๑๑. เกวัฏฏสูตร
[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 228
๑๑. เกวัฏฏสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 12]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 228
๑๑. เกวัฏฏสูตร
[๓๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี ใกล้เมืองนาลันทา ครั้งนั้น เกวัฏฏะบุตรคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่ง สมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญชา ให้ภิกษุรูปหนึ่งที่จักกระทําอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ โดยอาการอย่างนี้ ชาวเมืองนาลันทา จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้
เมื่อเกวัฏฏะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเกวัฏฏะ บุตรคฤหบดีว่า ดูก่อน เกวัฏฏะ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงกระทําอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาว ดังนี้ เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นคํารบสองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้เจาะจงพระผู้มีพระภาคเจ้า เพียงแต่กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่ง สมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วย
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 229
มนุษย์ เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญชาให้ภิกษุรูปหนึ่ง ที่จักกระทําอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ โดยอาการอย่างนี้ ชาวเมืองนาลันทาจักเลื่อมใส ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้. แม้ครั้งที่สาม ฯลฯ เกวัฏฏะก็ได้กราบทูลอย่างนั้น.
[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อน เกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทําให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วจึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทําให้ปรากฏก็ได้ ทําให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากําแพง ภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้น ดําลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลําพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อํานาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบางคน เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวทําให้เป็นหลายคนก็ได้......คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น จะบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจําเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปโน้น แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง......คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส จะพึงกล่าวกะคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า นี่แน่ะพ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง........ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารีนั้น....คูก่อน เกวัฏฏะ ท่านสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 230
นั้น จะพึงกล่าวอย่างนั้น กะคนผู้มีศรัทธามีความเลื่อมใสนั้นบ้างไหม. พึงกล่าว พระเจ้าข้า. ดูก่อน เกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แหละ จึงอึดอัด ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์.
[๓๔๐] ดูก่อน เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. บุคคลบางคน มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั่นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์อื่นบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้บ้าง จิตของท่านเป็นดังนี้บ้าง. ครั้นแล้วผู้มีศรัทธาเลื่อมใสบอกแก่คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสคนใดคนหนึ่งว่า พ่อมหาจําเริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าพิศวงจริงหนอ ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ ทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ครั้นแล้วผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสจะพึงกล่าวกะผู้มีศรัทธา ผู้มีความเลื่อมใสว่า นี่แน่พ่อคุณ มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อมณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความตรึก ทายความตรองของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกา นั้น ดูก่อน เกวัฏฏะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น บ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูก่อน เกวัฏฏะ เราเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์ อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา รังเกียจ อาเทสนาปาฏิหาริย์.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 231
[๓๔๑] ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพร่ําสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใสใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ เข้าถึงสิ่งนี้อยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์
[๓๔๒] ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ ดูก่อนเกวัฏฏะ แม้นี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ภิกษุเข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานอยู่. ดูก่อนเกวัฏฏะ ข้อนี้ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ฯลฯ ภิกษุนําเข้าไป น้อมเข้าไป ซึ่งจิตเพื่อญาณทัสสนะ. ดูก่อนเกวัฏฏะ นี้ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ฯลฯ ภิกษุย่อมรู้ว่า ไม่มีจิตอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้อีก ข้อนี้ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้แล เราทําให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วจึงประกาศให้รู้.
[๓๔๓] ดูก่อนเกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ความปริวิตกทางใจ ได้เกิดขึ้นแก่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ในหมู่ภิกษุนี้เอง อย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนหนอ. ลําดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิ ชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกก็ปรากฏได้. ครั้นแล้วภิกษุเข้าไปหา พวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงที่อยู่ ได้ถามพวกเทวดาเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดูก่อนเกวัฏฏะ เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้ พวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา จึงกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 232
เตโชธาตุ วาโยธาตุนี้ เหมือนกัน แต่ยังมีมหาราชอยู่ ๔ องค์ ซึ่งรุ่งเรืองกว่า วิเศษกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ........ภิกษุจึงไปหามหาราชทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลายมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว มหาราชทั้ง ๔ จึงกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ........แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งรุ่งเรืองกว่า วิเศษกว่าพวกข้าพเจ้า เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ........ภิกษุจึงเข้าไปหา เทวดาชั้นดาวดึงส์แล้วกล่าวว่า มหาภูตรูป คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุเหล่านี้ ย่อมดับโดยไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้ เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ.......แต่ยังมีท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดา ซึ่งรุ่งเรืองกว่า วิเศษกว่า พวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ........ภิกษุนั้นก็ได้ไปหาท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดากล่าวว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุเหล่านี้ ย่อมดับโดยไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดากล่าวตอบว่า ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ..........แต่ยังมีเทวดาชั้นยามา............เทพบุตรชื่อสุยาม............เทวดาชั้นดุสิต.............เทพบุตรชื่อสันดุสิต.........เทวดาชั้นนิมมานรดี............เทพบุตรชื่อสุนิมมิตะ........เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี............เทพบุตรชื่อปรนิมมิตวสวดี ซึ่งรุ่งเรืองกว่า วิเศษกว่า ข้าพเจ้า ท้าวเธอคงทราบ............ที่ดับโดยไม่เหลือแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ได้.
[๓๔๔] ดูก่อนเกวัฏฏะ ครั้งนั้นภิกษุเข้าไปหาวสวดีเทพบุตรแล้วกล่าวว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทพบุตร กล่าวตอบว่า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 233
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ.....แต่ยังมีเทวดาพรหมกายิกา ซึ่งรุ่งเรืองกว่า วิเศษกว่าพวกเรา เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ลําดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิ โดยที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกได้ปรากฏแล้ว.
[๓๔๕] ดูก่อนเกวัฏฏะ ต่อแต่นั้น ภิกษุได้เข้าไปหาเทวดาพรหมกายิกาแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้ เทวดาพรหมกายิกา จึงกล่าวตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ....แต่ยังมีพระพรหมผู้เป็นมหาพรหม ผู้เป็นใหญ่ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อํานาจ ผู้เป็นอิสสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการเป็นผู้ทรงอํานาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ ซึ่งรุ่งเรืองกว่า และวิเศษกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวมหาพรหมนั่นแลคงจะทราบ...... ก็บัดนี้ท้าวมหาพรหมนั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหม หรือทิศของที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายจักเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอภาสย่อมปรากฏเมื่อใด พรหมจักปรากฏเมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอภาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิตเพื่อความปรากฏแห่งพรหม ดูก่อนเกวัฏฏะ ต่อมาไม่นานนัก มหาพรหมนั้นก็ได้ปรากฏ.
[๓๔๖] ดูก่อนเกวัฏฏะ ลําดับนั้น ภิกษุได้เข้าไปหามหาพรหมแล้วกล่าวว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อภิกษุกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหม ได้กล่าวตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้ใหญ่ยิ่ง........ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ทั้งหลาย. ดูก่อนเกวัฏฏะ แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้นว่า ท่านเป็นพรหม........ข้าพเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 234
ถามท่านว่ามหาภูตรูป ๔.... ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ต่างหาก. แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบภิกษุอย่างนั้น แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามอย่างนั้น ข้าพเจ้าถามว่า มหาภูตรูป ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนต่างหาก.
[๓๔๗] ดูก่อนเกวัฏฏะ ลําดับนั้นท้าวมหาพรหมจับแขนภิกษุนั้นนําไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านภิกษุ พวกเทวดาพรหมกายิกาเหล่านี้ รู้จักข้าพเจ้าว่าอะไรๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้งเป็นอันไม่มี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ที่ดับไม่มีเหลือ แห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียแล้ว เที่ยวแสวงหาในภายนอก เพื่อพยากรณ์ปัญหานี้ เป็นอันท่าน ทําผิดพลาดแล้ว ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามปัญหานี้เถิด พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด ท่านพึงทรงจําข้อนั้นไว้.
[๓๔๘] ดูก่อนเกวัฏฏะ ครั้งนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกําลัง เหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา, ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุนั้นเข้ามาหาเรา ไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวว่า ดูก่อนภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือมหาสมุทร จับนกตีรทัสสี (นกดูฝัง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝังเขาก็ปล่อยนกตีรทัสสีมันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย หากมันเห็นริมฝัง มันก็บินไปทางนั้น หากมันไม่เห็น
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 235
ริมฝัง มันจะกลับมายังเรือนั้นอีก ดูก่อนภิกษุ เธอก็เหมือนกัน เที่ยวแสวงหา จนถึงพรหมโลกก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องมาหาเรา ปัญหานี้ เธอไม่ควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้
[๓๔๙] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในที่ไหน
อุปาทายรูป ที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
นามและรูปย่อมดับไปไม่มีเหลือ ในที่ไหน ดังนี้.
ในปัญหานั้นมีพยากรณ์ดังต่อไปนี้
[๓๕๐] ธรรมชาติที่รู้แจ้ง แสดงไม่ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน ธรรมชาตินี้
อุปาทายรูป ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้
นามและรูปย่อมดับไปไม่มีเหลือ ในธรรมชาตินี้
เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับ ไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าไค้ตรัสพยากรณ์ปัญหานี้แล้ว เกวัฏฏะบุตรคฤหบดี ชอบใจเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.
จบเกวัฏฏสูตรที่ ๑๑
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 236
อรรถกถาเกวัฏฏสูตร
เกวัฏฏสูตร มีบทเริ่มว่า ข้าพเจ้า (พระอานนทเถระเจ้า) ได้สดับมา อย่างนี้ ฯเปฯ ใกล้เมืองนาลันทา
จะพรรณนาบทโดยลําดับ ในเกวัฏฏสูตรนั้น. บทว่า ปวาริกัมพวัน คือ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี. บทว่า เกวัฏฏะ นี้ เป็นชื่อของบุตรคฤหบดี
มีเรื่องเล่ามาว่า เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีนั้น มีทรัพย์ประมาณ ๔๐ โกฏิ เป็นคฤหบดีผู้มั่งคั่งได้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส (พระพุทธศาสนา) เป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่เขามีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เขาจึงคิดว่า หากจะมีภิกษุสักรูปหนึ่ง เหาะไปในอากาศ พึงแสดงปาฏิหาริย์หลายๆ อย่าง ระหว่างกึ่งเดือน หรือหนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี มหาชนก็จะพากันเลื่อมใสยิ่งนัก ถ้ากระไร เราจะกราบทูลขอร้องพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงอนุญาต ภิกษุรูปหนึ่งเพื่อแสดง ปาฏิหาริย์ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอย่างนี้.
บทว่า มั่งคั่ง คือ มั่งคั่งสมบูรณ์. บทว่า มั่งมี คือ ถึงความเจริญ เพราะมากด้วยภัณฑะนานาชนิด. บทว่า คับคั่งไปด้วยมนุษย์ อธิบายว่า จอแจไปด้วยหมู่มนุษย์ สัญจรไปมา ดูเหมือนว่า ไหล่กับไหล่ จะเสียดสีกัน. บทว่า จงจัด หมายถึง ขอร้อง คือตั้งให้ดํารงตําแหน่ง. บทว่า ธรรมที่ยิ่งยวด ของมนุษย์ อธิบายว่า ยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ผู้ยิ่งยวด หรือธรรมของมนุษย์ อันได้แก่ กุศล ๑๐. บทว่า เป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณได้ อธิบายว่า จักเลื่อมใสอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้ เหมือนดวงประทีปที่โชติช่วง แม้กว่าปรกติ เพราะได้เชื้อน้ำมัน.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 237
บทว่า เราไม่แสดงธรรมอย่างนี้ มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ในเรื่องราชคหเศรษฐี เพราะฉะนั้น จึงตรัสคําเป็นต้นว่า เราไม่แสดงธรรมอย่างนี้. บทว่า เราไม่กําจัด อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจะไม่ทําลายโดยให้คุณธรรมพินาศไป คือให้ถึงการทําลายศีล แล้วลดลงจากฐานะสูง ตั้งอยู่ในฐานะต่ําโดยลําดับ โดยที่แท้เราหวังความเจริญของพระพุทธศาสนา จึงกล่าวดังนั้น. บทว่า แม้ครั้งที่ ๓ แล อธิบายว่า ไม่มีผู้สามารถจะกล่าวห้ามพระดํารัสของพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง แต่เกวัฏฏะกราบทูลถึง ๓ ครั้ง ด้วยคิดว่า เราคุ้นเคยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นคนโปรดหวังต่อประโยชน์ ดังนี้. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดําริว่า อุบาสกนี้แม้เมื่อเราห้าม ก็ยังขอร้องอยู่บ่อยๆ ช่างเถิด เราจะชี้โทษในการแสดงปาฏิหาริย์แก่เธอ จึงตรัสคําเป็นต้นว่า ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างแล.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อมาหํ ภิกฺขุํ ตัดบทเป็น อมุํ อหํ ภิกฺขุํ บทว่า วิชาชื่อคันธารี อธิบายว่า วิชานี้ ฤาษีชื่อคันธาระเป็นผู้ทํา หรือเป็นวิชาที่เกิดขึ้นในแคว้นคันธาระ. มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในแคว้นคันธาระนั้น พวกฤาษีอาศัยอยู่มาก บรรดาฤาษีเหล่านั้น ฤาษีผู้หนึ่งทําวิชานี้ขึ้น. บทว่า เราอึดอัด อธิบายว่า เราอยู่อย่างอึดอัดคือราวกะว่าถูกบีบ. บทว่า เราระอา คือละอาย. บทว่า เรารังเกียจ คือ เราเกิดความรังเกียจเหมือนเห็นคูถ.
บทว่า แห่งสัตว์อื่น คือ แห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น. บทที่ ๒ คือ แห่งบุคคลอื่น เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นแล. บทว่า ย่อมทาย คือ ย่อมกล่าว. บทว่า ความรู้สึกในใจ หมายถึง โสมนัสและโทมนัส. บทว่า ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ อธิบายว่า ใจของท่านตั้งอยู่ในโสมนัส โทมนัส หรือประกอบด้วยกามวิตกเป็นต้น. บทที่ ๒ เป็นไวพจน์ของบทนั้นแล. บทว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ คือ จิตของท่านเป็นเช่นนี้. อธิบายว่า จิตของท่านคิดถึง
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 238
เรื่องนี้ และเรื่องนี้เป็นไปแล้ว. บทว่า วิชาชื่อมณิกา ท่านชี้แจงว่า มีวิชาหนึ่งในโลกได้ชื่ออย่างนี้ว่า จินดามณี บุคคลย่อมรู้ถึงจิตของคนอื่นได้ ด้วยวิชาจินดามณีนั้น.
บทว่า ท่านทั้งหลายจงตรึกอย่างนี้ คือ ตรึกให้เป็นไปทาง เนกขัมมวิตกเป็นต้น. บทว่า อย่าตรึกอย่างนี้ คือ อย่างตรึกให้เป็นไปกามวิตกเป็นต้น. บทว่า จงทําในใจอย่างนี้ คือ ทําในใจถึงอนิจจสัญญา หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุกขสัญญาเป็นต้นอย่างนี้. บทว่า อย่า........อย่างนี้ คือ อย่าทําในใจโดยนัยเป็นต้นว่า เป็นของเที่ยง ดังนี้. บทว่า จงละสิ่งนี้ คือ จงละความกำหนัดอันเคลือบแคลงด้วยกามคุณนี้. บทว่า จงเข้าถึงสิ่งนี้ อธิบายว่า จงเข้าถึงคือ บรรลุ สําเร็จ โลกุตตรธรรม อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นี้แลอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฤทธิ์ต่างๆ ชื่อ อิทธิปาฏิหริย์ การรู้จิตของผู้อื่น แล้วพูด ชื่ออาเทศนาปาฏิหาริย์ การแสดงธรรมเนืองๆ ของพระสาวกและของพระพุทธเจ้า ชื่ออนุสาสนีปาฏิหาริย์.
ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น พระมหาโมคคัลลานะแสดง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์. เมื่อพระเทวทัตทําลายสงฆ์ ได้พาภิกษุ ๕๐๐ รูปไปแล้ว แสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วยพุทธลีลา ณ ตําบลคยาสีสะ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งพระอัครสาวก ๒ รูป ไป พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ทราบวารจิตของภิกษุเหล่านั้นแล้วแสดงธรรม. ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ฟังธรรมเทศนาของพระเถระก็บรรลุโสดาปัตติผล. ต่อมาพระมหาโมคคัลลานเถระได้แสดงการแผลงฤทธิ์ต่างๆ แล้ว แสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุทั้งหมดฟังธรรมของท่านแล้วต่างได้บรรลุพระอรหัตตผล. ครั้นแล้วพระมหานาคทั้งสองพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เหาะสู่เวหามาถึงวิหารเวฬุวัน. การแสดงธรรมเนืองๆ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 239
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ยังติเตียนได้ ยังมีโทษ ไม่ยั่งยืนอยู่นาน เพราะไม่ยั่งยืนอยู่นาน จึงไม่นําสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้. อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น ไม่ติเตียนได้ ไม่มีโทษ ตั้งอยู่ได้นาน เพราะตั้งอยู่ได้นาน จึงนําสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างเดียว.
บทว่า เรื่องเคยมีมาแล้วนี้ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงปรารภขึ้น. ที่ทรงปรารภขึ้น ก็เพื่อทรงแสดงถึงอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ ไม่นําสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ และเพื่อทรงแสดงถึงอนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น ที่จะนําสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้. อีกอย่างหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อ มหาภูตปริเยสกะ แสวงหามหาภูตรูป เที่ยวไปจนถึงพรหมโลก ไม่ได้ช่องแก้ปัญหา จึงมาทูลถามพระพุทธเจ้า แล้วก็หมดสงสัยไป. เพราะเหตุอะไร. เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหตุการณ์อันนี้ได้ปกปิดแล้ว ครั้นต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงเปิดเผยแสดงเหตุการณ์นั้น จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า เรื่องเคยมีมาแล้วดังนี้. บทว่า ในที่ไหนหนอแล อธิบายว่า บุคคลอาศัยอะไรแล้ว บรรลุอะไร มหาภูต ๔ นั้น จึงดับโดยไม่เหลือ ด้วยอํานาจเป็นไปไม่ได้ในที่ไหน ก็มหาภูตกถานี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค โดยพิสดาร. เพราะฉะนั้น ควรค้นหาจากวิสุทธิมรรคนั้นเถิด.
บทว่า ทางไปเทวโลก คือ ชื่อว่าทางไปเทวโลกเฉพาะนั้น ไม่มี. ก็บทนั้นเป็นชื่อของอิทธิวิธญาณ. จริงอยู่ ทางนั้นเป็นไปสู่อํานาจทางกาย ย่อมไปสู่เทวโลก ตลอดถึงพรหมโลกได้โดยทางนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทางไปเทวโลก. บทว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชโดยที่ใด ความว่าภิกษุไม่ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ประทับอยู่ในที่ใกล้ สําคัญว่า ตาม
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 240
ธรรมดา เทวดาที่เขาโจทกันย่อมมีอานุภาพมาก ดังนี้ จึงเข้าไปหา. ข้อที่ว่าดูก่อนภิกษุ แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่รู้ หมายถึง พวกเทวดา ถูกถามปัญหาในพุทธวิสัยย่อมไม่รู้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น. ลําดับนั้น ภิกษุนั้น สําทับพวกเทวดาว่า พวกท่านตอบปัญหานี้ของเราไม่ได้ ก็จงบอกมาเร็วๆ จึงถามแล้วถามอีก. พวกเทวดาคิดว่า ภิกษุรูปนี้สําทับเรา เราจักปลดเปลื้อง ภิกษุนั้นให้พ้นไปจากพวกเรา จึงได้กล่าวคําเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุ ยังมีท้าวมหาราชอีก ๔ องค์.
บทว่า รุ่งเรืองยิ่งนัก คือ งามเหลือเกิน. บทว่า วิเศษกว่า คือ สูงสุดด้วย วรรณะ ยศ และความเป็นใหญ่ เป็นต้น. พึงทราบเนื้อความในทุกวาระโดยนัยนี้. แต่เนื้อความนี้พิเศษ. นัยว่าท้าวสักกเทวราชทรงดําริว่า ปัญหานี้เป็นพุทธวิสัย คนอื่นไม่สามารถแก้ได้ ก็ภิกษุนี้ละเลยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอัครบุคคลในโลก เที่ยวถามพวกเทวดา ดุจคนละเว้นไฟเป่าหิ่งห้อย และดุจคนละเว้นกลอง ตีท้อง เราจะส่งภิกษุนั้นไปยังสํานักพระศาสดา. ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงดําริอีกว่า ภิกษุนั้นไปไกลมากแล้ว จักหมดสงสัยในสํานักของพระศาสดา อนึ่ง ธรรมดาบุคคลเช่นนี้ก็มีอยู่ เมื่อเดินทางไปได้เพียงเล็กน้อย มักมีความลําบาก แต่ภายหลังจักรู้ ดังนี้ จึงกล่าวกะภิกษุนั้น เป็นต้นว่า แม้เราก็ไม่รู้ ดังนี้. แม้ทางไปพรหมโลก ก็เช่นเดียวกับทางไปเทวโลก. ทางไปเทวโลกก็ดี การเข้าถึงธรรมก็ดี ความแน่วแน่ชั่วขณะจิตหนึ่งก็ดี ความคิดคาดคะเนก็ดี จิตไปสูงก็ดี ความรู้ยิ่งก็ดีทั้งหมดนี้ เป็นชื่อของอิทธิวิธญาณนั่นเอง. บทว่า บุพพนิมิต ท่านแสดงไว้ว่า นิมิตในส่วนแรกที่จะมาถึง เหมือนรุ่งอรุณมีเพราะพระอาทิตย์ขึ้น เพราะฉะนั้น พระพรหมจักมาในบัดนี้. พวกข้าพเจ้ารู้เพียงนี้. บทว่า ปาตุรโหสิ แปลว่า ได้ปรากฏแล้ว.
ครั้งนั้นแล พระพรหม เมื่อถูกภิกษุนั้นถาม รู้ความที่มิใช่วิสัยของตน จึงคิดว่า หากเราบอกว่า เราไม่รู้ พวกนี้จักดูหมิ่นเรา ถ้าเรา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 241
จักกล่าวอะไรๆ ทําเป็นเหมือนรู้ ภิกษุไม่มีจิตปรารภด้วยคําพยากรณ์ ของเราจักยกคําพูดของเรา เมื่อเราบอกว่าดูก่อนภิกษุ เราเป็นพรหม ดังนี้เป็นต้น ใครๆ ก็จักไม่เชื่อถ้อยคํา ถ้ากระไร เราจะบอกปัดส่งภิกษุนี้ ไปเฝ้าพระศาสดาดังนี้ จึงกล่าวว่า ดูก่อนภิกษุ เราเป็นพรหม ดังนี้เป็นต้น
บทว่า นําออกไป ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้ เพราะเหตุไร จึงได้ทําอย่างนั้น เพราะเพื่อความพิศวง. บทว่า เสาะหาการพยากรณ์ในภายนอก อธิบายว่า ถึงการแสวงหาในภายนอก ตลอดถึงพรหมโลก ดุจคนต้องการน้ำมันบีบจากทราย ฉะนั้น
บทว่า นก ได้แก่ กา หรือเหยี่ยว. ข้อว่า ภิกษุไม่ควรถามปัญหาอย่างนี้ มีอธิบายว่า เพราะภิกษุควรถามปัญหาให้ถูกจุดหมาย ก็ภิกษุนี้ถือ สิ่งไม่มีใจครองถามนอกจุดหมาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปฏิเสธ. นัยว่า การแสดงโทษคําถามของผู้หลงผิดในคําถาม แล้วให้สําเนียกคําถาม จึงตอบในภายหลังเป็นหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เพราะเหตุไร. เพราะผู้ไม่รู้เพื่อจะถามจึงถาม ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาด. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้สําเหนียกปัญหาจึงตรัสว่า อาโปธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า ตั้งอยู่ไม่ได้ คือ ดํารงอยู่ไม่ได้ มีอธิบายว่า มหาภูตรูป ๔ เหล่านี้อาศัยอะไรจึงเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านถามหมายถึง สิ่งมีใจครองเท่านั้น. บทว่า ยาวและสั้น ท่านกล่าวถึง อุปาทายรูปโดยสัณฐาน. บทว่า ละเอียด หยาบ หมายถึง เล็ก หรือ ใหญ่. ท่านกล่าวเพียงทรวดทรงในอุปาทายรูปเท่านั้น แม้ด้วยบทนี้. บทว่า งาม และ ไม่งาม คือ อุปาทายรูปที่ดี และไม่ดีนั่นเอง
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 242
ก็ที่ว่า อุปาทายรูปงาม ไม่งาม มีอยู่หรือไม่มี. แต่ท่านกล่าวถึงอิฎฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์อย่างนี้. บทว่า นาม และรูป คือ นามและรูปอันต่างกัน มียาว เป็นต้น. บทว่า อุปรุชฺฌติ แปลว่า ย่อมดับไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงคําถามว่า ควรจะถามอย่างนี้ว่า นามและรูปนั้น อาศัยอะไร จึงเป็นไปไม่ได้อย่างไม่มีเหลือ เมื่อจะทรงแก้ปัญหา จึงตรัสว่า ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังนี้ แล้วตรัสว่า ธรรมชาติที่รู้แจ้ง เป็นต้น.
บทว่า ควรรู้แจ้ง คือ ธรรมชาติที่รู้แจ้ง. เป็นชื่อของนิพพาน. นิพพานนั้น แสดงไม่ได้เพราะไม่มีการแสดง. นิพพานชื่อว่าไม่มีที่สุด เพราะไม่มีเกิด ไม่มีเสื่อม ไม่มีความเป็นอย่างอื่นของผู้ตั้งอยู่. บทว่า แจ่มใส คือ น้ำสะอาด. นัยว่า บทนี้เป็นชื่อของท่าน้ำ. เป็นที่น้ำไหล ท่านทํา ป อักษร ให้เป็น ภ อักษร ท่าข้ามของนิพพานนั้นมีอยู่ทุกแห่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อมีท่าข้ามทุกแห่ง ชนทั้งหลายประสงค์จะข้ามจากที่ใดๆ ของมหาสมุทร มีท่าเป็นเส้นทางที่จะไม่มีท่าไม่มี ฉันใด ชนทั้งหลายประสงค์จะข้ามให้ถึงพระนิพพาน โดยอุบายอันใดในกรรมฐาน ๓๘ กรรมฐานเป็นท่า เป็นเส้นทาง กรรมฐานจะไม่ใช่ท่าของนิพพานไม่มี ฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีท่าข้ามทุกแห่ง. ในบทว่า อาโปธาตุนี้ ท่านอาศัยนิพพาน จึงกล่าวทั้งหมดนั้น โดยนัยเป็นต้นว่า อาโปธาตุ ธรรมชาติที่มีใจครอง ย่อมดับโดยไม่มีเหลือ คือ เป็นไปไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดง อุบายดับไม่มีเหลือของธรรมชาตินั้น จึงตรัสว่า เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้น ย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้. บทว่า วิญญาณ คือ วิญญาณเดิมบ้าง วิญญาณที่ปรุงแต่งบ้าง. จริงอยู่ เพราะวิญญาณเดิมดับ นามและรูปนั้น ย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ คือว่า ย่อมถึงความไม่มีบัญญัติเหมือน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 243
เปลวประทีปที่ถูกเผาหมดไป ฉะนั้น เพราะไม่เกิดขึ้น และดับไปโดยไม่เหลือ แห่งวิญญาณที่ปรุงแต่งนามและรูป จึงดับโดยไม่เกิดขึ้น เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะดับวิญญาณที่ปรุงแต่ง ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ นามและรูปที่พึงเกิดในสังสารวัฏฏ์อันไม่มีเบื้องต้น และที่สุดเว้นภพทั้ง ๗ ย่อมดับโดยไม่มีเหลือ ในธรรมชาตินี้ ดังนี้. ทั้งหมดพึงทราบตามนัย ที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ในมหานิเทศนั้นแล. ส่วนที่เหลือ ในทุกๆ บทง่ายทั้งนั้น.
อรรถกถาเกวัฏฏสูตร แห่งอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อ สุมังคลวิลาสินี จบแล้วด้วยประการฉะนี้.
สูตรที่ ๑๑ จบ