การคิดสั้นฆ่าตัวตาย
เมื่อมีทุกข์ที่รุนแรง หมดทางแก้ไขจริง บีบคั้นเป็นเวลานานทนไม่ไหว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย จัดเป็นวิภวตัณหาหรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตัณหา หรือ โลภะ คือความติดข้อง พอใจ ยินดี ซึ่ง ตัณหา หรือ โลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หลากหลายนัย เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่เรื่อง ตัณหา หรือ โลภะที่เป็นความติดข้อง ต้องการ ยินดี ก็มีหลากหลายนัย ตามลักษณะ ความติดข้อง คือ ต้องมีสิ่งที่ให้ติดข้อง สิ่งที่ให้ติดข้องมีหลายอย่าง หลายประการ เพราะฉะนั้นตัณหา จึงหลายอย่าง บางครั้งพระองค์แสดง ถึงตัณหา3 อย่าง บางครั้งแสดง ตัณหา 6 หรือ ตัณหา 18 หรือ ตัณหา 108 ก็เพื่อเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นตัณหา คือ ความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่มีมากมายนั่นเองครับ
สำหรับประเด็นคำถามเรื่อง วิภวตัณหานั้นก็มาจากการแบ่ง ตัณหา เป็น 3 ประการคือ
1. กามตัณหา
2. ภวตัณหา
3. วิภวตัณหา
กามตัณหา หมายถึง ความยินดี พอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัสที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นสิ่งใดแล้วก็ชอบ เพียงแค่นี้ก็เป็นกามตัณหาแล้วครับ ได้ยินเสียง ก็ติดข้อง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นกามตัณหาอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงมีกามตัณหาเป็นปกติในชีวิตประจำวันโดยส่วนมากครับ
ภวตัณหา คือ ความยินดี พอใจ โลภเจตสิกที่ติดข้องยินดีในการเกิดขึ้นของนามรูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ หรือ หมายถึง โลภเจตสิกที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดยึดถือว่าเที่ยง คือ ยินดีพอใจ ในความเห็นผิดว่า ตายแล้วต้องเกิด มีสัตว์บุคคลที่เกิดต่อไปในภพหน้า (สัสสตทิฏฐิ) เห็นว่าโลกเที่ยง เคยเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว ก็จะเกิดเป็นบุคคลเช่นนั้นอีก ขณะที่มีความเห็นผิด เช่นนี้ ขณะนั้นต้องมีความยินดี พอใจเกิดร่วมด้วย ทีเป็นตัณหา หรือ โลภะ จึงเรียกว่าภวตัณหา
วิภาตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจ ในความเห็นที่ผิดว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีกจบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเป็นวิภวตัณหาเป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้นที่สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกนั่นเองครับ
ดังนั้น ตัณหา 3 ประการคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นโลภะ ดังนั้น วิภวตัณหาจึงไม่ใช่โทสะและไม่ใช่การทนไม่ไหว ฆ่าตัวตายด้วยครับ แต่เป็นโลภะครับ ดังนั้น การได้ยินคำแปลว่า วิภวตัณหา ว่าความไม่อยากมีไม่อยากเป็นก็ทำให้เข้าใจผิดได้ครับว่า ไม่อยากมีไม่อยากเป็นเป็นโทสะ แต่เมื่อศึกษาพระธรรมละเอียดขึ้น จึงรู้ว่า วิภวตัณหา หมายถึงความยินดีพอใจที่เป็นโลภะ ในความเห็นผิดว่าตายแล้วไม่เกิด ขาดสูญ เป็นต้น เพราะเมื่อมีคำว่า ตัณหา ต่อจากวิภว ก็แสดงว่าเป็นโลภะที่ติดข้อง ขณะที่ติดข้องในสิ่งใด สิ่งหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีความรู้สึกไม่ชอบที่เป็นโทสะเลย เพราะขณะนั้นกำลังติดข้องที่เป็นตัณหา หรือ โลภะ ดังนั้นวิภวตัณหากำลังติดข้องพอใจในความเห็นผิดว่าตายแล้วสูญนั่นเองครับ ขออนุโมทนาเชิญคลิกอ่านที่นีครับ.... วิภวตัณหา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 353
บทว่า กามตณฺหา มีวิเคราะห์ว่า ตัณหาในกาม ชื่อว่า กามตัณหา. คำว่า กามตัณหานี้เป็นชื่อของราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕.ตัณหาในภพชื่อว่า ภวตัณหา. คำว่าภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (ความยินดี) ในรูปภพ อรูปภพและความพอใจในฌาน ที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจปรารถนาภพ.ตัณหาในวิภพ ชื่อว่า วิภวตัณหา. คำว่า วิภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (โลภะ) สหรคต (ประกอบด้วย) ด้วยอุจเฉททิฏฐิ. (ความเห็นผิดว่าขาดสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีก)
ขอออนุโมทนา
สาธุขอบคุณอาจารย์เผดิมครับ
ขอถามต่ออีกนิดครับ … ว่าขณะคนที่คิดว่าถ้าฆ่าตัวตายแล้วทุกอย่างจะได้จบสิ้น หมดสูญไป ตายแล้วก็แล้วไปหมดจบแค่นั้น มีความเห็นและพอใจ ยึดติดในความแบบนี้จัดเป็น วิภวตัณหาไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นทุกข์ เพราะยังมีกิเลส หรือแม้แต่เป็นทุกข์หนักขนาดถึงขั้นฆ่าตัวเอง ก็เพราะกิเลส รักตัวเอง อยากให้ตนเองพ้นไปจากความทุกข์อย่างนั้น แต่นั่น ก็ไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ แต่เป็นการพอกพูน สะสมกิเลสอกุศลเพิ่มมากยิ่งขึ้น ชีวิตเต็มไปด้วยทุกข์จริงๆ ทั้งหมดนั้น เพราะยังมีกิเลสอยู่ ถ้าเห็นว่า ตายแล้วสูญ นั่นก็เป็นความติดข้องที่เป็นไปพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิ คือ เห็นผิดว่าขาดสูญ
แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นทุกข์เพียงใด ชีวิตก็ยังมีค่า มีค่าสำหรับได้เจริญกุศล สะสมความดีพร้อมทั้งฟังพระธรรมให้เข้าใจต่อไป หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์ พ้นจากภัยทั้งปวง ก็คือ การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
จิตเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดจะรู้ได้ณะที่เกิดและด้วยปัญญาระดับสูงและรู้ด้วยทีละขณะจิตเพราะฉะนั้น วิภาตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจ ในความเห็นที่ผิดว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีกจบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเป็นวิภวตัณหา เมื่อใดที่เกิดความเห็นนี้ ที่คิดพอใจในความเห็นนี้ก็เป็นวิภวตัณหาครับ ซึ่งจากที่ผู้ถามกล่าววมา มีความเห็นแบบนั้นก็เป็นวิภวตัณหา ครับ
ขออนุโมทนา