มังสวิรัติ

 
terry
วันที่  4 พ.ค. 2550
หมายเลข  3635
อ่าน  2,466

อยากทราบว่าการละเว้นจากอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน หรือทานอาหารมังสวิรัติ จะมีส่วนในบุญกุศล ช่วยในการเจริญสติ และธรรมปฎิบัติ เพราะมีข้อสงสัยเรื่อง ศีลข้อที่ ๑ ห้าม ฆ่า และทรมานสัตว์ และข้อบัญญัติเรื่อง สัมมาชีพของชาวพุทธ ข้อหนึ่งเรื่อง ห้ามค้า ห้ามขายเนื้อสัตว์เพื่อฆ่า ที่พระพุทธองค์ไม่สนับสนุน นอกจากนี้ เรื่อง เวรกรรม ของผู้ประกอบอาชีพ ดังกล่าว มีมากเหลือหลาย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เนืองๆ นับแต่โบราณกาล และมีการบันทึกในหนังสือ กฎแห่งกรรม พระพุทธองค์ได้พร่ำสอนเรื่อง เมตตา กรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงมีความเห็นว่า ชาวพุทธควรงดเว้นจากอาหารเนื้อสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 5 พ.ค. 2550

ในสมัยครั้งพุทธกาล มีผู้ที่ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต เพราะจะทำให้การดำรงชีวิตของพระภิกษุผู้อาศัยอาหารจากการบิณฑบาตรอยู่อย่างลำบาก เป็นคนเลี้ยงยาก อีกอย่างหนึ่งการเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ สัตว์ไม่เป็นบุญคือ ไม่เป็นกุศลในเรื่องทาน ศีล ภาวนาเลย ถ้าเข้าใจว่า การเว้นบริโภคเนื้อสัตว์จะทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์เป็นความเห็นผิด ในสมัยครั้งพุทธกาลพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอริยสาวกก็บริโภคเนื้อสัตว์ และการบริโภคเนื้อสัตว์ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ฉะนั้น พระภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์ตามพระวินัยจึงไม่มีโทษ ขอเชิญอ่านต่อที่

การกินเนื้อสัตว์

การซื้อเนื้อสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 5 พ.ค. 2550

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... เนื้อที่ไม่ควรบริโภค [ชีวกสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
terry
วันที่ 5 พ.ค. 2550

ขอขอบคุณ ท่านผู้ตอบปัญหา แต่ยังมีข้อสงสัยบางประการว่า ทำไมผู้ที่มีอาชีพค้าขายสัตว์เพื่อฆ่า ผู้ประกอบการฆ่า มักจะประสพผลกรรมร้าย ในเวลาต่อมา จากที่ปรากฎข่าวอยู่บ่อยๆ และไม่นานมานี้ก็มีข่าวเรื่องการฆ่ากันตายในหมู่พี่ๆ น้องๆ ตระกูลเศรษฐีมีสินทรัพย์นับ หมื่นล้านบาท จากข้อมูลทราบว่าต้นตระกูล ได้ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ วัว หมู เพื่อส่งขายตลาดทำรายได้มาก ในแต่ละวัน ทำให้มีเงินทองมากมาย ภายหลังเสียชีวิตลงทำให้ลูกๆ ต้องแย่งชิงมรดก จนมีการฆ่ากันตายในหมู่พี่ น้องๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสะเทือนเป็นอย่างมาก ทั้งที่เป็นชาวพุทธ และข้อสัมมาอาชีพก็มีการกล่าวถึงเรื่อง อาชีพ ค้าขายเนื้อสัตว์เป็นสิ่งไม่ควร อีกประการหนึ่ง แพทย์สมัยปัจจุบัน ได้ค้นคว้าและข้อสรุปบ่อยครั้งถึง อันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่อมวลมนุษย์ชาติ ทำให้ต้องป่วยล้มตาย เป็นจำนวนมากในแต่ละปีเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า พระพุทธองค์ คือ สัพพัญญู หรือพหูสูตผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน จึงมีข้อสงสัยว่า พระองค์น่าจะล่วงรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคตกาล ถึงภัยภิบัติอันตรายจากสัตว์ อีกเนื่องด้วยเวรกรรมของผู้มีอาชีพปาณาติบาตร มีความรุนแรง ไม่อาจล้มล้างได้ จะไม่ส่งผลสะท้อนถึงผู้บริโภค หรือ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 พ.ค. 2550

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเนื้อบริสุทธิ์ ๓ อย่าง คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ คนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะลดลง เพราะบางคนกินเจ ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ตบยุง ฆ่ามด พูดเท็จ พูดส่อเสียด ฯลฯ บุญหรือกุศลอยู่ที่จิต คือขณะที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เท่านั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อิสระ
วันที่ 5 พ.ค. 2550

กิเลสอยู่ที่ใจ 5 5 5 ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 5 พ.ค. 2550

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ตามที่ศีลข้อที่ ๑ องค์ข้อสี่, ประการแรก คือ มีเจตนาฆ่า ถามว่า ขณะที่ทานเนื้อ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่าหรือเปล่าครับ หรือมีเจตนาที่จะบริโภค ถามต่อว่า คนที่ทานมังสะวิรัติกับคนที่ทานเนื้อ จิตขณะนั้นต่างกันไหมถ้าเป็นปุถุชน จิตขณะนั้นมีความต้องการ (โลภะ) เหมือนกันไหม ก็เจตนาที่จะทานเหมือนกัน โลภะเหมือนกันครับ พระอรหันต์ไม่มีกิเลส ทานเนื้อ กับปุถุชนทานมังสวิรัติ จิตของคนทั้งสองที่ทานต่างกันไหม พระอรหันต์ติดในรสไหม พระอรหันต์มีเจตนาฆ่า (สัตว์ที่ให้) เนื้อตอนนั้นไหม ปุถุชนทานมังสวิรัติ ติดในรสไหม ถ้าติดในรส (โลภะ) เป็นบุญหรือบาป ถ้าเป็นโลภะ เรื่อง การห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ ที่ไม่สนับสนุน เพราะคนที่เลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร วัว เพื่ออะไร ก็มีเจตนาเพื่อเอาไปฆ่า เพื่อขายให้คนอื่น ดังนั้น จึงมีเจตนาฆ่าด้วยการเลี้ยงสัตว์ ไว้ก่อนครับ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเจตนา แต่ตอนทานเนื้อสัตว์ มิได้มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาบริโภคครับ ดังนั้น คำว่า การค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ใช่หมายถึงเอาเนื้อไปวางขาย แต่หมายถึง เลี้ยงสัตว์เพื่อเอาไปขาย ซึ่งก็ต้องฆ่าก่อนเอาไปขายครับ ต่างกับการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ขณะนั้นไม่มีเจตนาฆ่า

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 377

อรรถกถาวณิชชสูตร พึงทราบวินิจฉัยในวณิชชสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า วณิชฺชา ได้แก่ ทำการค้าขาย. บทว่า อุปาสเกน ได้แก่ผู้ถึงสรณะ ๓. บทว่า สตฺถวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำอาวุธแล้วก็ขายอาวุธนั้น. บทว่า สตฺตวณิชฺชา ได้แก่ ขายมนุษย์. บทว่า มสวณิชฺชาได้แก่ เลี้ยงสุกรและเนื้อเป็นต้นขาย. บทว่า มชฺชวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ขายของเมา. บทว่า วิสวณิชฺชา ได้แก่ให้เขาทำพิษแล้วก็ขายยาพิษนั้น. การทำด้วยตนเอง การชักชวนคนอื่นให้ทำการค้านี้ทั้งหมด ก็ไม่ควรด้วยประการฉะนี้.

การที่จะได้รับสิ่งที่ไม่ดีก็เพราะทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น การฆ่าสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพก็อาจจะเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าสัตว์ ขณะฆ่าสัตว์ ขณะนั้นทำบาปเพราะมีเจตนาฆ่า แต่ขณะบริโภค ไม่มีเจตนาฆ่าจึงไม่ได้ทำอกุศลกรรมครับ คนที่แม้ทานมังสวิรัติก็ประสบเคราะห์กรรมได้ไหม ในเมื่อยังเป็นปุถุชน ก็ในอดีตชาติก็เคยทำอกุศลกรรมมาเช่นกันครับ

พระพุทธองค์ ได้พร่ำสอน เรื่อง เมตตา กรุณา ต่อ สรรพสัตว์ เมตตา กรุณา เป็นธรรมที่ดีเป็นกุศล ขณะที่เมตตาคือ ขณะที่หวังดี นำประโยชน์ไปให้ ขณะที่ทานมังสวิรัติ จิตขณะนั้นหวังดีกับคนอื่นหรือเปล่า หรือว่าถ้าใครมาทำน้ำปลา หกใส่อาหารมังสวิรัติที่กำลังทานก็โกรธคนนั้น ขณะนั้น มีเมตตาหรือเปล่า หรือการทานมังสวิรัติทำให้มีเมตตามากขึ้น ยังโกรธไม่ชอบใครอยู่บ้างหรือเปล่าครับ ทานมังสวิรัติ ยังตบยุงหรือเปล่าหรือ เพราะการฟังธรรมทำให้มีเมตตามากขึ้น คนที่ทานเนื้อ มีเมตตากับคนรอบข้างได้ไหม ดังนั้น อาหารจะทำอะไรได้ ถ้าจิตมากไปด้วยกิเลส สัตว์จะบริสุทธ์ได้ มิใช่เพราะอาหารแต่เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความในพระไตรปิฎก ว่าบุญ บาป อยู่ที่เจตนา และเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ

เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่
เชิญคลิกอ่านที่นี่

เรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ [อามคันธสูตรที่ ๒] บุญ บาปอยู่ที่เจตนา [คาถาธรรมบท]
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 8 พ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ