ขอทราบเกี่ยวกับการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร
๑. ขอทราบเกี่ยวกับโทษในการไม่รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร และประโยชน์ในการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร และมีความเกี่ยวข้องกับ การเจริญสติปัฎฐานอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ในพระไตรปิฎกอย่างไรบ้าง
๒. เคยได้ฟังธรรมมาว่า (ไม่รู้จำผิดหรือไม่) ถ้าเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าต้องการปรับอาบัติปราชิกแก่พระภิกษุที่ไม่สำรวมในการรับประทานอาหาร เพราะเห็นว่าการไม่สำรวมในการรับประทานอาหารมีโทษมาก แต่ก็ไม่สามารถบัญญัติได้ ถามว่า ที่ผมได้ฟังธรรมมานั้นถูกหรือไม่ ถ้าถูกต้อง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่ามีโทษมาก มีโทษอย่างไร มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกอย่างไรบ้าง
ขอบคุณครับ
โทษของการไม่รู้จักประมาณในการบริโภค พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มาก เช่น ทำให้บริโภคมากเกินไป ทำให้เมาในอาหาร ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้เป็นโรคอ้วนเป็นต้น คุณของการรู้จักประมาณ คือ ทำให้ร่างกายเบาสบาย ไม่ง่วง มีโรคน้อยส่วนสาเหตุที่แสดงเรื่องอาหารและโทษของอาหาร มีในอรรถกถาปุตตมังสสูตร
โปรดอ่านข้อความโดยตรง ..
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 310
อรรถกถาปุตตมังสสูต ... ผู้ไม่พิจารณาแล้วบริโภคอาหาร
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 284
คำว่า โภชเน อมตฺตญฺญุตา คือ ความไม่รู้จักประมาณในโภชนะที่มาอย่างนี้ว่า "บรรดาธรรมเหล่านั้น ความไม่รู้จักประมาณในโภชนะคืออะไร คือ ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ ไม่พิจารณาเสียก่อน บริโภคอาหารโดยไม่แยบคาย เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อดกแต่ง เพื่อสวยงาม.ความไม่สันโดษ ความไม่รู้จักประมาณ ในโภชนะที่มิได้พิจารณา (แล้วบริโภค) ".
[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 208
ข้อความบางตอนจาก มหาอัสสปุรสูตร
[๔๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร พวกเธอควรศึกษาอยู่อย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณในโภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนอาหาร จักไม่กลืนเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตบแต่ง เพื่อประดับ จักกลืนเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เป็นไป ห่างไกลจากความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์เท่านั้น และจะบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นและจักให้อัตภาพดำเนินไป ไม่มีโทษ อยู่สบายด้วยประการฉะนี้
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 465
โทณปากสูตร ... คาถากันบริโภคอาหารมาก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
คนที่ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ทำให้ติดในรสอาหาร ถ้ากิเลสมีกำลังก็อาจจะทำให้ล่วงทุจริตกรรม เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะความเมาในอาหารทำให้เกิดนิวรณ์ กามฉันทะ ฯลฯ เป็นอกุศลเป็นเครื่องกั้นความดี
ตัวอย่างของผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ชื่อพราหมณ์ ๕ คนนี้ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นฉายา พราหมณ์ ๕ คนล้วนแต่เป็นคนกินจุเกินประมาณทั้งนั้น
คนหนึ่ง กินมากจนลุกไม่ไหว ต้องให้คนอื่นช่วยฉุดมือจึงลุกขึ้นได้ คำขอร้องให้ช่วยฉุดมือนี้ว่า "อาหร หตฺถํ" เพราะฉะนั้น พราหมณ์ผู้นี้จึงได้ฉายาว่า "อาหรหัตถกะ" (ตาพราหมณ์" ฉุดมือที")
คนหนึ่ง กินแล้วลุกขึ้นเองได้ แต่ว่าท้องกางเกินขนาด ไม่อาจนุ่งผ้าได้ (เพราะมือโอบท้องตัวไม่หุ้ม) จึงได้ฉายาว่า "อลังสาฏกะ" (ตาพราหมณ์ "อย่าผ้า")
คนหนึ่ง กินแล้วลุกไม่ไหว เลยนอนกลิ้งเกลือกอยู่กับที่กินนั่นเอง จึงได้ฉายาว่า "ตัตถวัฏฏกะ" (ตาพราหมณ์ "กลิ้งอยู่กับที่")
คนหนึ่ง กินจนตุงปาก อ้าปากให้กาจิกอาหารกินจากช่องปากได้ จึงได้ฉายา "กากมาสกะ" (ตาพราหมณ์ "กินเผื่อกา")
คนหนึ่ง กินจนอุบไม่ไหว ต้องคาย คืออ้วกออกมา ในที่นั่งกินนั่นเอง จึงได้ฉายาว่า "ภุตตวมิตกะ" (ตาพราหมณ์ คายข้าว")
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ -
หน้า 243 >>> คนบริโภคมากเกินไป ย่อมมีทุกข์อย่างนี้
[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 417
๑๐. กีฏาคิริสูตร คุณของการฉันอาหารน้อย
[๒๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียทีเดียว และเมื่อเราฉันโภชนะเว้นการฉันในราตรีเสีย ย่อมรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบางกระปรี้กระเปร่า มีกำลังและอยู่สำราญ แม้ท่านทั้งหลายก็จงมาฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสียเถิด ก็เมื่อเธอทั้งหลายฉันโภชนะ เว้นการฉันในราตรีเสีย จักรู้คุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง และอยู่สำราญ ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า. ฯลฯ