ความมีมิตรดี [ทุติยเสขสูตร]

 
pirmsombat
วันที่  30 เม.ย. 2550
หมายเลข  3595
อ่าน  1,932

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ -หน้า 121

๗. ทุติยเสขสูตร

ว่าด้วยความมีมิตรดี

[๑๙๕] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่ง อย่างอื่น การทำเหตุที่มี ณ ภายนอกว่ามีอุปการะมาก เหมือนความมีมิตรดี นี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดีย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดมี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ภิกษุใดผู้มีมิตรดี มีความยำเกรง ความเคารพ กระทำตามคำของมิตรดี ทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ ภิกษุนั้นพึงบรรลุธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง โดยลำดับ.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบ ทุติยเสขสูตรที่ ๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 1 พ.ค. 2550

ถ้าไม่มีปัญญา เราก็จะไม่รู้เลยว่าใครเป็นมิตรกับเราจริงๆ ต้องเทียบเคียงกับพระไตร-ปิฎกเช่น เรื่อง มิตรแท้และมิตรเทียม จึงควรมีพระธรรมเป็นเครื่องตัดสินว่าใครเป็นมิตรที่แท้จริง มิใช่อาศัยความถูกใจหรือเพราะเขาชมเรา ไม่ติหรือเตือนเรา จึงเอาเราเป็นประมาณไม่ได้ แต่ต้องมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มิเช่นนั้นเราก็จะได้มิตรเทียม ที่คอยหวังผลประโยชน์เรา แต่ก็อย่างว่าครับ การที่เราจะได้มิตรดีซักคนก็อยู่ที่บุญเก่าของเราด้วยที่สำคัญที่สุด คุณเป็นมิตรแท้กับคนอื่นหรือยังครับ

เรื่อง มิตรแท้ อยู่ที่คำชมหรือคำเตือน

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 228

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลหนึ่งในหมู่บ้านแคว้นกาสีแห่งหนึ่ง พอเจริญวัยแล้ว ไม่เลี้ยงชีวิตด้วยกสิกรรมและพาณิชกรรมเป็นต้น แต่รวบรวมพวกโจร ๕๐๐ เป็นหัวหน้าโจรเหล่านั้นกระทำโจรกรรม เช่น ปล้นคนเดินทางและตัดช่องย่องเบา เป็นต้นเลี้ยงชีวิต. ในกาลนั้น มีกฎุมพีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี ให้ทรัพย์พันกหาปณะแก่ชาวชนบทคนหนึ่ง ยืมไป แต่ยังไม่ได้เอากลับคืนมา ก็ตายเสียก่อน. ครั้นในในกาลต่อมา ภรรยาของกฎุมพีนั้น ป่วยเป็นไข้ใกล้จะตาย จึงเรียกบุตรมาบอกว่า ดูก่อนพ่อ บิดาของเจ้าให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ชาวชนบทคนหนึ่ง ยืมไป ยังไม่ได้ให้นำคืนมาก็ตายเสียก่อน ถ้าแม้แม่จักตายไป เขาก็จักไม่ให้เจ้า ไปเถิดเจ้า เมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าจงไปนำทรัพย์พันกหาปณะนั้นมาเก็บไว้.

บุตรนั้นรับคำแล้วไปในที่นั้นได้กหาปณะมา. ลำดับนั้น มารดาของเขาก็กระทำกาลกิริยาตายไป เพราะความรักบุตร จึงบังเกิดเป็นสุนัขจิ้งจอกโดยอุปปาติกะกำเนิดอยู่ ณ ที่ใกล้ทางมาของบุตรนั้น. ในกาลนั้น หัวหน้าโจรนั้น เมื่อจะปล้นคนเดินทาง จึงพร้อมด้วยบริวารยืนอยู่ใกล้หนทางนั้น. ลำดับนั้น นางสุนัขจิ้งจอกนั้น เมื่อบุตรมาถึงปากดง จึงคุ้ยหนทางห้ามซ้ำๆ ซากๆ อันเป็นสัญญาณให้รู้ดังนี้ว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าอย่าเข้าดงเลย พวกโจรตั้งซุ่มอยู่ที่นั้น พวกมันจักฆ่าเจ้าแล้วยึดเอากหาปณะไป. บุตรนั้นไม่รู้เหตุการณ์อันนั้นคิดว่า นางสุนัขจิ้งจอก กาลกิณีตัวนี้มาขุดคุ้ยหนทางเรา จึงหยิบก้อนดินนั้นไล่มารดาให้หนีไป แล้วเดินทางไปยังดง.

ลำดับนั้น นกกระไนตัวหนึ่งบินบ่ายหน้าไปทางโจรร้องว่า บุรุษผู้นี้ มีทรัพย์พันกหาปณะอยู่ในมือ. พวกท่านจงฆ่าบุรุษผู้นี้แล้วยึดเอากหาปณะไว้. มาณพไม่รู้เหตุที่นกกระไนนั้นกระทำ จึงคิดว่า นกตัวนี้ เป็นนกมงคล บัดนี้ ความสวัสดีจักมีแก่เรา. จึงประคองอัญชลีกล่าวว่า ร้องเถอะนาย ร้องเถอะนาย.พระโพธิสัตว์เป็นผู้รู้เสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง เห็นกิริยาของสัตว์ทั้งสองนั้นแล้วจึงคิดว่า นางสุนัขจิ้งจอกนี้ คงจะเป็นมารดาของบุรุษผู้นี้ ด้วยเหตุนั้นจึงห้ามปราม เพราะกลัวว่า พวกโจรจักฆ่าบุรุษผู้นี้แล้วยึดเอากหาปณะไป ส่วนกนกระไนนี้ คงจะเป็นศัตรูด้วยเหตุนั้น มันจึงร้องบอกว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าบุรุษผู้นี้แล้วยึดเอากหาปณะ แต่บุรุษนี้ ไม่รู้ความหมายนี้ คุกคามมารดาผู้ประโยชน์นาประโยชน์ให้หนีไป ประคองอัญชลีแก่นกกระไนผู้ใคร่ต่อความฉิบหาย ด้วยความเข้าใจว่า เป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่เรา โอหนอ บุรุษนี้เป็นคนเขลา.ก็การถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น แห่งพระโพธิสัตว์แม้ผู้เป็นมหาบุรุษอย่างนี้ ย่อมมีได้ด้วยอำนาจการถือปฏิสนธิอันไม่สม่ำเสมอ

บางอาจารย์กล่าวว่า เพราะโทษแห่งดาวนักขัตฤกษ์ ดังนี้ก็มี. มาณพเดินทางมาถึงระหว่างแดนแห่งพวกโจร. พระโพธิสัตว์ให้จับมาณพนั้น แล้วถามว่าเจ้าเป็นชาวเมืองไหน มาณพกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นชาวเมืองพาราณสี. พระโพธิสัตว์. เจ้าไปไหนมา มาณพ. ทรัพย์พันกหาปณะ ที่ควรจะได้ มีอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปที่หมู่บ้านนั้นมา. พระโพธิสัตว์. ก็ทรัพย์พันกหาปณะนั้น เจ้าได้มาแล้วหรือ ? มาณพ.ได้มาแล้วขอรับ. พระโพธิสัตว์. ใครส่งเจ้าไป.? มาณพ. นาย บิดาของข้าพเจ้าตายแล้ว ฝ่ายมารดาของข้าพเจ้าก็ป่วยไข้ มารดาสำคัญว่าเมื่อเราตายไป บุตรนี้จักไม่ได้ทรัพย์คืน จึงส่งข้าพเจ้าไป.

พระโพธิสัตว์. บัดนี้ เจ้ารู้ความเป็นไปแห่งมารดาของเจ้าไหม มาณพ.ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าไม่รู้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า มารดาของเจ้า เมื่อเจ้าออกมาแล้วก็ตาย เพราะความรักบุตรจึงเกิดเป็นนางสุนัขจิ้งจอกเป็นผู้กลัวภัยคือความตายของเจ้า จึงขุดคุ้ย ณ ที่สุดปลายทางห้ามเจ้าไว้. แต่เจ้าคุกคามนางสุนัขจิ้งจอกนั้นให้หนีไป ส่วนนกกระไนเป็นปัจจามิตรของเจ้า มันร้องบอกพวกเราว่า พวกท่านจงฆ่าบุรุษนี้ แล้วยึดเอากหาปณะ เพราะเจ้าเป็นคนโง่เขลา เจ้าจึงสำคัญมารดาผู้ปรารถนาประโยชน์ว่าเป็นผู้ไม่ปรารถนาแก่เรา สำคัญนกกระไนผู้ปรารถนาความฉิบหาย ว่าเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่เรา ชื่อว่าคุณความดีที่เจ้ากระทำแก่พวกเรา ไม่มี แต่มารดาของเจ้ามีพระคุณมากหลายถึงจะตายแล้วก็จริง เจ้าจงถือเอากหาปณะทั้งหลายไปเถิด แล้วปล่อยมาณพนั้นไป. พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเอง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านั้นว่า :-

มาณพสำคัญนางสุนัขจิ้งจอก ซึ่งเที่ยว ไปในป่า ผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้บอกให้ ทราบด้วยอาการ ในระหว่างทาง ว่าเป็นผู้ ปรารถนาความฉิบหาย และสำคัญนกกระไน ผู้ใคร่ต่อความฉิบหาย ว่าเป็นผู้ปรารถนาประ- โยชน์ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อม เป็นเช่นกับมาณพนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน อันชนทั้งหลาย ผู้ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล กล่าวคำตักเตือน ย่อมรับเอาโดยไม่เคารพ. อนึ่ง ชนเหล่าใด สรรเสริญบุคคลนั้นก็คือ ยกย่องบุคคลนั้น เพราะความกลัวก็ดี ก็มา สำคัญชนเหล่านั้นว่าเป็นมิตร เหมือนมาณพ สำคัญนกกระไนว่าเป็นมิตรฉะนั้น.

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 พ.ค. 2550
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natnicha
วันที่ 2 พ.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ค. 2550

ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนมี 4 ข้อ

1. การให้ เช่น ให้ อามิสทาน ธรรมทาน

2. การพูดอ่อนหวาน ด้วยกุศลจิต

3. การบำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน คือ การช่วยเหลือกัน

4. ความเป็นผู้มีตนเสมอ เช่น มีศีล และ ทิฏฐิ เสมอกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 7 พ.ค. 2550

มิตรที่ดีคือสัตบุรุษ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 155

บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวกสัตบุรุษ บุคคล ทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว มีแต่ คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษลามกเลย.

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 23 ต.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2563

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม และ อรรถกถา...

ว่าด้วยความมีมิตรดี [ทุติยเสขสูตร และ อรรถกถา]

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ