พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. สุภสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ก.ค. 2564
หมายเลข  34625
อ่าน  894
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 14 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 204

๑๐. สุภสูตร

[๓๑๔] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์อยู่ ณ วิหารเชตวัน อันเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี

[๓๑๕] สมัยนั้น สุภมาณพ โตเทยยบุตร พักอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยธุรกิจบางอย่าง ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร เรียกมาณพน้อยคนหนึ่ง มาสั่งว่า ดูก่อนพ่อมาณพน้อย มานี่เถิด เจ้าจงเข้าไปหาพระอานนท์ ครั้นเข้าไปหาแล้ว จงนมัสการถามพระอานนท์ ถึงอาพาธน้อย โรคเบาบาง คล่องแคล่ว มีกําลัง มีความเป็นอยู่สบาย ตามคําของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตร ถามถึงพระคุณเจ้า ถึงอาพาธน้อย โรคเบาบาง คล่องแคล่ว มีกําลัง มีความ เป็นอยู่สบาย และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ขอโอกาส ขอพระคุณเจ้าพระอานนท์ ได้โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปยังที่อยู่ของ สุภมาณพโตเทยยบุตรเถิด มาณพน้อย รับคําของสุภมาณพโตเทยยบุตร แล้ว เข้าไปหาพระอานนท์ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนากับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านสัมโมทนียกถา ให้เกิดระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง มาณพนั่งแล้ว จึงนมัสการเรียนว่า สุภมาณพโตเทยยบุตร ถามท่านพระอานนท์ ถึงอาพาธน้อย โรคเบาบาง คล่องแคล่ว มีกําลัง มีความเป็นอยู่อย่างสบาย และสั่งมาอย่างนี้ว่า ขอท่านอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปยังที่อยู่ของ สุภมาณพโตเทยยบุตร เถิด.

[๓๑๖] เมื่อมาณพน้อยกราบเรียนอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 205

ได้กล่าวกะมาณพน้อยว่า พ่อมาณพ ไม่มีเวลาเสียแล้ว วันนี้ฉันดื่มยาถ่าย ถ้ากระไรเราจะเข้าไปวันพรุ่งนี้ มาณพน้อยรับคําของท่านพระอานนท์ แล้วลุกจากที่นั่ง เข้าไปหาสุภมาณพโตเทยยบุตร ได้บอกแก่ สุภมาณพโตเทยยบุตรว่า ข้าพเจ้าได้บอกพระอานนท์ ตามคําของท่านแล้ว เมื่อข้าพเจ้าบอกอย่างนั้นแล้ว พระอานนท์ ได้กล่าวกะข้าพเจ้าว่า พ่อมาณพไม่มีเวลาเสียแล้ว วันนี้ฉันดื่มยาถ่าย ถ้ากระไรไว้พรุ่งนี้เถิด ได้เวลาและสมัยแล้ว ฉันจะเข้าไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้กระทํากิจที่เป็นเหตุให้ พระอานนท์ให้โอกาส เพื่อเข้าไปฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว.

    [๓๑๗] พอรุ่งเช้า ท่านพระอานนท์ ครองผ้าถือบาตร มีพระเจตกภิกษุ เป็นปัจฉาสมณะเข้าไปยัง ที่อยู่ของสุภมาณพโตเทยยบุตร นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้.

    ลําดับนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร เข้าไปหาท่านพระอานนท์สนทนากัน จนเป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแเล้ว จึงนมัสการเรียนว่า พระคุณเจ้า เป็นอุปฐากอยู่ใกล้ชิด กับท่านพระโคดมมานาน ย่อมจะทราบดีว่า พระโคดมได้ตรัสสรรเสริญคุณธรรมเหล่าใด และให้ชุมชนยึดมั่น ตั้งอยู่ ดํารงอยู่ ในคุณธรรมเหล่าใด.

    ท่านพระอานนท์ ตอบว่า ดูก่อน สุภมาณพ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญขันธ์สาม และให้ชุมชนยืดมั่น ตั้งอยู่ ดํารงอยู่ ในขันธ์สามนี้.

    ขันธ์สามอะไรบ้าง ขันธ์สามคือ สีลขันธ์อันประเสริฐ สมาธิขันธ์อันประเสริฐ ปัญญาขันธ์อันประเสริฐ ดูก่อน สุภมาณพ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญขันธ์สามนี้ และให้ชุมชนยึดมั่น ตั้งอยู่ ดํารงอยู่ ในขันธ์สามนี้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 206

    [๓๑๘] ข้าแต่พระคุณเจ้า ท่านพระโคดม ได้ตรัสสรรเสริญ สีลขันธ์อันประเสริฐ ให้ชุมชนยึดมั่น ตั้งอยู่ ดํารงอยู่ ไว้อย่างไร.

    ดูก่อนสุภมาณพ พระตถาคตได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้โลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จําแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทําโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยอดเยี่ยม ของพระองค์เองแล้ว ทรงสั่งสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลัง ในตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นเขาฟังแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต ครั้นเปียมด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า การอยู่ครองเรือนคับแคบ เป็นทางมาของธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การอยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว ทําได้ไม่ง่ายนัก เอาเถิด เราจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนถือบวช ต่อมาเขาสละโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละหมู่ญาติ ไปบวช เมื่อบวชแล้ว สํารวมระวังในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาท และโคจร เห็นภัยในโทษทั้งหลาย เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 207

จุลศีล

[๓๑๙] ดูก่อน สุภมาณพ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลนั้น อย่างไร.

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางไม้ วางมีด มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา ทําประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ฯลฯ (ข้อความต่อจากนี้เหมือนพรหมชาลสูตร)

มหาศีล

[๓๒๐] บางพวก ฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยมิจฉาชีพ (ข้อความต่อจากนี้เหมือนพรหมชาลสูตร)

ดูก่อน มาณพ ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะเป็นผู้สํารวมด้วยศีล เหมือนพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเศกกําจัดศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแม้แต่ไหนๆ เพราะศัตรูนั้น ดูก่อน สุภมาณพ ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ก็ฉันนั้น ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะเป็นผู้สํารวมด้วยศีล ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วย สีลขันธ์อันประเสริฐนี้ ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูก่อน สุภมาณพ ด้วยเหตุนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

ดูก่อน สุภมาณพ สีลขันธ์อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญ และยังชุมชนให้ยึดถือ ให้ตั้งอยู่ ให้ดํารงอยู่ อนึ่ง ในธรรมวินัยยังมีกิจ ที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก.

สุภมาณพ ได้กราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาก่อนเลย สีลขันธ์อันประเสริฐนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 208

บริบูรณ์ กระผมยังไม่เห็นสีลขันธ์อันประเสริฐ ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกศาสนานี้เลย ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกศาสนานี้ พึงเห็นสีลขันธ์อันประเสริฐ ที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะดีใจ เพราะเหตุเพียงเท่านั้น ด้วยคิดว่า เป็นอันพอแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันทําเสร็จแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะเราได้บรรลุแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทําอย่างอื่นให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญก็ยังกล่าวว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอีก.

    [๓๒๑] สุภมาณพกราบเรียนถามว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ สมาธิขันธ์อันประเสริฐ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญ และยังชุมชนให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดํารงอยู่นั้น เป็นอย่างไร.

    พระอานนท์ กล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อน มาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอปฏิบัติเพื่อสํารวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงํา ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า ถึงความสํารวมในจักขุนทรีย์. ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต.......ดมกลิ่นด้วยฆานะ........ลิ้มรสด้วยชิวหา........ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย........รู้ธรรมารมณ์ด้วยมนะ แล้วไม่ถือนิมิตร ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอปฏิบัติเพื่อสํารวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวมแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงํา ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสํารวมในมนินทรีย์. ภิกษุถึงพร้อมด้วย อินทรียสังวรอันประเสริฐเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วย

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 209

กิเลสในภายใน ดูก่อน มาณพ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

    [๓๒๒] ดูก่อน มาณพ ภิกษุถึงพร้อมแล้ว ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร. ดูก่อน มาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการงอ ในการเหยียด ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง ดูก่อน สุภมาณพ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล.

    [๓๒๓] ดูก่อน มาณพ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ เป็นอย่างไร. ดูก่อน มาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูก่อน มาณพ เหมือนนกจะบินไปทางใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระบินไปได้ ภิกษุก็เหมือนกัน เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูก่อน มาณพ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ ด้วยประการฉะนี้แล.

    [๓๒๔] ภิกษุถึงพร้อมแล้ว ด้วยสีลขันธ์อันประเสริฐ ด้วยอินทรียสังวรอันประเสริฐ ด้วยสติสัมปชัญญะอันประเสริฐ ด้วยสันโดษอันประเสริฐ เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต หลังอาหารแล้วนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้เฉพาะหน้า ละความโลภ คือ ความเพ่งเล็ง มีจิตปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็ง ละความ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 210

ประทุษร้าย คือ พยาบาท มีจิตไม่มีพยาบาท มีความอนุเคราะห์ ด้วยทําประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกําหนดหมายอยู่ ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้ ไม่ฟุ้งซ่านอยู่ มีจิตสงบในภายใน ชําระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกจฉาได้ ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรม ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์ จากวิจิกิจฉาได้.

    [๓๒๕] ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาก็สําเร็จ เขาได้ใช้หนี้ที่เป็น ต้นทุนเดิมหมดสิ้น ทรัพย์ที่เป็นกําไรของเขา มีเหลือสําหรับเลี้ยงภรรยา เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้การงานของเราได้สําเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมหมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกําไรของเราก็ยังมีเหลืออยู่สําหรับเลี้ยงภรรยา ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษป่วยหนัก มีทุกข์ เจ็บหนัก ไม่บริโภคอาหาร ไม่มีกําลัง ครั้นต่อมาเขาหายจากอาการป่วย บริโภคอาหารได้ และมีกําลังกาย เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราป่วยหนัก มีทุกข์ เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกําลัง บัดนี้เราหายจากอาการป่วยนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกําลังกายเป็นปรกติ ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษถูกจองจําในเรือนจํา ครั้นต่อมาเขาพ้นจากเรือนจํานั้น โดยสวัสดี ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาได้

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 211

คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจําอยู่ในเรือนจํา บัดนี้เราพ้นจากเรือนจํานั้น โดยสวัสดี ไม่มีภัยแล้ว ทั้งเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีการพ้นจากเรือนจํา นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามอําเภอใจก็ไม่ได้ ครั้นต่อมาเขาพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามอําเภอใจ เขาได้คิดเห็นว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามอําเภอใจก็ไม่ได้ บัดนี้เราพ้นจากความเป็นทาสแล้ว พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทแก่ตัว จะไปไหนได้ตามอําเภอใจ ดังนี้ เขาพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีความเป็นไทแก่ตัว นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษ มีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก. มีภัยอยู่ข้างหน้า ครั้นเขาเดินพ้นทางกันดารนั้น ไปได้บรรลุถึงหมู่บ้านโดยปลอดภัยแล้ว เขาได้คิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยอยู่ข้างหน้า บัดนี้เราพ้นทางกันดาร บรรลุถึงหมู่บ้านโดยปลอดภัยแล้ว ดังนี้ เขาได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส อันมีความปลอดภัย นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

    ดูก่อน มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจํา เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการ ที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่เป็นหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจํา เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนสถานที่ปลอดภัย ฉันนั้นแล.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 212

    ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติแล้ว กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก. เธอทํากายนี้แหละให้สดชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนเจ้าหน้าที่สรงสนาน หรือลูกน้องของเจ้าหน้าที่สรงสนาน ผู้ฉลาด จะพึงโรยผงที่ใช้ในการสรงสนาน ใส่ลงในภาชนะสําริด แล้วเอาน้ำพรมหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์ที่ใช้ในการสรงสนาน ยางจะซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่ไหลออกไป ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทํากายนี้แหละ ให้สดชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งร่างกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก จะไม่ถูกต้อง ข้อนี้เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๒๖] ดูก่อน มาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีจิตผ่องใสในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ เธอทํากายนี้ให้สดชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหนๆ ของกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำพุขึ้น ไม่มีทางที่นี้จะไหลมาได้ ทั้งในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำ จะพึงทําให้ห้วงน้ำนั้นแหละ ชุ่มชื่น เอิบ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 213

อาบ ซาบซึม ด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนๆ ของห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ ดูก่อน มาณพ เพราะวิตกวิจารสงบ ฯลฯ เข้าถึงทุติยฌานอยู่ เธอสดชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๒๗] ดูก่อน มาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขทางกาย เพราะปราศจากปีติที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้ ชื่อว่า บรรลุตติยฌาน เธอทํากายให้สดชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหนแห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง ในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำเจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นสดชื่น เอิบอาบ ซึมซาบ ด้วยน้ำเย็น ตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีส่วนไหนๆ ของบัวขาบ บัวหลวง บัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เธอเข้าถึงตติยฌานอยู่ ย่อมทํากายนี้ให้สดชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๒๘] ดูก่อน มาณพ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอยู่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข บริสุทธิ์ ด้วยอุเบกขาและสติ เพราะละสุข เพราะละทุกข์ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ เธอมีใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง จะไม่ถูกต้อง.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 214

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะ ด้วยผ้าขาว ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูก่อน มาณพภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เพราะละสุข ฯลฯ เธอเข้าถึงจตุตถฌานอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นั่งแผ่ไปทั่วกายนั้นนี้แล ไม่มีส่วนไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง.

    ดูก่อน มาณพ สมาธิขันธ์อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญ และยังชุมชุนให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดํารงอยู่ อนึ่ง ในธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก.

    มาณพ กราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก น่าพิศวงนัก สมาธิขันธ์อันประเสริฐนี้บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ กระผมยังไม่เห็นสมาธิขันธ์อันประเสริฐ ของท่านพระอานนท์ ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ก็สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกพระศาสนานี้ พึงเห็นสมาธิขันธ์อันประเสริฐ ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะพึงดีใจ เพราะเหตุเพียงเท่านั้น ด้วยคิดว่าเป็นอันพอแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันทําสําเร็จแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ประโยชน์แห่งความเป็นสมณะเราได้บรรลุแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็ยังกล่าวว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอีก.

    [๓๒๙] สุภมาณพกราบเรียนว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ปัญญาขันธ์อันประเสริฐ ที่พระโคดมผู้เจริญ ได้ตรัสสรรเสริญ และยังทําชุมชนนี้ให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดํารงอยู่ นั้นเป็นอย่างไร.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 215

    พระอานนท์กล่าวว่า ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วย มหาภูตรูป ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีการอบ นวด แตกกระจัดกระจายไปเป็นนิจเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยผูกพันอยู่ในกายนี้. ดูก่อน มาณพ เหมือนแก้วมณี และแก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเอง มีแปดเหลี่ยม นายช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาวสมบูรณ์ ด้วยอาการทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น บุรุษ ผู้มีตาหยิบแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์นั้น วางไว้ในมือ แล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์นี้งามเกิดเอง มีแปดเหลี่ยม นายช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาว บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสเป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องมีการอบ นวด แตกกระจัดกระจายไปเป็นนิจเป็นธรรมดาและวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยผูกพันอยู่ในกายนี้ ข้อนี้เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๓๐] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้มีรูป เกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 216

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษพึงชักไส้ ออกจากหญ้าปล้อง เขาคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง แต่ก็ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั้นเอง. อีกนัยหนึ่ง ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษชักดาบออกจากฝัก เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง. อีกนัยหนึ่ง ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษดึงงูออกจากกล่อง เขาพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้กล่อง งูอย่างหนึ่ง กล่องอย่างหนึ่ง ก็แต่งูดึงออกจากกล่องนั่นเอง ฉันใด. ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เธอย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไป เพื่อนิรมิตรูป เกิดแต่ใจ ฯลฯ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอ ประการหนึ่ง.

    [๓๓๑] ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์. เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทําให้ปรากฏก็ได้ ทําให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากําแพงภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้. เธอผุดขึ้น ดําลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลําพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ก็ได้ ใช้อํานาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนช่างหม้อ หรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ ก็ทําภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สําเร็จได้. อีกนัยหนึ่ง เหมือนช่างงา หรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้อง

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 217

การงาชนิดใดๆ ก็ทํางาชนิดนั้นๆ ให้สําเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เหมือนช่างทอง หรือลูกมือของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ ก็ทําทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้สําเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่อแสดงฤทธิ์ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวทําเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อํานาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้. แม้ข้อนี้ก็จัดเป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๓๒] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องผุด ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงานมั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์เกินหูของมนุษย์.

    ดูก่อนมาณพ เหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงมโหระทึกบ้าง เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงมโหระทึกดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ เกินหูของมนุษย์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๓๓] เธอเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงานมั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกําหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือ จิตปราศจากราคะ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 218

ก็รู้ว่าจิตปราศจากจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่านจิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตเป็นโลกุตตระ ก็รู้ว่าจิตเป็นโลกุตตระ หรือจิตไม่เป็นโลกุตตระ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นโลกุตตระ จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนหญิงสาว ชายหนุ่ม ชอบแต่งตัว เมื่อส่องดูหน้าของตนในกระจกที่สะอาด ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝก็รู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝก็รู้ว่า หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหว เธอย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไป เพื่อเจโตปริยญาณ ย่อมกําหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอ ประการหนึ่ง.

    [๓๓๔] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มี

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 219

กําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพนั้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้ เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส ด้วยประการฉะนี้.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนบุรุษจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้น ไปบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้น กลับมาบ้านของตนตามเดิม เขาก็ระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เมื่อเราจากบ้านนั้น ไปบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้น มายังบ้านของเราดังนี้ ฉันใด ดูก่อน มาณพภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้ เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทส. แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอ ประการหนึ่ง.

    [๓๓๕] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เธอย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไป เพื่อหยั่งรู้การจุติ และการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทรามได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุริตมโนทุจิต ว่าร้ายพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ สัตว์เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็เข้าถึงอบายทุคติวินิบาต นรก ส่วนสัตว์ทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 220

มโนสุจริต ไม่ว่าร้ายพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทํา ด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายที่กําลังจุติ กําลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนปราสาท ตั้งอยู่ท่ามกลางทางสี่แพร่ง บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น ก็จะเห็นผู้คนทั้งหลาย กําลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกไปอยู่บ้าง กําลังเดินไปมาอยู่ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ท่ามกลางทางสี่แพร่งบ้าง เขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน คนเหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้เดินไปมาตามถนน คนเหล่านี้นั่งท่ามกลางทางสี่แพร่ง ฉันใด ดูก่อน มาณพ ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหว เธอย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่อหยั่งรู้การจุติ และการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เห็นสัตว์ทั้งหลายที่กําลังจุติ กําลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๓๖] ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงานมั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณ เธอรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้เหตุให้เกิดอาสวะ เหล่านี้ความดับอาสวะ เหล่านี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 221

รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก.

    ดูก่อน มาณพ เหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่บนขอบสระน้ำ จะเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องบ้าง ฝูงปลาบ้าง กําลังว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น เขาคิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บรรดาหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและกระเบื้อง ฝูงปลา ต่างกําลังว่ายอยู่บ้าง กําลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ฯลฯ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหว ย่อมน้อม ย่อมโน้มจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.

    [๓๓๗] ดูก่อน มาณพ ปัญญาขันธ์ อันประเสริฐนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสสรรเสริญ ทั้งยังชุมชนให้ยึดมั่น ให้ตั้งอยู่ ให้ดํารงอยู่ ในพระธรรมวินัยนี้ มิได้มีกิจอะไรที่จะพึงกระทําให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้.

    สุภมาณพ กราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก น่าพิศวงนัก ปัญญาขันธ์อันประเสริฐนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ กระผมไม่เคยเห็น ปัญญาขันธ์อันประเสริฐ ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ ในสมณพราหมณ์พวกอื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย และไม่มีกิจอะไรอื่น ที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 222

ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านไพเราะยิ่งนัก ไพเราะยิ่งนัก เหมือนบุคคลหงายภาชนะที่คว่ํา เปิดภาชนะที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระอานนท์ผู้เจริญประกาศธรรม โดยอเนกปริยายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ โปรดทรงจําข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะอย่างมอบกายถวายชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จบสุภสูตรที่ ๑๐

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 223

อรรถกถาสุภสูตร

สุภสูตร มีบทเริ่มว่า ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ ฯเปฯ ในพระนครสาวัตถี.

ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยาก ในสุภสูตรนั้น บทว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้ว ไม่นาน อธิบายว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน. ประมาณ ๑ เดือน ถัดจากวันปรินิพพาน ข้อนี้ ท่านกล่าวหมายถึง วันที่พระอานนท์ ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วมานั่งฉันยาถ่ายผสมน้ำนม ณ วิหาร โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในนิทาน

บทว่า โตเทยยบุตร แปลว่า บุตรของโตเทยยพราหมณ์ มีเรื่องเล่าว่า ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีบ้านชื่อตุทิคาม เพราะเขาเป็นคนใหญ่โตใน บ้านตุทิคาม จึงมีชื่อว่า โตเทยยะ เขามีทรัพย์สมบัติ ประมาณ ๔๕ โกฏิ แต่เขาเป็นคนตระหนี่เป็นอย่างยิ่ง เขาคิว่า ชื่อว่า ความไม่สิ้นเปลืองแห่งโภคสมบัติ ย่อมไม่มีแก่ผู้ให้ แล้วเขาก็ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ เขาสอนบุตรว่า

คนฉลาด ควรดูความสิ้นไปของยาหยอดตา การก่อจอมปลวก การสะสมน้ำผึ้ง แล้วพึงครองเรือน

เมื่อเขาให้บุตรสําเหนียกถึงการไม่ให้อย่างนี้แล้ว ครั้นตายไปก็ไปเกิด เป็นสุนัขอยู่ที่เรือนหลังนั้นเอง สุภมาณพผู้เป็นบุตร รักสุนัขนั้นมาก ให้กินอาหารเหมือนกับตน อุ้มนอนบนที่นอนอย่างดี.

ครั้นวันหนึ่ง เมื่อสุภมาณพออกจากบ้านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เรือนหลังนั้น สุนัขเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเห่า เดินเข้าไปใกล้พระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะสุนัขนั้นว่า ดูก่อน โตเทยยะ แม้เมื่อก่อนเจ้าก็กล่าวหมิ่นเราว่า แน่ะท่าน แน่ะท่าน ดังนี้ จึงเกิดเป็น

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 224

สุนัข แม้บัดนี้เจ้าก็ยังเห่าเรา จักไปอเวจีมหานรก. สุนัขฟังดังนั้น มีความเดือดร้อน จึงนอนบนขี้เถ้าระหว่างเตาไฟ. พวกมนุษย์ไม่สามารถจะอุ้มไปให้นอนบนที่นอนได้. สุภมาณพกลับมาถึงถามว่า ใครนําสุนัขนี้ลงจากที่นอน.พวกมนุษย์ต่างบอกว่า ไม่มีใครดอก แล้วเล่าเรื่องราวให้ฟัง.

    สุภมาณพ ได้ฟังแล้วโกรธว่า บิดาของเราบังเกิดในพรหมโลก แต่พระสมณโคดมหาว่า บิดาของเราเป็นสุนัข ท่านนี้พูดอะไร ปากเสีย ใครจะท้วงติงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พูดเท็จจึงไปยังวิหาร ถามเรื่องราวกะพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่ สุภมาณพเหมือนอย่างนั้น แล้วตรัสความจริงว่า ดูก่อน สุภมาณพ ทรัพย์ที่บิดาของเจ้ายังไม่ได้บอกมีอีกไหม. สุภมาณพทูลว่าพระโคดม หมวกทองคํามีค่าหนึ่งแสน รองเท้าทองคํามีค่าหนึ่งแสน ถาดทองคํามีค่าหนึ่งแสน กหาปณะหนึ่งแสนมีอยู่. พระโคดมตรัสว่า เจ้าจงไปให้สุนัขบริโภคข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แล้วอุ้มไปนอนบนที่นอน พอได้เวลาสุนัขหลับไปหน่อยหนึ่ง จงถามดู สุนัขจักบอกทุกสิ่งทุกอย่างแก่เจ้า ทีนั้นแหละ เจ้าก็จะรู้ว่าสุนัขนั้น คือ บิดาของเรา. สุภมาณพได้กระทําตามนั้น. สุนัขบอกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เขารู้แน่ว่าสุนัขนั้น คือ บิดาของเรา จึงเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปทูลถามปัญหา ๑๔ ข้อ กะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจบปัญหา เขาขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ ท่านกล่าวความข้อนั้น หมายถึง สุภมาณพโตเทยยบุตร

    บทว่า อาศัยอยู่ใกล้กรุงสาวัตถี ความว่า สุภมาณพ มาจากโภคคามของตนแล้ว อาศัยอยู่. บทว่า ได้เรียกมาณพน้อยคนหนึ่งมา ความว่า เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว สุภมาณพ ได้สดับว่า พระอานนท์ถือบาตร และจีวรของพระองค์มา มหาชนย่อมจะเข้าไปหาท่าน เพื่อเยี่ยมเยือนดังนี้ จึงคิดว่า ครั้นเราจักไปวิหาร ก็คงไม่อาจกระทําปฏิสันถาร หรือฟังธรรมกถา ได้

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 225

สะดวก ในท่ามกลางหมู่ชนเป็นอันมาก เห็นท่านมาสู่เรือนนั่นแหละ จักทําปฏิสันถารได้โดยง่าย และเรามีความสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง เราก็จักถามท่าน แล้วจึงเรียก มาณพน้อยคนหนึ่งมา.

    เวทนาอันเป็นข้าศึก ท่านกล่าวว่า อาพาธ ในบทเป็นต้นว่า มีอาพาธน้อย. สุภมาณพกล่าวว่า เวทนาใดเกิดในส่วนหนึ่งแล้ว ยึดไว้ซึ่งอิริยาบถ ๔ เหมือนเอาแผ่นเหล็กนาบ เธอจงถามความไม่มีแห่งเวทนานั้น. บทว่า มีโรคเบาบาง ท่านกล่าวถึง โรคอันทําชีวิตให้ลําบาก เธอจะถามความไม่มีแม้แห่งโรคนั้น. สุภมาณพกล่าวว่า ชื่อว่า การลุกขึ้นของผู้ป่วยนั่นแล ย่อมหนัก กําลังกายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เธอจงถามความไม่มีไข้ และความมีกําลัง. บทว่า มีความเป็นอยู่สบาย ความว่า เธอจงถามความเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ในอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ครั้นพระคันถรจนาจารย์เมื่อแสดงถึงอาการที่ควรจะถามแก่มาณพน้อยนั้น จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า สุโภ. บทว่า อาศัยเวลาและสมัย ความว่า ถือ คือ ใคร่ครวญ เวลาและสมัยด้วยปัญญา. มีอธิบายว่า หากพรุ่งนี้จักเป็นเวลาไปของเรา กําลังของเราจักซ่านไปในกาย จักไม่มีความไม่สบายอย่างอื่น เพราะการไม่เป็นเหตุ ทีนั้นเราจักใคร่ครวญเวลานั้น และสมัย กล่าวคือ การไป เหตุ พวกหมู่ ถ้ากระไรพึงมาพรุ่งนี้.

    บทว่า เจตกภิกษุ ความว่า ได้ชื่อว่า เจตกะ เพราะเกิดในเจติยรัฐ. บทว่า กล่าวสัมโมทนียกถา พอให้ระลึกถึงกัน ความว่า สุภมาณพได้กล่าวสัมโมทนียกถา พอให้ระลึกถึงกันอันเกี่ยวกับมรณะ ได้ผ่านไปแล้ว โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ พระทศพลได้มีโรคอะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยอะไร อนึ่ง ความโศกได้เกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลาย โดยการปรินิพพานของพระศาสดา พระศาสดาของท่านทั้งหลาย ปรินิพพานแล้วอย่างเดียวก็หาไม่

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 226

ความเสื่อมอันใหญ่หลวงก็เกิดแก่มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก บัดนี้คนอื่นใครเล่าจักพ้นความตาย ก็บุคคลผู้เลิศของมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก ยังเสด็จปรินิพพานได้ บัดนี้มัจจุราชจักเห็นใครอื่นแล้วละอาย สุภมาณพ ถวายอาหารอันสมควรแก่ เครื่องดื่ม และเภสัช แก่พระเถระเมื่อวานนี้ เมื่อเสร็จภัตตกิจจึงนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

    บทว่า เป็นอุปฐากอยู่ในสํานัก ความว่า เป็นอุปฐากอยู่ในสํานักไม่แสวงหาโทษ. บทว่า อยู่ใกล้ชิด นี้ เป็นไวพจน์ของบทก่อน เพราะเหตุไร สุภมาณพ จึงถามว่า พระโคดมได้ตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรมเหล่าใด. นัยว่า สุภมาณพได้มีปริวิตกอย่างนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญยังมนุษยโลกนี้ ให้ดํารงอยู่ในธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้น โดยที่พระโคดมล่วงลับไปแล้วเสื่อมสูญไปด้วยหรือหนอ หรือยังดํารงอยู่ หากดํารงอยู่ พระอานนท์จักรู้ กระผมขอโอกาสถาม ดังนี้ เพราะฉะนั้น สุภมาณพจึงถามขึ้น.

    ครั้งนั้น พระเถระได้สงเคราะห์ปิฎก ๓ ด้วยขันธ์ ๓ เมื่อจะแสดงแก่สุภมาณพ จึงกล่าวว่า แห่งขันธ์ ๓ ทั้งหลายแล ดังนี้ เป็นต้น. สุภมาณพคิดว่าเรากําหนดข้อที่ท่านกล่าวโดยย่อ ไม่ได้ จักถามโดยพิสดาร จึงกล่าวว่า แห่งขันธ์ทั้งหลาย ๓ เป็นไฉน ดังนี้เป็นต้น. เมื่อพระอานนท์ แสดงขันธ์เหล่านั้น ด้วยบทว่า แห่งสีลขันธ์อันประเสริฐ ดังนี้ สุภมาณพจึงถามเป็นข้อๆ อีกว่า ท่านพระอานนท์ ก็สีลขันธ์อันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร. แม้พระเถระก็แสดงถึง การอุบัติของพระพุทธเจ้าแก่สุภมาณพนั้น เมื่อจะแสดงธรรม อันเป็นแบบแผนจึงวิสัชนาธรรมทั้งปวง โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ โดยลําดับนั้นแล

    ในบทว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องกระทําให้ยิ่งขึ้นไป

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 19 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 227

อยู่อีก ท่านแสดงว่า ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ มิใช่ศีลเท่านั้นที่มีสาระ ศีลนั้นเป็นเพียงพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทํายิ่งกว่านี้อีก.

    บทว่า ภายนอกจากศาสนานี้ คือ ภายนอกจากพระพุทธศาสนา บทว่า ดูก่อน มาณพ ภิกษุเป็นผู้มีทวารคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่างไรนี้ ท่านพระอานนท์แม้ถูกถามถึง สมาธิขันธ์อย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ สมาธิขันธ์อันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร ท่านมีประสงค์จะชี้ให้เห็นซึ่งธรรมเป็นอุปการะ ของธรรมทั้งสอง ในระหว่างศีล และสมาธิ ซึ่งมีอินทรีย์สังวร เป็นต้น ที่ท่าน ยกขึ้นแสดง ในลําดับศีลอย่างนี้ว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีทวารคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษแล้ว ดังนี้แล้ว แสดงสมาธิขันธ์ จึงได้กล่าวเริ่มขึ้น. ในที่นี้แสดงถึงรูปฌานเท่านั้น จึงไม่ควรนําอรูปฌานมาแสดง. เพราะชื่อว่า อรูปสมาบัติ มิได้สงเคราะห์ด้วยจตุตถฌาน จึงไม่มี

    บทว่า ในธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านแสดงว่า ชี่อว่า ความเกิดขึ้นแห่งความสิ้นสุด มิได้มีในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ โดยเพียงจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเท่านั้น ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทํายิ่งกว่านี้อีก

    บทว่า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีกิจที่จะต้องทําให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านแสดงว่า ชื่อว่า กิจที่จะต้องทํายิ่งไปกว่านี้ไม่มี ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เพราะศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระอรหัตเป็นที่สิ้นสุด บทที่เหลือ มีข้อความง่ายในที่ทั้งปวง

    จบ อรรถกถาสุภสูตร

    สุภสูตรที่ ๑๐ จบ