๘. ติมพรุกขสูตร ว่าด้วยสุขและทุกข์เกิดแต่ปัจจัย
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 87
๘. ติมพรุกขสูตร
ว่าด้วยสุขและทุกข์เกิดแต่ปัจจัย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 87
๘. ติมพรุกขสูตร
ว่าด้วยสุขและทุกข์เกิดแต่ปัจจัย
[๕๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ปริพาชก ชื่อ ติมพรุกขะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๕๔] ครั้นแล้ว ติมพรุกขปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ ตนกระทำเองหรือ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ.
ต. สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม.
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ.
ต. สุขและทุกข์ ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านพระโคดม.
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ.
ต. สุขและทุกข์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม.
ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ.
ต. สุขและทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม.
ภ. สุขและทุกข์ไม่มีหามิได้ สุขและทุกข์มีอยู่ ติมพรุกขะ.
ต. ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นสุขและทุกข์.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 88
ภ. เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นสุขและทุกข์อยู่ ติมพรุกขะ.
ต. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ตนกระทำเองหรือ ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ไม่มีหรือ ท่านตรัสว่า สุขและทุกข์ไม่มีหามิได้ สุขและทุกข์มีอยู่ ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดมย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์ ท่านตรัสว่า เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์หามิได้ เราเห็นสุขและทุกข์อยู่ ติมพรุกขะ ขอท่านพระโคดมจงตรัสบอกสุขและทุกข์แก่ข้าพเจ้า ขอท่านพระโคดมจงทรงแสดงสุขและทุกข์แก่ข้าพเจ้า.
[๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนติมพรุกขะ เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นเวทนา นั่นผู้เสวย [เวทนา] ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง [รู้] อยู่ว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวย [เวทนา] เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดูก่อนติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 89
อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๕๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ติมพรุกขปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบติมพรุกขสูตรที่ ๘
อรรถกถาติมพรุกขสูตรที่ ๘
ในติมพรุกขสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.
คำว่า สา เวทนา เป็นต้น ตรัสเพื่อจะปฏิเสธลัทธิที่ว่า สิ่งที่ตนทำเอง เป็นสุขและทุกข์.
คำว่า สโต แม้ในบทว่า อาทิโต สโต นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
ในข้อนี้ มีการแสดงเนื้อความดังต่อไปนี้ :-
ติมพรุกขะ เมื่อคำเป็นต้นว่า สา เวทนา โส
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 90
เวทยติ มีอยู่อย่างนี้ ภายหลังย่อมมีลัทธิดังนี้ว่า สิ่งที่ตนทำเองเป็นสุข เป็นทุกข์ และเมื่อกล่าวอย่างนี้ ย่อมรู้ตามว่า เวทนานี้มีแม้ในกาลก่อน คือแสดงสัสสตทิฏฐิ ยึดถือสัสสตทิฏฐิ.
เพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้นเป็นความเห็นของท่าน.
บทว่า เอตํ ปเร ความว่า เข้าถึงสัสสตทิฏฐินั้น. เพราะทรงหมายเอาเนื้อความก่อนจึงตรัสอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ในอรรถกถา ท่านจึงประกอบคำนั้น แล้วแสดงเนื้อความแห่งคำนั้น.
บทว่า เอวญฺจาหํ น วทามิ ความว่า เราจะไม่พูดอย่างนี้ว่า สา เวทนา โส เวทยติ.
คำว่า อญฺา เวทนา เป็นอาทิ ตรัสเพื่อจะปฏิเสธลัทธิที่ว่า สุขและทุกข์อันคนอื่นทำ.
แม้ในบทนี้ มีการประกอบความดังต่อไปนี้ :-
ติมพรุกขะ เมื่อคำเป็นต้นว่า อญฺา เวทนา อญฺโ เวทยติ มีอยู่อย่างนี้ ภายหลังเมื่อถูกเวทนาที่สัมปยุตกับอุจเฉททิฏฐิ ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า การกเวทนาในฝ่ายแรกขาดสูญ แต่สิ่งที่ตนทำเอง ผู้อื่นเสวย ดังนี้ ครอบงำ ย่อมมีลัทธิดังนี้ว่า สิ่งที่ผู้อื่นทำเป็นสุข เป็นทุกข์ ดังนี้ และเมื่อกล่าวอย่างนี้ ย่อมแสดงอุจเฉททิฏฐิ ย่อมยึดถืออุจเฉททิฏฐิว่า การกะขาดสูญ สิ่งอื่นถือปฏิสนธิ. เพราะเหตุไร. เพราะข้อนั้น เป็นความเห็นของท่าน.
บทว่า เอตํ ปเร ได้แก่ เข้าถึงอุจเฉททิฏฐินั้น.
ก็ในที่นี้ท่านนำบทเหล่านี้มาประกอบไว้ในอรรถกถาแล้ว.
พระองค์ตรัสสุขเวทนาและทุกขเวทนาไว้ในพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้ และสุขทุกข์ที่เป็นวิบากนั้นแลก็ตรัสว่าเหมาะ (ที่จะกล่าวไว้ในพระสูตรนี้เหมือนกัน).
จบอรรถกถาติมพรุกขสูตรที่ ๘