พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อรรถกถาปาสาทิกสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 ก.ค. 2564
หมายเลข  34651
อ่าน  596

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 291

๖. ปาสาทิกสูตร

อรรถกถาปาสาทิกสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 15]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 291

อรรถกถาปาสาทิกสูตร

ปาสาทิกสูตรมีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

จะอธิบายถึงบทที่ยากในปาสาทิกสูตรนั้น. บทว่า พวกศากยะมีนามว่า เวธัญญา นั้น หมายความถึงพวกศากยะพวกหนึ่งชื่อ เวธัญญา ศึกษาการทําธนู. บทว่า ณ ปราสาทในสวนอัมพวันของพวกศากยะเหล่านั้น อธิบายว่า มีปราสาทยาวซึ่งสร้างไว้เพื่อเรียนศิลปะ ในสวนอัมพวันของพวกศากยะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน นั้น.

บทว่า อธุนา กาลกโต ได้แก่นิคัณฐนาฏบุตร ถึงแก่กรรมทันทีทันใด. บทว่า เกิดแยกกันเป็นสองพวก คือแยกกันเป็นสองฝ่าย. ในบรรดาความบาดหมางเป็นต้น การทะเลาะกันในตอนแรก เป็นความบาดหมาง ความบาดหมางนั้นได้เจริญขึ้น ด้วยสามารถการถือท่อนไม้เป็นต้น และด้วยสามารถการล่วงบัญญัติ เป็นการทะเลาะ ถ้อยคําทําลายกันโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เป็นวิวาท. บทว่า วิตุทนฺตา คือทิ่มเทง. บทว่า ถ้อยคําของข้าพเจ้ามีประโยชน์ คือคําของข้าพเจ้าประกอบด้วยอรรถ. บทว่า สิ่งที่ท่านเคยช่ําชองได้ผันแปรไปแล้ว อธิบายว่า อันใดที่ท่านช่ําชองมาแล้ว คือคล่องแคล่ว ด้วยสามารถเสวนะมาช้านาน อันนั้น ได้ผันแปรไปแล้ว เพราะอาศัยวาทะของข้าพเจ้า บทว่า ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว คือข้าพเจ้าได้ยกความผิดไว้เบื้องบนของท่าน. บทว่า ท่านจงเที่ยวไปเพื่อปลดเปลื้องวาทะ อธิบายว่า ท่านจงถือห่อข้าวเข้าไปยังชุมชนนั้นๆ แล้วเที่ยวแสวงหาให้ยิ่งๆ ขึ้นเพื่อ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 292

ปลดเปลื้องวาทะ. บทว่า หรือท่านจงแก้ไขเสีย อธิบายว่า อีกอย่างหนึ่งท่านจงปลดเปลื้องตนจากโทษที่เรายกขึ้น. บทว่า สเจ ปโหสิ แปลว่า หากท่านสามารถ. บทว่า วโธเยว คือตายนั่นเอง. บทว่า ในพวกนาฏบุตร คืออันเตวาสิกของนาฏบุตร. บทว่า มีอาการเบื่อหน่าย คือสาวกของนิคัณฐนาฎบุตรมีความกระสันเป็นสภาวะ ย่อมไม่ทําแม้การอภิวาทเป็นต้น. บทว่า คลายความรัก คือปราศจากความรัก. บทว่า รู้สึกท้อถอย คือมีความท้อถอยจากการทําความเคารพของพวกสาวกของนิคัณฐนาฏบุตร บทว่า โดยเหตุที่ธรรมวินัยอันนิคัณฐนาฏบุตร กล่าวไว้ไม่ดี อธิบายว่า ได้เกิดขึ้นโดยเหตุที่สาวกเหล่านั้น พึงเป็นผู้เบื่อหน่าย คลายรัก ท้อถอยในธรรมวินัยอันนิคัณฐนาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดีเป็นต้น. บทว่า ทุรากฺขาเต คือกล่าวไว้ไม่ดี. บทว่า ทุปฺปเวทิเต คือสอนไม่ดี. บทว่า อนุปสมสํวตฺตนิเก คือไม่สามารถจะทําราคะเป็นต้น ให้สงบได้. บทว่า ภินฺนถูเป คือมีที่พํานักอันทําลายแล้ว. ก็ในบทนี้ นิคัณฐนาฎบุตร ชื่อว่า เป็นที่พํานัก เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งของสาวกเหล่านั้น. แต่เขาได้แตกดับ คือตายเสียแล้ว. เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นธรรมวินัยมีที่พํานักอันทําลายเสียแล้ว บทว่า เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัย คือขาดที่พึ่งอาศัยเพราะไม่มีนิคัณฐนาฏบุตรนั้นนั่นเอง.

ก็นาฏบุตรนี้ อาศัยอยู่ในเมืองนาลันทามิใช่หรือ เหตุไรเขาจึงถึงแก่กรรมที่เมืองปาวา. ได้ยินว่า นาฏบุตรนั้นสดับพุทธคุณที่อุบาลีคฤหบดีผู้รู้แจ้งแทงตลอดสัจจธรรม กล่าวด้วยคาถา ๑๐ คาถา จึงสํารอกโลหิตออกมาร้อนๆ ครั้งนั้น สาวกทั้งหลายจึงได้พานาฏบุตร ผู้ไม่มีความสบายไปเมืองปาวา เขาจึงได้ถึงแก่กรรมในที่นั้น อนึ่ง เมื่อนาฎบุตรจะถึงแก่กรรม คิดว่า ลัทธิของเรา เป็นลัทธิที่ไม่นําออกไปได้ เป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 293

ลัทธิที่ขาดสาระ เราฉิบหายไปช่างเถิด อย่าให้ชนที่เหลือได้ไปเต็มในอบายด้วยเลย ก็หากเราจักกล่าวว่า คําสอนของเรา เป็นคําสอนที่ไม่นําออกไปได้ ชนทั้งหลายจักไม่เชื่อ ถ้ากระไรเราไม่ควรให้ชนแม้สอง ถือแบบเดียวกันเมื่อเราล่วงลับไป ชนเหล่านั้นจักวิวาทกันและกัน พระศาสดาจักตรัสธรรมกถาบทหนึ่ง อาศัยข้อวิวาทนั้น จากนั้น ชนทั้งหลาย จักรู้ความที่พระศาสนาเป็นศาสนาที่มีคุณใหญ่ ดังนี้. ครั้งนั้น อันเตวาสิกคนหนึ่ง เข้าไปหานาฏบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านทุพพลภาพ ขอจงบอกสาระอันเป็นอาจริยประมาณในธรรมนี้แก่กระผมบ้างเถิด ดังนี้. นาฏบุตรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อเราล่วงลับไปเธอพึงถือว่า "เที่ยง" ดังนี้. อันเตวาสิกอีกคนหนึ่ง เข้าไปหา นาฏบุตรให้อันเตวาสิกนั้นถือว่า "สูญ".

นาฏบุตรไม่ทําให้ชนแม้ทั้งสองมีลัทธิอย่างเดียวกัน อย่างนี้แล้ว ให้ชนเป็นอันมากถือแบบต่างๆ กัน ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว ชนทั้งหลายกระทําฌาปนกิจนาฏบุตรนั้นเสร็จแล้ว จึงประชุมถามกันและกันขึ้นว่า ดูก่อนผู้มีอายุ อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระให้แก่ใคร. คนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า แก่เรา ดังนี้. บอกไว้อย่างไร. บอกว่า "เที่ยง". อีกคนหนึ่งคัดค้านแล้วกล่าวว่า อาจารย์ได้บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ชนทั้งหมดต่างก็วิวาทกันรุนแรงขึ้นว่า อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรา เราเป็นใหญ่ ถึงขั้นด่ากัน บริภาษกัน และทําร้ายกันด้วยมือและเท้าเป็นต้น ไม่ร่วมทางเดียวกัน เลี่ยงกันไปคนละทิศละทาง.

บทว่า ครั้งนั้นแล พระจุนทสมณุเทส มีอธิบายว่า พระเถระรูปนี้ เป็นน้องของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า พระจุนทสมณุเทส ในขณะเป็นอนุปสัมบัน แม้ขณะเป็นเถระก็ยังเรียก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 294

อย่างนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า จุนทสมณุเทส ดังนี้. ในบททั้งหลายว่า พระจุนทสมณุเทสอยู่จําพรรษาในเมืองปาวา ได้เข้าไปหาพระอานนท์ ซึ่งอยู่ในสามคาม ดังนี้ เพราะเหตุไรจึงเข้าไปหา. ได้ยินว่า เมื่อนาฏบุตรถึงแก่กรรมแล้ว พวกมนุษย์ในชมพูทวีป ต่างพูดกันอย่างอื้อฉาวในที่นั้นๆ ว่า นิคัณฐนาฏบุตรประกาศเป็นศาสดาผู้เดียว เมื่อเขาถึงแก่กรรม พวกสาวกเกิดวิวาทกันถึงปานนี้ ก็พระสมณโดดมปรากฏแล้วในชมพูทวีป ดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้พระสาวกของพระองค์ ก็ปรากฏแล้วเหมือนกัน เมื่อพระสมณโคดมปรินิพพานแล้ว พวกสาวกจักวิวาทกันเช่นไรหนอ ดังนี้. พระเถระสดับถ้อยคํานั้นแล้ว คิดว่า เราจักนําถ้อยคํานี้ ไปทูลแด่พระทศพล พระศาสดาจักทําคําพูดนั้น ให้เป็นเหตุเกิดเรื่องราว แล้วจักทรงกล่าวเทศนา ๑ กัณฑ์ พระเถระนั้นจึงออกไปหาพระอานนท์ ณ สามคาม. บทว่า สามคาม เป็นชื่อของบ้านนั้น เพราะข้าวฟ่างหรือลูกเดือยหนาแน่น. บทว่า เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อธิบายว่า พระจุนทเถระไม่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรงทีเดียว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ผู้เป็นอุปัชฌาย์.

ได้ยินว่า ในครั้งพุทธกาล พระสารีบุตรเถระและพระอานนท์ ต่างนับถือซึ่งกันและกัน พระสารีบุตรเถระนับถือพระอานนท์ว่า พระอานนท์กระทําอุปัฏฐากพระศาสดา ซึ่งเราควรทํา พระอานนท์นับถือพระสารีบุตรว่า พระสารีบุตรเป็นผู้เลิศกว่าสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอานนท์ให้ทารกในตระกูลบรรพชา แล้วให้รับการดูแลในสํานักของพระสารีบุตร แม้พระสารีบุตรก็ได้ทําอย่างนั้น เหมือนกัน ได้มีภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป แต่ละรูปๆ ได้ให้บาตรและจีวรของตนๆ แล้วให้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 295

บรรพชา ให้รับการดูแล. ท่านพระอานนท์ได้แม้จีวรเป็นต้นอันประณีต ก็ถวายพระเถระ.

ได้ยินว่า พราหมณ์คนหนึ่ง คิดว่า การบูชาพระพุทธรัตนะและพระสังฆรัตนะย่อมปรากฏชัด อย่างไรหนอ จึงชื่อว่า เป็นอันบูชาพระธรรมรัตนะ พราหมณ์นั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามความนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้หากว่าเธอใคร่จะบูชาพระธรรมรัตนะ ก็จงบูชาภิกษุ ผู้เป็นพหูสูตรูปหนึ่ง ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงบอกถึงภิกษุผู้เป็นพหูสูตเถิด พระพุทธเจ้าข้า. เธอจงถามภิกษุสงฆ์เถิด. พราหมณ์นั้นเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าได้บอกถึงภิกษุผู้เป็นพหูสูตเถิด. ดูก่อนพราหมณ์ พระอานนท์เป็นพหูสูต พราหมณ์จึงบูชาพระเถระด้วยไตรจีวรมีค่าหนึ่งพัน พระเถระได้พาพราหมณ์นั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้พระภาคเจ้าตรัสถามว่า อานนท์เธอได้ไตรจีวรมาจากไหน. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ผู้หนึ่งถวาย แต่ข้าพระองค์ประสงค์จะถวายไตรจีวรนี้แก่ท่านพระสารีบุตรเถระ พระพุทธเจ้าข้า. จงให้เถิดอานนท์. พระสารีบุตรเถระออกจาริก พระเจ้าข้า. เธอจงให้ ในเวลาที่สารีบุตรกลับมาเถิด. พระองค์ได้บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว พระเจ้าข้า. ก็สารีบุตรจักมาเมื่อไรเล่า. ประมาณ ๑๐ วัน พระเจ้าข้า. อานนท์ เราอนุญาตเพื่อเก็บอติเรกจีวรได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้. เราบัญญัติสิกขาบทแล้ว. แม้พระสารีบุตรเถระได้สิ่งที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถวายสิ่งนั้นแก่พระอานนท์อย่างนั้น เหมือนกัน. พระสารีบุตรเถระนั้นได้ให้พระจุนทสมณุเทสแม้นี้ ผู้เป็นน้องของตน เป็นสัทธิวิหาริกของพระเถระ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระจุนทสมณุเทสเข้าไปหาพระอานนทเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 296

ดังนี้. นัยว่า พระจุนทสมณุเทส ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระอุปัชฌาย์ของเรามีปัญญามาก ท่านจักกราบทูลถ้อยคํานี้แด่พระศาสดา ทีนั้น พระศาสดาจักทรงแสดงธรรมอนุรูปแก่กถานั้น ดังนี้. บทว่า กถาปภฏํ แปลว่า มูลแห่งถ้อยคํา. จริงอยู่ คําว่ามูล ท่านว่า ปาภฏํ (ต้นเหตุ) สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไว้ว่า

อปฺปเกนาปิ เมธาวี ปาภเฏน วิจกฺขโณ สมุฏฺาเปติ อตฺตานํ อณุํ อคฺคิํว สนฺธมํ

ผู้มีปัญญา มีความเห็นแจ้งชัด ยังตนให้ดํารงอยู่ได้สม่ําเสมอ ด้วยทุนทรัพย์แม้มีประมาณน้อยเหมือนก่อไฟน้อย ฉะนั้น. บทว่า ภควนฺตํ ทสฺสนาย แปลว่า เพื่อเห็นพระพุทธเจ้า. มีคําถามว่า ก็พระอานนท์เถระนั้น ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ดอกหรือ. ไม่เคยเห็น หามิได้. เพราะท่านพระอานนทเถระนี้ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า วันละ ๑๘ ครั้ง คือกลางวัน ๙ ครั้ง กลางคืน ๙ ครั้ง แม้ประสงค์จะไป ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้ง ต่อวัน ก็ไม่ไป เพราะไม่มีเหตุ ท่านหยิบยกปัญหาข้อหนึ่งขึ้น แล้วจึงไปเฝ้า ในวันนั้น พระอานนทเถระนั้นประสงค์จะไปด้วยมูลเหตุแห่งกถานั้น จึงกล่าวแล้วอย่างนี้.

บทว่า ดูก่อนจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีอย่างนั้น ความว่า แม้พระอานนทเถระกราบทูลเนื้อความแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระอานนทเถระไม่ใช่เจ้าของกถานี้ แต่พระจุนทเถระเป็นเจ้าของกถา อนึ่ง พระจุนทเถระนั้น ย่อมรู้เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของกถานั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสกับพระจุนทเถระนั้น จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า เอวฺเหตํ จุนฺท โหติ ดังนี้. อธิบายความต่อไปว่า ดูก่อนจุนทะ ข้อนี้ย่อมมีอย่างนี้ สาวกในธรรมวินัยอันมีสภาวะเป็นต้นว่ากล่าวไว้ไม่ดี เกิดแยกกันเป็นสองพวก ทําการบาดหมางกันเป็นต้น ทิ่มแทงกันด้วยหอก คือ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 297

ปาก เพราะคําสอนอันจะนําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นอันปรากฏโดยคําสอนอันไม่นําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ในบัดนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงคําสอนอันจะไม่นําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ แต่ต้น จึงตรัสคํา เป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ ศาสดาให้โลกนี้ไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้. ในบทว่า ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น คือไม่บําเพ็ญติดต่อกัน. อธิบายว่า ประพฤติหลีกเลี่ยง คือทํามีช่วงว่าง. บทว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เป็นลาภของท่านนั้น คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นต้น เหล่านี้เป็นลาภของท่านนั้น. บทว่า อันท่านได้ดีแล้ว คือท่านได้ความเป็นมนุษย์ดีแล้ว. ในบทว่า ธรรมอันศาสดาของท่านแสดงแล้วอย่างใด คือศาสดาของท่านแสดงธรรมไว้ด้วยอาการใด. บทว่า ผู้ใดชักชวน คืออาจารย์ใดชักชวน. บทว่า ชักชวนผู้ใด คือชักชวนอันเตวาสิกใด. บทว่า ผู้ใดถูกชักชวน คืออันเตวาสิกถูกชักชวน โดยที่ปฏิบัติข้อที่อาจารย์ชักชวนเพื่อความเป็นอย่างนั้น. บทว่า คนทั้งหมดเหล่านั้น คือคนทั้งสามเหล่านั้น อธิบายว่า ในบุคคลทั้ง ๓ นี้ อาจารย์ย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญ เพราะเป็นผู้ชักชวน อันเตวาสิกผู้ถูกชักชวนย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญ เพราะเป็นผู้ถูกชักชวน ผู้ปฏิบัติย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คนทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก. พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งหมด โดยทํานองนี้. อนึ่ง ในบทนี้ว่า ปฏิบัติเพื่อธรรมอันควรรู้ คือปฏิบัติตามเหตุ บทว่า จักยังธรรมอันควรรู้ให้สําเร็จ คือจักยังเหตุให้สําเร็จ. บทว่า ปรารภความเพียร คือทําความเพียรอันจะเกิดทุกข์แก่ตน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดปรารภ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 298

ความเพียรในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคําสอนอันไม่นําผู้ปฏิบัติให้ออกทุกข์ได้ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงคําสอนอันจะนําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ในบัดนี้ จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้ ย่อมเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า เป็นธรรมที่จะนําผู้ปฏิบัติให้ออกไปได้ คือนําไปเพื่อประโยชน์แห่งมรรค และเพื่อประโยชน์แห่งผล บทว่า ปรารภความเพียร คือปรารภความเพียรอันจะให้สําเร็จสุขแก่ตน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเกียจคร้านในธรรมวินัย อันตถาคตกล่าวไว้ดีแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดมีความเพียรอันปรารภแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้. ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งกุลบุตรผู้ปฏิบัติชอบในคําสอนอันจะทําผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้แล้ว เมื่อจะทรงขยายพระธรรมเทศนาอีก จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ ก็พระศาสดาอุบัติแล้วในโลกนี้ ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า สาวกทั้งหลาย เป็นผู้ไม่รู้แจ้งอรรถ คือไม่มีปัญญาที่จะตรัสรู้ได้. บทว่า ทําให้มีบทอันรวบรวมไว้พร้อมแล้ว คือกระทําด้วยบทอันรวบรวมไว้ทั้งหมด. อธิบายว่า ไม่ใช่รวบรวมไว้อย่างเดียว. ปาฐะว่า สพฺพสงฺคาหปทคตํ ดังนี้บ้าง คือไม่อยู่ในบทที่รวบรวมไว้ทั้งหมด อธิบายว่า ไม่สงเคราะห์เข้าเป็นอันเดียวกัน. บทว่า ทําให้มีปาฏิหาริย์ คือเป็นธรรมที่นําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้. บทว่า ตลอดถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือประกาศไว้ด้วยดีแล้วตั้งแต่มนุษยโลกจนถึงเทวโลก. บทว่า ย่อมเป็นเหตุให้เดือดร้อน คือเป็นผู้ทําความเดือดร้อนในภายหลัง.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 299

บทว่า ศาสดาของเราทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงถึงอาการอันทําให้เดือดร้อนของสาวกเหล่านั้น. บทว่า ย่อมไม่เป็นเหตุเดือดร้อนในภายหลัง อธิบายว่า ชื่อว่า ย่อมไม่ทําความเดือดร้อนในภายหลัง เพราะข้อที่สาวกทั้งหลาย อาศัยพระศาสดาพึงบรรลุ ได้บรรลุแล้ว.

บทว่า เถโร ได้แก่ ผู้มั่นคง คือประกอบด้วยธรรมอันทําให้เป็นผู้มั่นคง. คําว่า รตฺตฺู เป็นต้น มีเนื้อความกล่าวไว้แล้ว. บทว่า เอเตหิ เจปิ คือด้วยคําเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้ตอนต้น บทว่า เป็นผู้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ความว่า พระอรหัต ชื่อว่า เป็นแดนเกษมจากโยคะในธรรมวินัยนี้ เพราะพระอรหัตเป็นแดนเกษมมาจากโยคะ ๔ สาวกทั้งหลายบรรลุพระอรหัตนั้น. บทว่า ควรที่จะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ อธิบายว่า พึงเป็นผู้สามารถจะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ เพราะเล่าเรียนมาเฉพาะหน้า. บทว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือพระอริยสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่. บทว่า เป็นผู้บริโภคกาม คือคฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบัน. บททั้งหลายเป็นต้นว่า พรหมจรรย์สําเร็จผลนั้น พิสดารแล้วในมหาปรินิพพานสูตร นั่นแล.

บทว่า ลาภคฺคยสคฺคปฺปตฺตํ แปลว่า ถึงความเลิศด้วยลาภและด้วยยศ. บททั้งหลายว่า ดูก่อนจุนทะ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระเป็นสาวกของเราในบัดนี้มีอยู่แล ดังนี้ ผู้เป็นเถระในบทนี้ ได้แก่ พระเถระมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น. บทว่า ภิกษุณีทั้งหลาย ได้แก่ เขมาเถรีและอุบลวัณณาเถรีเป็นต้น. บททั้งหลายว่า อุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวก เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 300

อุบาสกในที่นี้ ได้แก่ จิตตคหบดีและหัตถกอาฬวกเป็นต้น. บทว่า ผู้บริโภคกาม ได้แก่ จุลอนาถบิณฑิกะและมหาอนาถบิณฑิกะเป็นต้น. บทว่า หญิงผู้เป็นพรหมจารินี ได้แก่ หญิงทั้งหลายมีนันทมารดาเป็นต้น. บทว่า หญิงผู้บริโภคกาม ได้แก่ หญิงทั้งหลายมีนางขุชชุตราเป็นต้น บทว่า สพฺพาการสมฺปนฺนํ ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยการณ์ทั้งปวง บทว่า อิทเมว ตํ ความว่า บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงพรหมจรรย์นี้ คือธรรมนี้ พึงกล่าวโดยเหตุ โดยนัยอันชอบ. บทว่า อุทฺทกสฺสุทํ ตัดบทเป็น อุทฺทโก สุทํ.

บทว่า ปสฺสํ น ปสฺสติ คือบุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่า ย่อมไม่เห็น. ได้ยินว่า อุททกรามบุตรนั้นถามปัญหานี้กะมหาชน. มหาชนกล่าวว่า ท่านอาจารย์ พวกเราไม่รู้ ขอท่านอาจารย์โปรดบอกแก่พวกเราเถิด อุททกรามบุตรจึงกล่าวว่า ปัญหานี้ลึกซึ้ง เมื่อมีอาหารสัปปายะ อาจคิดได้ประเดี๋ยวเดียวก็ตอบได้ แต่นั้น มหาชนทั้งหลายเหล่านั้นก็พากันทําสักการะใหญ่ตลอด ๔ เดือน อุททกรามบุตรเมื่อจะกล่าวปัญหานั้น ได้กล่าวคําเป็นอาทิว่า บุคคลเห็นอยู่ซึ่งอะไร จึงชื่อว่า ย่อมไม่เห็น ดังนี้. ในบทเหล่านั้นบทว่า มีดโกนลับดีแล้ว คือลับเสียคมกริบ ในข้อนี้มีอธิบายว่า ใบมีดโกนลับดีแล้ว ย่อมปรากฏ แต่คมมีดโกน ไม่ปรากฏ.

บทว่า สงฺคมฺม สมาคมฺม คือรวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะนั้น อธิบายว่า นํามาเปรียบกัน อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับแม้พยัญชนะ บทว่า พึงรวบรวม คือพึงบอกได้ พึงสอดได้ บทว่า ยถยิทํ พฺรหฺมจริยํ ความว่า ศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นนี้. บทว่า ตตฺร เจ คือในท่ามกลางสงฆ์นั้นหรือในภาษิตของสพรหมจารีนั้น. ในบททั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุถือเอาอรรถนั่นแลผิดและยกพยัญชนะทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 301

ผิด ดังนี้ อธิบายว่า ในบทนี้ว่า สติปัฏฐาน ๔ ย่อมถือเอาอรรถว่า อารมณ์ คือสติปัฏฐาน ยกพยัญชนะขึ้นว่า สติปฏฺานานิ. บทว่า อิมสฺส กิํ นุโข อาวุโส อตฺถสฺส ความว่า พยัญชนะทั้งหลายเหล่านี้ คือ จตฺตาโร สติปฏฺานา หรือ หรือว่าพยัญชนะทั้งหลายเหล่านั้น คือ จตฺตาริ สติปฏฺานานิ ของอรรถว่า สตินั่นแหละ คือสติปัฏฐาน. บทว่า อย่างไหนจะสมควรกว่ากัน คือพยัญชนะทั้งหลายของอรรถนี้อย่างไหน บทว่า เข้าถึงกว่า คือแน่นกว่า บทว่า แห่งพยัญชนะทั้งหลายเหล่านี้ คืออรรถนี้ว่า สตินั่นแหละ คือสติปัฏฐานหรือ หรือว่า อรรถนั้นว่า อารมณ์ คือสติปัฏฐานแห่งพยัญชนะทั้งหลายว่า จตฺตาโร สติปฏฺานา. บทว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ของอรรถนี้ คือของอรรถนี้ว่า อารมณ์เป็นสติปัฏฐาน บทว่า ยานิ เจว เอตานิ ความว่า พยัญชนะเหล่านี้ใดอันข้าพเจ้ากล่าวแล้ว. บทว่า โย เจว เอโส ความว่า ความนี้ใดอันข้าพเจ้ากล่าวแล้ว. บทว่า โส เนว อุสฺสาเทตพฺโพ ความว่า พวกเธอควรตั้งอยู่ในอรรถและในพยัญชนะโดยชอบก่อน แต่สพรหมจารีนั้น พวกเธอไม่ควรยินดี ไม่ควรรุกราน บทว่า สฺาเปตพฺโพ แปลว่า ควรให้รู้. บทว่า ตสฺส จ อตฺถสฺส คือ แห่งอรรถว่า สตินั่นแหละ คือสติปัฏฐาน. บทว่า เตสฺจ พฺยฺชนานํ คือแห่งพยัญชนะว่า สติปฏฺานา. บทว่า นิสนฺติยา คือเพื่อพิจารณา เพื่อทรงไว้. พึงทราบเนื้อความในวาระทั้งหมด โดยนัยนี้. บทว่า ตาทิสํ แปลว่า เช่นกับท่าน บทว่า อตฺถูเปตํ ได้แก่ เข้าถึงโดยอรรถ คือรู้ซึ่งอรรถ บทว่า พฺยฺชนูเปตํ ได้แก่ เข้าถึงโดยพยัญชนะ คือรู้ซึ่งพยัญชนะ พวกท่านสรรเสริญภิกษุนั้นอย่างนี้ จริงอยู่ภิกษุนั้น ไม่ชื่อว่า เป็นสาวกของพวกท่าน ดูก่อนจุนทะ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นพระพุทธะ ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งภิกษุพหูสูตในตําแหน่ง ของตน บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงขยายพระธรรมเทศนาให้ยิ่งๆ ขึ้นกว่านั้น จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ เรา

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 302

ไม่แสดงธรรมแก่พวกเธอ เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลาย ที่เป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ดังนี้.

ในบทนั้น อาสวะทั้งหลาย อันเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยเป็นเหตุในโลกนี้ ชื่อว่า อาสวะเป็นไปในปัจจุบัน อาสวะทั้งหลาย อันเกิดขึ้นเพราะมีการบาดหมางกันเป็นเหตุในปรโลก ชื่อว่า อาสวะเป็นไปในภพหน้า. บทว่า สํารวม คือเพื่อปิด โดยที่อาสวะเหล่านั้นเข้าไปไม่ได้ บทว่า ปฏิฆาตาย คือเพื่อกําจัด ด้วยการทําลายราก. ในบททั้งหลายว่า เราอนุญาตจีวรแก่พวกเธอก็เพียงเป็นเครื่องกําจัดหนาว ดังนี้ อธิบายว่า จีวรนั้นสามารถเพื่อกําจัดหนาวแก่พวกเธอ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า จีวรใดอันเราอนุญาตแก่พวกเธอ พวกเธอจักห่มจีวรนั้นแล้ว ทําความสนุกก็ดี ถือตัวก็ดี ดังนี้ เราไม่อนุญาต แต่พวกเธอห่มจีวรนั้นแล้ว ทําการกําจัดหนาวเป็นต้น แล้วจัดกระทําโยนิโสมนสิการสมณธรรมสะดวก ดังนี้ เราอนุญาต แม้บิณฑบาตเป็นต้น ก็อย่างเดียวกับจีวร ก็การพรรณนาอนุบทในที่นี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล.

บทว่า สุขลฺลิกานุโยคํ แปลว่า ประกอบความเพียรเฉื่อยแฉะในความสุข อธิบายว่า ความเป็นผู้พอใจในการเสพสุข. บทว่า สุเข คือกระทําให้ตั้งอยู่ในความสุข. บทว่า ปีเนติ คือทําให้เอิบอิ่ม คืออ้วน. บทว่า อฏฺิตธมฺมา คือเป็นสภาพไม่ยั่งยืน. บทว่า ชิวฺหา โน อตฺถิ อธิบายว่า ปรารถนาเรื่องใดๆ เมื่อกล่าวถึงเรื่องนั้นๆ บางครั้งกล่าวถึงมรรค บางครั้งกล่าวถึงผล บางครั้งกล่าวถึงนิพพาน. บทว่า ชานตา คือรู้โดยสัพพัญุตญาณ. บทว่า ปสฺสตา คือเห็นด้วยจักษุ ๕. บทว่า คมฺภีรเนโม คือฝังเข้าไปในดินลึก. บทว่า สุนิขาโต คือฝังแน่น. บทว่า เอวเมว

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 303

โข อาวุโส ความว่า พระขีณาสพเป็นผู้ไม่ควรประพฤติล่วงฐานะ ๙ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือนในการประพฤติล่วงนั้น. ในการประพฤติล่วงนั้น แม้พระอริยะทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ก็ไม่ควรในการแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตเป็นต้น. บทว่า สนฺนิธิการกํ กาเม ปริภุฺชิตุํ ความว่า เพื่อทําการสั่งสมวัตถุกามและกิเลสกามแล้วบริโภค. บทว่า เหมือนอย่างที่ตนเป็นผู้ครองเรือนในกาลก่อน ความว่า ไม่ควรบริโภคเหมือนอย่างที่ตนเป็นคฤหัสถ์บริโภคในกาลก่อน จริงอยู่พระอริยะมีพระโสดาบันเป็นต้น อยู่ ณ ท่ามกลางเรือน ย่อมตั้งอยู่ด้วยนิมิตของคฤหัสถ์ตลอดชีวิต. แต่ พระขีณาสพบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นมนุษย์ย่อมปรินิพพาน หรือบวช (ในวันนั้น) พระขีณาสพไม่ตั้งอยู่ในกามาวจรเทวโลกทั้งหลายมีจาตุมมหาราชิกาเป็นต้นแม้ครู่เดียว เพราะเหตุไร เพราะไม่มีที่วิเวก ก็แต่ว่าพระขีณาสพดํารงอยู่ในอัตภาพแห่งภุมมเทวดา แม้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ยังดํารงอยู่ ก็ปัญหานี้ มาถึงด้วยอํานาจแห่งพระขีณาสพนั้น พึงทราบภิกขุภาวะของพระขีณาสพนั้น เพราะทําลายโทสะได้แล้ว.

บทว่า หาฝังมิได้ คือไม่มีฝัง ไม่มีกําหนด ใหญ่ บทว่า พระสมณโคดมหาได้ปรารภกาลนานที่เป็นอนาคตไม่ อธิบายว่า ก็พระสมณโคดมหาได้ทรงบัญญัติอย่างนี้ เพราะปรารภกาลนานอันเป็นอนาคตไม่ พระสมณโคดมเห็นจะทรงทราบอดีตเท่านั้น ไม่ทรงทราบอนาคต เป็นจริงอย่างนั้น การระลึกถึงกําเนิดห้าร้อย ห้าสิบชาติในอดีต ย่อมปรากฏแก่พระสมณโคดมนั้น การระลึกถึงมากอย่างนี้ ย่อมไม่ปรากฏในอนาคต พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เห็นจะสําคัญความนี้ ดังนี้ พึงกล่าวอย่างนั้น. บทว่า ตยิทํ กิํสุ คือไม่รู้อนาคตเป็นอย่างไร บทว่า กถํ สุ คือด้วยเหตุไรหนอ.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 304

อธิบายว่า พระสมณโคดมไม่ทรงรู้ทีเดียว หรือหนอ จึงไม่ทรงระลึกถึงอนาคต คือว่า เพราะทรงใคร่จะไม่ระลึกถึง จึงไม่ระลึกถึง. บทว่า อฺาวิหิตเกน าณทสฺสเนน ความว่า พวกปริพาชกอัญญเดียรดีย์ย่อมสําคัญสิ่งที่พึงถือเอา สิ่งที่พึงบัญญัติ อันเป็นญาณทัสสนะซึ่งเป็นไปเพราะปรารภญาณทัสสนะอื่น ซึ่งเป็นอย่างอื่น ด้วยญาณอันเป็นทัสสนะเพราะความเป็นผู้สามารถเห็นเหมือนทําให้ประจักษ์ ซึ่งเป็นโดยประการอื่น คือปรารภญาณทัสสนะอื่นเป็นไป จริงอยู่ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ย่อมสําคัญญาณทัสสนะอันสงบตั้งขึ้นแล้วเฉพาะหน้าเนืองๆ แก่ผู้เดินไป ยืนอยู่ หลับและตื่น. ก็ชื่อว่า ญาณเช่นนั้นย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พึงทราบปริพาชกอัญญเดียรถีย์ว่า พวกเขาย่อมสําคัญเหมือนอย่างคนโง่ไม่ฉลาด ฉะนั้น. บทว่า สตานุสารี ได้แก่ ญาณอันสัมปยุตด้วยปุพเพนิวาสานุสสติ บทว่า ยาวตกํ อากงฺขติ ความว่า พระตถาคตย่อมส่งพระญาณว่า เราจักรู้เท่าที่ปรารถนาจะรู้ ญาณของพระตถาคตนั้นไม่ถูกปิด ไม่ถูกกั้น ย่อมเป็นไปเหมือนลูกศรที่เขายิงไปในพวงใบไม้ผุ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระตถาคตย่อมทรงระลึกได้เท่าที่ทรงหวัง บทว่า โพธิชํ แปลว่า เกิดที่โคนโพธิ์ บทว่า ญาณํ อุปฺปชฺชติ ได้แก่ จตุมรรคญาณย่อมเกิด. บทว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อธิบายว่า ชาตินี้มีในที่สุด เพราะละเหตุที่จะทําให้มีชาติได้ด้วยญาณนั้น. บทว่า บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มี อธิบายว่า แม้ญาณอื่นอีกก็ย่อมไม่เกิดขึ้น. บทว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ความว่า ไม่อาศัยประโยชน์ในโลกนี้ หรือประโยชน์ในโลกหน้า. บทว่า พระตถาคตย่อมไม่ทรงพยากรณ์สิ่งนั้น อธิบายว่า พระตถาคตย่อมไม่ทรงกล่าวถึงกถาอันไม่นําผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เช่นภารตยุทธ และการลักพาสีดา. บทว่า สิ่งเป็นของจริงเป็น

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 305

ของแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หมายถึง ติรัจฉานกถามีราชกถาเป็นต้น. บทว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้รู้จักกาล อธิบายว่า พระตถาคตย่อมทรงรู้กาล คือทําให้มีเหตุการณ์แล้วจึงทรงกล่าวในกาลอันถึงความสมควร เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต. อธิบายว่า กระทํา ท อักษรให้เป็น ต อักษร เพราะตรัสโดยประการที่ควรตรัส ท่านจึงกล่าวว่า ตถาคต.

บทว่า ทิฏฺํ ได้แก่ รูปายตนะ. บทว่า สุตํ ได้แก่ สัททายตนะ. บทว่า มุตํ ได้แก่ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะของสิ่งที่ตนรู้แล้ว คือถึงแล้ว พึงถือเอา. บทว่า วิฺาณํ ได้แก่ ธรรมายตนะ มีสุขและทุกข์เป็นต้น บทว่า ปตฺตํ ได้แก่ แสวงหาก็ดี ไม่แสวงหาก็ดี บรรลุแล้ว. บทว่า ปริเยสิตํ ได้แก่ แสวงหาสิ่งที่บรรลุแล้วก็ดี สิ่งที่ยังไม่บรรลุแล้วก็ดี. บทว่า อนุวิจริตํ มนสา คือท่องเที่ยวไปด้วยจิต. ทรงแสดงบทนี้ ด้วยคํานี้ว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธํ ดังนี้ ที่โคนโพธิ์ บทว่า ตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว อธิบายว่า ก็รูปารมณ์ใด มีสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น ของโลกพร้อมด้วยเทวโลกนี้ในโลกธาตุทั้งหลายหาประมาณมิได้อันใด ย่อมมาสู่คลองในจักขุทวาร สัตว์นี้เห็นรูปารมณ์นี้ในขณะนี้ เป็นผู้ดีใจ เป็นผู้เสียใจ หรือมีตนเป็นกลาง ดังนี้ รูปารมณ์นั้นทั้งหมด อันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้. เช่นเดียวกัน สัททารมณ์ใด มีเสียงกลอนเสียงตะโพนเป็นต้น ของโลกพร้อมด้วยเทวโลกนี้ในโลกธาตุทั้งหลายอันหาประมาณมิได้อันใด ย่อมมาสู่คลองในโสตทวาร คันธารมฌ์ใด มีกลิ่นที่รากมีกลิ่นที่เปลือกเป็นต้น ย่อมมาสู่คลองในฆานทวาร รสารมณ์ใด มีรสที่รากรสที่ลําต้นเป็นต้น ย่อมมาสู่คลองในชิวหาทวาร โผฏฐัพพารมณ์ใด อันต่างด้วยปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มีแข็งมีอ่อนเป็นต้น ย่อมมาสู่คลองในกายทวาร สัตว์นี้ถูกต้องโผฏฐัพพา

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 306

รมณ์นี้ในขณะนี้ เป็นผู้ดีใจ เป็นผู้เสียใจ หรือมีตนเป็นกลาง อารมณ์ทั้งหมดนั้น พระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว ด้วยประการฉะนี้. เช่นเดียวกัน ธรรมารมณ์ใดอันต่างด้วยสุขและทุกข์เป็นต้น ของโลกพร้อมด้วยเทวโลกนี้ในโลกธาตุทั้งหลายอันหาประมาณมิได้ ย่อมมาสู่คลองแห่งมโนทวาร สัตว์นี้รู้แจ้งธรรมารมณ์นี้ในขณะนี้ เป็นผู้ดีใจ เป็นผู้เสียใจ หรือเป็นผู้มีตนเป็นกลาง ธรรมารมณ์ทั้งหมดนั้น อันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

ดูก่อนจุนทะ ตถาคตไม่เห็น ไม่ฟัง ไม่รู้ หรือไม่รู้แจ้ง ในสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้เห็นแล้ว ฟังแล้ว รู้แล้ว หรือรู้แจ้งแล้ว ย่อมไม่มี สิ่งที่มหาชนนี้แสวงหาแล้ว บรรลุก็มี สิ่งที่มหาชนนี้แสวงหาแล้ว ไม่บรรลุก็มี สิ่งที่มหาชนไม่แสวงหาแล้ว บรรลุก็มี สิ่งที่มหาชนไม่แสวงหาแล้ว ไม่บรรลุก็มี แม้ทั้งหมดนั้นชื่อว่า พระตถาคตไม่บรรลุแล้ว ไม่ทรงทําให้แจ้งด้วยญาณ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต ดังนี้ ที่เรียกว่า ตถาคต เพราะที่ที่ไม่เสด็จไปในโลก เสด็จไปแล้ว. แต่ในบาลีกล่าวว่า อภิสัมพุทธะ คํานั้นมีความเดียวกับ คตศัพท์ พึงทราบความแห่งบทสรุปว่า ตถาคโต ในวาระทั้งหมด โดยนัยนี้ ความถูกต้องของอรรถนั้น ท่านกล่าวความพิสดารของตถาคตศัพท์ไว้ในพรหมชาลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงบันลือพระสีหนาทว่า เรากล่าวถึงความเป็นผู้หาผู้เสมอมิได้ ความเป็นผู้หาผู้ยิ่งกว่ามิได้ ความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง ความเป็นธรรมราชาของตนอย่างนี้แล้ว ชื่อว่า ไม่รู้ไม่เห็นในลัทธิทั้งหลายของพวกสมณพราหมณ์เป็นอันมากในบัดนี้ ย่อมไม่มี ทั้งหมดย่อมเป็นไปในภายในญาณของเราทีเดียว ดังนี้ จึงตรัสคําเป็นอาทิว่า ดูก่อนจุนทะ ข้อนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ตถาคโต หมายถึง สัตว์. บทว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เพราะ

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 307

ว่าข้อนี้ไม่ประกอบด้วยอรรถ คือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า. บทว่า ไม่ประกอบด้วยธรรม คือไม่อาศัยนวโลกุตตรธรรม. บทว่า ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือไม่เป็นเบื้องต้นแห่งศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้น อันสงเคราะห์ด้วยไตรสิกขา ในบททั้งหลายว่า นี้เป็นทุกข์แล เป็นต้นมีอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปในภูมิสามที่เหลือเว้นตัณหา พระผู้พระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า นี้เป็นทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุเจริญ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เป็นทุกขสมุทัย ความไม่เป็นไปของทั้งสองนั้นคือทุกข์และทุกขสมุทัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เป็นทุกขนิโรธ อริยมรรค คือการรู้รอบทุกข์ การละสมุทัย การทําให้แจ้งนิโรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ในบททั้งหลายว่า ดูก่อนผู้มีอายุข้อนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นต้น มีอธิบายว่า ข้อนี้อาศัยประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า อาศัยนวโลกุตตรธรรมเป็นเบื้องต้น คือเป็นประธาน คือเป็นเบื้องหน้าของศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงบันลือพระสีหนาทว่า บัดนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย อย่าได้เข้าใจกันอย่างนี้ว่า ข้อใดที่เราไม่พยากรณ์ไว้ ข้อนั้นเราไม่รู้จึงไม่พยากรณ์ไว้ ดังนี้ เรารู้อยู่ดี ไม่พยากรณ์ เพราะแม้เมื่อเราพยากรณ์ข้อนี้ไป ก็ไม่มีประโยชน์ ก็ข้อใดที่เราควรพยากรณ์อย่างไร ข้อนั้นเราก็ได้พยากรณ์ไว้แล้วนั่นแล ดังนี้ จึงตรัสอีกว่า ดูก่อนจุนทะ ทิฏฐินิสัยแม้เหล่าใด เป็นอาทิ.

ทิฏฐิทั้งหลายในบทนั้น อธิบายว่าได้แก่ ทิฏฐินิสัย ทิฏฐินิสิต ทิฏฐิคติ บทว่า สิ่งนี้แหละจริง คือสิ่งนี้แหละเป็นทัสสนะที่จริง บทว่า คําอื่นเป็น

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 308

โมฆะ ได้แก่ คําของคนอื่นเป็นโมฆะ บทว่า อสยํกาโร แปลว่า ไม่ได้ ทําด้วยตนเอง. บทว่า ตตฺร ได้แก่ สมณะแลพราหมณ์เหล่านั้น บทว่า ดูก่อนผู้มีอายุ มีอยู่หรือหนอที่ท่านทั้งหลายกล่าวคํานี้ ดังนี้ อธิบายว่า เราถามพวกท่านอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุ คําใดที่พวกท่านกล่าวว่า ตนและโลกเที่ยง ดังนี้ คํานี้มีอยู่ หรือไม่มี. บทว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวคําใดอย่างนี้ ความว่า ก็สมณพรหมณ์เหล่านั้นกล่าวคําใดว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่อนุญาตคํานั้น แก่สมณพรหมณ์เหล่านั้น. บทว่า โดยบัญญัติ คือโดยทิฏฐิบัญญัติ. บทว่า เหมาะสม คือสมด้วยญาณอันเสมอ. บทว่า ยทิทํ อธิปฺตฺติ คือนี้ชื่ออธิบัญญัติ. ในอธิบัญญัตินี้ เรานั่นแหละยิ่งกว่า ไม่มีผู้เสมอด้วยเรา คําที่ท่านกล่าวโดยบัญญัติ และอธิบัญญัติ ทั้งสองคํานี้ เป็นอันเดียวกันโดยอรรถ โดยประเภทเป็นสอง คือเป็นบัญญัติ อธิบัญญัติ ในบัญญัติทั้งสองนั้น ทิฏฐิบัญญัติ เรียกบัญญัติ บัญญัติ ๖ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ คือขันธบัญญัติ ธาตุบัญญัติ อายตนบัญญัติ อินทริยบัญญัติ สัจจบัญญัติ บุคคลบัญญัติ ชื่ออธิบัญญัติ แต่ในที่นี้ คําว่า โดยบัญญัติ ท่านหมายทั้ง บัญญัติและอธิบัญญัติ จริงอยู่ทพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมหาผู้อื่นยิ่งกว่ามิได้ ทั้งโดยบัญญัติ ทั้งโดยอธิบัญญัติ ในบทว่า อธิบัญญัติแม้นี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในบัญญัติที่เป็นอธิบัญญัติ ดังนี้. บทว่า ปหานาย คือเพื่อละ. บทว่า สมติกฺกมาย เป็นไวพจน์ของบทนั้น. บทว่า เทสิตา แปลว่า กล่าวแล้ว. บทว่า ปฺตฺตา แปลว่า ตั้งไว้แล้ว อธิบายว่า เมื่อทําการแยกสิ่งที่เป็นก้อนออก เพื่อเจริญสติปัฏฐาน ได้เห็นสิ่งทั้งปวง โดยความแน่นอน

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 309

เป็นอันละทิฏฐินิสัยทั้งหมด โดยลงความเห็นว่า ย่อมไม่เข้าไปรับรู้ความเป็นสัตว์ ในกองสังขารล้วน ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สติปัฏฐาน ๔ อันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เพื่อละ เพื่อก้าวล่วง ซึ่งทิฏฐินิสัย ดังนี้ ส่วนที่เหลือ มีเนื้อความง่ายในที่ทั้งปวงอยู่แล้ว

จบอรรถกถาปาสาทิกสูตรที่ ๖