พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาจักกวัตติสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ก.ค. 2564
หมายเลข  34645
อ่าน  1,022

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 124

๓. จักกวัตติสูตร

อรรถกถาจักกวัตติสูตร

วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ หน้า 132


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 15]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 124

อรรถกถาจักกวัตติสูตร

จักกวัตติสูตรมีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วอย่างนี้. ในพระสูตร นั้น มีการพรรณนาบทที่ยากดังต่อไปนี้

บทว่า มาตุลายํ ได้แก่ในพระนครที่มีชื่ออย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำพระนครนั้นให้เป็นโคจรคาม ประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ไม่ไกล. ในคําว่า ตตฺรโข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ นี้มีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้.

เล่ากันว่า ในสมัยที่พระสูตรนี้เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากมหากรุณาสมาบัติ ในเวลาย่ํารุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลก ทอดพระเนตรเห็นการตรัสรู้ธรรมของเหล่าสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ผู้อยู่ในมาตุลนคร ด้วยการกล่าวพระสูตร อันแสดงถึงอนาคตวงศ์นี้ จึงพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป เสด็จไปยังมาตุลนครแต่เช้าตรู่. เจ้ามาตุลนคร ตรัสว่า "ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา" จึงต้อนรับ นิมนต์พระทศพลให้เสด็จเข้าสู่พระนคร ด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก ทรงตระเตรียมสถานที่ประทับนั่ง อาราธนาให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์อันล้ำค่า ได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทําภัตรกิจเสร็จ ทรงดําริว่า ถ้าเราจักแสดงธรรมแก่พวกมนุษย์นี้ ในที่นี้ไซร้ สถานที่นี้คับแคบ พวกมนุษย์จักไม่มีโอกาสจะยืนจะนั่ง แต่สมาคมใหญ่แล พึงมีได้. ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทําภัตตานุโมทนา แก่พวกราชตระกูลเลย ทรงถือบาตร เสด็จออกจากพระนครไป.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 125

    พวกมนุษย์คิดว่า พระศาสดาไม่ทรงทําอนุโมทนาแก่พวกเรา เสด็จไปเสีย อาหารเลิศรส คงไม่ถูกพระทัยเป็นแน่แท้ ขึ้นชื่อว่าพระพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจเอาพระทัยได้ถูก ธรรมดาว่าการทําความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นเช่นกับการจับคออสรพิษที่แผ่แม่เบี้ย มาเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราจักขอขมาพระตถาคต. พวกชาวพระนครทั้งสิ้น ต่างพากันออกไป พร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า.

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ขณะเสด็จไปอยู่นั่นเอง ทอดพระเนตรเห็นต้นมาตุละ (ต้นลําโพง) ต้นหนึ่ง ยืนต้นอยู่ในนาของชาวมคธ สะพรั่งพร้อมด้วยกิ่งคาคบแผ่ไพศาล ตั้งอยู่ในภูมิภาคประมาณกรีสหนึ่ง ทนงดําริว่า เราจักนั่งที่โคนไม้นี้ เมื่อเราแสดงธรรม มหาชนจักมีโอกาสยืนและนั่งได้จึงเสด็จกลับเลาะลัดมรรดา เสด็จแวะเข้าหาโคนไม้ ทอดพระเนตรดูพระอานนท์ ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก (คลังพระธรรม). พระเถระทราบว่า พระศาสดาประสงค์จะประทับนั่ง ด้วยความหมายที่พระองค์ทอดพระเนตรเท่านั้น จึงปูลาดจีวรใหญ่สําหรับพระสุคตเจ้าถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่พระอานนท์ปูลาดแล้ว. ลําดับนั้น พวกมนุษย์พากันนั่งด้านพระพักตร์พระตถาคต. หมู่ภิกษุนั่งที่ด้านข้างทั้งสอง และด้านหลัง เหล่าเทวดาต่างยืนอยู่ในอากาศ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับในท่ามกลางบริษัทใหญ่นั้นแล ด้วยอาการอย่างนี้ จึงได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว. สองบทว่า เต ภิกฺขู ความว่า ภิกษุผู้เป็นธรรมปฏิคาหกรับธรรมเข้าไปในสมาคมนั้น. บทว่า อตฺตทีปา ความว่า พวกเธอจงทําตนให้เป็นเกาะ เป็นที่ต้านทาน เป็นที่กําบัง เป็นคติ เป็นที่ไปเบื้องหน้า เป็นที่พึ่ง อยู่เถิด. คําว่า อตฺตสรณา นี้ เป็นไวพจน์ของคําว่า อตฺตทีปา นั่นเอง. คําว่า อนฺสรณา เป็นคําปฏิ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 126

เสธที่พึ่งอย่างอื่น. ความจริง คนอื่นจะเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นหาได้ไม่ เพราะคนอื่นจะบริสุทธิ์ด้วยความพยายามของคนอื่นไม่ได้.

    สมจริงดังคําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนฺสรณา. ถามว่าก็ในคําว่า อตฺตทีปา นี้ อะไรเล่า ชื่อว่าตน. แก้ว่า โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนฺสรณา มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้.

    คําว่า กาเย กายานุปสฺสี เป็นต้น ได้กล่าวพิสดารไว้แล้ว ในมหาสติปัฏฐานสูตร. บทว่า โคจเร ได้แก่ ในสถานที่ควรเที่ยวไป. บทว่า สเก คือที่อันเป็นของมีอยู่แห่งตน. บทว่า เปตฺติเก วิสเย คือในถิ่นที่มาจากพ่อแม่. บทว่า จรตํ คือเที่ยวไปอยู่ บาลีว่า จรนฺตํ ดังนี้ ก็มี. เนื้อความก็เช่นนี้แหละ. บทว่า น ลจฺฉติ ความว่า จักไม่ได้ คือจักไม่เห็น. บทว่า มาโร ได้แก่ เทวบุตรมารบ้าง กิเลสมารบ้าง. บทว่า โอตารํ ได้แก่ ร่องรอย คือช่องทางเปิด. ก็ความนี้ บัณฑิตพึงแสดงด้วยเรื่องเหยี่ยวนกเขา ซึ่งโฉบเฉี่ยวเอานกมูลไถ ตัวบินออกจากที่ (หลืบ) ก้อนดิน โผจับอยู่บนเสาระเนียด (เสาค่าย) กําลังผึ่งแดดอ่อนไป. สมจริงดังคํา ที่พระผู้พระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เหยี่ยวนกเขา เข้าโฉบเฉี่ยวเอานกมูลไถ โดยฉับพลันเอาไป ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล นกมูลไถถูกเหยี่ยวนกเขานําไปอยู่ คร่ําครวญอย่างนี้ว่า พวกเรานั่นแล เที่ยวไปในที่อโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์ นับว่าไม่มีบุญ มีบุญน้อย. ถ้าหากวันนี้ เราพึงเที่ยวไปในที่โคจร อันเป็นถิ่นของพ่อแม่ของตนไซร้ เหยี่ยวนกเขาจักไม่อาจ (จับ) เรา ด้วยการต่อสู้เช่นนี้. เหยี่ยวนกเขาถามว่า ดูก่อนนกมูลไถ ก็สําหรับท่าน อะไรเล่า เป็นถิ่น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 127

ของพ่อแม่ของตน นกมูลไถตอบว่า คือที่ก้อนดินรอยไถ. ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เหยี่ยวนกเขาไม่ทรนงในกําลังของตน เชื่อในกําลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป โดยกล่าวว่า ดูก่อนนกมูลไถ เจ้าจงไปเถิด ถึงเจ้าไปในที่นั้น ก็ไม่พ้น. ครั้งนั้นแล นกมูลไถ บินโผไปสู่ที่ก้อนดินรอยไถ ขึ้นยังก้อนดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวนกเขาว่า มาเดี๋ยวนี้ซิ เจ้าเหยี่ยวนกเขา มาเดี๋ยวนี้ซิ เจ้าเหยี่ยวนกเขา.

    ครั้นนั้นเหยี่ยวนกเขา ผู้ไม่ทรนงในกําลังของตน เชื่อมั่นในกําลังของตน ลู่ปีกทั้งสองพลันโฉบลงตรงนกมูลไถ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งใดแล นกมูลไถรู้ตัวว่า เหยี่ยวนกเขาตัวนี้สามารถพุ่งตัวลงมาแล้ว ครั้งนั้นแล นกมูลไถก็หลบซ่อนตรงระหว่างก้อนดินนั้นนั่นเอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เหยี่ยวนกเขา จึงได้แต่ให้อกกระแทกที่ก้อนดินนั้นแล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้นก็เหมือนกับที่ภิกษุเที่ยวไปในที่อโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงอย่าเที่ยวไปในที่อโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์. เมื่อเธอเที่ยวไปในแดนอโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์ มารย่อมได้ช่อง มารย่อมได้อารมณ์. ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า คืออโคจร ถิ่นของปรปักษ์ สําหรับภิกษุ คือกามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน? ได้แก่รูป ที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพึงใจ ประกอบด้วยความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้ด้วยกาย ฯลฯ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ คืออโคจร อันเป็นถิ่นของปรปักษ์ สําหรับภิกษุ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวในโคจร ฯลฯ มารย่อมไม่ได้อารมณ์. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรคือโคจรของภิกษุ ซึ่งเป็นถิ่นของบิดามารดาของตน คือสติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯลฯ ธรรมที่เป็นถิ่นบิดาของตน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 128

    บทว่า กุสลานํ คือ ธรรมที่ไม่มีโทษเป็นลักษณะ. บทว่า สมาทานเหตุ คือเพราะเหตุสมาทานแล้วประพฤติ. บทว่า เอวมิทํ ปุฺํปวฑฺฒติ ความว่า ผลบุญอันเป็นโลกิยะและโลกุตระนี้ ย่อมเจริญอย่างนี้. อนึ่ง คําว่า ผลบุญนั้นพึงทราบว่า ได้แก่ทั้งบุญทั้งผลของบุญชั้นสูงๆ. ในคําว่า ปุฺผลํ นั้น กุศลมี ๒ อย่าง คือวัฏฏคามีกุศล กุศลเป็นทางไปสู่วัฏฏะ ๑ วิวัฏฏคามีกุศล กุศลเป็นทางไปสู่วิวัฏฏะ ๑ ในกุศล๒ อย่างนั้น จิตที่อ่อนโยนของมารดาบิดาด้วยอํานาจที่มีความรักในบุตรธิดา และจิตที่อ่อนโยนของบุตรธิดาด้วยอํานาจที่มีความรักในมารดาบิดาชื่อว่า วัฏฏคามีกุศล. โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีประเภทเป็นต้นว่า สติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่า วิวัฏฏคามีกุศล. ในกุศลเหล่านั้น สําหรับกุศลที่เป็นวัฏฏคามี สิ้นสุดกันตรงสิริสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ในมนุษยโลก. สําหรับกุศลที่เป็นวิวัฏฏคามี สิ้นสุดกันที่มรรคผลและนิพพานสมบัติ. ในกุศลสองอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจักแสดงวิบากของวิวัฏฏคามีกุศลไว้ ในตอนท้ายของสูตร. แต่ในที่นี้ เพื่อแสดงวิบากแห่งวัฏฏคามีกุศล พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดบุตรธิดาไม่ตั้งอยู่ในโอวาทของมารดาบิดา เมื่อนั้นพวกเขา เสื่อมอายุบ้าง ผิวพรรณบ้าง ความเป็นใหญ่บ้าง แต่ว่า เมื่อใดเขาตั้งอยู่ในโอวาท เมื่อนั้นจึงเจริญ ดังนี้แล้ว จึงเริ่มพระธรรมเทศนา ด้วยอํานาจความสืบต่อวัฏฏคามีกุศลว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว เป็นต้นไป.

    ในคําเหล่านั้น คําเป็นต้นว่า จกฺกวตฺติ ได้กล่าวพิสดารแล้วในมหาปทานสูตร นั้นแล. บทว่า โอสกฺกิตํ แปลว่า ย่อหย่อนไปนิดหน่อย. บทว่า านา จุตํ แปลว่า เคลื่อนไปจากฐานะโดยประการทั้งปวง. เล่ากันว่าจักรแก้วนั้น ได้ลอยขึ้นไปตั้งอยู่ในอากาศ เหมือนนําไปด้วยล้อ อยู่เหนือประตูพระราชวังชั้นใน. ครั้งนั้น พระราชารับสั่งให้ฝังเสาไม้ตะเคียนสองต้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 129

ไว้ที่ข้างทั้งสองแห่งจักรนั้น ที่บนสุดของจักรแก้ว ผูกเชือกด้ายไว้เส้นหนึ่ง ให้อยู่ตรงกับกง. แม้ในด้านล่าง ก็ผูกเชือกด้ายเส้นหนึ่ง ให้อยู่ตรงกับกง. จักรแก้วย้อยต่ําลงแม้นิดเดียว จากเส้นเชือกข้างบนเส้นหนึ่ง ในบรรดาเชือกสองเส้นนั้น ก็เป็นอันว่าหย่อนลง. ปลายสุดของจักรแก้วอยู่เลยที่ตั้งของด้ายชั้นล่าง ชื่อว่า เคลื่อนจากฐานแล้ว. เมื่อมีโทษแรงมาก จักรแก้วนี้นั้นจะเป็นอย่างนี้ คือคล้อยเคลื่อนจากฐานแม้ประมาณเส้นด้ายหนึ่ง หรือประมาณหนึ่งองคุลี สององคุลี.

    ท่านหมายเอาเหตุนั้น จึงกล่าวว่า โอสกฺกิตํ านา จุตํ หย่อนเคลื่อนจากฐานดังนี้. ข้อว่า อถ เม อาโรเจยฺยาสิ ความว่า พระราชารับสั่งว่า พ่อเอย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าจงไปสู่ที่บํารุงจักรแก้ววันละ ๓ ครั้ง เจ้าเมื่อไปอย่างนั้น พบเห็นจักรแก้วคล้อย คือเคลื่อนจากที่แม้นิดเดียวเมื่อใด พึงบอกแก่เราเมื่อนั้น เพราะว่า ชีวิตของเราฝากไว้ในมือของเจ้า. บทว่า อทฺทส ความว่า บุรุษนั้นไม่ประมาทแล้ว ไปดูวันละ ๓ ครั้ง ได้พบเห็นเข้าในวันหนึ่ง.

    ข้อว่า อถโข ภิกฺขเว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าทัฬหเนมิสดับว่า จักรแก้วเคลื่อนที่แล้ว เกิดความโทมนัสอย่างรุนแรง ดําริว่า เราจักมีชีวิตไม่ยั่งยืนนาน อายุของเราเหลือน้อยเต็มที บัดนี้ เราจะไม่มีเวลาบริโภคกามอีกแล้ว เวลาแห่งการบรรพชา ย่อมมีแก่เรา ณ บัดนี้ ดังนี้แล้ว ทรงกันแสงคร่ําครวญ รับสั่งให้เรียกหาพระราชกุมารพระราชโอรสองค์ใหญ่มา แล้วตรัสคํานี้. คําว่า สมุทฺทปริยนฺตํ คือมีสมุทรหนึ่งที่ล้อมรอบอยู่เป็นขอบเขตนั่นเอง. ที่จริง ทรัพย์ คือแผ่นดิน นี้เป็นของประจําราชตระกูลของพระราชาพระองค์นั้น. อนึ่งจักรแก้วนั้น มีจักรวาลเป็นขอบเขต เกิดขึ้นได้ด้วยอํานาจบุญฤทธิ์ ใครๆ ไม่อาจจะยกให้กันได้. ก็พระราชาเมื่อ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 130

จะมอบจักรแก้วอันเป็นของประจําราชตระกูล จึงตรัสว่า สมุทฺทปริยนฺตํดังนี้. บทว่า เกสมสฺสุํ ความว่า ที่จริงบุคคลทั้งหลาย แม้เมื่อจะบวชเป็นดาบส ก็ปลงผมและหนวดออกก่อน แต่นั้นไป จึงได้กระหมวดมุ่นผมที่งอกขึ้นมา เที่ยวไป เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เกสมสฺสุํ โอหาเรตฺวา. บทว่า กาสายานิ ได้แก่ ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด. อธิบายว่า เบื้องต้นได้ทําอย่างนั้น ภายหลังจึงทรงแม้ผ้าเปลือกไม้.

    บทว่า ปพฺพชิ แปลว่า ผนวชแล้ว. อธิบายว่า ก็ครั้นผนวชแล้ว ได้ประทับอยู่ในพระราชอุทยานอันเป็นมงคลส่วนพระองค์ นั่นเอง. บทว่า ราชีสิมฺหิ คือ ราชฤาษี. แท้จริง ผู้บวชจากวรรณะพราหมณ์ ท่านเรียกว่า พราหมณฤาษี. ส่วนผู้ละเศวตฉัตร บวชจากวรรณะกษัตริย์ เรียกว่า ราชฤาษี. บทว่า อนฺตรธายิ แปลว่า อันตรธานแล้ว คือถึงความไม่มี ดุจเปลวประทีปที่ดับแล้ว.

    บทว่า ปฏิสํเวเทสิ ความว่า (พระราชโอรส) กันแสงรําพันทูลให้ทราบแล้ว. บทว่า เปตฺติกํ คือ ท่านแสดงว่า มิใช่ทรัพย์มรดกตกทอด ที่มาจากข้างราชบิดา อันใครๆ ที่มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน สมาทานประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ไม่อาจจะได้ แต่ว่าผู้ที่อาศัยกรรมที่ทําไว้ดีของตน บําเพ็ญวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐ อย่าง หรือ ๑๒ อย่างเท่านั้น จึงจะได้จักรแก้วนั้น. ครั้งนั้น ราชฤาษี เมื่อตักเตือนราชบุตรนั้นไว้ในข้อวัตรปฏิบัติ จึงตรัสคําเป็นต้นว่า อิงฺฆ ตฺวํ เชิญเถิดท่าน.

    ในข้อวัตรปฏิบัตินั้น คําว่า อริเย คือหมดโทษ. คําว่า จกฺกวตฺติวตฺเต ได้แก่ ในวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 131

    บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า นิสฺสาย คือกระทําธรรมนั้นเท่านั้น ให้เป็นที่อาศัย ด้วยพระทัยที่อธิษฐานธรรมนั้นไว้แล้ว. บทว่า ธมฺมํ สกฺกโรนฺโต ความว่า ธรรมนั้นอันเขาบําเพ็ญแล้ว คือบําเพ็ญด้วยดีอย่างไร ท่านก็บําเพ็ญธรรมนั้นอย่างนั้น เหมือนกัน. สองบทว่า ธมฺมํ ครุกโรนฺโต คือ กระทําธรรมนั้นให้เลิศลอย ด้วยการเข้าถึงความเคารพในธรรมนั้น. บทว่า ธมฺมํ มาเนนฺโต คือ กระทําธรรมนั้นเท่านั้น ให้เป็นที่รัก และให้ควรแก่การยกย่องอยู่. บทว่า ธมฺมํ ปูเชนฺโต คืออ้างอิงธรรมนั้นแล้ว กระทําการบูชาต่อธรรมนั้น ด้วยการบูชาด้วยวัตถุ มีของหอมและดอกไม้เป็นต้น. บทว่า ธมฺมํ อปจายมาโน ความว่า กระทําการประพฤติอ่อนน้อมต่อธรรมนั้น นั่นเอง ด้วยสามีจิกรรม มีการประนมมือเป็นต้น.

    บทว่า ธมฺมธโช ธมฺมเกตุ อธิบายว่า ชื่อว่า มีธรรมเป็นดุจธงชัย และชื่อว่า มีธรรมเป็นสิ่งสุดยอด เพราะเชิดชูธรรมนั้นไว้เบื้องหน้า เหมือนธงชัย และยกธรรมนั้นขึ้น ทําให้เหมือนยอด ประพฤติ.

    บทว่า ธมฺมาธิปเตยฺโย คือมีธรรมเป็นใหญ่ ได้แก่ เป็นธรรมาธิปไตย เพราะภาวะแห่งธรรมที่มีมาแล้ว และเพราะกระทํากิริยาทั้งหมด ด้วยอํานาจธรรม เท่านั้น.

    บทว่า ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺติํ สํวิทหสฺสุ มีวิเคราะห์ดังนี้ ธรรมของการรักษามีอยู่ เหตุนั้น การรักษานั้น ชื่อว่า มีธรรม การรักษา การป้องกัน และการคุ้มครอง ชื่อว่า รกฺขาวรณคุตฺติ. บรรดาธรรมเครื่องรักษาเหล่านั้น ธรรมทั้งหลายมีขันติเป็นต้น ชื่อว่า การรักษา เพราะพระบาลีว่า บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน. สมจริงดังพระดํารัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อรักษาผู้

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 132

อื่น ชื่อว่า รักษาตนไว้ได้ อย่างไรเล่า? บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่า รักษาตนไว้ได้ ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีเมตตาจิต และด้วยมีความเอ็นดู. การป้องกันวัตถุ มีผ้านุ่งผ้าห่มและเรือนเป็นต้น ชื่อว่าอาวรณะ การป้องกัน. การคุ้มครอง เพื่อห้ามอุปัทวันตราย มีโจรเป็นต้น ชื่อว่า คุตฺติ การคุ้มครอง. อธิบายว่า ท่านจงจัดแจงกิจการทั้งหมดนั้น คือให้เป็นไป ให้ดํารงอยู่ด้วยดี. บัดนี้ เมื่อทรงแสดงสิ่งที่พึงจัดการรักษา ป้องกัน คุ้มครอง ฤาษีจึงกล่าวว่า อนฺโตลนสฺมิํ เป็นต้น ความย่อในคํานั้นมีดังต่อไปนี้.

วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ

เจ้าจงยังบุตรและภรรยา กล่าวคือชนภายในของเจ้า ให้ตั้งอยู่ในศีลสังวร จงให้วัตถุ มีผ้าดอกไม้และของหอมเป็นต้น แก่พวกบุตรและภรรยานั้น และจงป้องกันอุปัทวะทั้งหมดให้แก่เขา. แม้ในเหล่าทหารเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่มีข้อแตกต่างกันดังนี้. เหล่าทหาร อันพระราชาควรสงเคราะห์ ด้วยการเพิ่มบําเหน็จรางวัลให้ ไม่ให้ล่วงเลยกาลเวลา. กษัตริย์ผู้ได้รับการอภิเษก ควรสงเคราะห์ ด้วยการให้รัตนะ มีม้าอาชาไนยอันสง่างามเป็นต้น. กษัตริย์ที่เป็นประเทศราช ควรให้ยินดี แม้ด้วยการมอบให้ยานพาหนะ อันสมควรแก่ความเป็นกษัตริย์นั้น. พราหมณ์ทั้งหลาย ควรให้ยินดี ด้วยไทยธรรม มีข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น.

พวกคฤหบดี ควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ข้าว ไถ ผาลและโคงานเป็นต้น. ผู้อยู่ในนิคม ชื่อว่า เนคมะ (ชาวนิคม) และผู้อยู่

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 133

ในชนบท ชื่อว่า ชนปทา (พวกชาวชนบท) ก็เหมือนกัน (คือควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ข้าว ไถ ผาลและโคงานเป็นต้น).

    พวกสมณพราหมณ์ ผู้มีบาปสงบ มีบาปลอยเสียแล้ว ควรสักการะ ด้วยการถวายบริขารสําหรับสมณพราหมณ์. หมู่เนื้อและนก ควรให้โปร่งใจเสียได้ ด้วยการให้อภัย. บทว่า วิชิเต คือในถิ่นฐาน ที่อยู่ในอํานาจปกครองของตน. บทว่า อธมฺมกาโร คือการกระทําที่ไม่ชอบธรรม. บทว่า มา ปวตฺติตฺถ อธิบายว่า จงยังการกระทําอันเป็นอธรรมนั้น ไม่ให้เป็นไป.

    บทว่า สมณพฺราหฺมณา ได้แก่ ผู้มีบาปสงบ คือมีบาปลอยเสียแล้ว. บทว่า มทปฺปมาทา ปฏิวิรตา คืองดเว้นจากความเมา ด้วยอํานาจมานะ ๙ อย่าง และจากความประมาท กล่าวคือการปล่อยจิตไป ในกามคุณ ๕. บทว่า ขนฺติโสรจฺเจ นิวิฏา ความว่า ดํารงอยู่ในอธิวาสนขันติ และในความเป็นผู้สงบเสงี่ยม. บทว่า เอกมตฺตานํ ความว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า ย่อมฝึกตน สงบ ระงับ ดับตนผู้เดียว ด้วยการข่มกิเลส มีราคะเป็นต้น ของตน. บทว่า กาเลน กาลํ คือทุกเวลา.

    บทว่า อภินิวชฺเชยฺยาสิ ความว่า พึงเว้นเสียซึ่งอกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนคูถ เหมือนยาพิษ และเหมือนไฟ ด้วยดี. บทว่า สมาทาย คือพึงยึดถือกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนพวงดอกไม้ ที่มีกลิ่นหอม และเปรียบเหมือนน้ำอํามฤต แล้วปฏิบัติโดยชอบ. บัณฑิตตั้งอยู่ในกุศลธรรมนี้แล้ว พึงนําวัตรมาปฏิบัติสม่ําเสมอ.

    วัตรนั้นมี ๑๐ ประการ อย่างนี้ คือ วัตรที่พึงปฏิบัติในหมู่ทหารที่เป็นชนภายใน ๑ ในพวกกษัตริย์ ๑ ในกษัตริย์ประเทศ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 134

ราช ๑ ในพราหมณ์และคฤหบดี ๑ ในชาวนิคมและชาวชนบท ๑ ในสมณพราหมณ์ ๑ ในหมู่มฤคและเหล่าปักษา ๑ การห้ามการกระทําอันไม่เป็นธรรม ๑ การมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ๑ การเข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วถามปัญหา ๑ แต่เมื่อถือเอาคฤหบดีและเหล่าปักษาชาติ เป็นแผนกหนึ่งแล้ว ก็จะมี ๑๒ อย่าง. บัณฑิตผู้ถือเอาคําที่มิได้กล่าวไว้ในครั้งก่อน พึงทราบว่าวัตรมี ๑๒ อย่าง โดยอาศัยการละราคะที่ไม่เป็นธรรม และวิสมโลภะ โลภะที่ไม่สม่ําเสมอเป็นต้น.

    ข้อว่า อิทํ โข ตาต ตํ ดังนี้ ความว่า วัตรทั้ง ๑๐ อย่างและ ๑๒ อย่างนี้ ชื่อว่า วัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิอันประเสริฐ. บทว่า วตฺตมานสฺส คือบําเพ็ญให้บริบูรณ์. คําเป็นต้นว่า ตทหุโปสเถ ได้กล่าวไว้แล้ว ในมหาสุทัสสนสูตร.

    บทว่า สมเตน คือตามมติของตน. คําว่า สุทํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า ปสาสติ คือ ปกครอง. มีคํากล่าวอธิบายไว้ว่า พระราชาทรงสละราชวงศ์ดั้งเดิม ได้แก่ ราชธรรมอันเป็นราชประเพณีเสียแล้ว ดํารงอยู่ในธรรมเพียงเป็นมติของตน ปกครองประเทศ. เมื่อเป็นเช่นนั้น พระราชาพระองค์นี้ จึงเป็นพระราชาองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นผู้ตัดวงศ์ของพระเจ้าทัฬหเนมิ ประดุจผู้ให้เกิดความด่างพร้อยแก่วงศ์มฆเทพ ฉะนั้น. บทว่า ปุพฺเพนาปรํ คือในกาลต่อมา ชาวประชาราษฎร์ไม่รุ่งเรือง คือไม่เจริญ เหมือนกับกาลก่อน. ข้อว่า ยถา ตํ ปุพฺพกานํ ความว่า ประชาราษฎร์เจริญแล้วเป็นดุจเดียวกัน ทั้งในรัชกาลต้นและรัชกาลหลังของพระราชาองค์ก่อนๆ ฉันใด จะเจริญรุ่งเรืองฉันนั้น หามิได้ คือในที่ไหน ก็ว่างเปล่า ถูกโจรปล้นสดมภ์ อธิบายว่า แม้โอชา ในน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น และในยาคูภัตรเป็นต้น ก็เสื่อม

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 135

ไป. สองบทว่า อมจฺจา ปาริสชฺชา คือเหล่าอํามาตย์ และผู้เที่ยวไปในบริษัท. บทว่า คณกมหามตฺตา ได้แก่ เหล่าโหรผู้ชํานาญในปาฐะ มีอัจฉินทิกะ ทํานายผ้าขาดเป็นต้น และเหล่าอํามาตย์ชั้นผู้ใหญ่. บทว่า อนีกฏา คือพวกอาจารย์ทั้งหลาย มีหัตถาจารย์เป็นต้น. บทว่า โทวาริกา คือผู้รักษาประตู. ปัญญา เรียกว่ามนต์ ในบทว่า มนฺตสฺสาชิวิโน. อํามาตย์ผู้ใหญ่เหล่าใดกระทําปัญญานั้น ให้เป็นเครื่องอาศัยเป็นอยู่ อํามาตย์ผู้ใหญ่เหล่านั้น ชื่อว่า บัณฑิต คําว่า มนฺตสฺสาชิวิโน นั้น เป็นชื่อแห่งมหาอํามาตย์เหล่านั้น. บทว่า โน จ โข อธนานํ ความว่า แก่มนุษย์ผู้ไร้ทรัพย์ คือผู้ยากจน เพราะตนมีความโลภรุนแรง. บทว่า ธเน นานุปฺปทิยมาเน ความว่า อันเขาไม่มอบทรัพย์ให้. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน. บทว่า ทาลิทฺทิยํ แปลว่า ความเป็นผู้ยากจน. บทว่า อตฺตนา จ ชีวาหิ ความว่า จงเป็นอยู่ คือจงยังอัตภาพให้เป็นไปเอง. บทว่า อุทฺธคฺคิกํ มีวิเคราะห์ว่า ผลของทักษิณนั้นไปในเบื้องบน ด้วยอํานาจให้ผล ในภูมิสูงๆ ขึ้นไป เหตุนั้น ทักษิณานั้น จึงชื่อว่า มีผลไปในเบื้องบน. ทักษิณาชื่อว่า โสวคฺคิกา เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสวรรค์ เพราะให้อุบัติเกิดในสวรรค์นั้น. ทักษิณา ชื่อว่า มีวิบากเป็นสุข เพราะมีวิบากเป็นสุขในที่ที่ตนบังเกิดแล้ว. ทักษิณา ชื่อว่า เป็นไปเพื่อสวรรค์ เพราะให้บังเกิดผลวิเศษ ๑๐ อย่าง มี วรรณะอันเป็นทิพย์เป็นต้น ที่ล้ำเลิศด้วยดี. อธิบายว่า ท่านจงยังทักษิณาทานเห็นปานนี้ ให้ดํารงอยู่.

    บทว่า ปวฑฺฒิสฺสติ คือ จักเจริญ คือ จักมีมาก. บทว่า สุนิเสธํ นิเสเธยฺยํ ความว่า เราจะทําการห้าม คือพึงปฏิเสธเด็ดขาด. บทว่า มูลฆจฺฉํ คือถอนราก. บทว่า ขุรสฺสเรน คือ มีเสียงหยาบ. บทว่า ปณเวน คือ กลองพิฆาต.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 136

    บทว่า สิสานิ เนสํ ฉินฺทิสฺสามิ ความว่า โดยที่สุด พวกเรานํา แม้เผือกมัน เพียงกํามือเดียวของผู้ใดไป เราจักตัดศีรษะของผู้นั้น โดยประการที่ใครๆ จักไม่รู้แม้เรื่องที่เราฆ่า บัดนี้ ในที่นี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่พวกเรา แม้พระราชา เสด็จลุกขึ้นอย่างนั้นแล้ว รับสั่งให้ฆ่าบุคคลอื่น. พึงทราบอธิบาย แห่งคําเหล่านั้น ดังกล่าวมานี้.บทว่า อุปกฺกมิํสุ คือ เริ่มแล้ว. บทว่า ปนฺถทูหนํ ความว่า ดักปล้นคนเดินทาง. คําว่า น หิ เทว ความว่า เล่ากันว่า บุรุษนั้นคิดว่า พระราชานี้รับสั่งให้ประหาร ตามที่ให้การสารภาพว่า จริง พระเจ้าข้า เอาเถิดเราจะให้การเท็จ ดังนี้แล้ว เพราะกลัวตาย จึงทูลว่า ไม่จริง พระเจ้าข้า. คําว่า อิทํ ในคําว่า เอกีทํ นี้เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า สัตว์พวกหนึ่ง. บทว่า จาริตฺตํ ได้แก่ ความประพฤติผิด. บทว่า อภิชฺฌาพฺยาปาทา ได้แก่ อภิชฌาและพยาบาท.

    บทว่า มิจฺฉาทิฏิ ได้แก่ ทิฏฐิที่เป็นข้าศึก มีอันตคาหิกทิฎฐิ มีอาทิว่า "ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล" ดังนี้. บทว่า อธมฺมราโค ได้แก่ ความกําหนัดในฐานะอันไม่สมควร เป็นต้นว่า มารดา ๑ น้าหญิง ๑ บิดา ๑ อาหญิง ๑ ป้า ๑. บทว่า วิสมโลโภ ได้แก่ ความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรบริโภค. บทว่า มิจฺฉาธมฺโม ความว่า ความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง. ในบทว่า อมตฺเตยฺยตา เป็นต้น มีวิเคราะห์ว่า ผู้เกื้อกูลมารดา ชื่อ มัตเตยยะ ภาวะแห่งมัตเตยยะนั้น ชื่อ มัตเตยยตา. คําว่า มตฺเตยฺยตา นั้น เป็นชื่อแห่งการปฏิบัติชอบในมารดา ความไม่มีแห่ง มัตเตยยตานั้น และความเป็นปฎิปักษ์ต่อมัตเตยยตานั้น ชื่อว่า อมตฺเตยฺยตา. แม้ใน อเปตฺเตยฺยตา เป็นต้น ก็นัยนี้นั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 137

    บทว่า น กุเลเชฏาปจายิตา ความว่า ภาวะ คือการไม่กระทํา ความยําเกรง คือการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล.

    บทว่า ยํ อิเมสํ คือ ในสมัยใด แห่งมนุษย์เหล่านี้. บทว่า อลํปเตยฺย ความว่า ควรให้แก่ตัว. บทว่า อิมานิ รสานิ ความว่ารสเหล่านี้ เป็นรสที่เลิศในโลก. บทว่า อติพฺยาทีปิสฺสนฺติ ได้แก่ จักรุ่งเรืองอย่างยิ่ง. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า กุสลนฺติปิ น ภวิสฺสติ ความว่า แม้ชื่อว่า "กุศล" ดังนี้ ก็จักไม่มี. อธิบายว่า แม้เพียงบัญญัติ จักไม่ปรากฏ. บทว่า ปุชฺชา จ ภวิสฺสนฺติ ปาสํสา ความว่า จักเป็นผู้ควรบูชา และควรสรรเสริญ. เล่ากันว่า ในสมัยนั้น พวกมนุษย์คิดกันว่า บุคคลชื่อโน้นประหารมารดาประหารบิดา ปลงชีวิตสมณพราหมณ์ น่าสังเวชหนอ บุรุษย่อมไม่ทราบแม้ความที่ผู้เจริญในตระกูลมีอยู่ ดังนี้แล้ว จักบูชาและจักสรรเสริญบุรุษนั้น นั่นเอง. ข้อว่า น ภวิสฺสติ มาตาติ วา ความว่า จิตที่ประกอบด้วยความเคารพว่า "ผู้นี้เป็นมารดาของเรา" จักไม่มีเลย. มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อกล่าวถ้อยคําอสัตบุรุษ ชนิดต่างๆ ดุจกล่าวกะมาตุคามในเรือน ก็จักเข้าไปหาโดยอาการไม่เคารพ. แม้ในญาติทั้งหลาย มีน้าหญิงเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในคําว่า มาตุจฺฉา เป็นต้นนี้ คือน้อง ชื่อว่า มาตุจฺฉา ได้แก่ น้องสาวของแม่ ชื่อว่า มาตุลานี ได้แก่ ภรรยาของลุง. ชื่อว่า อาจริยภริยา ได้แก่ ภรรยาของอาจารย์ผู้ให้ศึกษาศิลปวิทยา. บทว่า ครูนํ ทารา ได้แก่ ภรรยาของญาติมีอาและลุงเป็นต้น. บทว่า สมฺเภทํ ความว่า ภาวะที่เจือปน หรือว่า การทําลายประเพณี. บทว่า ติพฺโต อาฆาโต ปจฺจุปฏิโต ภวิสฺสติ ความว่า ความโกรธที่รุนแรงจักเกิดขึ้นเฉพาะ โดยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สองบทหลัง ก็เป็นไวพจน์ของความโกรธนั้น ทั้งนั้น. จริงอยู่ ความโกรธ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 138

ย่อมทําจิตให้ผูกอาฆาต เหตุนั้น จึงชื่อว่า อาฆาต. ความโกรธ ย่อมทําประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของตนและบุคคลอื่นให้เสียหาย เหตุนั้น จึงชื่อว่า พยาบาท จะกล่าวว่า ความประทุษร้ายแห่งใจก็ได้ เพราะประทุษร้ายใจ. บทว่า ติพฺพํ วธกจิตฺตํ ความว่า จิตคิดจะฆ่าเพื่อให้ผู้อื่นตาย ย่อมมีได้ แม้แก่ผู้มีใจรักใคร่กัน. เพื่อจะแสดง เรื่องแห่งจิตคิดจะฆ่ากันนั้น จึงกล่าวคํา เป็นต้นว่า มาตุปิ ปุตฺตมฺหิ ดังนี้. บทว่า มาควิกสฺส ได้แก่ พรานล่าเนื้อ.

    บทว่า สตฺถนฺตรกปฺโป ความว่า กัปที่พินาศในระหว่าง ด้วยศาสตรา คือยังไม่ทันถึงสังวัฏฏกัป โลกก็พินาศเสียในระหว่าง. ก็ชื่อว่า อันตรกัป นี้ มี ๓ อย่างคือ ทุพภิกขันตรกัป กัปที่โลกพินาศในระหว่าง ด้วยทุพภิกขภัย ๑ โรคันตรกัป กัปที่โลกพินาศในระหว่าง ด้วยโรค ๑ สัตถันตรกัป กัปที่โลกพินาศในระหว่าง ด้วยศาสตรา ๑. ในกัปเหล่านั้น ทุพภิกขันตรกัป มีขึ้นได้แก่ หมู่สัตว์ที่หนาด้วยความโลภ. โรคันตรกัป มีขึ้นได้แก่ หมู่สัตว์ที่หนาด้วยความโมหะ. สันถันตรกัป มีขึ้นได้แก่ หมู่สัตว์ที่หนาด้วยโทสะ.

    ในกัปเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่ฉิบหายเพราะทุพภิกขันตรกัป ย่อมเกิดขึ้นในปิตติวิสัยแห่งเปรตเสียโดยมาก. เพราะอะไร? เพราะมีความอยากในอาหารเป็นกําลัง. เหล่าสัตว์ที่ฉิบหายเพราะโรคันตรกัป บังเกิดในสวรรค์โดยมาก. เพราะอะไร? เพราะสัตว์เหล่านั้นเกิดเมตตาจิตขึ้นว่า โอหนอ โรคเห็นปานนี้ ไม่พึงมีแก่สัตว์เหล่าอื่น. เหล่าสัตว์ที่ฉิบหายเพราะสัตถันตรกัป ย่อมเกิดในนรกโดยมาก เพราะอะไร? เพราะมีความอาฆาตต่อกันและกันอย่างรุนแรง. บทว่า มิคสฺํ ความว่า มนุษย์เกิดความสําคัญขึ้นว่า ผู้นี้เป็นเนื้อ ผู้นี้เป็นเนื้อ. บทว่า ติณฺหานิ สตฺถานิ หตฺเถสุ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 139

ปาตุภวิสฺสนฺติ ความว่า เล่ากันว่า สําหรับมนุษย์เหล่านั้น วัตถุอะไรๆ พอจะเอามือหยิบฉวยได้ โดยที่สุดกระทั่งใบหญ้าก็จะกลายเป็นอาวุธไปเสียทั้งนั้น. ข้อว่า มา จ มยํ กฺจิ ความว่า พวกเราอย่าปลงแม้บุรุษผู้หนึ่งไรๆ เสียจากชีวิตเลย. ข้อว่า มา จ อมฺเห โกจิ ความว่า บุรุษผู้หนึ่งไรๆ อย่าปลงแม้พวกเราเสียจากชีวิตเลย. คําว่า ยนฺนูน มยํ ความว่า เหล่าสัตว์จักสําคัญคิด อย่างนี้ว่า ความพินาศแห่งโลกนี้ ปรากฏเฉพาะแล้ว อันเราทั้งหลาย สองคนอยู่ในที่เดียวกันไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้. บทว่า วนคหนํ ความว่า ที่รกชัฎด้วยพฤกษชาติมีพุ่มหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น อันนับว่าป่า. บทว่า รุกขคหนํ คือรกชัฎด้วยต้นไม้ คือที่เข้าไปยาก. บทว่า นทีวิทุคฺคํ คือที่ซึ่งไปลําบาก ในที่ซึ่งมีเกาะอยู่ระหว่างเป็นต้น แห่งแม่น้ำทั้งหลาย. บทว่า ปพฺพตวิสมํ คือที่อันไม่สม่ําเสมอไปด้วยภูเขาทั้งหลาย หรือว่า ที่อันขรุขระในภูเขาทั้งหลาย. บทว่า สภาคายิสฺสนฺติ ความว่า เหล่าสัตว์จักทําคนเหล่านั้นให้เสมอกับตน ด้วยถ้อยคําที่ชวนให้บันเทิงอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเป็นอยู่โดยประการใด ท่านทั้งหลาย ท่านก็พบเห็นแล้ว แม้ท่านก็เป็นอยู่โดยประการนั้น. บทว่า อายตํ คือ มาก. บทว่า ปาณาติปาตา วิรเมยฺยาม ความว่า พวกเราควรลดปาณาติบาตลงเสีย. อาจารย์บางพวกสวดว่า ปาณาติปาตํ วิรเมยฺยาม ก็มี. ในคํานั้น มีอธิบายว่า พวกเราควรละปาณาติบาต. บทว่า วีสติวสฺสายุกา ความว่า มารดาบิดางดเว้นจากปาณาติบาต เพราะเหตุใด บุตรทั้งหลายจึงมีอายุเพียง ๒๐ ปี. เพราะมีเขตบริสุทธิ์. แท้จริง มารดาบิดาแห่งบุตรเหล่านั้น เป็นผู้มีศีล ดังนั้น พวกเขาจึงมีอายุยืน เพราะเขตบริสุทธิ์ นี้เหตุที่พวกบุตรเจริญในครรภ์ของผู้มีศีล. ก็สัตว์เหล่าใด ทํากาละเสียในที่นี้ แล้วเกิดในที่นั้นนั่นเอง สัตว์เหล่านั้นมีอายุยืนด้วยสมบัติ คือศีลของตน

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 140

เท่านั้น. บทว่า อสฺสาม แปลว่า พึงมี. บทว่า จตฺตาลีสวสฺสายุกา ความว่า ส่วนที่เป็นเบื้องต้นบัณฑิตพึงทราบ ด้วยอํานาจบุคคลผู้เว้นขาดจากอทินนาทานเป็นต้น.

    บทว่า อิจฺฉา ความว่า ตัณหาซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พวกท่านจงให้อาหารแก่เรา. บทว่า อนสนํ ความว่า ไม่มีการกิน คือภาวะที่ไม่เบิกบาน ได้แก่ความเกียจคร้านทางกาย คือความประสงค์จะนอน เพราะปัจจัยคือความเมาในอาหารของผู้บริโภคอาหาร. อธิบายว่า ภาวะที่กายมีกําลังทราม เพราะการบริโภค. บทว่า ชรา ได้แก่ ความชราปรากฏ. บทว่า กุกกุฏสมฺปาติกา มีวิเคราะห์ว่า ความตกพร้อมแห่งไก่ กล่าวคือการที่ไก่ตัวบินขึ้น จากหลังคาบ้านหนึ่งแล้วตกลงบนหลังคาอีกบ้านหนึ่ง มีอยู่ในคามนิคมและราชธานีเหล่านี้ เหตุนั้นคามนิคมเละราชธานีเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นที่ระยะไก่บินตก. บาลีว่า สมฺปาทิกา ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ความถึงพร้อมแห่งไก่ กล่าวคือการเดินไปด้วยเท้าแห่งไก่ จากระหว่างบ้านหนึ่งไปยังอีกระหว่างบ้านหนึ่ง มีอยู่ในคามนิคมและราชธานีเหล่านี้. ท่านแสดงความที่สัตว์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มนั่นแล แม้ทั้งสองนั้น. บทว่า อวีจิมฺเ ผุโฏ ภวิสฺสติ ความว่า จักเต็มแน่นขนัดประดุจอเวจีมหานรก.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งอายุสัตว์ที่เจริญว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเวลามนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคเจ้านามว่า เมตตรัย จักอุบัติขึ้นในโลก. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่บังเกิดในเวลาที่สัตว์มีอายุเจริญ แต่ย่อมเกิดในเวลาที่สัตว์มีอายุเสื่อม. อธิบายว่า เพราะเหตุนั้น เวลาใดอายุนั้นเจริญแล้ว ถึงความเป็นอสงไขย แล้วกลับตกไปอีก จักตั้งอยู่ในกาลที่สัตว์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ในกาลนั้น พระพุทธเจ้าจักอุบัติขึ้น. ก็บทว่า ปริหริสฺสติ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถ

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 141

แห่งสัตว์ที่เที่ยวแวดล้อมไป. บทว่า ยูโป ได้แก่ปราสาท. บทว่า รฺญามหาปนาเทน การาปิโต ความว่า มีพระราชาผู้เป็นต้นเหตุ ท้าวสักกะเทวราช จึงส่งพระวิษณุกรรมเทพบุตรให้ไปสร้างปราสาทเพื่อประโยชน์แก่พระราชาพระองค์นั้น.

    เล่ากันว่า เมื่อก่อน บิดากับบุตรสองคน เป็นช่างสาน ช่วยกันเอาไม้อ้อและไม้มะเดื่อ สร้างบรรณศาลาถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วนิมนต์ให้ท่านอยู่ในที่นั้น บํารุงด้วยปัจจัย ๔. ครั้นทํากาละแล้ว ก็บังเกิดในเทวโลก. ในสองบิดาและบุตรนั้น บิดายังอยู่ในเทวโลกนั่นเอง. บุตรจุติจากเทวโลกแล้วบังเกิดในพระครรภ์ของพระนางสุเมธา เป็นเทวีของพระเจ้าสุรุจิต เป็นพระราชกุมารพระนามว่ามหาปนาทะ. ภายหลัง ท้าวเธอรับสั่งให้ยกฉัตร ได้เป็นพระราชานามว่า มหาปนาทะ. ลําดับนั้น ด้วยบุญญานุภาพของท้าวเธอ ท้าวสักกะเทวราช จึงส่งพระวิษณุกรรมเทพบุตร ให้ไปสร้างปราสาทถวายพระราชา. พระวิษณุกรรมเทพบุตรนั้น เนรมิตปราสาทถวายท้าวเธอ สูงถึง ๒๕ โยชน์ ๗ ชั้น ล้วนแล้วด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ ซึ่งท่านหมายเอากล่าวไว้ในชาดกว่า

    พระราชาพระนามว่าปนาทะ มีปราสาทล้วนแล้วด้วยทองกว้าง ๑๖ ชั่วลูกธนู ชนทั้งหลายกล่าวส่วนสูงถึงพันชั่วธนู ปราสาทนั้น ๗ ชั้น สูงพันชั่วลูกธนู สะพรั่งไปด้วยธง แพรวพราวไปด้วยแก้วสีเขียว นักฟ้อน ๖ พัน แบ่งเป็น ๗ พวก ได้ฟ้อนอยู่ในปราสาทนั้น ดูก่อนภัททชิเศรษฐีท่านกล่าวไว้โดยประการใด เหตุนั้นได้มีในกาลนั้น โดยประการนั้น ครั้งนั้นเราได้เป็นท้าวสักกะ ผู้ทําการขวนขวายให้แก่ท่าน ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 142

    พระราชานั้น ประทับอยู่ที่ปราสาทนั้นตลอดพระชนมายุ สวรรคตแล้วบังเกิดในเทวโลก. เมื่อท้าวเธอบังเกิดในเทวโลก ปราสาทนั้นก็จมลงในกระแสแม่น้ำมหาคงคา. พระนครชื่อปยาคะประดิษฐ์ เป็นอันเทวดานิรมิตแล้ว ณ ที่ใกล้เคียงหัวบันไดของปราสาทนั้น. บ้านชื่อโกฎิคามมีในที่ตรงกับยอดปราสาทพอดี.

    ภายหลังต่อมา ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เทพบุตรช่างสานนั้นจุติจากเทวโลก เป็นเศรษฐีชื่อภัททชิ ในถิ่นมนุษย์ บวชในสํานักพระศาสดา บรรลุพระอรหัตแล้ว. พึงให้เรื่องพิสดารด้วยคําว่า "ท่านนั้นแสดงปราสาทนั้นแก่หมู่ภิกษุ ในวันที่เอาเรือข้ามแม่น้ำคงคา". ถามว่า ก็เพราะเหตุใด ปราสาทนี้จึงไม่อันตรธานไป แก้ว่า เพราะอานุภาพบุญเทพบุตร นอกจากนี้ กุลบุตรผู้ทําบุญร่วมกับท่านบังเกิดในเทวโลก ในอนาคตจักเป็นพระราชานามว่า สังขะ ปราสาทนั้นจักตั้งขึ้น สําหรับให้พระราชานั้นใช้สอย เพราะเหตุนั้น ปราสาทจึงไม่อันตรธานไปแล้ว.

    บทว่า อุสฺสาเปตฺวา ความว่า ให้ปราสาทนั้นตั้งขึ้น. บทว่า อชฺฌาวสิตฺวา ได้แก่ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น. บทว่า ตํ ทตฺวา วิสชฺชิตฺวา ความว่า ให้ปราสาทนั้น ด้วยอํานาจทานและสละด้วยอํานาจการบริจาค โดยไม่เพ่ง (ผลตอบแทน). ถามว่า ถวายปราสาทอย่างนั้นแก่ใคร. แก้ว่า แก่เหล่าสมณะเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า "ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกําพร้า คนเดินทาง วณิพก ยาจก". ถามว่า ก็พระราชา (พระเจ้าสังขะ) นั้น จักแสดงปราสาทหลังหนึ่ง แก่ภิกษุเป็นอันมากอย่างไร? แก้ว่า นัยว่า จิตของท่านจักเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ปราสาทนี้ จงกระจัดกระจาย. ปราสาทนั้นจักกระจัดกระจายเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย. ท้าวเธอไม่มีจิตข้องเกี่ยวปราสาทนั้นเลย จักสละด้วยอํานาจทาน ด้วยพระดํารัส

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 143

ว่าผู้ใดปรารถนาจํานวนเท่าใด ผู้นั้นจงถือเอาจํานวนเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทานํ ทตฺวา เมตฺเตยฺยสฺส ภควโต ฯเปฯ วิหริสฺสติ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุสนธิสืบต่อแห่งวัฏฏคามีกุศล ด้วยพระดํารัสมีประมาณเท่านี้.

    บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความสืบต่อแห่งวัฏฏคามีกุศล จึงตรัสคําว่า อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ เป็นต้นไว้อีก. ข้อว่า อิทํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุโน อายุสฺมิํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้กล่าวคําใดไว้กับเธอว่า "เธอทั้งหลายจักเจริญด้วยอายุบ้าง" คํานี้ ย่อมมีในอายุของภิกษุนั้น คือคํานี้เป็นเหตุแห่งอายุ. เพราะฉะนั้น พวกเธอเมื่อต้องการให้อายุเจริญ ต้องเจริญอิทธิบาท ๔ อย่างเหล่านี้. บทว่า วณฺณสฺมิํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราได้กล่าวคําใดไว้กับเธอว่า พวกเธอจักเจริญด้วยวรรณะบ้าง นี้เป็นเหตุ (เจริญ) วรรณะในวรรณะนั้น ด้วยว่าวรรณะแห่งสรีระของผู้มีศีล ย่อมเจริญด้วยอํานาจความไม่เดือดร้อนเป็นต้น แม้วรรณะ คือคุณ ก็เจริญด้วยอํานาจชื่อเสียง เพราะฉะนั้น พวกเธอเมื่อต้องการให้วรรณะเจริญ ต้องมีศีลบริบูรณ์. บทว่า สุขสฺมิํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราได้กล่าวคําใดไว้กับพวกเธอว่า พวกเธอจักเจริญด้วยความสุขบ้าง ดังนี้ คํานี้ย่อมมีความสุขที่เกิดจากฌานมีประการต่างๆ มีปีติแลสุขเกิดจากวิเวกในความสุขนั้น คือ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น พวกเธอเมื่อต้องการให้เจริญด้วยความสุข ต้องเจริญฌาน ๔ อย่างเหล่านี้. บทว่า โภคสฺมิํ ความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราได้กล่าวคําใดไว้กับพวกเธอว่า พวกเธอจักเจริญด้วยโภคะบ้าง ดังนี้ นี้คือโภคะ ได้แก่ พรหมวิหาร ที่พึงแผ่ได้ทั่วทิศ อันนําซึ่งความเป็นผู้ไม่เกลียดชังเหล่าสัตว์ที่หาประมาณมิได้ มีอานิสงส์

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 144

๑๑ ประการ เช่นนอนเป็นสุขเป็นต้น เพราะฉะนั้นพวกเธอเมื่อต้องการให้ โภคะเจริญ ต้องเจริญพรหมวิหารเหล่านี้. บทว่า พลสฺมิํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราได้กล่าวคําใดไว้กับพวกเธอว่า พวกเธอจักเจริญด้วยกําลังบ้างดังนี้ คํานี้ คือกําลัง กล่าวคืออรหัตตผล ซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะเหตุนั้น พวกเธอเมื่อต้องการจะให้กําลังเจริญ ต้องทําความพากเพียรเพื่อการบรรลุถึงพระอรหัต. บทว่า ยถยิทํ ภิกฺขเว มารพลํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้กําลังอันเป็นเอกในโลกอย่างอื่น ที่ข่มยาก กําจัดยาก เหมือนกําลังของเทวบุตรมาร มัจจุมาร กิเลสมารนี้เลย อรหัตตผลนี้เท่านั้น ย่อมข่ม ครอบงํา ท่วมทับกําลังแม้นั้นได้ เพราะเหตุนั้น พวกเธอควรทําความพากเพียรในพระอรหัตนี้เท่านั้น. ข้อว่า เอวมิทํ ปุฺํ ความว่า แม้บุญที่เป็นโลกุตตระนี้ ย่อมเจริญจนตราบสิ้นอาสวะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อยังอนุสนธิสืบต่อแห่งวัฏฏคามีกุศลให้จบลง จึงยังเทศนา ให้จบลงด้วยยอดคือพระอรหัต. ในเวลาจบพระสูตร ภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป บรรลุพระอรหัต สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว แล.

    จบอรรถกถาจักกวัตติสูตร ที่ ๓