กรณีภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสถึงปาราชิกแต่ยังเจริญรุ่งเรือง

 
kanogvalai
วันที่  6 ส.ค. 2564
หมายเลข  35244
อ่าน  588

อะไรเป็นเหตุ เพราะการที่ท่านสอนอภิธรรม หรือ สอนพระสูตร ด้วยประโยชน์อันนี้หรือ

กรณีที่เราทราบ แต่เพื่อนที่เราแนะนำ ยังคงไปสู่ท่านเหล่านั้นและได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนของท่าน ทำบุญกับท่านด้วยเงินมากมาย เราควรทำอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 6 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุที่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่สำนึก ไม่ใช่ผู้เจริญในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เป็นผู้ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยิ่งถ้าถึงกับขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่สามารถที่จะเป็นพระภิกษุได้อีกเลยในชาตินั้น ถ้ายังไม่สละเพศบรรพชิต ก็อยู่ต่อไปด้วยการหลอกลวงผู้อื่น ด้วยเพศบรรพชิต ยิ่งเป็นโทษมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ท่านกล่าวคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นคนละขณะกันกับขณะที่ล่วงละเมิดสิกขาบท แต่ต้องไม่ลืมว่า อาบัติที่ท่านล่วงละเมิด ก็ยังเป็นโทษสำหรับตัวท่าน ถ้ามรณภาพไปในขณะที่ยังมีอาบัติติดตัวอยู่ ชาติหน้าถัดต่อจากชาตินี้เลย ต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น เพราะมีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการเกิดในสุคติภูมิ

ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัยจริงๆ ท่านจะเคารพอย่างยิ่งในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะยิ่งขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น จะไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต แต่จากเหตุการณ์ที่เล่ามา ท่านยังต้องอาบัติในส่วนอื่นอีก อย่างเช่น รับเงินทอง

แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง แต่สำหรับในฐานะที่เป็นเพื่อนแล้ว เพื่อนย่อมให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เพื่อน คือ กล่าวคำจริง ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อให้ได้คิดไตร่ตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง ถ้าเขารับฟัง ย่อมเป็นการดี แต่ถ้าไม่รับฟัง เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เข้าใจถึงการสะสมของแต่ละบุคคล เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะได้ทำดีที่สุดแล้ว ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Patvalai
วันที่ 8 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณค่ะ ขออนุญาตนำคำแนะนำนี้ ให้กับเพื่อนนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Patvalai
วันที่ 8 ส.ค. 2564

กราบขอโอกาส ถามเพิ่มค่ะ

๑. กรณี การรับเงินทอง เข้าบัญชีชื่อท่าน แต่ ท่านนำไปก่อสร้างวัดของท่าน ทั้งวัดที่บ้านเกิดซึ่งกำลังสร้างเจดีย์พระธาตุ และ วัด ที่ท่านประจำอยู่ (คนละวัดกัน) เพื่อนำไปใช้ในกิจการเรียนการสอน และรายการอื่นๆ โอนเข้าบัญชีชื่อท่าน บัญชีเดียว โดยมีรายการบุญต่างๆ เชื่อว่า ไม่ได้มีการทำบัญชีแยกชัดเจน

๒. กรณีโยมผู้หญิงเจ้าประจำที่ถวายเงินมาก เมื่อทำบุญต่างๆ กับท่าน จะนำมาลงในเฟสบุ๊ค มากเป็นพิเศษ ถือเป็นสังฆาทิเสส ข้อ ๑๓ ไหมคะ

๓. กรณีคุยไลน์ กับลูกศิษย์ผู้หญิง โดยเป็นเรื่องงาน แต่อาจมีการตามงานถี่ ตามนิสัยท่าน และอาจมีการส่งธรรมะทักทาย เป็นประจำ หลายๆ คน

กรณีนี้ ผิดวินัยข้อไหน อย่างไรบ้างคะ กราบขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Patvalai
วันที่ 8 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณในความเมตตา ตอบคำถามซึ่งไม่รู้จะหาคำตอบที่ชัดเจนได้จากไหน ในยุคที่พระสงฆ์ มีข้ออ้างกับพระวินัยมากมาย ทำให้ผู้คิดต่างกลายเป็นคนผิดปกติของหมู่คณะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Patvalai
วันที่ 8 ส.ค. 2564

๔. ต่อจากข้อ ๓ กรณีโยมผู้หญิงก็สนทนาด้วย เลยจากธรรมะ คุยเล่น หรือคุยเรื่องส่วนตัว เป็นบาปกรรมอย่างไรบ้าง

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2564

เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ,๔ ,๕

๑. กรณี การรับเงินทอง เข้าบัญชีชื่อท่าน แต่ ท่านนำไปก่อสร้างวัดของท่าน ทั้งวัดที่บ้านเกิดซึ่งกำลังสร้างเจดีย์พระธาตุ และ วัด ที่ท่านประจำอยู่ (คนละวัดกัน) เพื่อนำไปใช้ในกิจการเรียนการสอน และรายการอื่นๆ โอนเข้าบัญชีชื่อท่าน บัญชีเดียว โดยมีรายการบุญต่างๆ เชื่อว่า ไม่ได้มีการทำบัญชีแยกชัดเจน

-พระภิกษุ จะรับเงินไม่ได้โดยประการทั้งปวง ไม่มีข้อยกเว้นเลย รับเพื่อตัวเอง ก็เป็นอาบัติ รับเพื่อสิ่งอื่น ก็เป็นอาบัติ พระภิกษุจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง ไม่ได้โดยประการทั้งปวง

ข้อความในสมันตปาสาทิกา อรรถถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ แสดงไว้ชัดเจนว่า ภิกษุรับเงินทอง เพื่อตนเอง หรือ รับเพื่อผู้อื่น หรือ รับเพื่อสิ่งอื่น ก็ผิดพระวินัยทั้งนั้น ดังนี้

“ภิกษุจะรับนิสสัคคิยวัตถุ เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะบุคคลและเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ

จากข้อความนี้ก็พิจารณาได้ว่า ภิกษุรับเงินและทอง เพื่อตนเอง ผิดพระวินัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แต่ถ้ารับเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากตนเอง ก็ผิดพระวินัยเหมือนกัน ไม่พ้นเลย คือ เป็นทุกกฏ เป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่พลาด เป็นการกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้ประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับกุศล เป็นการกระทำที่ไม่สามารถนำไปสู่การรู้แจ้งความจริงได้


แม้แต่การที่คฤหัสถ์มีความประสงค์จะสร้างเสนาสนะ ที่พักอาศัย ถวายแก่ภิกษุ เป็นต้น ก็ไม่ใช่ว่าจะนำไปถวายแก่ภิกษุ แต่คฤหัสถ์ผู้ฉลาด มอบเงินไว้กับพวกช่างทั้งหลาย แล้วช่างทั้งหลายนั่นเองจะเป็นผู้ดำเนินการ หรือตนเองเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยที่ไม่ได้ถวายเงินแก่ภิกษุ อย่างนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย ไม่เป็นเหตุให้ภิกษุล่วงละเมิดพระวินัยเลยแม้แต่น้อย ตามข้อความในสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ดังนี้

ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลาย จงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่า เป็นทุกกฎ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธ ว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น จึงหลีกไป อย่างนี้ ก็ควร ถ้าแม้เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินแก่เขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ ก็ควร

จะเห็นได้เลยว่า พระธรรมวินัย บริสุทธิ์ สะอาด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ครับ


๒. กรณีโยมผู้หญิงเจ้าประจำที่ถวายเงินมาก เมื่อทำบุญต่างๆ กับท่าน จะนำมาลงในเฟสบุ๊ค มากเป็นพิเศษ ถือเป็นสังฆาทิเสส ข้อ ๑๓ ไหมคะ

-ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่ที่แน่ๆ ผิดในข้อรับเงิน และที่สำคัญ พฤติกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่ท่านทำ คือ ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุรับเงิน ก็ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์


๓. กรณีคุยไลน์ กับลูกศิษย์ผู้หญิง โดยเป็นเรื่องงาน แต่อาจมีการตามงานถี่ ตามนิสัยท่าน และอาจมีการส่งธรรมะทักทาย เป็นประจำ หลายๆ คน

๔. ต่อจากข้อ ๓ กรณีโยมผู้หญิงก็สนทนาด้วย เลยจากธรรมะ คุยเล่น หรือคุยเรื่องส่วนตัว เป็นบาปกรรมอย่างไรบ้าง

-สตรีเพศ เป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์ จิตใจเป็นเรื่องที่ระวังยาก อาจจะเป็นเหตุให้ท่านต้องอาบัติหนักได้ คฤหัสถ์ ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ เพราะการทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็ไม่ดี ทั้งนั้น ไม่ดี กับ บาป ก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน คือ เป็นอกุศล ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Patvalai
วันที่ 9 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณในความเมตตาอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanakorn2603
วันที่ 19 ส.ค. 2565

ถ้าเราทำผิด อาบัติสังฆาทิเสส แล้วทำผิดอยู่บ่อยๆ แต่เราหมั่นภาวนา สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา จะมีผลอะไรใหมครับ. เพราะในระหว่างเข้าพรรษาไม่มีการจัดปริวาสกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ส.ค. 2565

ทำไมบวช

โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ