๓. อุปนิสสูตร ว่าด้วยธรรมที่อิงอาศัยกัน
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 120
๓. อุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่อิงอาศัยกัน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 120
๓. อุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่อิงอาศัยกัน
[๖๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้อยู่ เห็นอยู่ เราจึงกล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เมื่อเราไม่รู้ไม่เห็น เราก็มิได้กล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้เราเห็นอะไรเล่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี เมื่อเรารู้เราเห็นว่า ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป... ดังนี้เวทนา... ดังนี้สัญญา... ดังนี้สังขาร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 121
ทั้งหลาย... ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้ เราเห็นอย่างนี้แล ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมี.
[๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมเป็นที่สิ้นไป (๑) เกิดขึ้นแล้ว ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป อันนั้นแม้ใด มีอยู่ เรากล่าวญาณแม้นั้นว่ามีเหตุเป็นที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุเป็นที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป ควรกล่าวว่า วิมุตติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิมุตติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิมุตติ ควรกล่าวว่า วิราคะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิราคะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิราคะ ควรกล่าวว่า นิพพิทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนิพพิทาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งนิพพิทา ควรกล่าวว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งยถาภูตญาณทัสสนะว่า มีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งยถาภูตญาณทัสสนะ ควรกล่าวว่า สมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสมาธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสมาธิ ควรกล่าวว่า สุข ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสุขว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าว
(๑) อรหัตตผล
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 122
ว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสุข ควรกล่าวว่า ปัสสัทธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปัสสัทธิว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปัสสัทธิ ควรกล่าวว่า ปีติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งปีติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งปีติ ควรกล่าวว่า ความปราโมทย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งความปราโมทย์ว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งความปราโมทย์ ควรกล่าวว่า ศรัทธา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งศรัทธาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งศรัทธา ควรกล่าวว่า ทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งทุกข์ว่ามีเหตุเป็นที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งทุกข์ ควรกล่าวว่า ชาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งชาติว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งชาติ ควรกล่าวว่า ภพ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งภพว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งภพ ควรกล่าวว่า อุปาทาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งอุปาทานว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งอุปาทาน ควรกล่าวว่า ตัณหา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งตัณหาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 123
ไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งตัณหา ควรกล่าวว่า เวทนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งเวทนาว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งเวทนา ควรกล่าวว่า ผัสสะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งผัสสะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งผัสสะ ควรกล่าวว่า สฬายตนะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสฬายตนะว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสฬายตนะ ควรกล่าวว่า นามรูป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งนามรูปว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งนามรูป ควรกล่าวว่า วิญญาณ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งวิญญาณว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งวิญญาณ ควรกล่าวว่า สังขารทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวแม้ซึ่งสังขารทั้งหลายว่ามีเหตุที่อิงอาศัย มิได้กล่าวว่าไม่มีเหตุที่อิงอาศัย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นเหตุที่อิงอาศัยแห่งสังขารทั้งหลาย ควรกล่าวว่า อวิชชา.
ด้วยเหตุดังนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย ศรัทธามี
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 124
ทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทา มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย.
[๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ตกอยู่บนยอดภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขา ระแหง และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ระแหงและห้วยทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังหนองทั้งหลายให้เต็ม หนองทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังบึงทั้งหลายให้เต็ม บึงทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยๆ ให้เต็ม แม่น้ำน้อยๆ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ๆ ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ๆ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังมหาสมุทรให้เต็ม แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย ฯลฯ ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป มีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย ฉันนั้นเหมือนกันแล.
จบอุปนิสสูตรที่ ๓
อรรถกถาอุปนิสสูตรที่ ๓
พึงทราบวินิจฉัยในอุปนิสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
ในบททั้งหลายมีว่า ชานโต อหํ เป็นต้น.
บทว่า ชานโต แปลว่า รู้อยู่.
บทว่า ปสฺสโต แปลว่า เห็นอยู่.
แม้ทั้ง ๒ บท ก็มีความอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น.
แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น บทว่า ชานโต จึงชี้บุคคลอาศัยลักษณะแห่งญาณ. ด้วยว่า ญาณมีความรู้ทั่วถึงเป็นลักษณะ.
บทว่า ปสฺสโต ชี้บุคคลอาศัยอานุภาพแห่งญาณ. ด้วยว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 125
ญาณมีการเห็นเป็นอานุภาพ.
บุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ ย่อมเห็นธรรมทั้งหลายที่เปิดเผยแล้วด้วยญาณ เหมือนคนมีจักษุ เห็นรูปทั้งหลายด้วยจักษุ.
ในคำว่า อาสวานํ ขยา นี้ ความละ ความไม่เกิดขึ้น อาการที่สิ้นไป ความไม่มีอาสวะทั้งหลายก็เรียกว่า อาสวักขัย.
ภังคะก็ดี มรรคผลนิพพานก็ดี ท่านเรียกว่า อาสวักขัย แม้นี้.
จริงอยู่ อาการที่สิ้นไป ท่านเรียกว่า อาสวักขัย ได้ในบาลีเป็นต้นว่า อาสวนํ ขยา อนาสวํ เจโตวิมุตฺติํ เจโตวิมุตติที่ไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป.
ภังคะ ก็เรียกว่า อาสวักขัย ได้ในบาลีนี้ว่า โย อาสวานํ ขโย วโย เภโท ปริเภโท อนิจฺจตา อนฺตรธานํ อาการที่อาสวะสิ้นไป เสื่อมไป แตกไป แตกขาดไป ไม่เที่ยง หายไป.
มรรค ก็เรียกว่า อาสวักขัย ได้ในบาลีนี้ว่า
เสกฺขสฺส เสกฺขมานสฺส อุชุมคฺคานุสาริโน ขยสฺมิํ ปมํ าณํ ตโต อญฺา อนนฺตรา.
ญาณความรู้อันดับแรกในความสิ้นไป มีแก่พระเสกขะผู้กำลังศึกษา ผู้ดำเนินไปตรงมรรค อันดับต่อไปก็มีอัญญาความรู้ทั่วถึง.
จริงอยู่ มรรคนั้น ย่อมเกิดขึ้นทำอาสวะให้สิ้นไป ระงับไป. เพราะฉะนั้น มรรคท่านจึงเรียกว่า เป็นที่สิ้นอาสวะ.
ผลก็เรียกว่า อาสวักขัย ได้ในบาลีนี้ว่า อาสวานํ ขยา สมโณ โหติ ชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะ.
จริงอยู่ ผลนั้นเกิดขึ้นในที่สุดแห่งอาสวะทั้งหลายสิ้นไป เพราะฉะนั้น ผลท่านจึงเรียกว่า อาสวักขัย.
พระนิพพานก็เรียกว่า อาสวักขัย ได้ในบาลีนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 126
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นเจริญอยู่ ผู้นั้นยังห่างไกลธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ.
จริงอยู่ อาศัยพระนิพพานนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป. เพราะฉะนั้น พระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า อาสวักขัย. แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์แค่มรรคและผล.
บทว่า โน อปสฺสโต ความว่า ผู้ใดไม่รู้ไม่เห็น เราไม่กล่าวความสิ้นอาสวะของผู้นั้น.
ด้วยบทนั้น ก็เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านพวกเจ้าลัทธิ ที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นต้น ของผู้แม้ไม่รู้ไม่เห็น ตรัสทางที่เป็นอุบายด้วยสองบทต้น ตรัสคัดค้านทางที่มิใช่อุบายด้วยบทนี้.
บัดนี้ มีพระประสงค์จะทรงแสดงข้อที่ภิกษุรู้อยู่ อาสวะสิ้นไป จึงทรงเริ่มถามว่า กิญฺจ ภิกฺขเว ชานโต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้อะไรเล่า. ในคำนั้น ความรู้มีมากอย่าง.
จริงอยู่ ภิกษุบางรูป เป็นผู้รู้อย่างธรรมดา รู้จักทำร่มได้. บางรูปรู้จักทำจีวร เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง. เมื่อภิกษุนั้น ตั้งอยู่ในหัวข้อวัตรปฏิบัติ ทำแต่การงานเช่นนี้ ความรู้นั้นก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เป็นปทัฏฐานของสวรรค์และมรรคผล.
แต่ว่าผู้ใดบวชในพระศาสนาแล้ว รู้แต่ทำอเนสนามีเวชกรรม เป็นต้น. อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ซึ่งรู้อยู่. เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุรู้และเห็นสิ่งใด อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ พระองค์เมื่อทรงแสดงสิ่งนั้น จึงตรัสว่า อิติ รูปํ ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ชานโต ความว่า ผู้เห็นความเกิดและความสิ้นไปแห่งปัญจขันธ์อย่างนี้.
บทว่า อาสวานํ ขโย โหติ ความว่า พระอรหัตที่ได้ชื่อว่า อาสวักขัย ก็มี เพราะเกิดในที่สุดแห่ง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 127
ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นจบเทศนาด้วยยอดคือพระอรหัตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงปฏิปทาส่วนเบื้องต้นที่พระขีณาสพพึงบรรลุ จึงตรัสว่า ยมฺปิ ตํ ภิกฺขเว เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขยสฺมิํ ขเย าณํ ความว่า เมื่อพระอรหัตตผล กล่าวคือ อาสวักขัย อันท่านได้แล้วมีอยู่ ปฏิเวธญาณก็มี.
ด้วยว่าปฏิเวธญาณนั้น ท่านเรียกว่า ขเย าณํ รู้ในความสิ้นไป เพราะเมื่อธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ กล่าวคืออรหัตตผลเกิดขึ้นก่อน ปฏิเวธญาณเกิดภายหลัง.
บทว่า สอุปนิสํ แปลว่า มีเหตุมีปัจจัย.
บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ วิมุตติที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผล.
จริงอยู่ วิมุตตินั้นย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งพระอรหัตนั้น แม้ในปัจจัยอย่างอื่นจากนี้ ก็พึงทราบความเป็นปัจจัยด้วยอำนาจปัจจัยที่กำลังได้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้.
บทว่า วิราโค ได้แก่ มรรค.
จริงอยู่ มรรคนั้นเกิดขึ้น ทำให้กิเลสคลายไป สิ้นไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า วิราคะ.
บทว่า นิพฺพิทา ได้แก่ นิพพิทาญาณ. ทรงแสดงวิปัสสนาที่มีกำลังด้วยนิพพิทาญาณนั้น.
คำว่า วิปัสสนามีกำลัง เป็นชื่อของญาณ ๔ คือ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ สังขารุเปกขาญาณ.
บทว่า ยถาภูตาณทสฺสนํ แปลว่า ความเห็น กล่าวคือความรู้ตามสภาวะที่เป็นจริง.
ทรงแสดงวิปัสสนาอย่างอ่อน ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะนั้น.
จริงอยู่ วิปัสสนาอย่างอ่อน ย่อมเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาที่มีกำลัง.
คำว่า วิปัสสนาอย่างอ่อน เป็นชื่อของญาณ ๔ คือ สังขารปริเฉทญาณ กังขาวิตรณญาณ สัมมสนญาณ มัคคามัคคญาณ.
บทว่า สมาธิ ได้แก่ สมาธิที่มีฌานเป็นบาท.
จริงอยู่ สมาธินั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาอย่างอ่อน.
บทว่า สุขํ ได้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 128
แก่สุขเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิ.
จริงอยู่ สุขนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่สมาธิที่มีฌานเป็นบาท.
บทว่า ปสฺสทฺธิ ได้แก่ การระงับความกระวนกระวาย.
จริงอยู่ ปัสสัทธินั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่สุข ซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิ.
บทว่า ปีติ ได้แก่ ปีติที่มีกำลัง.
จริงอยู่ ปีตินั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่การระงับความกระวนกระวาย.
บทว่า ปาโมชฺชํ ได้แก่ ปีติที่มีกำลังอ่อน.
จริงอยู่ ปีติที่มีกำลังอ่อน ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปีติที่มีกำลัง.
บทว่า สทฺธา ได้แก่ ความเชื่อที่เกิดในภพต่อๆ ไป.
จริงอยู่ ความเชื่อที่เกิดในภพต่อๆ ไปนั้นย่อมเป็นปัจจัยแก่ปีติที่มีกำลังอ่อน.
บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ในวัฏฏะ.
จริงอยู่ ทุกข์ในวัฏฏะนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่ศรัทธาในภพต่อๆ ไป.
บทว่า ชาติ ได้แก่ ความเกิดแห่งขันธ์ที่มีอาการต่างๆ กัน.
จริงอยู่ ชาตินั้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ในวัฏฏะ.
บทว่า ภโว ได้แก่ กามภพ.
แม้บทที่เหลือ ก็พึงทราบโดยอุบายอย่างนี้.
บทว่า ถุลฺลผุสิตเก แปลว่า มีเมล็ดใหญ่.
ในบทว่า ปพฺพตกนฺทรปทรสาขา นี้ มีวินิจฉัย ดังนี้.
ประเทศแห่งภูเขาที่ถูกน้ำ อันได้ชื่อว่า กัง เซาะแตกออกเพราะน้ำ ชื่อว่า กันทระ ที่เรียกกันว่า นิตัมพะ ก็มี นิกุญชะ ก็มี. ภูมิประเทศ ที่แตกระแหง เมื่อฝนไม่ตกถึงกึ่งเดือน ชื่อว่า ปทระ เหมืองเล็กที่ชักไปยังกุสุพภะ ชื่อว่า สาขา. บ่อเล็ก ชื่อว่า กุสุพภะ. บ่อใหญ่ ชื่อว่า มหากุสุพภะ. แม่น้ำน้อย ชื่อว่า กุนนที. แม่น้ำใหญ่ มีคงคา ยมุนา เป็นต้น ชื่อว่า มหานที.
ในบทว่า เอวเมว โข ภิกฺขเว อวิชฺชูปนิสา สงฺขารา เป็นต้น มีวินิจฉัย ดังนี้. พึงเห็นอวิชชาว่าเหมือนภูเขา อภิสังขารทั้งหลายว่าเหมือนเมฆ วัฏฏะมีวิญญาณ เป็นต้น ว่าเหมือนแก่งน้ำ วิมุตติว่าเหมือนสาคร. ฝนตกบนยอดภูเขา ก็
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 129
ทำแก่งภูเขาให้เต็ม ทำสาครคือมหาสมุทรให้เต็มตามลำดับ ฉันใด ก่อนอื่นพึงทราบถึงการตกแห่งเมฆคืออภิสังขาร บนยอดภูเขาคืออวิชชาก็ฉันนั้น.
แท้จริง ปุถุชนผู้เขลา ไม่ได้สดับ เป็นผู้ไม่รู้เพราะอวิชชา กระทำความปรารถนาเพราะตัณหา ย่อมสร้างกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล. กรรมที่เป็นกุศลและอกุศลนั้น ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญาณ. ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแก่นามรูป เป็นต้น.
เวลาที่เมฆคืออภิสังขาร ตกลงบนยอดภูเขาคืออวิชชา ทำวัฏฏะมีวิญญาณ เป็นต้น ให้เต็มตามลำดับ ตั้งอยู่ เพราะเป็นปัจจัยสืบต่อกันไป ก็เหมือนเวลาที่ฝนตกบนยอดภูเขา ทำแก่งภูเขาให้เต็มแล้วก็ตั้งจดมหาสมุทร.
แต่พระพุทธวจนะ แม้ท่านไม่ถือเอาในพระบาลี ก็พึงทราบว่า ท่านถือเอาไว้แล้วเหมือนกัน โดยอำนาจพระบาลีนี้ว่า อิธ ตถาคโต โลเก อุปฺปชฺชติ อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชติ พระตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เสด็จออกผนวชจากเรือน ไม่มีเรือน ดังนี้.
ก็ความบังเกิดในเรือนแห่งตระกูลของพระตถาคตนั้น ชื่อว่า ชาติ ที่มีการกระทำต่างๆ ร่วมกัน เพราะมีกรรมภพเป็นปัจจัย.
บุคคลอาศัยความพร้อมหน้าของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ หรือพระพุทธสาวก ฟังธรรมกถา ที่นำมาโดยลักษณะอันแสดงถึงโทษของวัฏฏะ ย่อมเป็นอันถูกเบียดเบียน ด้วยอำนาจวัฏฏะ.
ชาติย่อมเป็นปัจจัยแก่วัฏทุกข์. ขันธ์ทั้งหลาย ที่มีการกระทำต่างๆ ย่อมมีแก่บุคคลนั้นด้วยอาการอย่างนี้.
ชาติเป็นปัจจัยแก่วัฏทุกข์ บุคคลนั้นถูกวัฏทุกข์เบียดเบียน ทำศรัทธาให้เกิดในภพต่อๆ ไป ก็ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน.
วัฏทุกข์เป็นปัจจัยแก่ศรัทธาในภพต่อๆ ไป ของบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้.
บุคคลนั้น ไม่สันโดษด้วยเหตุเพียงบรรพชาเท่านั้น ยังถือนิสัยในเวลา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 130
พรรษาไม่ครบ ๕ บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ทำมาติกาทั้งสองให้คล่องแคล่วแล้วเรียนกรรมและมิใช่กรรม สะสางให้หายรกจนถึงพระอรหัต ถือกัมมัฏฐาน ไปอยู่ป่า เริ่มการงานในปฐวีกสิณ เป็นต้น.
บุคคลนั้นอาศัยกัมมัฏฐาน ก็เกิดปีติที่มีกำลังอ่อนๆ เขาอาศัยปีตินั้น ก็เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์นั้น ก็เป็นปัจจัยแก่ปีติที่มีกำลัง. ปีติที่มีกำลัง ก็เป็นปัจจัยแก่ปัสสัทธิ ระงับความกระวนกระวาย. ปัสสัทธินั้น ก็เป็นปัจจัยแก่สุขส่วนเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิ สุขนั้นก็เป็นปัจจัยแก่สมาธิที่มีฌานเป็นบาท.
บุคคลนั้นทำสุขนั้นที่พรั่งพร้อมให้เกิดด้วยสมาธิ ก็ทำการงานด้วยวิปัสสนาอย่างอ่อน. สมาธิที่มีฌานเป็นบาทของเขา ก็เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาที่มีกำลังอ่อน. วิปัสสนาที่มีกำลังอ่อน ก็เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาที่มีกำลัง. วิปัสสนาที่มีกำลัง ก็เป็นปัจจัยแก่มรรค. มรรคก็เป็นปัจจัยแก่ผลวิมุตติ. ผลวิมุตติก็เป็นปัจจัยแก่ปัจจเวกขณญาณ.
พึงทราบว่า เวลาที่พระขีณาสพ ทำสาคร คือวิมุตติให้เต็มแล้วดำรงอยู่ ก็เหมือนเวลาที่ฝนทำสาครให้เต็มโดยลำดับ ตั้งอยู่ ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถาอุปนิสสูตรที่ ๓