคางเหมือนเงื้อมเขา แต่พระตถาคตย่อมไม่ตรัสอย่างนั้น. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตนั้นไม่สั่นคางแล้วๆ เล่าๆ แล้วตรัสคําเพ้อเจ้อด้วยเหตุนี้ ดังนั้นพระลักษณะคือมีพระหนุดุจคางสีหะ ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่า คล้ายกรรม. พระลักษณะนี้และชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้อันใครกําจัดไม่ได้ ชื่อว่าอานิสงส์.

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 75

    บทว่า มีคลองพระวาจาไม่เหลวไหล คือ มีคลองพระวาจาของสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้ก่อนดุจของสัตว์ผู้มีวาจาไม่เหลวไหล บทว่า ทฺวีทุคฺคมวรตรหนุตฺตมลตฺถ ความว่า ชื่อว่า ทฺวิทุคฺคม เพราะไป ๔ เท้า อธิบายว่า ได้ความที่สีหะประเสริฐกว่าสัตว์ ๔ เท้า. คําว่า มนุชาธิปติ ได้แก่เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์. คําว่า ตถตฺโต คือ สภาพที่เป็นจริง.

    บทว่า สุจิปริจาโร ได้แก่มีบริวารสะอาด. ความเป็นผู้มีอาชีพชอบ ชื่อว่า กรรมในที่นี้ ผู้ใดสําเร็จชีวิตด้วยอาชีพเศร้าหมอง ไม่สม่ําเสมอแม้ฟันของผู้นั้นก็ไม่เสมอ แม้เขี้ยวก็สกปรก ก็โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงสําเร็จชีวิตด้วยอาชีพบริสุทธิ์สม่ําเสมอ ด้วยเหตุนี้ดังพระลักษณะคือมีพระทนต์เรียบเสมอกัน และพระลักษณะคือมีพระทาฐะขาวงามย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่า คล้ายกรรม. พระลักษณะทั้งสองนี้แหละชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารสะอาด ชื่อว่า อานิสงส์.

    บทว่า ไม่กดขี่เบียดเบียนชาวชนบท ความว่า การกดขี่หรือเบียดเบียนด้วยคนอื่นของชนชาวชนบทอันกําหนดด้วยจักรวาล ย่อมไม่มี. บทว่า นิทิวปุรวรสโม ความว่า เสมอด้วยท้าวสักกะผู้มีเมืองสวรรค์อันประเสริฐ. บทว่า ลปนชํ คือ ฟันอันเกิดในปาก. บทว่า ทิชสมสุกฺกสุจิโสภนทนฺโต ความว่า ชื่อว่า ทิชสมสุกฺกสุจิโสภนทนฺโต เพราะมีฟันขาวสะอาดงาม ชื่อ ทิช เพราะเกิดสองหน. บทว่า น จ ชนปทตุทนํ ความว่า ชนบทอันกําหนดด้วยจักรวาล ไม่มีรบกวนเบียดเบียนความเจ็บป่วย. บทว่า ย่อมประพฤติแม้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และความสุขแก่ชนหมู่มาก ความว่า ชนเป็นอันมาก เป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกันย่อม

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 76

ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขแก่กันและกันในชนบทนั้น. บทว่า วิปาโป ได้แก่ ปราศจากบาป. บทว่า ปราศจากความกระวนกระวายและความลําบาก ความว่า ปราศจากความกระวนกระวายและความลําบากทางกาย. บทว่า ผู้กําจัดกิเลสเป็นมลทิน เป็นตอ เป็นโทษ ความว่า กําจัดกิเลสทั้งปวง อันเป็นมลทิน มีราคะเป็นต้น อันเป็นตอ มีราคะเป็นต้นและอันเป็นโทษ คือ โทสะ. บทที่เหลือในบททั้งหมดมีอรรถง่ายนั่นแล.

    จบอรรถกถาลักขณะสูตร ที่ ๗