ชีวประวัติอาจารย์สุจินต์
ดิฉันเห็นว่าอาจารย์สุจินต์เป็นบัณฑิต น่าจะมีหนังสือชีวประวัติของท่านเพื่อให้ปุถุชน (เช่นดิฉัน) ได้ศึกษาป็นแนวทางเพื่อพัฒนาตน ไม่ทราบว่าทางมูลนิธิมีโครงการจัดทำหรือเปล่าคะ หากไม่มีโครงการจัดทำ พอจะให้ข้อมูลได้หรือเปล่าคะ ว่าเหตุใดอาจารย์สุจินต์จึงมุ่งมั่นในทางธรรมเช่นนี้
กระผมมีความเห็นว่า หากเราเข้าใจในกรรม กุศลและอกุศลแล้ว จะไม่สงสัยเลยว่าท่านอาจารย์คงจะได้มีการสั่งสมกุศลกรรมมามากเพียงใด กระผมไม่สงสัยเลย ขออนุโมทนา
ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลที่สมาชิกท่านหนึ่ง post เข้ามานะครับ ดังนี้
โดยสมาชิก : siwa วันที่ : 16-08-2549
กราบขออนุญาตนำประวัติท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งดิฉันได้อ่านใน www.dharma-gateway.com มาลงไว้ให้ทุกท่านได้อ่าน เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ
ประวัติ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
น.ส. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เกิดวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรีคนที่ ๓ ของหลวงบริหารวนเขตต์ (ฉัตร ชูเกียรติ) และนางเจริญ (ปุณสันถาร)
เริ่มศึกษาพระอภิธรรมที่พุทธสมาคม สมัยที่ท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร คุณพระชาญบรรณกิจ คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต เปิดการสอนพระอภิธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณปลาย พ.ศ. ๒๔๙๖ จากนั้นก็ได้ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาตลอดมา โดยอาศัยความอนุเคราะห์ของพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิแห่งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้แปลภาษาบาลีและให้คำแนะนำ
เมื่อเริ่มศึกษาพระอภิธรรมได้พอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ก็ได้มอบหมายให้บรรยายพระอภิธรรม ณ สถานที่ต่างๆ เช่น
พ.ศ. ๒๕๐๐ บรรยายพระอภิธรรมที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นเวลา ๑ ปี
บรรยายพระอภิธรรมเรื่องจิตแก่ผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิง เรือนจำลหุโทษ คลองเปรมประมาณ ๑ ปี
ร่วมเผยแพร่พระอภิธรรมใน ๗ จังหวัดภาคใต้กับคณะกรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย โดย ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นายกพุทธสมาคม ทรงเป็นผู้นำคณะกับท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
นอกจากนี้ก็ได้บรรยายพระอภิธรรมแก่ชมรมพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร แห่งละ ๑ ภาคการศึกษา
นอกจากบรรยายธรรมแล้ว ก็ได้ตอบปัญหาธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้สนใจ ณ สถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น จิตตภาวันวิทยาลัย, วัดชลประทานรังสฤษฏ์, วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง, วัดสวนดอก, วัดพันอ้น, วัดดงเทวีและที่พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่, วัดมหาโลก จังหวัดสระบุรี, โรงพยาบาลศิริราช, มหาวิทยาลัยมหิดล, ชมรมสนทนาภาษาธรรมการไฟฟ้านครหลวง, โรงเรียนสามเสนนอก, โรงเรียนวิชูทิศ เป็นต้น
ในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศนั้น ได้สอนพระอภิธรรมมัตถสังคหะภาษาอังกฤษ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ แก่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ชาวต่างประเทศจบปริเฉทที่ ๑ ประกอบการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนา เป็นทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ชาวต่างประเทศเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา สามารถศึกษาและดำเนินงานด้านเผยแพร่พระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น และได้จัดตั้งคณะศึกษาธรรม Dhamma Study Group ซึ่งนอกจากจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษแล้ว ก็ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศทุกวันพุธ ที่ตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย และตึก สว. ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงพ.ศ. ๒๕๒๓
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการและผู้บรรยายพระอภิธรรมของสมาคมศูนย์ค้นคว้าพระพุทธศาสนาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งสมาคมฯ ได้นำคำบรรยายพระอภิธรรมออกอากาศทางสถานีวิทยุด้วย
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บรรยายธรรมเรื่อง แนวทางเจริญวิปัสสนา ที่ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ทุกวันอาทิตย์ (เว้นอาทิตย์ต้นเดือน) และมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยได้นำเทปออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๕ บรรยายพระธรรมทุกวันอาทิตย์ (เว้นวันอาทิตย์ต้นเดือน) ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร และนำเทปคำบรรยายออกอากาศทางสถานีวิทยุ สทร. ๒ บางนา ด้วยกำลังศรัทธาของผู้ฟัง ทำให้คณะศึกษาธรรมสามารถจัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีคณะกรรมการบริหารงานดังนี้
น.ส. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการ
พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์ รองประธานกรรมการ
พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ กรรมการ
นางสงวน สุจริตกุล กรรมการ
คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ
นางเกศินี ฉายะพงศ์ กรรมการ
น.ส. ดวงเดือน บารมีธรรม กรรมการและเหรัญญิก
น.ส. จารุพรรณ เพ็งศรีทอง กรรมการและเลขานุการ
เมื่อได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้ว พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์ ได้ดำเนินการติดต่อขอนำเทปคำบรรยายธรรม ซึ่งได้ออกอากาศติดต่อตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงปัจจุบัน ไปออกอากาศสถานีวิทยุต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งทางมูลนิธิก็พยายามติดต่อขอนำเทปคำบรรยายธรรมออกอากาศตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับฟังทุกจังหวัด
ในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่างประเทศนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับเชิญจาก Buddhist Information Center ประเทศศรีลังกา โดยพระมหาสังฆนายก Madihe Pannasiha ไปร่วมสัมมนาหลักธรรมกับพระเถระและอุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนา และได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรมที่ Colombo Kandy Anuradhapura ตามสถานที่และสมาคมของชาวพุทธต่างๆ ทุกวันตั้งแต่ ๓๐ มีนาคม ถึง ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๐
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานโล่ห์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา
ข้อความต่อไปนี้คัดลอกจากหนังสือ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๒๘
อาจารย์สุจินต์ได้บรรยายพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนสมัยปัจจุบัน และสามารถนำมาปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของแต่ละคน ทั้งชีวิตแบบบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยไม่ต้องกระทำสิ่งใดให้ผิดปกติขึ้นมา และไม่ต้องปลีกตัวหลีกหนีจากหน้าที่การงานและสังคม อีกทั้งท่วงทำนองและน้ำเสียงการบรรยายที่ชัดเจน กังวาน และมีเหตุผลสืบเนื่องต่อกันตามลำดับ ชวนแก่การสนใจและติดตาม อนึ่ง ประการที่สำคัญที่สุดคือ การบรรยายธรรมของอาจารย์สุจินต์ เป็นการบรรยายโดยยึดถือตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก และอรรถกถาอย่างเคร่งครัด อันส่งผลให้พระและคฤหัสถ์จำนวนมากมีความเข้าใจในพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐานอย่างถูกต้องตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา