๗. นตุมหสูตร ว่าด้วยปัจจัยปรุงแต่งกรรม
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 203
๗. นตุมหสูตร
ว่าด้วยปัจจัยปรุงแต่งกรรม
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 203
๗. นตุมหสูตร
ว่าด้วยปัจจัยปรุงแต่งกรรม
[๑๔๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่านี้พึงเห็นว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ เป็นที่ตั้งของเวทนา.
[๑๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในเรื่องกายนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายซึ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
จบนตุมหสูตรที่ ๗
อรรถกถานตุมหสูตรที่ ๗
พึงทราบวินิจฉัยในนตุมหสูตรที่ ๗ ต่อไป.
ข้อว่า "นายํ ตุมฺหากํ กายนี้มิใช่ของพวกเธอ" อธิบายว่า เมื่ออัตตามีอยู่ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่เป็นอัตตาก็ย่อมมี. แต่อัตตานั่นแหละย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 204
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กายนี้มิใช่ของพวกเธอ.
ข้อว่า "นาปิ อญฺเสํ ทั้งมิใช่ของผู้อื่น" คือ อัตตาของคนอื่นชื่อว่าเป็นอื่นไป.
เมื่ออัตตานั้นมีอยู่ ที่ชื่อว่า อัตตาอื่นก็พึงมี ทั้งอัตตาอื่นนั้นก็ไม่มี. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทั้งมิใช่ของคนอื่น.
ข้อว่า "ปุราณมิทํ ภิกฺขเว กมฺมํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่านี้" อธิบายว่า กรรมนี้มิใช่กรรมเก่าเลย แต่กายนี้ บังเกิดเพราะกรรมเก่า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้ด้วยปัจจยโวหาร.
บทว่า อภิสงฺขตํ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยศัพท์เป็นเพศชายโดยอำนาจแห่งกรรมโวหารนั่นเอง.
ก็ในคำว่า อภิสงฺขตํ เป็นต้นนี้ มีอธิบายดังนี้.
บทว่า อภิสงฺขตํ ได้แก่ กายนี้พึงเห็นว่า อันปัจจัยแต่งแล้ว.
บทว่า อภิสญฺเจตยิตํ ได้แก่ พึงทราบว่ามีเจตนาเป็นที่ตั้ง คือมีความจงใจเป็นมูล.
บทว่า เวทนียํ ได้แก่ พึงทราบว่า เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา.
จบอรรถกถานตุมหสูตรที่ ๗