พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. กัจจานโคตตสูตร ว่าด้วยพระกัจจานโคตต์ทูลถามสัมมาทิฏฐิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36498
อ่าน  485

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 72

๕. กัจจานโคตตสูตร

ว่าด้วยพระกัจจานโคตต์ทูลถามสัมมาทิฏฐิ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 72

๕. กัจจานโคตตสูตร

ว่าด้วยพระกัจจานโคตต์ทูลถามสัมมาทิฏฐิ

[๔๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระกัจจานโคตต์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ.

[๔๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนกัจจานะ โลกนี้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 73

โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี (๑) ๑ ความไม่มี (๒) ๑ ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัยอันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่าทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แลกัจจานะ จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ.

[๔๔] ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้.

จบกัจจานโคตตสูตรที่ ๕

อรรถกถากัจจานโคตตสูตรที่ ๕

พึงทราบวินิจฉัยในกัจจานโคตตสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้.


(๑) สัสสตทิฏฐิ

(๒) อุจเฉททิฏฐิ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 74

บทว่า สมฺมาทิฏฺิ สมฺมาทิฏฺิ ความว่า เทวดาและมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตกล่าวความเห็นชอบใดๆ ท่านกัจจานะทูลถามย่อๆ ถึงความเห็นชอบนั้น ทั้งหมดเข้าด้วยบททั้งสอง.

บทว่า ทฺวยนิสฺสิโต ได้แก่ อาศัยส่วนทั้งสอง.

ทรงแสดงถึงมหาชนที่เหลือ ยกเว้นพระอริยบุคคล ด้วยบทว่า เยภุยฺเยน นี้.

บทว่า อตฺถิตํ ได้แก่ เที่ยง.

บทว่า นตฺถิตญฺจ ได้แก่ ขาดสูญ.

สังขารโลก ชื่อว่า โลก ความเกิดขึ้นแห่งสังขารโลกนั้น ชื่อว่า โลกสมุทัย.

บทว่า สมฺมปฺปญฺาย ปสฺสโต ความว่า มรรคปัญญาพร้อมวิปัสสนา ชื่อว่า สัมมัปปัญญา ความรู้ชอบ ผู้พิจารณาเห็นด้วยสัมมัปปัญญานั้น.

บทว่า ยา โลเก นตฺถิตา ได้แก่ เมื่อเขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาในธรรมที่บังเกิดขึ้นในสังขารโลก อุจเฉททิฏฐิที่ว่าไม่มี จะพึงเกิดขึ้น ก็ย่อมไม่มี.

บทว่า โลกนิโรธํ ได้แก่ ความแตกแห่งสังขารทั้งหลาย.

บทว่า ยา โลเก อตฺถิตา ได้แก่ เมื่อเขาพิจารณาเห็นด้วยปัญญาในธรรมที่กำลังแตกในสังขารโลก สัสสตทิฏฐิที่ว่ามีอยู่ จะพึงเกิดขึ้น ก็ย่อมไม่มี.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โลกสมุทยํ ได้แก่ ปัจจยาการโดยอนุโลม.

บทว่า โลกนิโรธํ ได้แก่ ปัจจยาการฝ่ายปฏิโลม.

ก็เมื่อบุคคลแม้จะพิจารณาเห็น คือ พิจารณาเห็นความไม่ขาดสูญแห่งธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เพราะความไม่ขาดสูญแห่งปัจจัยทั้งหลาย อุจเฉททิฏฐิที่ว่าไม่มี จะพึงเกิดขึ้น ย่อมไม่มี.

เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นความดับแห่งปัจจัย คือ พิจารณาเห็นความดับแห่งธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เพราะปัจจัยดับ สัสสตทิฏฐิที่ว่ามีอยู่ จะพึงเกิดขึ้น ก็จะไม่มี ความในข้อนี้มีดังกล่าวมานี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 75

ความผูกพันกันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส ชื่อว่า อุปายุปาทานาภินิเวสวินิพันโธ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปาทาย (๑) ได้แก่ อุบายมี ๒ อย่าง คือ ตัณหาอุบาย และทิฏฐิอุบาย.

นัยแม้ในอุปาทาน เป็นต้น ก็เหมือนกันนี้.

ก็ตัณหาและทิฏฐิ ท่านเรียกว่า อุบาย เพราะเข้าถึง คือ เข้าไปถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยอาการเป็นต้นว่า เรา ว่า ของเรา.

อนึ่ง ท่านว่า อุปาทาน และอภินิเวส เพราะถือมั่นและยึดมั่นธรรมเหล่านั้น.

ก็โลกนี้ ถูกตัณหาและทิฏฐิเหล่านั้นผูกพันไว้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปายุปาทานาภินิเวสวินิพนฺโธ.

บทว่า ตญฺจายํ ได้แก่ ก็พระอริยสาวกนี้เข้าไปยึดถืออุบายและอุปาทานนั้น.

บทว่า เจตโส อธิฏฺานํ ได้แก่ เป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิต.

บทว่า อภินิเวสานุสยํ ได้แก่ อันเป็นอภินิเวสและอนุสัย. เพราะอกุศลจิตย่อมตั้งอยู่ในตัณหาและทิฏฐิ และตัณหาและทิฏฐิก็ตั้งมั่น และนอนเนื่องในอกุศลจิตนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวธรรมทั้งสองประการนั้นว่า เป็นที่ตั้งมั่นและเป็นที่ยึดมั่นและนอนเนื่องแห่งจิต.

บทว่า น อุเปตี ได้แก่ ไม่เข้าถึง.

บทว่า น อุปาทิยติ ได้แก่ ไม่ยึดถือ.

บทว่า นาธิฏฺาติ ได้แก่ ไม่ตั้งมั่นว่า อะไรเป็นตัวตนของเรา.

บทว่า ทุกฺขเมว ได้แก่ เพียงอุปาทานขันธ์ ๕ เท่านั้น.

บทว่า น กงฺขติ ได้แก่ ไม่ทำความสงสัยว่า ความทุกข์นั่นแล ย่อมเกิดขึ้น ความทุกข์ย่อมดับไป.

ขึ้นชื่อว่า สัตว์อื่นในโลกนี้ไม่มี.

บทว่า น วิจิกิจฺฉติ ได้แก่ ไม่ให้ความลังเลใจเกิดขึ้น.

บทว่า อปรปฺปจฺจยา ได้แก่ เพราะผู้อื่นไม่ทำให้บรรลุ ความรู้ประจักษ์เฉพาะตัวเท่านั้นของผู้นี้มีอยู่ในข้อนี้.

ด้วยบทว่า เอตฺตาวตา


(๑) พม่า เป็น อุปย แปลว่า ความยึดถือ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 76

โข กจฺจาน สมฺมาทิฏฺิ โหติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงสัมมาทิฏฐิที่เจือปนกันว่า ความเห็นชอบเพียงเท่านี้มีอยู่ เพราะละสัตตสัญญาได้ด้วยอาการอย่างนี้.

บทว่า อยเมโก อนฺโต ได้แก่ ที่สุดยอด ที่สุดทราม อันเดียวกันนี้ จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่า เที่ยง อันที่หนึ่ง.

บทว่า อยํ ทุติโย ได้แก่ ที่สุดยอด ที่สุดทราม กล่าวคือ ทิฏฐิที่จะเกิดขึ้นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มี นี้จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า ขาดสูญ อันที่สอง.

คำที่เหลือใช้ในข้อนี้ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถากัจจานโคตตสูตรที่ ๕