กรรมบถ-สิ่งที่พูดไปจะครบองค์กรรมบถไหมครับ
สวัสดีครับ อยากจะขอสอบถามท่านผู้รู้ครับ ว่า เวลาที่เราพูดเรื่องของคนอื่น แต่ไม่ได้พูดต่อหน้า พูดลับหลังกับอีกคนแทน ว่าทำไม ถึงประพฤติเช่นนี้ เช่นนั้น เป็นการระบายความทุกข์ แต่ก็ไม่ได้ไปพูดต้อหน้าให้คนนั้นได้ยินครับ เช่น สมัยเด็กๆ หากไม่พอใจพ่อแม่ ก็อาจจะไปบอกปู่ย่า ว่าทำไมพ่อแม่ถึงทำแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้พูดให้พ่อแม่ฟัง ... เพราะไม่อยากให้ท่านรู้ หรือ เวลาฝึกงาน ที่เคยระบายเรื่องคนที่ฝึกงานให้แม่ฟัง แต่ต่อหน้าก็ไม่ได้พูดอะไรที่ไม่ดีไป หรือ เวลาเราดูข่าวแล้ววิจารณ์นักการเมืองไป แต่เขาก็ไม่ได้ยิน ตัวอย่างเหล่านี้ ถือว่าเป็นวจีกรรม ที่ครบองค์กรรมบถไหมครับ ผมสงสัยว่า อย่างผรุสวาจา ที่ มีองค์ ๓ คือ ๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า ๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ ๓. อกฺโกสนา มีบุคคลที่ด่า สงสัยตรง องค์ที่ 3 ครับ ว่าตัวตัดสินว่าเข้าเกณฑ์องค์ที่ 3 คือ ต้องพูดต่อหน้าให้คนนั้นได้ยินไหมครับ หรือ พอไม่ได้พูดต่อหน้า ไม่ปรารถนาให้เขาได้ยิน ไม่ครบองค์กรรมบถครับ
ขอเชิญผู้รู้ร่วมสนทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๖
ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ
๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า
๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ
๓. อกฺโกสนา การด่า
ถ้ามีการพูดคำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ด้วยจิตที่เป็นอกุศล มีโทสะ เป็นมูล นี้คือ ลักษณะของการพูดที่เป็นผรุสวาจา ซึ่งเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย เมื่อมีตัวบุคคลที่ตนเองประสงค์จะด่า มุ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้นั้น หักรานประโยชน์ของผู้นั้น และมีการด่าออกไป นั่นเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ในข้อผรุสวาจา
แต่ถ้ากล่าวคำหยาบ ด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจบุคคลผู้นั้น แต่ไม่ปรารถนาให้เขาได้ยิน เขาคนนั้น ไม่ได้ยิน ก็ไม่เป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ แต่ก็สะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อไป ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว
ขณะที่กล่าวคำหยาบ เป็นผรุสวาจา ไม่ใช่สัมผัปปลาปวาจา ไม่ใช่การพูดเพ้อเจ้อ
ชีวิตประจำวัน ยากที่พ้นไปจากอกุศล เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้วขณะใดที่จิตไม่ได้เป็นไปใน ทาน ศีล-การอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกจากนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่นเป็นต้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ การกล่าววาจาหยาบก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้กล่าววาจาหยาบออกมาได้ เพราะผู้ที่จะดับการกล่าววาจาหยาบคายได้อย่างเด็ดขาด ต้องถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี
วาจาหยาบ เพราะจิตใจหยาบ เนื่องจากเป็นอกุศลจิต แม้จะเป็นวาจาที่ดูไพเราะ แต่เจตนาร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ก็เป็นวาจาหยาบ เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็สามารถขัดเกลาได้ในชีวิตประจำวัน มีความละอาย และความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศลประการนั้นๆ ได้ ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ผรุสวาจาเกิดจากจิตที่ประทุษร้าย
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่านวิทยากรครับ และ ขออนุโมทนาครับ นอกจากนี้ผมยังสงสัยอีก 3 ประเด็นครับ
1. ความสงสัยแรก คือ จากที่ท่านวิทยากรได้กรุณาตอบ หากไม่ปราถนา ให้บุคคลนั้นได้ยิน เช่น พูดกันในที่หนึ่งๆ ปรากฏบุคคลนั้นเดินเข้ามาพอดี ได้ยินครบบ้าง หรือ ไม่ครบบ้าง โดยผู้พูดนึกว่า บุคคลที่ตนกำลังเอ่ยถึงนั้น ไม่ได้ยิน กรณีเช่นนี้ ยังเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์หรือไม่ครบองค์ครับ
2. ในชีวิตประจำวันของครอบครัวหนึ่งๆ ลูกๆ ที่งอแงกับคุณพ่อ คุณแม่ หรือ อาจคุณปู่ คุณย่า สำหรับ กรณีอื่น อาจจะเป็น คุณตา คุณยาย คุณป้า คุณลุง หรือ คุณอา ความเห็นที่ไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความขุ่นเคืองใจขณะที่มีการสนทนากัน หรือ แม้แต่ พี่น้องทะเลาะกันในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนเด็ก หรือ ตอนโต ทำให้มีการ กล่าวคำที่เป็น ผรุสวาจา ออกมา แล้วก็เสียใจกับคำพูดที่ได้กล่าวไป ตรงนี้เองจึงเป็นความปราถนาที่จะขอโทษ พวกท่าน หรือ น้อง ที่ได้เคยเอ่ยผรุสวาจาไป การขอโทษท่าน ปกติที่ทำคือ เดินไปขอโทษ หรือ ขออโหสิกรรม ว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เรานั้นเคยล่วงเกิน ขออโหสิกรรม กับเราด้วย การขอโทษ หรือ ขออโหสิกรรม ต่อกัน เคยได้ยินมาว่า กรรมนั้นจะเบาบางลง หรือ เป็นการขอคืน ตรงนี้เอง ใคร่จะขอให้ ท่านวิทยากร ท่านผู้รู้ ช่วยกรุณา อธิบาย ถึง การขอโทษต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า พี่ น้อง ญาติ หรือ เพื่อน ที่ ผรุสวาจานั้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน และ การขอขมานั้นจะมีผลอย่างไร เพราะกรรม ก็ได้กระทำไปแล้ว
3. การเกิดเป็นลูก หลาน พี่น้องกัน ถึงแม้ในหลายขณะ อาจเป็นความผูกพันธ์ที่มีต่อกัน หรือ อาจจะเรียกว่า มีความสุขกับครอบครัว ในขณะเดียวกัน ก็สงสัยว่า ลูกๆ มัก ดื้อกับพ่อแม่ หรือ บุคคลที่เลี้ยงเรามา ทะเลาะกับพี่น้อง เพื่อนบ้าง ด้วยเหตุอันใด ทั้งๆ ที่ก็ยังรักกัน หรือ ห่วงใยกัน เลยสงสัยว่า เหมือนย้อนแย้งหรือไม่ ที่รักกัน ห่วงกัน แต่ก็กระทำไม่ดีต่อกันและกันได้
เรียน ความคิดเห็นที่ ๓ ครับ
๑.เข้าใจว่า กำลังของอกุศล ไม่มากถึงขั้นที่จะประสงค์สร้างความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้กับบุคคลผู้นั้น เพราะไม่ประสงค์ที่จะให้เขาได้ยิน แม้ว่าจะไม่ครบองค์ของอกุศลกรรมบถ แต่ก็สะสมอกุศลเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อไปอีกมากทีเดียว อกุศล ไม่นำมาซึ่งประโยชน์สุขใดๆ เลยแม้แต่น้อย ควรที่จะได้เห็นโทษของอกุศลจริงๆ
๒. อกุศลกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ และยังสามารถที่จะให้ผล เป็นผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ แต่ประโยชน์ของการขอขมาหรือขอโทษ คือ เป็นผู้ที่ได้เห็นโทษของอกุศล มีความจริงใจที่จะไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก ซึ่งก็จะเป็นผู้ที่มีความเจริญในคุณความดีต่อไป ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ขอโทษ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ก็จะทำสิ่งที่ผิดต่อไป เป็นโทษต่อไปได้อีกจนยากที่จะแก้ไขได้
๓. เพราะยังมากไปด้วยอกุศล อกุศลจึงเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ขณะที่อกุศลเกิด จะดีไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แต่เมื่อใดที่กุศลเกิด จึงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อกัน แต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่ง มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ซึ่งทั้งหมด ก็คือ ธรรม นั่นเอง ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณครับ
เช่นนี้แล้ว การที่ลูกเคยดื้อ เคยงอแงกับพ่อ แม่ หรือ ผู้เลี้ยงดูท่านอื่นๆ ทะเลาะกับพี่น้อง หรือ เพื่อน จำเป็นเสมอไปไหมครับ ว่า จะต้องเสียใจไปตลอด ณ ขณะที่นึกถึงเรื่องนั้น หรือ เมื่อเจริญกุศลประการต่างๆ มากขึ้น ค่อยๆ ละคลายอกุศล ก็เป็นปัจจัยให้ ถึงแม้เมื่อนึกถึงเรื่องราวในอดีตก็ไม่เศร้ามากจนเกินไป เข้าใจว่าเป็นเพียงสภาพธรรม เพราะในบางครั้งหรือหลายครั้ง เวลานึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เสมือนเรื่องรบกวนใจ เศร้าไปกับ ความคิดบ้าง เสียใจไปกับ สิ่งที่ทำไปแล้วบ้าง ถึงแม้ที่จะได้ขอโทษแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็เกิดความกลัว ว่าผลไม่ดีจะมาเมื่อไหร่ หลังจากตายเลยไหม จิตเศร้าหมองก่อนตายไหม เป็นต้น ก็นำมาซึ่งความฟุ้งซ่านได้อีกครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๕ ครับ
ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ทุกขณะในชีวิต ไม่พ้นจากธรรม (สิ่งที่มีจริง) เลย ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยให้อกุศลเกิด อกุศก็เกิด เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้ว่าจะไม่อยากให้อกุศลเกิด ก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยของกุศล กุศลก็เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราสักขณะเดียว ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...