อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับมโนกรรมที่กระทำสำเร็จได้ 3 ทาง

 
เรียนถาม
วันที่  5 พ.ค. 2550
หมายเลข  3640
อ่าน  5,996

เคยได้ฟังซีดีที่ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านบรรยายไว้ เคยฟังนานแล้วจำไม่ได้ว่า ตอนไหน เรื่องอะไร แต่มีกล่าวถึงการกระทำกรรม ประมาณนี้ คือ มโนกรรมกระทำสำเร็จออกมาได้ ๓ ทาง คือทำได้ทั้ง มโนทวาร วจีทวาร กายทวาร วจีกรรมกระทำสำเร็จได้ ๒ ทาง คือ ทำได้ทั้ง วจีทวาร กายทวาร กายกรรมกระทำสำเร็จได้ ๒ ทาง คือ ทำได้ทั้ง วจีทวาร กายทวาร และท่านได้มียกตัวอย่างไว้ พร้อมทั้งอรรถกถา ซึ่งตอนที่ฟังในครั้งนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจ

ในส่วนของมโนกรรม ว่าเหตุใดจึงกระทำได้ ๓ ทาง (สำหรับวจีกรรม และกายกรรมไม่สงสัย) จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์หากทางมูลนิธิฯ พอจะทราบว่าข้อมูลในส่วนนั้นท่านอาจารย์ได้แสดงไว้ในเรื่องใดส่วนใด ขอลิงก์ในส่วนนั้นเพื่อจะได้ฟังและทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งครับ

หรือหากมีคำอธิบายชี้แนะให้เข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับมโนกรรมที่กระทำสำเร็จได้ ๓ ทางว่าหลักพิจารณาเป็นอย่างไรก็ขอความกรุณาให้คำชี้แนะด้วย

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 6 พ.ค. 2550

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากอรรถกถาอธิบายมโนกรรม

อรรถกถาอธิบายมโนกรรม [ธรรมสังคณี]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เรียนถาม
วันที่ 7 พ.ค. 2550

จากข้อความในความเห็นที่ 1

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 280

ตรงส่วนที่กล่าวว่า ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวาร ด้วยประการฉะนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก

- ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมย่อมตั้งขึ้นในวจีทวาร ด้วยประการฉะนี้ เจตนาในที่นี้ก็เป็นอัพโพหาริก

เจตนาที่เป็นอัพโพหาริกนั้น หมายถึงเจตนาในส่วนใดครับตามความเข้าใจ หมายถึงเจตนาในมโนกรรมนั้น มีขึ้น มโนกรรมนั้นมีเจตนาแล้ว แล้วก็มีการกระทำที่แสดงออกมาทาง กายทวาร วจีทวาร

ดังนั้น ในส่วนของการกระทำทางกาย วาจา นั้น เจตนาในส่วนนี้เป็นอัพโพหาริก เพราะกระทำไปตามเจตนาที่ตั้งขึ้นในมโนกรรม

เข้าใจเช่นนี้ ถูกต้อง หรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใดครับ

สำหรับในความเห็นที่ 2

อ่านแล้วกำลังพยายามทำความเข้าใจเช่นที่แสดงไว้ว่า ในกาลใด บุคคลไม่สามารถกล่าววาจาด้วยเหตุบางอย่าง ย่อมถือเอาสิกขาบทเหล่านี้ ด้วยมือและศีรษะว่า ข้าพเจ้าย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แม้ทวารก็เป็นกายทวารเหมือนกันและอีกตอนหนึ่ง แต่ในกาลใด บุคคลเปล่งวาจารับสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความเข้าใจเดิมที่ว่า เวลาเราโกหกใครโดยไม่พูด ใช้การส่ายหน้า หรือพยักหน้าแทน ถือว่าเป็นวจีกรรม ที่กระทำทางกายทวาร

พยายามอ่านจากเนื้อความที่แสดงไว้หลายรอบ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจหลักในการพิจารณาชัดแจ้งนัก ยังสับสนอยู่ในหลักการพิจารณาหากทางมูลนิธิฯ จะช่วยกรุณาชี้แนะให้คำอธิบาย ถึงหลักในการพิจารณาโดยละเอียดและชัดเจน พร้อมตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันกระกอบด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ เพราะโดยความเข้าใจทั่วๆ ไป จะตัดสินง่ายๆ เลยว่า ขณะใดที่นึกคิด ก็เป็นมโนกรรม ขณะใดที่พูดออกมาก็เป็นวจีกรรม ขณะใดที่กระทำสิ่งใดๆ ออกมา ก็เป็นกายกรรม แต่จากการที่ได้ฟังซีดีบรรยายจากท่านอาจารย์ ทำให้ทราบว่ามันมีรายละเอียดกว่าที่เข้าใจอย่างพื้นๆ ตามที่เข้าใจมาแต่เดิม ยกตัวอย่างตามความเข้าใจเดิม เช่น เวลาไปบ้านคนอื่น เห็นของเค้าแล้วนึกอยากได้ อย่างนี้เป็นมโนกรรม (อภิชฌา) แล้วพอเราลงมือขโมย อย่างนี้เป็นกายกรรม (ลักทรัพย์) อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจากที่ได้ฟังท่านอาจารย์บรรยาย มันจะมีรายละเอียดให้พิจารณามากกว่าเพียงเท่านั้น เช่น ถ้าเกิดความอยากได้ (มโนกรรม) แล้วมีการไตร่ตรองวางแผน แล้วลงมือกระทำให้สำเร็จตามเจตนา อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นมโนกรรมเหมือนกัน แต่ตั้งขึ้นทางกายทวาร (รายละเอียดส่วนนี้จำไม่ได้ครับ อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้)

หากทางมูลนิธิฯ กรุณาช่วยชี้แนะ อธิบายในหลักการพิจารณาอย่างละเอียด ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ซึ่งหากเกิดความเข้าใจโดยคำอธิบายอย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างเปรียบเทียบแล้ว เมื่อได้อ่านในพระไตรฯ หรืออรรถกถาอีกครั้ง คงจะช่วยให้หายสับสนและเกิดความเข้าใจขึ้นครับ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 7 พ.ค. 2550

อกุศลจิตทุกประเภทเป็นมโนกรรมค่ะ ถ้าคิดเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น แต่ยังไม่ได้ขโมย (ขณะนั้น) เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าอกุศลจิตมีกำลังมาก ถึงกับขโมยมาเป็นของตนเป็นมโนกรรมทุจริตค่ะ มโนกรรมฝ่ายกุศลก็มี เช่น ลูกเศรษฐีป่วยใกล้จะตาย ได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้วก็เกิดกุศลจิตเกิดความเลื่อมใส ไปเกิดเป็นเทวดาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 7 พ.ค. 2550

ตอบความเห็นที่ 3

คำที่ท่านสรุปจากความเห็นที่ 1 ถูกต้องครับ ส่วนความเห็นที่ 2 ท่านอธิบายส่วนของกุศลกรรมบถ คำที่ว่า แต่ในกาลใด บุคคล เปล่งวาจารับสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ ทวารเป็นวจีทวาร คำว่า สิกขาบททั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ หมายถึง เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือ เว้นจากกายทุจริต ๓ ท่านจึงกล่าวว่า กรรมเป็นกายกรรม แต่เปล่งวาจา จึงเป็นวจีทวาร หลักการพิจารณา คือ ถ้าเป็นการล่วงศีล ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กาเมฯ โดย กรรมเป็นกายกรรม แต่จะล่วงทวารไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการล่วงศีลทางวาจา คือ พูดเท็จ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ โดยกรรมเป็นวจีกรรม จะล่วงทางไหนก็ตาม ถ้าเป็นมโนกรรม คือ อภิชฌา พยาบาท เห็นผิด โดยกรรมเป็นมโนกรรม ไม่ว่า จะล่วงทวารใดก็ตาม กรรมนั้นชื่อว่ามโนกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เรียนถาม
วันที่ 8 พ.ค. 2550

ขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้เข้าใจหลักในการพิจารณาครับเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เป็นการสอบทานความเข้าใจของตนเอง
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับกรณีตัวอย่างถ้าเราเห็นของมีค่าของคนอื่นแล้วเกิดความละโมบ อยากได้
ซึ่งหากหยุดอยู่ไว้เพียงแค่ความคิด
ก็เป็นมโนกรรม (อภิชฌา)
ที่ตั้งขึ้นทางมโนทวาร ... ล่วงทางมโนทวารแต่หากความอยากได้นั้น
ทำให้เอื้อมมือไปหยิบจับลูบคลำด้วยความพึงใจ
อย่างนี้ เป็นมโนกรรมที่ล่วงทั้งทางมโนทวารและกายทวาร
คือนอกจากจะมีจิตคิดอยากได้แล้ว (มโนกรรมที่ตั้งขึ้นทางมโนทวาร ... ล่วงทางมโนทวาร) ยังมีการแสดงออกทางกายด้วย (มโนกรรมที่ตั้งขึ้นทางกายทวาร ... ล่วงทางกายทวาร) แล้วถ้าหากเราถึงขั้นลงมือขโมยเอาของนั้นมาเป็นของตนด้วย
เช่นนี้ จะไม่ใช่เป็นแค่เพียงมโนกรรมแล้ว
แต่จะเท่ากับเราได้กระทำกายกรรม (อทินนาฯ) ด้วย
เป็นกายกรรมที่ตั้งขึ้นทางกายทวาร ... ล่วงทางกายทวารตามความเข้าใจดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้
ถูกต้องหรือผิดพลาดประการใด
กรุณาชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 8 พ.ค. 2550

การกระทำกรรมๆ หนึ่งนั้น เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ปะปนกัน คือ ถ้ากรรมนั้นเป็นมโนกรรม (อภิชฌา) แม้จะล่วงทวารใดก็ตาม กรรมนั้นชื่อว่ามโนกรรม (ไม่เป็นกายกรรม) แม้ว่าจะล่วงทางกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เรียนถาม
วันที่ 8 พ.ค. 2550

ดังกรณีตัวอย่างที่ยกมา ผู้นั้นไม่ถือว่าได้ล่วงอกุศลกรรมบถ อทินนาฯ ด้วยหรือ เพราะได้กระทำการลัก ยักยอกทรัพย์นั้นไปด้วย (อทินนาฯ กระทำด้วยกายกรรม) ถือเป็นเพียงมโนกรรม (อภิชฌา) ที่กระทำทางกายทวาร คือหยิบฉวยไปด้วยใจละโมบ เท่านั้นหรือครับ หากไม่นับกรณีนี้ว่าเป็น อทินนา / กายกรรมด้วย แต่ถือว่าเป็น อภิชฌา / มโนกรรมที่กระทำทางกายทวาร (หยิบฉวยมาเป็นของตน) เช่นนี้แล้ว การที่จะถือว่าล่วงอทินนาฯ เป็นอย่างไรครับ เพราะตามปกติ คนที่มีจิตละโมบ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ก็จะมีความติดข้องพอใจในของนั้นซึ่งเป็นของผู้อื่น (อภิชฌา / มโนกรรม) จึงได้ทำการขโมย (อทินนาฯ / กายกรรม)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เรียนถาม
วันที่ 8 พ.ค. 2550

เพิ่มเติมตามความเข้าใจ
หากเป็นมโนกรรม เช่น อภิชฌา พยาปาทะ มิจฉาทิฏฐิ
อาจมีการล่วงออกมาทาง กายทวาร หรือวจีทวารได้เช่น ... บุคคลยังส่วนแห่งกายให้ไหวไปด้วยจิตอันสหรคตด้วยอนภิชฌาเป็นต้น
กระทำการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ทำการบูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น
และไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวารจากข้างบน ... ที่แสดงออกทางกายทวารนั้น
ยังไม่ถึงกับเป็นกุศลกรรมบถทางกาย
อันได้แก่กุศลกายกรรม ๓ คือ
เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม
ดังนั้น ในกรณีนี้ จึงเป็นมโนกรรม ที่กระทำทางกายทวาร
แต่ไม่จัดเป็นกายกรรม เพราะไม่ได้เป็นกุศลกายกรรม ... ก็แต่ในกาลใด บุคคลมีจิตสหรคตด้วยอภิชฌา
ยังส่วนแห่งกายให้ไหว กระทำกิจมีการถือเอาด้วยมือเป็นต้น
มีใจสหรคตด้วยพยาบาทมีการถือไม้ เป็นต้น
มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ คิดว่า พระขันธกุมาร พระศิวะประเสริฐที่สุด
จึงทำกิจมีการอภิวาท อัญชลีกรรมและตกแต่งตั่งน้อยสำหรับภูต เพื่อพระศิวะนั้น
ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวารเช่นกัน กรณีนี้ อภิชฌา เป็นเหตุให้หยิบถือไว้ด้วยความเสน่หา
แต่ยังไม่ได้ถึงกับขโมยเอามาเป็นของตน
หรือพยาปาทะ เอาไม้มาถือไว้ แต่ยังไม่ได้ตีหรือทำร้ายออกไป
เหล่านี้จึงไม่ถือเป็นกายกรรม เพราะยังไม่ได้ล่วงอกุศลกรรมบถทางกาย
อันได้แก่ ฆ่าสัตว์ (ทำร้ายสัตว์) ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
จึงจัดเป็นมโนกรรม ที่กระทำทางกายทวารจึงมีความเข้าใจว่า
หากยังไม่ได้ถึงขั้นล่วงกรรมบถทางกาย หรือ วาจา
ก็จัดเป็นมโนกรรม ซึ่งจะกระทำทางกาย หรือ วาจาก็ได้
จะกระทำหรือพูดอย่างไรออกมาก็ตาม
เช่น ถือมีดถือไม้ไว้ (แต่ยังไม่ตี)
หรือพูดรำพึงออกมาว่า "กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี" เป็นต้น
เหล่านี้ ถือเป็นมโนกรรม ไม่เป็นกายกรรมหรือวจีกรรม
เพราะยังไม่ได้ล่วงกรรมบถทางกาย หรือวาจา แต่อย่างใด แต่หากการกระทำทางกาย หรือ วาจา ที่แสดงออกมานั้น
ถึงขั้นล่วงกรรมบถทางกาย ทางวาจา
ก็ถือว่าเป็นกายกรรม วจีกรรมด้วย
เช่น ถ้าไม่ใช่เพียงแค่หยิบมาลูบคลำถือไว้ แต่ฉกชิงลักไป
หรือไม่ใช่แค่ถือไม้ไว้ขู่ แต่ลงมือตี มีการทำร้ายออกไป
หรือ ไม่ใช่แค่กล่าวออกมาตามความคิดว่า "กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี"
แต่ว่ามีการกล่าวคำเท็จต่อผู้อื่น ส่อเสียด ด่าทอหยาบคาย หรือพร่ำเพ้อเจ้อ
หากมีการกระทำที่เข้าข่ายล่วงกรรมบถทางกาย หรือวาจา
ก็จัดเป็น กายกรรม วจีกรรม สรุปคือ มโนกรรม แม้จะพูดหรือกระทำใดๆ ก็ตามออกมา
ถ้าการกระทำหรือคำพูดนั้นยังไม่ล่วงกรรมบถทางกาย ทางวาจา
ก็ถือว่ายังเป็นเพียงมโนกรรม ซึ่งจะกระทำทางกายหรือวาจาออกมาก็แล้วแต่
แต่การกระทำทางกายหรือวาจานั้นต้องไม่ล่วงกรรมบถทางกาย หรือวาจา
แต่หากการกระทำหรือคำพูดนั้นถึงขั้นล่วงกรรมบถด้วย
ก็ถือเป็นการกระทำอันเป็นกายกรรม หรือ วจีกรรมตามที่ได้ล่วงออกมาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว
ยังไม่เข้าใจว่าจะเอาหลักใดพิจารณาว่าเข้าข่าย กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔
เพราะในเมื่อทุกอย่างก็ต้องเริ่มที่ใจก่อนทั้งสิ้น
เมื่อทุกอย่างเริ่มที่ใจ เกิดความละโมบ จึงขโมย
เกิดความพยาบาท จึงฆ่าหรือทำร้าย
ดังนี้แล้ว จัดเป็นเพียงมโนกรรมที่กระทำทางกายทวาร
แต่ไม่ถือเป็นกายกรรมด้วย แม้กายกรรมนั้นจะล่วงกรรมบถด้วยก็ตาม
จึงยังไม่เข้าใจชัดเจนนักครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
study
วันที่ 11 พ.ค. 2550

เรียนคุณเรียนถาม ในเบื้องต้นนี้ คำอธิบายมีดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น คือ

กรรมแต่ละกรรมย่อมไม่ปะปนกัน ที่ท่านแสดงองค์ต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าเป็นกรรมประเภทไหนเท่านั้น ถ้ามีรายละเอียดและตัวอย่างมากกว่านี้จะนำมาเรียนให้ทราบต่อไป

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เรียนถาม
วันที่ 11 พ.ค. 2550

ขอบคุณครับ
หากมีรายละเอียดที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัด
ก็ขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยครับ สำหรับตอนนี้ ตามความเข้าใจตนเอง เข้าใจว่า
"กรรมแต่ละกรรมย่อมไม่ปะปนกัน" ก็คือหากกรรมนั้นเป็นมโนกรรม (อภิชฌา พยาปาทะ มิจฉาทิฏฐิ)
ไม่ว่าจะกระทำออกมาทางทวารใด ก็ย่อมต้องเป็นมโนกรรม
เช่น ขณะที่เกิดอภิชฌา หรือพยาปาทะ
ซึ่งครบองค์กรรมบถของมโนกรรมแล้ว
กรรมนั้นก็ย่อมเป็นมโนกรรม
แม้จะเอื้อมมือไปหยิบจับวัตถุด้วยความพึงใจ
หรือถือมีดถือไม้ขึ้นเงื้อง่า
การแสดงออกทางกายนั้นย่อมไม่เป็นกายกรรม
เพราะไม่ได้ล่วงกรรมบถของกายกรรม แต่หากไม่ใช่แค่เพียงหยิบจับถือไว้
หรือไม่ใช่แค่เพียงเงื้อง่า
แต่ลงมือขโมย หรือตี ฟันลงไป
เช่นนี้ ครบองค์กรรมบถของกายกรรมแล้ว
กรรมในส่วนนี้ย่อมเป็นกายกรรม ดังนั้น กรรมแต่ละอย่างไม่ปะปนกัน
ก็คือ ขณะที่คิดโลภ คิดโกรธ ย่อมเป็นมโนกรรม
แม้จะมีการแสดงออกมาทางใดก็ตาม (แต่ต้องยังไม่ล่วงกรรมบถอื่น ทางกาย วาจา)
ก็ต้องถือเป็นมโนกรรม ไม่ปะปนหรือกลายเป็นกายกรรม หรือวจีกรรมไปได้ แต่ถ้ามีการกระทำใดๆ ทางกาย หรือ วาจา ที่ล่วงกรรมบถ
ก็ต้องถือว่า การกระทำทางกาย วาจา ที่ล่วงกรรมบถนั้น
เป็นกายกรรม วจีกรรม
ซึ่งถือเป็นกรรมคนละอย่าง คนละประเภท
แยกกันคนละส่วน คนละขณะ กับมโนกรรม มโนกรรมนั้นเมื่อครบองค์กรรมบถ
ก็ถือว่ามโนกรรมนั้นได้ล่วงสำเร็จไปแล้ว
ต่อมา เมื่อมีการกระทำทางกาย หรือ วาจา ที่ล่วงกรรมบถเกิดขึ้น
ก็ย่อมถือว่าเป็นกายกรรม วจีกรรม คนละส่วนกับมโนกรรมเช่นกัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการตริตรองไปด้วยอภิชฌา
หรือพยาปาทะมาก่อน ก็ไม่เป็นมโนกรรม
เช่น เห็นคนทำปากกาตกอยู่ข้างหน้า
เราเห็นแล้วแต่อาจจะกำลังคิดอะไรเพลินๆ
หรืออาจเห็นว่าไม่ใช่ของสำคัญอะไร
ก็เลยไม่ได้ร้องบอกให้เจ้าของรู้ตัว
พอเราเดินไปถึงก็เลยก้มเก็บปากกานั้นแล้วเอาเก็บมาไว้ใช้เอง
อย่างนี้ถือเป็นกายกรรม (อทินนาฯ) แต่ไม่เป็นมโนกรรมหรือขับรถอยู่ดีๆ ก็มีรถอีกคันมาแทรกหรือมาปาด
ก็เลยโพล่งคำสบถด่าทอออกไป
ก็ถือเป็นการล่วงวจีกรรม แต่ไม่เป็นมโนกรรมหรือกรณีที่โจรปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์เป็นอาชีพ
ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่รู้ว่ามีทรัพย์มากน้อยแค่ไหน
เห็นเหยื่อเดินอยู่ในที่เปลี่ยว ด้วยอุปนิสัยโจรที่สั่งสม ปล้นฆ่าเป็นอาชีพนั้นเอง
ก็เข้าทำการปล้น ฆ่า ค้นหาทรัพย์สินแล้วช่วงชิงมาเป็นของตน
เช่นนี้ ก็ถือเป็นกายกรรม คนละส่วนกับมโนกรรม ไม่เป็นมโนกรรม แต่ถ้าเราโกรธเคืองใครซักคน จนถึงขั้นพยาบาท
ตริตรองอยู่ในใจด้วยความอาฆาต คิดจะแก้แค้น
หาวิธีการต่างๆ ที่จะทำร้ายเขา
ขณะนั้นเอง มโนกรรมได้ล่วงสำเร็จแล้ว
เพราะครบองค์กรรมบถของมโนกรรมแล้ว นี่ส่วนหนึ่ง
ต่อจากนั้นพอเราได้เจอเขา
แล้วเราก็ลงมือทำร้ายเขา ทุบตีฆ่าเขาอันเป็นไปด้วยแรงอาฆาต
การกระทำที่ทุบตีฆ่าเขานั้น
จะไม่ใช่เพียงแค่อาการที่เป็นไปตามมโนกรรมที่ได้ตริตรองมาแล้ว
แต่ถือว่าเป็นกายกรรมด้วย เพราะได้ล่วงกรรมบถของกายกรรมเข้าด้วยแล้ว จริงอยู่ เจตนาเจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตทุกดวง
การกระทำกรรมใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม
ก็ย่อมเป็นไปตามเจตนาเจตสิกนั้นๆ
แต่ที่แบ่งกรรมต่างๆ ซึ่งกระทำออกมาว่าเป็น มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม
ก็โดยถือเอากรรมบถเป็นหลัก ดังนั้น จึงเข้าใจว่า
ขณะใดที่นึกคิดเป็นไปโดยกรรมบถของมโนกรรม
ขณะนั้นก็ย่อมเป็นมโนกรรม แม้จะพูด หรือ กระทำออกมา
ก็ถือเอาว่าเป็นเพียงอาการที่เป็นไปของมโนกรรม
ซึ่งจากตัวอย่าง ในอรรถกถาที่แสดงนั้น
การพูดหรือกระทำต่างๆ อันเป็นไปตามมโนกรรมนั้น
ยังไม่เป็นการล่วงกรรมบถทางกายหรือวาจาแต่อย่างใดเลย ส่วนการกระทำใดๆ ที่เป็นไปโดยกรรมบถของกายกรรม
ขณะนั้นก็ย่อมเป็นกายกรรม
แม้ไม่แสดงออกทางกาย แต่แสดงออกทางวาจา
ก็ถือเอาว่าเป็นเพียงอาการที่เป็นไปของกายกรรม
ซึ่งวาจาที่เปล่งออกมานั้น ยังไม่ล่วงกรรมบถของวจีกรรมและการกระทำใดๆ ที่เป็นไปโดยกรรมบถของวจีกรรม
ขณะนั้นก็ย่อมเป็นวจีกรรม
แม้ไม่พูดคำใดออกมา แต่แสดงออกทางกายแทน
ก็ถือเอาว่าเป็นเพียงอาการที่เป็นไปของวจีกรรม
ซึ่งการแสดงลักษณะอาการทางกายนั้น ยังไม่ล่วงกรรมบถของกายกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด
เป็นการพยายามจะสรุปความคิดความเข้าใจของตนออกมาให้ทราบ
เพื่อทางมูลนิธิฯ จะได้ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
study
วันที่ 11 พ.ค. 2550

ขอเรียนความเข้าใจของผู้ตอบดังนี้

มโนกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถ มี ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ มโนกรรมสามารถล่วงได้ ๓ ทวาร ไม่ว่าจะล่วงทวารไหน ก็คือมโนกรรม เช่นอภิชฌา เมื่อเห็นทรัพย์ที่มีค่าของผู้อื่น อยากจะได้มาเป็นของตนในทางมิชอบ พยายามหาช่องทางเพื่อลักทรัพย์นั้น ภายหลังจึงลักทรัพย์นั้นสำเร็จ การกระทำทั้งหมดเป็นมโนกรรม แต่ล่วงทางกายทวาร แต่โดยทั่วๆ ไป การกระทำนั้นได้โวหารว่าเป็นอทินนาทาน คือ การลักทรัพย์ แต่เป็นอทินาทานที่สำเร็จโดยมโนกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เรียนถาม
วันที่ 11 พ.ค. 2550

ครับ ก็ต้องย้อนกลับไปที่คำถามเดิมว่า
ถ้าเช่นนี้แล้ว ที่จะถือว่าเป็นกายกรรมจริงๆ
ถือเป็นการล่วงอทินนาฯ อันเป็นกายกรรมจริงๆ
โดยไม่ใช่เพราะโวหารนั้นพิจารณาอย่างไร? และหากกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการล่วงอทินนาฯ อันเป็นกายกรรม
แต่ถือว่าเป็นมโนกรรมที่กระทำออกมาทางกายทวาร
ซึ่งการกระทำทางกายนี้ก็เข้าข่ายครบองค์กรรมบถของกายกรรมด้วย
เช่นนี้แล้ว ผลอันเป็นวิบากของกรรมบถข้ออทินนาฯ จะมีไหม?
ต้องรับวิบากอันเกิดจากการล่วงอทินนาฯ ไหม?
หรือเกิดแต่เฉพาะวิบากอันเป็นผลของอภิชฌาซึ่งเป็นมโนกรรม
ไม่มีผลของอทินนาฯ ปรากฏ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
study
วันที่ 14 พ.ค. 2550

เป็นอทินนาทานที่ล่วงโดยมโนกรรม วิบากย่อมมีตามเหตุ คือมีโทษมากกว่าอทินนาทานที่เป็นกายกรรม เพราะกิเลสและความพยายามมากกว่า

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เรียนถาม
วันที่ 15 พ.ค. 2550

ขอบคุณครับ
สำหรับเรื่องการให้ผลอันเป็นวิบาก
ทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนสำหรับในส่วนของการพิจารณา
ว่าถ้าเช่นนั้น อทินนาฯ แบบไหนที่เป็นกายกรรมจริงๆ
ตามที่กรรมบถได้แสดงไว้
ไม่ใช่อทินนาฯ อันเกิดจากมโนกรรม
หรือแม้แต่กายกรรม วจีกรรมอื่นๆ ก็เช่นกัน
ว่าแบบไหนจึงจะชื่อว่าเป็นกายกรรม หรือวจีกรรมนั้นๆ จริงๆ
โดยไม่ใช่มโนกรรมที่สำเร็จล่วงออกไปทางกาย หรือวาจา
หากมีคำอธิบายในส่วนนี้เพิ่มเติมให้ชัดเจน
ก็ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การกระทำทุกอย่างก็ต้องเริ่มที่ใจทั้งนั้น
มีจิตคิดโลภ จึงขโมย ฉกฉวย ... มีจิตคิดพยาบาท จึงทำร้าย หรือด่าทอ
ก็ถือเป็นมโนกรรมที่ล่วงทางกายหรือทางวาจาหมด
ไม่มีอันไหนที่จะเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมแท้ๆ เลยกำลังพิจารณาอยู่ว่า
หรือถือเอาที่บุพพเจตนา มุญจเจตนา อปรเจตนา อปราปรเจตนาคือหากมีบุพพเจตนา มีการคิด ใคร่ครวญ
อันเป็นไปด้วย อภิชฌา หรือ พยาปาทะ
แล้วก็มีการลงมือกระทำออกไปตามบุพพเจตนานั้นจนสำเร็จ
เช่นนี้ ถือเป็นมโนกรรมที่ล่วงทางกายหรือวาจา
แม้ว่ากายหรือวาจานั้นจะครบกรรมบถของกายกรรม วจีกรรม ก็ตาม
แต่ก็ต้องถือว่าเป็นมโนกรรมที่ล่วงสำเร็จไปทางกาย วาจา
จะเป็นอทินนาฯ หรือ มุสาวาทฯ หรืออะไรก็ตาม
ก็เป็นอทินนาฯ มุสาวาทฯ อันเป็นไปโดยมโนกรรม แต่หากไม่มีบุพพเจตนามาก่อน
เช่น เห็นของมีค่าตกอยู่ก็เลยเก็บมาไว้เป็นของตน
หรือโจรที่ฆ่าชิงทรัพย์ โดยไม่ได้รู้จักกันมาก่อน
ไม่ได้มีความแค้นเคืองกันมาก่อน เงินในกระเป๋ามีเท่าไหร่ก็ไม่รู้
แต่ลงมือฆ่าชิงทรัพย์เพียงเพราะเห็นเหยื่อเดินมาในที่เปลี่ยว
หรืออย่างการตบยุง ทันทีที่ยุงกัด ด้วยความเคยชิน ก็ตวัดมือตบทันที
หรือการตกปลาเล่น ไม่ได้คิดอะไร ตกเล่นสนุกๆ เพลินๆ
หรือแม้จะตกปลาหากินเป็นอาชีพก็ตาม
ตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีบุพพเจตนาที่จะใคร่ครวญ ตรึกนึก
อันเป็นไปด้วยอภิชฌา หรือ พยาปาทะ
แต่กระทำออกไปตามอุปนิสัย ตามเหตุปัจจัยขณะนั้น
หรือจะโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยการไม่เห็นโทษภัยของอกุศลกรรม
ก็เลยกระทำออกไปด้วยกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง
โดยไม่มีบุพพเจตนาที่เกิดจากมโนกรรมมาก่อน

ขอความกรุณาชี้แนะเพิ่มเติมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
เรียนถาม
วันที่ 16 พ.ค. 2550

จากการพิจารณาที่ได้ให้ไว้ในความเห็นที่ 15 แต่พอมาพิจารณาจากข้อความดังที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ จึงเป็นที่มาของความสงสัย ว่าหลักการพิจารณาเป็นอย่างไรแน่? ตัวอย่างข้อความที่พบว่ามีกล่าวไว้

มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๑. อภิชฌา (ละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม เป็นโลภะ (ความโลภ ขั้นรุนแรง) ๒. พยาบาท (คิดร้าย ปองร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะทำลายประโยชน์ และความสุขของผู้อื่นให้เสียหายไป เป็นโทสะ (ความโกรธ ขั้นรุนแรง) ๓. มิจฉาทิฏฐิ [เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ฯลฯ เป็นโมหะ (ความหลง - ไม่รู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) ขั้นรุนแรง]

ทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นกรรมที่เกิดขึ้นในใจ คือ ในทางความคิด ถ้าเมื่อใดมีกำลังที่มากพอ หรือมีโอกาสที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เกิดการกระทำทางกาย หรือทางวาจาออกมา ซึ่งการกระทำเหล่านั้นก็อาจจะเข้าข่ายกายกรรม ๓ ที่เป็นทุจริต หรือ วจีกรรม ๔ ที่เป็นทุจริต ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง

๑.๑.๒ กรรมแบ่งตามทวาร ทวาร คือ ทางสำหรับทำกรรม มี ๓ ทาง คือ กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร

๑) กรรมใดทำทางกายทวาร คือ ทำสำเร็จโดยใช้กำลังกายทำกรรมนั้นเป็นกายกรรม ๒) กรรมใดทำทางวจีทวาร คือ สำเร็จลงได้โดยผู้ทำใช้วาจาเป็นเครื่องมือในการทำ กรรมนั้นเป็นวจีกรรม ๓) กรรมใดทำทางมโนทวาร คือ สำเร็จลงได้โดยการคิดนึกด้วยจิตใจ กรรมนั้นเป็น มโนกรรม

ส่วนการกระทำบางอย่าง ผู้ทำต้องคิดด้วย พูดด้วย แล้วใช้กำลังกายด้วย จึงต้องพิจารณาดูว่า กรรมนั้นจะสำเร็จลงบริบูรณ์ด้วยอะไร ด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือด้วยใจ ถ้าสำเร็จลงด้วยทวารใด จึงถือว่าเป็นกรรมในทวารนั้น คือ จุดสมบูรณ์จริงๆ อยู่ที่ทำให้คนนั้นล้มตายลงด้วยอะไร การทำให้คนถึงแก่ความตายนั้น ทำได้ทางเดียว เช่น ใช้ร่างกาย ต้องเงื้อมือ หรือทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องทำด้วยกายจึงจะสำเร็จ ถ้าพูดให้ตาย เขาก็ไม่ตาย ถ้าคิดให้ตายเขาก็ไม่ตาย ฉะนั้น การฆ่าจึงเป็นกายกรรม “แม้ว่าในการฆ่าคนๆ หนึ่งนั้น ผู้ฆ่าจะต้องใช้ความคิดด้วย ใช้คำพูดด้วย แต่การฆ่าก็จัดเข้าในกายกรรมอยู่นั่นเอง เพราะถือจุดสมบูรณ์แห่งกรรมนั้นเป็นเกณฑ์ กรรมอื่นก็พึงตัดสินด้วยเหตุผลอย่างนี้”

อีกตัวอย่างหนึ่ง

การกระทำกามาวจรกุศลกรรมนี้ แม้ว่าจะได้เกิดทั้ง ๓ ทวารก็จริง แต่ว่าส่วนมากเกิดทางมโนกรรมมากกว่าเกิดทางกายกรรม หรือทางวจีกรรม เป็นต้นว่า จิตคิดงดเว้นจาก กายทุจริต ๓ วจีทุริต ๔ เพียงเท่านั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นกุศลกายกรรม ๓ และกุศลวจีกรรม ๔ แล้ว

สรุป ยังสับสนอยู่ ตรงอกุศลกรรรม บอกให้พิจารณาจุดสิ้นสุดที่กระทำว่าเป็นกรรมใด แต่พอกุศลกรรมบถ แม้ใจคิดเว้นทุจริต ก็ชื่อว่าเป็นกุศลกายกรรมหรือวจีกรรมแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
study
วันที่ 18 พ.ค. 2550

เพิ่มเติมความเห็นที่ 15-16

ในการกล่าวถึงกรรมบถว่าเป็นกรรมบถประเภทกายกรรม วจีกรรมนั้น เป็นการกระทำเฉพาะหน้า
ไม่มีจิตเพ่งเลงอยากได้ หรือจิตคิดปองร้ายมาก่อน วิถีจิตที่เกิดทางใจในขณะกระทำกรรมไม่เรียกว่ามโนกรรม
กรรมที่เป็นกายกรรม หมายเอาเจตนาที่กระทำการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
กรรมที่เป็นวจีกรรมบถ หมายเอาเจตนาพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
กรรมที่เป็นมโนกรรมบถ หมายเอา อภิชฌา พยาปาท มิจฉาทิฏฐิ

ฝ่ายกุศลกรรมบถ มีดังนี้
กุศลเจตนาที่เว้นจากกายทุจริต ๓ เป็นกายกรรม
กุศลเจตนาที่เว้นจากวจีทุจริต ๔ เป็นวจีกรรม
ส่วนมโนกรรม คือ อนภิชฌา อัพยาปาท สัมมาทิฏฐิ

แต่ในบางแห่งแสดงว่า
การกระทำทางกายที่เป็นอกุศลจิตเป็นกายทุจริต
คำพูดที่ประกอบด้วยอกุศลจิตทั้งหมดเป็นวจีทุจริต
ความคิดที่ประกอบด้วยอกุศลจิตทั้งหมดเป็นมโนทุจริต
ฝ่ายกุศลมีนัยตรงกันข้าม

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
เรียนถาม
วันที่ 18 พ.ค. 2550

สรุปประเด็นเท่าที่ติดตามมาถึงตอนนี้คือ

๑. หากมีจิตคิดเพ่งเล็งอยากได้ หรือพยาบาท
ไม่ว่าจะกระทำออกมาทางกายหรือวาจา
ซึ่งแม้จะล่วงกรรมบถทางกายหรือวาจาด้วยก็ตาม
ก็ถือเป็นมโนกรรม

๒. หากไม่มีจิตคิดเพ่งเล็งอยากได้ หรือพยาบาท
แต่กระทำออกมาเฉพาะหน้าทางกาย หรือวาจา (ล่วงกรรมบถ)
ก็ถือเป็นกายกรรม หรือ วจีกรรม

๓. แม้มีจิตคิดเพ่งเล็งอยากได้ หรือพยาบาท
แต่เมื่อกระทำออกมาทางกายหรือวาจาด้วย (ล่วงกรรมบถ)
ก็ถือเป็นกายกรรม หรือ วจีกรรม

ดูเหมือนจะมีนัยต่างๆ กันถึง ๓ ประเด็น แล้วถ้าเพิ่มอีกซักประเด็น

๔. หากมีจิตคิดเพ่งเล็งอยากได้หรือพยาบาท
ไม่ว่าจะกระทำออกมาทางกายหรือวาจา
แต่ต้องไม่ล่วงกรรมบถของกายหรือวาจา
ก็ต้องถือเป็นมโนกรรม
แต่การกระทำนั้นล่วงกรรมบถทางกายหรือวาจาด้วย
ก็ต้องถือว่าเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมด้วย
(ตามความเห็นที่ 11) อยากทราบว่าตามที่กล่าวมา ข้อ ๑, ๒, ๓, ๔
อย่างไหนถือเป็นหลักพิจารณา
ที่ควรใช้เป็นแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน
หรือถูกต้องทั้งหมด (ซึ่งน่าจะงง)
หรือมีข้อใดไม่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
study
วันที่ 18 พ.ค. 2550

ข้อ ๑, ๒, ๔ ถูกแล้ว

ข้อ ๓ ไม่ถูก

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
เรียนถาม
วันที่ 18 พ.ค. 2550

แล้วข้อ ๑ กับข้อ ๔ ขัดแย้งกันไหมครับในเมื่อข้อ ๑ แม้จะล่วงกรรมบถทางกาย หรือ วาจา ก็ต้องถือว่าเป็นมโนกรรม ส่วนข้อ ๔ แม้จะทำทางกาย วาจา แต่ต้องไม่ล่วงกรรมบถ
จึงจะถือว่าเป็นมโนกรรม
แต่ถ้าล่วงกรรมบถทางกาย หรือ วาจา ด้วย
ก็ต้องถือเป็น กายกรรม วจีกรรม ด้วย
ลักษณะนี้ แสดงว่า เป็นทั้งมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม เลยทีเดียว
สำเร็จเป็นกรรมทั้งสามทวารเลยทีเดียว ซึ่งก็จะไปขัดแย้งกับประเด็นก่อนหน้านี้อีก
ที่ว่า กรรมแต่ละกรรมย่อมไม่ปะปนกัน ถ้าตามความหมายของความเห็นที่ 10, 12 แต่ถ้าตามความเห็นที่ 11 ก็จะสอดคล้องกับความเห็นที่ 4 ต้องขอประทานโทษอย่างยิ่ง
ที่ต้องโยงประเด็นเข้าหากันมาก
เพราะจากคำตอบทั้งหมด ยังไม่เข้าใจกระจ่างครับ
ยังมีบางแง่มุมที่ยังไม่ค่อยลงตัวในคำตอบครับ
ทำให้รู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ยังมีข้อแย้งกันอยู่ในตัวครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
เรียนถาม
วันที่ 18 พ.ค. 2550

เพิ่มเติมครับ คือ ยังมีความมั่นใจอยู่ว่า ทุกอย่างที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หรือ อรรถกถาจะต้องสอดคล้องตรงกัน จึงน่าจะมีข้อสรุปที่สอดคล้องต้องกัน ไม่ขัดแย้งกันในตัว เลยต้องขอคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
study
วันที่ 19 พ.ค. 2550

ขอเพิ่มเติม จากตัวอย่างข้อที่ ๔ ความเห็นที่ 18 ที่ยกมาเป็นมโนกรรมที่ล่วงทางมโนทวารใช่หรือไม่

เพราะมโนกรรมล่วงได้ ๓ ทวาร

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
เรียนถาม
วันที่ 19 พ.ค. 2550

ครับ ขอขยายความอธิบาย
ตามตัวอย่างข้อที่ ๔ ในความเห็นที่ 18
หมายถึง ขณะนั้นมีอภิชฌา หรือ พยาปาทะ
แล้วก็มีการกระทำแสดงออกมาทางกาย หรือวาจา
แต่การกระทำที่แสดงออกมานั้น
ยังไม่ถึงกับล่วงกรรมบถของกายกรรม หรือ วจีกรรม
เช่น มีอภิชฌา จึงหยิบจับของนั้นขึ้นมาดู
ลูบคลำของนั้นด้วยจิตที่ประกอบด้วยอภิชฌา ... อยากได้
คิดจะขโมย แต่ยังไม่ได้ลงมือขโมย
หรือ มีจิตที่ประกอบด้วยพยาปาทะ
จึงถือไม้เงื้อง่าไว้ในมือ ท่าทางขึงขังขู่ฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น
เช่นนี้ ถือเป็นมโนกรรม ที่กระทำออกมา ทางกายทวาร แต่ถ้าเพียงแค่นึกคิดอยากขโมย
แต่ไม่ได้เอื้อมมือไปหยิบจับลูบคลำ
หรือนึกไม่พอใจแช่งชักอยู่ในใจ
ไม่ได้คว้าไม้มาถือเงื้อง่า
เช่นนี้ เป็นมโนกรรม ที่กระทำทาง มโนทวาร แต่ถ้าด้วยอภิชฌา และ พยาปาทะ นั้นเอง
ทำให้ถึงกับลงมือขโมย หรือลงมือตีฝ่ายตรงข้าม
คือล่วงอกุศลกรรมบถทางกายด้วย
เช่นนี้ ถือว่าเป็นมโนกรรม และ เป็น กายกรรมด้วย
คือมโนกรรมกรณีนี้นอกจากจะล่วงทางมโนทวารแล้ว
เพราะครบองค์กรรมบถของมโนกรรมแล้ว
ก็ยังล่วงออกมาทางกาย ซึ่งก็ล่วงกรรมบถของกายกรรมด้วย
การกระทำออกมาทางกายนั้น จึงถือว่า เป็นกายกรรมด้วย
ซึ่งจะต่างจากวรรคแรก
ที่กล่าวว่า มีการกระทำออกมาทางกายด้วยก็จริง
แต่ยังไม่เป็นกรรมบถ ในวรรคแรกจึงไม่ชื่อว่าเป็นกายกรรม ส่วนถ้าไม่ได้มีจิตที่ตรึกนึกด้วยอภิชฌาหรือพยาปาทะมาก่อน
คือไม่มีบุพพเจตนาไตร่ตรองที่จะกระทำมาก่อน
แต่กระทำในทันทีเฉพาะหน้า
เช่นนี้ ถือเป็น กายกรรม หรือ วจีกรรม ตามกรรมบถนั้นๆ ครับ ได้ลองสรุปทั้งหมดไว้ในความเห็นนี้อีกที
กรุณาแนะนำด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
study
วันที่ 21 พ.ค. 2550

ยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันตรงที่ เป็นทั้งมโนกรรมและกายกรรม

คือตามที่ได้เรียนให้ทราบตั้งแต่ความเห็นที่ 1 เป็นต้นมาว่า เมื่อมีการกระทำกรรม กรรมใดกรรมหนึ่งควรจะเป็นกรรมประเภทเดียวคือมโนกรรมก็คือมโนกรรม แม้จะล่วงทวารไหน เช่น อภิชฌาเมื่อล่วงทางกายทวาร หรือ วจีทวาร กรรมนั้นก็ยังชื่อว่า มโนกรรม ในข้อ อภิชฌา ถึงแม้ว่าเป็นการลักทรัพย์สำเร็จ เป็นอทินนาทานที่สำเร็จโดยมโนกรรม กรรมนั้นชื่อว่า มโนกรรม ถ้ามีหลักฐานจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ไม่ตรงกับคำอธิบายข้างต้นกรุณานำมาแสดงด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
เรียนถาม
วันที่ 21 พ.ค. 2550

หลักฐานจากพระไตรปิฎก หรือ อรรถกถาไม่มีครับ
แต่ที่ยกตัวอย่างให้เห็น ๓ ตัวอย่าง ในความเห็นที่ 16
เป็นคำอธิบายที่ได้พบมาจากสามแหล่ง
ซึ่งเป็นคำอธิบายของครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ
ไม่ใช่หลักฐานจากพระไตรปิฎก หรือ อรรถกถา ตนเองไม่ได้เชี่ยวชาญในการหาหลักฐานจากพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา
จึงได้เข้ามาสอบถามจากทางมูลนิธิฯ
เพราะเชื่อว่าคงจะมีคำตอบหรือคำอธิบายที่ชัดเจนซึ่งจากคำอธิบายที่ได้รับก็คือ
การกระทำกรรมใดกรรมหนึ่งควรจะเป็นกรรมประเภทเดียวกัน
พร้อมด้วยตัวอย่างในอรรถกถาที่ทางมูลนิธิฯ ได้กรุณานำมาให้ดูอย่างที่เรียนให้ทราบว่าอ่านแล้วยังมีความสงสัยอยู่
เพราะสังเกตว่า มโนกรรมตามที่แสดงไว้ในอรรถกถาในความเห็นที่ 1
ที่มีการล่วงออกมาทางกาย ทางวาจาด้วยก็ตาม
ก็ยังชื่อว่าเป็นมโนกรรม ไม่ชื่อว่าเป็นกายกรรมหรือวจีกรรม ซึ่ง ตรงนี้เข้าใจ
แต่สังเกตได้ว่า การล่วงทางกาย หรือวาจาที่แสดงในอรรถกถานั้น
ยังไม่ครบองค์กรรมบถทางกายหรือวาจาเลย
ดังนั้น จึงต้องชื่อว่ามโนกรรมแน่นอน แต่ถ้าล่วงกรรมบถทางกายหรือวาจาด้วย
คำตอบที่ได้รับก็คือ ยังถือเป็นมโนกรรมอยู่ดี
เพราะการกระทำกรรมใดกรรมหนึ่ง
ย่อมเป็นกรรมประเภทเดียวกัน ตามที่ได้รับคำตอบมา ซึ่งตรงนี้ หากทางมูลนิธิฯ มีตัวอย่างอรรถกถาที่พอจะแสดงให้เห็นชัดเจน
ว่ามโนกรรมที่ล่วงทางกายหรือวาจา แล้วครบองค์กรรมบถของกายหรือวาจาด้วย
แต่ก็ยังถือเป็นมโนกรรมเพียงอย่างเดียว
ตามที่ว่าการกระทำกรรมใดก็ย่อมเป็นกรรมประเภทเดียวกัน
ก็จะทำให้ชัดเจนขึ้น
ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบว่าในอรรถกถาส่วนใดจะมีกล่าวเช่นนี้ไว้ไหม
เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จึงได้เข้ามาขอคำชี้แนะ
เพียงแต่ว่าคำตอบที่ได้รับ ยังเกิดความติดขัดสงสัยอยู่บางประการ
และอรรถกถาที่ได้กรุณานำมาแสดงในความเห็นที่ 1
อ่านแล้วก็ยังมีความสงสัยอยู่ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ว่า กายกรรม หรือวจีกรรมตามที่แสดงไว้ในอรรถกถานั้น
ยังไม่เป็นการล่วงกรรมบถของกายกรรมหรือวจีกรรม
ดังนั้น ก็ย่อมต้องเป็นมโนกรรมแน่นอน
เป็นมโนกรรมที่กระทำทางกายทวาร หรือวจีทวาร ตนเองก็เลยได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า
ที่ว่าการกระทำกรรมใดกรรมหนึ่งย่อมเป็นกรรมประเภทเดียวกันนั้น
ตนเองเข้าใจว่าอย่างไร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ซึ่งโดยสรุปก็คือเข้าใจว่า
เมื่อเป็นมโนกรรมก็ต้องเป็นมโนกรรม ไม่ว่าจะกระทำทางไหนก็ตาม
จะเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมไม่ได้
แต่หมายถึงว่ามโนกรรมที่กระทำออกมาทางกายหรือวาจานั้น
จะต้องยังไม่ล่วงกรรมบถของกายหรือวาจา
แต่ถ้าล่วงกรรมบถของกายหรือวาจาด้วย
ทำให้เข้าใจว่าก็ควรจะนับเป็นกายกรรมหรือวจีกรรมด้วยมโนกรรมนั้นก็ส่วนหนึ่ง สำเร็จไปแล้ว
กายกรรมก็ส่วนหนึ่ง เมื่อมีการกระทำที่ล่วงกรรมบถทางกายด้วย
วจีกรรมก็ส่วนหนึ่ง หากมีการกระทำที่ล่วงกรรมบถทางวจีด้วย
และตอนหลังก็ได้ยกตัวอย่างจากที่ตนเองได้อ่านพบ
จากที่ครูบาอาจารย์ท่านอื่นได้แสดงไว้
จาก ๓ แหล่ง ๓ ตัวอย่าง ดังในความเห็นที่ 16 เพราะตนเองไม่ได้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก หรือ อรรถกถา
เมื่อได้พบหลักการพิจารณาที่ต่างกันตามตัวอย่างที่ยกมา
ประกอบกับความเข้าใจโดยส่วนตัว (ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้)
จึงไม่กล้าที่จะสรุปหรือปลงใจในการพิจารณาว่าอย่างไร
จึงได้ขอคำชี้แนะจากมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่จากคำตอบและอรรถกถาที่มูลนิธิฯ ได้กรุณาแสดงมานั้น
อย่างที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า
ตนเองก็ยังมีข้อสังเกตอยู่ดังที่เรียนไปแล้ว
ว่าเพราะยังไม่เป็นกรรมบถทางกายหรือวาจา
จึงยังคงชื่อว่ามโนกรรมซึ่งหากมีตัวอย่างที่แสดงไว้ชัดเจนกว่านี้
ว่าแม้ล่วงกรรมบถของกายกรรมหรือวจีกรรม
แต่เมื่อเกิดจากอภิชฌาหรือพยาปาทะแล้ว
ก็ต้องถือว่าเป็นมโนกรรมแต่อย่างเดียว ส่วนการกระทำที่ขโมยหรือฆ่าได้สำเร็จ
ได้ชื่อว่าเป็นเพียงโวหารเท่านั้น
ไม่นับว่าเป็นกายกรรมด้วย
เพราะเมื่อเริ่มต้นด้วยมโนกรรม
ก็ต้องถือเป็นมโนกรรมไปตลอด
จึงจะชื่อว่าเป็นการกระทำกรรมประเภทเดียวกัน
ตามที่มูลนิธิฯ ได้ให้ความเห็นไว้
ซึ่งถ้ามีตัวอย่างอรรถกถาใดที่แสดงไว้ชัดเจน
ก็ต้องขอความกรุณามูลนิธิฯ ด้วยหากทางมูลนิธิฯ มีอรรถกถาเพิ่มเติมเพื่อให้ชัดเจนขึ้นกว่านี้
จะเป็นพระคุณยิ่ง
เพราะตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
เรียนถาม
วันที่ 21 พ.ค. 2550

เพิ่มเติมที่ต้องเรียนถามอย่างมาก
และหากตนเองยังติดขัดสงสัยประการใด
ในแง่มุมต่างๆ ของคำตอบที่ได้
ก็จะแสดงความเห็นของตนเพิ่มเติม
และขอคำชี้แนะพร้อมทั้งตัวอย่างเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่ตนเอง
จะได้ปลงใจในหลักการพิจารณานั้นๆ
อย่างกระจ่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ปราศจากข้อกังขาใดๆ อย่างแท้จริง
เพื่อให้ตนเองเกิดความเห็นที่ถูกต้องอย่างแท้จริง
และจะพยายามศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาเพิ่มขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
เรียนถาม
วันที่ 22 พ.ค. 2550

ได้ทบทวนอ่านอรรถกถาในความเห็นที่ 1
กรรมนั้นเป็นมโนกรรม เพราะมีจิตสหรคตแล้วด้วยอภิชฌา หรือพยาบาท หรือมิจฉาทิฏฐิ
จึงยังส่วนแห่งกายหรือวาจาให้ไหวกระทำกิจ ล่วงออกมาทางกายทวารหรือวจีทวารที่ตนได้สังเกตคือ การกระทำกิจที่ล่วงออกมา
ทางกายทวารหรือวจีทวาร ตามตัวอย่างนั้น
ยังไม่เป็นกรรมบถของกายกรรม หรือ วจีกรรมเลย
ดังนั้น กรรมนั้นย่อมต้องเป็นมโนกรรมแน่นอน
เพราะประกอบด้วย อภิชฌา หรือ พยาบาท หรือ มิจฉาทิฏฐิแล้ว
แต่ไม่ชื่อว่า กายกรรม หรือวจีกรรม
เพราะไม่ได้ล่วงกรรมบถทางกาย หรือ วาจา
เจตนาทางกายหรือวาจาที่ไหวกระทำไปจึงเป็นอัพโพหาริก ดังนั้น พอจะมีตัวอย่างมโนกรรมที่กระทำทางกายทวารหรือวจีทวาร
ที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำที่ออกมานั้น ได้ล่วงกรรมบถทางกายหรือวาจาด้วย
แต่ถือว่าเป็นมโนกรรมเพียงอย่างเดียวไหมครับ?
หรือในตัวอย่างในความเห็นที่ 2
ก็สังเกตได้ว่า เมื่อเป็นกรรมบถทางใด
ก็ย่อมต้องถือเป็นกรรมทางนั้น
เช่น เมื่อเป็นกรรมบถทางกายกรรม
ก็ต้องถือว่าเป็นกายกรรม
การแสดงออกด้วยมือหรือศีรษะ ก็เป็นกายกรรมที่ทำทางกายทวาร
หากเป็นการเปล่งวาจา ก็เป็นกายกรรมที่กระทำทางวจีทวารลำดับต่อมาตามตัวอย่างที่แสดงไว้ก็โดยนัยเดียวกัน
เมื่อเป็นกรรมบถของกรรมใด ก็ย่อมเป็นกรรมนั้น
คือ ถ้าเป็นกรรมบถของกายกรรม ก็เป็นกายกรรม
กรรมบถของวจีกรรม ก็เป็นวจีกรรม
กรรมบถของมโนกรรม ก็เป็นมโนกรรมไม่ว่าจะกระทำออกมาทางทวารใด
ก็ย่อมต้องถือเอากรรมบถของกรรมนั้นๆ เป็นเกณฑ์
ซึ่งสังเกตเห็นว่า การกระทำออกมาทางทวารต่างๆ นั้นจะไม่เป็นกรรมบถ
เช่น มีจิตสหรคตด้วยอนภิชฌา ก็ย่อมต้องเป็นมโนกรรม
แม้จะแสดงออกทางกาย คือ ปัดกวาดลานพระเจดีย์
ก็ต้องถือว่าเป็นมโนกรรม ไม่ใช่กายกรรม
เพราะยังไม่เป็นกรรมบถทางกายกรรม ไม่ทราบว่าจะมีตัวอย่างที่แสดงเพิ่มเติม
ให้เห็นว่ามโนกรรมนั้น แม้จะล่วงออกมาทางกายหรือวาจา
ซึ่งการล่วงออกมานั้นเข้าข่ายกรรมบถของกายวาจาด้วย
แต่ก็ยังถือเป็นมโนกรรมแต่เพียงอย่างเดียวไหมครับ เพราะจากตัวอย่างที่ท่านได้ให้มานั้น
เมื่อเป็นมโนกรรม แล้วล่วงออกมาทางกายหรือวาจา
การกระทำทางกายหรือวาจานั้น
ยังไม่ถึงกับเป็นกรรมบถทางกายหรือวาจา
ดังนั้น จึงต้องชื่อว่าเป็นมโนกรรม แต่ถ้าการกระทำนั้นถึงขั้นเป็นกรรมบถทางกายหรือวาจาด้วยล่ะ
ไม่ทราบว่าจะมีอรรถกถาในส่วนใดที่พอจะอธิบายไว้บ้างครับ
ว่าก็ยังคงถือเป็นมโนกรรมอยู่นั้นเอง ไม่ถือเป็นกายกรรมหรือวจีกรรม
แม้จะเป็นกรรมบถของกายกรรมหรือวจีกรรม

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
study
วันที่ 22 พ.ค. 2550

เท่าที่ผู้ตอบได้ศึกษาค้นคว้าในพระไตรปิฎกและอรรถกถา และได้รับการแนะนำจากท่านอาจารย์ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา เรื่องมโนกรรมมีคำอธิบาย ตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
เรียนถาม
วันที่ 23 พ.ค. 2550

ขอบพระคุณครับ

ขอน้อมนำคำชี้แนะทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งนี้ จะได้ศึกษาสอบถามข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีการค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน

ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
Jarunee.A
วันที่ 25 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ