พุทธศาสนามหายาน Mahayana คืออย่างไร ไปมาอย่างไร

 
jirasak0143
วันที่  4 พ.ค. 2550
หมายเลข  3626
อ่าน  5,637

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

เนื่องจากกระผมพบ เรื่องเกี่ยวกับนิกาย มหายาน นิกายนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ พระอุทายี พระเมตติยะ และพระภุมมชกะ หรือเปล่าครับ ผมรู้สึกว่าแปลกๆ ครับ ดูคำสอนแล้วขัดแย้งกับ ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

จิรศักดิ์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 4 พ.ค. 2550

ในอรรถกถากถวัตถุ พระอภิธรรมปิฎก กล่าวถึงเหตุการณ์ความแตกแยกความเห็นต่างๆ หลังปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี มีดังนี้

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

นิกายต่างๆ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน [กถาวัตถุ]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 พ.ค. 2550

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 พ.ค. 2550

เถรวาท คือ คำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า โดยมีท่านพระมหากัสสปะทำสังคยานาครั้งที่ ๑ ส่วนมหายานเกิดขึ้นภายหลัง โดยไม่เป็นไปตามการทำสังคยานาครั้งที่ ๑ เพราะว่าภิกษุสงฆ์มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็เลยการแตกแยกออกมาเป็นนิกายต่างๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jirasak0143
วันที่ 12 พ.ค. 2550

เรียนอาจารย์ที่เคารพ กระผมพึ่งพบข้อความเกี่ยวกับนิกายมหายาน จากพระไตรปิฏก (tipitaka_04 pdf) วินัย เล่ม 4 หน้า 752 ความว่า

ปจฺจตฺถิเก สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคณฺหาติ ชื่อว่า ชนผู้เป็นข้าศึกมี ๒ จำพวกคือ ผู้เป็น ข้าศึกแก่ตนเองจำพวก ๑ ผู้เป็นข้าศึกแก่พระศาสนาจำพวก ๑ บรรดาชนผู้เป็นข้าศึก ๒ จำพวกนั้น พวก ภิกฺขุชื่อ เมตติยะ และกุมมชก กับเจ้าลิจฉวี ชื่อ วัฑฒะ โจทด้วยอนฺติวัตถุอันไม่มีมูล ชนพวกนี้ ชื่อว่า ผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง ส่วน อริฏฐภิกฺขุ กัณฑกสามเณร ภิกฺขุวัชชีบุตรขาวเมืองเวสาลีผู้ความเห็นวิปริต และ พวกภิกฺขุฝ่ายมหายานนิกายมหาสังฆิ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มีสัทธิปรูปหารอัญญาณ กังขา และปรวิตรณา * ทำการยกย่อง กล่าวอ้างคำสอนมิใช่พุทธศาสนาว่า พุทธศาสนา ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ศาสนา วินัยธรบุคคลจะข่มขี่ชนผู้เป็นข้าศึกเหล่านั้นแม้ทั้งหมดให้ราบคาบ โดยประการที่พวกเขาไม่สามารถประดิษฐานอสัทธรรมขึ้นได้ โดยสหธรรม คือโดยคำเป็นเหตุร่วมกัน

[อธิบายพระสัทธรรม ๓ อย่าง]

ก็คำว่า สทฺธมฺมฏฐิติยา ปฏิปนฺโน โหติ นี้ สัทธรรมมี ๓ ด้วยสามารถแห่งปริยติ ปฏิบัติและอธิคม บรรดาสัทธรรมทั้ง ๓ นั้น พุทธพจน์ คือ ปิฏก ๓ ชื่อว่าปริยัติสัทธรรม ธรรมนี้ ธุดงคคุณ ๑๓ ขันธกวัตร ๑๔ มหาวัตร ๘๒ ชื่อว่า ปฏิปัติสัทธรรม มรรค ๔ ผล ๔ นี้ ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม

* พระอรหันต์ ฯ พระอรหันต์ยังมีความไม่รู้ พระอรหันต์ยังมีความสงสัย พระอรหันต์ หายสวสัยเพราะผู้อื่น ดูอธิบายในสารัตถทีปนี ๓/๓๖๖. ผู้ชำระ บรรดาสัทธรรมมีปริยัติธรรมเป็นต้นนั้น พระเถระทั้งหลายบางพวก กล่าวว่า ปริยัติเป็นมูลรากของศาสนา โดยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดังนี้.

พระเถระบางพวกกล่าวว่า ปฏิบัติเป็นมูงของศาสนา โดยสูตรนี้ว่า ดูก่อนสุภัตทะ ภิกฺขุทั้งหลายเหล่านี้แลพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วกล่าวว่า ภิกฺขุทั้งหลาย ๕ รูป ผู้ปฏิบัติโดยชอบยังมีอยู่เพียงใด ศาสนา จัดว่ายังดังอยู่เพียงนั้น.

ส่วนพระเถระอีกพวกหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อปริยัติอันตรธานแล้ว แม้บุคคลผู้ปฏิบัติดีก็ไม่มีการบรรลุธรรม แล้วกล่าวว่า ถ้าแเม้ภิกฺขุ ๕ รูป จะเป็นผู้รักษาปาราชิกไว้ได้ภิกฺขุเหล่านั้น ให้กุลบุตรทั้งหลาย ผู้มีศัทธาบรรพชาแล้วให้อุปสมบท แม้ในปัจจันตประเทศ ให้ครบคณะทสวรรค แล้วจักทำการอุปสมบท แม้ในมัธยมประเทศ. ให้ภิกฺขุสงฆ์ครบวิสติวรรคแล้ว จักทหอัพภานกรรมแม้เพื่อตน ยังศาสนา ให้ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยอุบายอย่านี้.

พระวินัยธรนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่น แห่งพระสัทธรรมทั้ง ๓ ด้วยประการอย่างนี้แล. บัณฑิตพึงทราบว่า พระวินัยธรนี้ ย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างเหล่านี้ก่อน ด้วยประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ภพฺพาคมโน
วันที่ 8 มิ.ย. 2550

กำเนิดมหายาน

พ.ศ. ๑๐๐ หรือพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุเมืองเวสาลี (สันสกฤตเรียกว่า ไวศาลี หรือ ไพศาลี Vishali) ได้แตกเป็น ๒ ฝ่าย ด้วยความเห็นขัดแย้งกัน ในวัตถุ ๑๐ ประการ และเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง วัตถุ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์เคยห้ามไว้ แต่พระวัชชีบุตรกล่าวว่าสมควรทำได้ วัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้คือ

๑. สิงคโลณกัปปะ พระภิกษุสั่งสมเกลือในกลักเขาเป็นต้น แล้วนำไปผสมอาหารอื่น ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งผิดพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสั่งสมของเคี้ยวของฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์

๒. ทวังคุลกัปปะ ภิกษุฉันอาหารเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลี ได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอาหารในยามวิกาล ถ้าฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์

๓. คามันตรกัปปะ ภิกษุฉันจากวัด แล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารก็ฉันได้อีกในเวลาเดียวกัน แม้ไม่ได้ทำวินัยกรรมมาก่อนซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอดิเรก ถ้าฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์

๔. อาวาสกัปปะ อาวาสใหญ่มีสีมาใหญ่ ทำอุโบสถแยกกันได้ ในพระวินัยห้ามการทำอุโบสถแยกกัน ถ้าแยกกันเป็นอาบัติปาจิตตีย์

๕. อนุมติกัปปะ ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมาจะทำอุโบสถก่อนก็ได้ แต่พระวินัยห้ามไม่ให้กระทำเช่นนั้น

๖. อาจิณกัปปะ ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยปฏิบัติกันมา ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ แม้ประพฤติ ผิดก็ควร

๗. อมัตถิกกัปปะ ภิกษุฉันอาหารแล้วไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ไม่ได้แปลเป็นนมส้มไม่ควร แต่วัชชีบุตรว่าควร

๘. ชโลคิง ปาตุง เหล้าอ่อนที่ไม่ได้เป็นสุราน้ำเมาฉันได้ ซึ่งขัดพระวินัยที่ห้ามดื่มน้ำเมา

๙. อทศกัง นิสีทนัง ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร

๑๐. ชาตรูปรชตัง ภิกษุรับเงินและทองก็ได้

แต่คัมภีร์พุทธศาสนามหายานจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ที่มีชื่อว่า เภทธรรมติจักรศาสตร์ กล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่ใช่สาเหตุมาจากวัตถุ ๑๐ ประการ แต่มาจากมติ ๕ ข้อของพระมหาเทวะ สาเหตุที่แท้จริงมาจากมติเหล่านี้คือ

๑. พระอรหันต์อาจถูกมารยั่วยวนได้ด้วยความฝัน

๒. บุคคลเป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่รู้ตัวต้องให้ผู้อื่นพยากรณ์

๓. พระอรหันต์ยังมีความสงสัยของพระพุทธเจ้า

๔. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้โดยไม่มีพระพุทธเจ้าไม่ได้

๕. บุคคลจะบรรลุพระอรหันต์ได้ด้วยการเปล่งว่า ทุกข์หนอๆ


๔. ประวัติพระมหาเทวะ (Mahadeva)

สำหรับพระมหาเทวะ ผู้มีมติ ๕ ประการนั้น เดิมเป็นบุตรนายพาณิชย์แห่งแคว้นมถุรา ปรากฏว่าเป็นผู้มีรูปงาม เป็นที่ต้องใจของเพศตรงกันข้าม เมื่อบิดาได้ไปขายสินค้าต่างแดน ได้ลักลอบเป็นชู้กับแม่ของตนเอง เมื่อบิดากลับจากค้าขายก็กลัวความลับแตกจึงลอบฆ่าบิดาเสีย แล้วพามารดาไปเมืองปาฏลีบุตรอยู่กินกันที่นั้น ต่อมาได้รู้จักพระเถระที่เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งที่ตนสนิทคุ้นเคย เพราะกลัวความลับจะแตกจึงได้ลอบฆ่าท่านเสีย เมื่อมารดาแอบไปมีชู้จึงฆ่ามารดาตัวเองเสีย เกิดความกระวนการะวายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำอนันตริยกรรมทั้งฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดาตัวเอง แล้วไปขออุปสมบที่กุกกฏาราม คณะสงฆ์ไม่ทราบเรื่องที่ได้ก่อ จึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ

เมื่อบวชแล้วกลับเป็นผู้มีความจำดี มีเสียงไพเราะ มีรูปร่างดีจึงมีชื่อเสียงทั่วกรุงปาฏลีบุตร ต่อมาคืนหนึ่งได้ฝันถึงกามวิตกทำให้อสุจิเคลื่อน เมื่อให้ศิษย์ไปซักให้ตอนเช้า เมื่อศิษย์เห็นจึงกล่าวว่า ผู้เป็นอรหันต์ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่หรือ ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์อาจถูกมารกวนในความฝันได้ ต่อมาพระมหาเทวะต้องการยกย่องลูกศิษย์ จึงกล่าวว่าคนนี้เป็นโสดาบัน คนนี้เป็นพระอรหันต์ เมื่อศิษย์ถามว่าคนที่เป็นพระอรหันต์ย่อมมีความรอบรู้ในทุกสิ่งมิใช่หรือ เหตุใดตนจึงไม่ทราบอะไร จึงตอบว่า พระอรหันต์อาจจะไม่รู้ได้บางเรื่องต้องให้คนอื่นพยากรณ์จึงจะทราบ เมื่อศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่กังขาในธรรม แต่เหตุใดข้าพเจ้าจึงไม่แจ่มแจ้งในธรรม ท่านตอบว่า ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมมีความกังขาได้ ต่อมาศิษย์ถามต่อว่า ธรรมดาพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมรู้แจ้งด้วยตนเองว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ครบแล้ว แต่เหตุใดข้าพเจ้าต้องให้อาจารย์พยากรณ์ให้ ท่านตอบว่า พระอรหันต์ต้องให้คนอื่นพยากรณ์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็อาศัยพระพุทธองค์พยากรณ์ และต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อท่านทำกรรมมากๆ เข้าจึงเกิดความทุกข์ร้อนรนในใจจึงเปล่งอุทานว่า ทุกข์หนอๆ เมื่อศิษย์ได้ยินและถามว่า เมื่อเป็นพระอรหันต์เหตุใดจึงมีทุกข์ ท่านตอบว่า ผู้จะบรรลุธรรมได้ต้องอุทานว่าทุกข์หนอๆ เป็นเพราะท่านเป็นพระธรรมกถึกมีลูกศิษย์มากจึงรวบรวมพรรคพวกได้มาก และนี้คือสาเหตุการทำสังคายนา ครั้งที่ ๒ ตามนัยคัมภีร์เภทธรรมติจักรศาสตร์ ของพระวสุมิตร แต่หลักฐานยังไม่เป็นที่เชื่อถือมากนัก ส่วนมากยังถือว่าเหตุสังคายนามาจากวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ต่อมาพระยสเถระ ซึ่งเป็นบุตรของกากัณฑพราหมณ์ ได้เดินทางมาจากเมืองโกสัมพีมายังเมืองเวสาลี และเมื่อทราบเหตุเหล่านี้จึงเข้าไปห้ามปราม แต่ภิกษุเหล่านั้นหาเชื่อฟังไม่ นอกจากนั้นพวกภิกษุ ได้นำถาดทองสัมฤทธิ์ใส่น้ำเต็มเปี่ยมไปตั้งไว้ในโรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้น เพื่อถวายภิกษุแล้วนำไปแจกและได้แบ่งส่วนให้พระยสะด้วย แต่พระยสะไม่ยอมรับทั้งได้กล่าวติเตียนภิกษุชาววัชชี ว่าการกระทำนี้ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับ ทั้งผู้ถวายพวกภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจ จึงประกาศลงปฏิสาราณิยกรรมแก่พระยสะ โดยให้ท่านไปขอขมาโทษทายกเสีย แทนที่จะไปขอขมาโทษตามคำแนะนำของภิกษุชาววัชชี แต่พระยสะกลับชี้แจงแก่ทายก จนทายกเข้าใจและเป็นพวกกับพระเถระ ทายกส่วนมากเข้าใจดีกว่าการที่ท่านทำไปเช่นนั้นเป็นการชอบด้วยธรรมวินัยแล้ว และการกระทำของภิกษุชาววัชชีเป็นการผิด

เมื่อพระยสะ ปรับความเข้าใจแก่ทายกเช่นนี้แล้ว ก็มีคนเลื่อมใสในพระยสะเป็นอันมาก ภิกษุชาววัชชีเมื่อได้รับข่าวทราบนั้นก็พากันแสดงความโกรธ ให้ลงโทษพระยสะ คือประกาศจะทำอุกเขปนียกรรม ถึงกับได้พากันห้อมล้อมกุฏิของพระยสะ แต่ท่านทราบเสียก่อน จึงได้หลบหนีไปยังเมืองโกสัมพี เมื่อไปถึงเมืองโกสัมพีแล้ว พระยสะได้ส่งข่าวไปให้ภิกษุชาวเมืองปาวาและภิกษุชาวเมืองอวันตีทราบ นิมนต์เหล่านั้นมาประชุมเพื่อตัดสินปัญหาธรรมวินัย และเพื่อป้องกันรักษาพระวินัย จากนั้นพระยสะได้เดินทางไปหาพระสัมภูเถระ ที่อโหคังคบรรพต เพื่อชี้แจงพฤติการณ์ของภิกษุชาววัชชีทั้งหลายให้ท่านทราบ

ต่อมามีภิกษุเดินทางมาจากเมืองปาวา ๖๐ องค์ และจากเมืองอวันตี ๘๐ องค์ มาร่วมประชุมที่อโหคังคบรรพต ทุกท่านล้วนเป็นพระขีณาสพ ภิกษุ ทั้งหลายที่ได้เดินทางมาร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนั้นได้จัดการประชุมกันขึ้น ที่ประชุมได้มีมติว่าควรนิมนต์ท่านเรวตเถระเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะท่านเป็นขีณาสพ เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์ เป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก ทั้งยังแตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่อมใสของภิกษุหมู่ใหญ่ จึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่าน ที่เมืองโสเรยยะ ใกล้เมืองตักสิลา แต่ไม่พบท่าน ทราบว่าท่านเดินทางไปยังสหชาตินครในแคว้นเจตี พระภิกษุเหล่านั้นได้ติดตามท่านไปยังเมืองสหชาตินคร

ฝ่ายภิกษุชาวเมืองวัชชี เมื่อได้ทราบข่าวว่าภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระยสะที่เดินทางมาจากปาวาและอวันตี กำลังร่วมชุมนุมกันเพื่อตัดสินอธิกรณ์ของพวกตนจึงได้จัดพระภิกษุไปนิมนต์ท่านเรวตเถระ ที่สหชาตินครเพื่อมาเป็นฝักฝ่ายของตน ได้ส่งสมณบริขาร เป็นต้นว่าบาตร จีวร กล่องเข็มผ้านิสีทนะและผ้ากรองน้ำไปถวายพระเรวตเถระ ภิกษุชาววัชชีเหล่านั้นได้ลงเรือจากเมืองเวสาลีไปยังเมืองสหชาตินคร เมื่อไปถึงแล้วได้ให้พระอุตตระซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเรวตเถระ นำเข้าถวายบริขารและกราบเรียนพฤติการณ์ทั้งหลายให้ท่านทราบตลอดทั้งได้ขอร้องให้ท่านเข้ามาเป็นฝักฝ่ายของตนด้วย

พระเรวตเถระไม่เห็นดีด้วย เพราะท่านเห็นว่าวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนั้นไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงทำให้พระภิกษุชาววัชชีผิดหวัง เสียใจมากเพราะได้ขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญไป จึงเดินทางกลับไปยังเมืองเวสาลี ได้ขอความช่วยเหลือจากบ้านเมือง ฝ่ายพระเจ้ากาลาโศก ได้ถวายความอุปถัมภ์และคุ้มครอง ป้องกันภิกษุชาววัชชี มิให้ภิกษุสงฆ์ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเบียดเบียนได้

ครั้งต่อมา มีนางภิกษุณีองค์หนึ่งชื่อว่า นันทาเถรี ซึ่งได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว เป็นพระญาติองค์หนึ่งของพระเจ้ากาลาโศกทราบข่าวการแตกสามัคคีของพระสงฆ์ จึงได้เข้าไปห้ามมิให้พระเจ้ากาลาโศกหลงเชื่อคำของภิกษุของชาววัชชี ซึ่งพระเจ้ากาลาโศกได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และเมื่อทรงทราบความเป็นไปโดยละเอียดของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว พระองค์ทรงกลับพระทัยมาบำรุงอุปถัมภ์ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระยสะหรือภิกษุฝ่ายวินัยวาที

ฝ่ายภิกษุฝ่ายวินัยวาที ครั้งแรกก็ได้ตั้งใจว่าจะพิจารณาหาทางระงับอธิกรณ์เสียที่สหชาตินครนั้น แต่พระเรวตเถระไม่เห็นด้วยที่จะทำกันในที่นั้น โดยให้เหตุผลว่าควรไปทำที่เมืองเวสาลี เพราะเหตุเกิดที่เมืองไหนควรไประงับที่เมืองนั้น ที่ประชุมเห็นด้วย จึงได้เดินทางไปเมืองเวสาลีเพื่อประชุมสังคายนา

แล้วคณะสงฆ์โดยการนำของพระสัพพกามีจึงจัดให้มีการประชุมสังคายนาครั้งที่ ๒ กันขึ้น ที่ว่าลุการาม (อารามดินทราย) เมืองเวสาลีในการประชุมครั้งนี้ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมถึง ๗๐๐ รูป ทำให้การประชุมไม่ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพราะเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมมากไป ต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานาน ที่ประชุมจึงได้ตกลงเลือกเอาพระขีณาสพที่มาจากประเทศตะวันออก ๔ รูป คือ

๑. พระสัพพกามี ๒. พระสาฬหะ ๓. พระกุชชโสภิตะ ๔. พระวาสภคามิกะ
ทำหน้าที่วินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น และจากประเทศตะวันตก (เมืองปาวา) อีก๔ รูป คือ

๑. พระเรวตะ

๒. พระสาณสัมภูตะ

๓. พระยศกากัณฑบุตร

๔. พระสุมนะ

มีหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่เสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์ รวมทั้งหมด ๘ รูป เป็นผู้ทำการสาธยาย พระธรรมวินัยและนำอธิกรณ์เข้าสู่สงฆ์เพื่อระงับ และในจำนวน ๘ รูปนี้ ๖ รูป เป็นลูกศิษย์ของพระอานนท์คือ พระสัพพกามี พระเรวตะ พระกุชชโสภิตะ พระสาณสัมภูตะและพระยศกากัณฑบุตร อีก ๒ รูป คือ พระวาสคามิกะ และพระสุมนะ เป็นลูกศิษย์ของพระอนุรุทธะ ที่ประชุมได้ตกลงแต่งตั้งให้ ๑. พระอชิตะ เป็นผู้จัดสถานที่ ประชุมสังคายนา ๒.พระสัพพกามี เป็นประธานในที่ประชุม

สาเหตุที่คณะสงฆ์เลือกเอาพระสัพพกามีเป็นประธานในที่ประชุมนั้น เพราะท่านเป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก คือ มีพรรษา ๑๒๐ ปี แก่กว่าพระภิกษุทั้งหลายในที่ประชุม ทั้งเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในฐานะควรเคารพสักการะของภิกษุและประชาชนทั่วไป การประชุมครั้งสุดท้ายนี้ มีพระขีณาสพเข้าร่วมเพียง ๘ รูปเท่านั้น และได้ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า การปฏิบัติของภิกษุชาววัชชีไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย ได้ประชุมกันที่วาฬุการามนอกเมืองเวสาลี พระเจ้ากาฬาโศกอุปถัมภ์ ๘ เดือน จึงสำเร็จ

ฝ่ายพระวัชชีบุตรเมื่อไม่ได้การอุปถัมภ์จึงเสียใจ แล้วพร้อมใจกันไปทำสังคายนา ต่างหากที่เมืองปาฏลีบุตรมีผู้เข้าร่วมถึง ๑๐,๐๐๐ รูป เรียกตนเองว่ามหาสังคีติ เพราะมีพวกมาก เป็นอันว่า พุทธศาสนามหายาน เริ่มมีเค้าเกิดขึ้นในสมัยนี้เอง เพราะเหตุแห่งความขัดแย้งนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 16 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
udomjit
วันที่ 17 ม.ค. 2551

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 22 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wkedkaew
วันที่ 22 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pornchai_yod
วันที่ 18 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 13 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ