พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปริวีมังสนสูตร ว่าด้วยการพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36534
อ่าน  495

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 240

ทุกขวรรคที่ ๖

๑. ปริวีมังสนสูตร

ว่าด้วยการพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 240

ทุกขวรรคที่ ๖

๑. ปริวีมังสนสูตร

ว่าด้วยการพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ

[๑๘๘] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ภิกษุเมื่อพิจารณา พึงพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่ตั้ง มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่ง ได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักทรงจำไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 241

เป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอแล เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้แลมีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นสมุทัย มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชราและมรณะ.

[๑๙๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ก็ชาตินี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นสมุทัย มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชาติ ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชาติ.

[๑๙๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 242

ก็ภพนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็สังขารนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี.

ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา ย่อมรู้ประจักษ์ว่า สังขารมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด เมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สังขาร ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งสังขาร.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา.

[๑๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำ เมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 243

สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา.

ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป.

ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย.

[๑๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตา เผาหม้อวางไว้ที่พื้นดินอันเรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงหายไป กระเบื้องหม้อยังเหลืออยู่ที่พื้นดินนั้นนั่นแหละ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกายฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุผู้ขีณาสพพึงทำกรรมเป็นบุญบ้าง ทำกรรมเป็นบาปบ้าง ทำกรรมเป็นอเนญชาบ้างหรือหนอ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 244

ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังขารไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสังขารดับ วิญญาณพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิญญาณไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะวิญญาณดับ นามรูปพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะนามรูปดับ สฬายตนะพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสฬายตนะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับ เวทนาพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับ ตัณหาพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับ อุปาทานพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 245

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับ ภพจึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับ ชาติพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับ ชราและมรณะพึงปรากฏหรือหนอ.

ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

[๑๙๕] ดีละๆ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสำคัญ จงเชื่อซึ่งข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด พวกเธอจงน้อมใจไปสู่ข้อนั้นอย่างนั้นเถิด จงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนั้นเถิด นั่นเป็นที่สุดทุกข์.

จบปริวีมังสนสูตรที่ ๑

ทุกขวรรคที่ ๖

อรรถกถาปริวีมังสนสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในปริวีมังสนสูตรที่ ๑ แห่งทุกขวรรคต่อไป.

บทว่า ปริวีมํสมาโน แปลว่า เมื่อพิจารณา.

บทว่า ชรามรณํ ชราและมรณะ ความว่า หากถามว่า "เพราะเหตุไร ชราและมรณะข้อเดียวเท่านั้น จึงมีประการต่างๆ หลายอย่าง."

ตอบว่า "เพราะเมื่อจับชรามรณะนั้นได้แล้ว ก็จะเป็นอันจับทุกข์ทั้งปวงได้" เหมือนอย่างว่า เมื่อบุรุษถูกจับที่ผมจุก บุรุษนั้นย่อมชื่อว่าถูกจับโดยแท้ ฉันใด เมื่อจับชราและมรณะได้แล้ว ธรรมที่เหลือย่อมชื่อว่าเป็นอันจับได้โดยแท้ ฉันนั้น. เมื่อจับชราและมรณะได้แล้วเช่นนี้ ทุกข์ทั้งปวงย่อมชื่อว่าเป็นอันจับ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 246

ได้โดยแท้.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทุกข์นี้มีประการต่างๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในโลก ดังนี้ ทรงแสดงทุกข์ทั้งปวง เหมือนบุรุษผู้อาบน้ำแล้วยืนอยู่ ชื่อว่า ทรงจับชราและมรณะ เหมือนจับบุรุษนั้นที่ผมจุก.

บทว่า ชรามรณนิโรธสารุปฺปคามินี ความว่า ปฏิปทา ชื่อว่าเป็นเช่นกันนั้นเทียว เพราะความไม่มีกิเลส คือ บริสุทธิ์ เป็นเครื่องให้ถึงโดยภาวะสมควรแก่ความดับแห่งชราและมรณะ.

บทว่า ตถา ปฏิปนฺโน จ โหติ ความว่า ภิกษุอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามนั้นอย่างใด ก็ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น.

บทว่า อนุธมฺมจารี เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ความว่า ประพฤติ คือ บำเพ็ญธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติที่ไปตามธรรม คือ พระนิพพาน.

บทว่า ทุกฺขกฺขยาย ปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ ได้แก่ เป็นผู้ทำศีลให้เป็นเบื้องต้น แล้วปฏิบัติเพื่อความดับแห่งทุกข์ คือชราและมรณะ.

บทว่า สงฺขารนิโรธาย เพื่อความดับแห่งสังขาร ได้แก่ เพื่อความดับแห่งทุกข์ คือสังขาร.

พระเทศนาจนถึงพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยข้อความเพียงเท่านี้.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงการพิจารณาอรหัตตผลและธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิจแล้วจึงกลับเทศนาอีก.

ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงกระทำอย่างนั้น แต่ทรงถือเอาคำว่า อวิชฺชาคโต บุคคลตกอยู่ในอวิชชานี้ เพราะเหตุไร.

ตอบว่า ทรงถือเอาเพื่อทรงแสดงวัฏทุกข์อันพระขีณาสพก้าวล่วงแล้ว.

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภวัฏฏะตรัสถึงวิวัฏฏะ (พระนิพพาน) อยู่ ก็จะมีสัตว์ผู้จะตรัสรู้อยู่ในเรื่องนี้. พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาคำนี้ด้วยอำนาจอัธยาศัยของสัตว์นั้น.

ในพระบาลีนั้น บทว่า อวิชฺชาคโต

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 247

ตกอยู่ในอวิชชา ได้แก่ เข้าถึง คือ ประกอบด้วยอวิชชา.

บทว่า ปุริสปุคฺคโล บุรุษบุคคล ได้แก่ บุคคลคือบุรุษ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสมมติกถา ด้วยคำทั้งสองนั้น.

ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีกถา (การกล่าว) อยู่ ๒ อย่าง คือ สมมติกถา ๑ ปรมัตถกถา ๑.

ในกถาทั้ง ๒ นั้น กถาที่เป็นไปอย่างนี้คือ สัตว์ นระ ปุริสะ ปุคคละ ติสสะ นาคะ ชื่อว่า สมมติกถา.

กถาที่เป็นไปอย่างนี้คือ ขันธ์ทั้งหลาย ธาตุทั้งหลาย อายตนะทั้งหลาย ชื่อว่า ปรมัตถกถา.

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะทรงกล่าวปรมัตถกถา ย่อมทรงกล่าวไม่ทิ้งสมมติทีเดียว. พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เมื่อทรงกล่าวสมมติก็ดี เมื่อทรงกล่าวปรมัตถ์ก็ดี ย่อมทรงกล่าวเรื่องจริงเท่านั้น.

ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเมื่อจะตรัส (เรื่องใดๆ) ได้ตรัสสัจจะ (ความจริง) ๒ คือ สมมติสัจจะ ๑ ปรมัตถสัจจะ ๑. ใครๆ ย่อมไม่ได้สัจจะที่ ๓ (เพราะไม่มี). การกล่าวถึงสิ่งที่รู้ ชื่อสมมติสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นโลกสมมติ (สิ่งที่ชาวโลกรู้). ส่วนการกล่าวถึงประโยชน์ อย่างยิ่ง อันเป็นลักษณะจริงของธรรมทั้งหลาย ชื่อปรมัตถสัจจะ"

บทว่า ปุญฺญฺเจ สงฺขารํ ถ้าสังขารที่เป็นบุญ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อันต่างด้วยเจตนา ๑๓.

บทว่า อภิสงฺขโรติ ปรุงแต่ง ได้แก่ กระทำ.

ข้อว่า ปุญฺญูปคํ โหติ วิญฺาณํ วิญญาณย่อมเข้าถึงบุญ ได้แก่ กัมมวิญญาณย่อมเข้าถึง คือ ประกอบพร้อมด้วยกุศลกรรม. แม้วิปากวิญญาณ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 248

ก็ย่อมเข้าถึง คือประกอบพร้อมด้วยกุศลวิบาก.

บทว่า อปุญฺญฺเจ สงฺขารํ ถ้าสังขารที่เป็นบาป ได้แก่ อปุญญาภิสังขารอันต่างด้วยเจตนา ๑๒.

บทว่า อาเนญฺชญฺเจ สงฺขารํ ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชา ได้แก่ อเนญชาภิสังขารอันต่างด้วยเจตนา ๔.

บทว่า อาเนญฺชูปคํ โหติ วิญฺาณํ วิญญาณย่อมเข้าถึงอเนญชา ได้แก่ กัมมวิญญาณย่อมเข้าถึง คือ ประกอบพร้อมด้วยกรรมที่เป็นอเนญชา วิปากวิญญาณย่อมเข้าถึง ด้วยวิบากที่เป็นอเนญชา.

ปัจจยาการซึ่งมี ๑๒ บท ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาแล้วแล เพราะค่าที่ได้ทรงถือเอากัมมาภิสังขาร ๓ ในพระสูตรนี้. วัฏฏะเป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยข้อความเพียงเท่านี้.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะคือพระนิพพาน จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล" เป็นอาทิ.

ในพระบาลีนั้น บทว่า อวิชฺชา แปลว่า ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔.

บทว่า วิชฺชา ได้แก่ อรหัตตมรรคญาณ.

และในพระบาลีนี้ มีอธิบายว่า "เมื่อละอวิชชาได้ก่อนแล้วนั่นแหละ วิชชาจึงเกิดขึ้น.

เหมือนอย่างเมื่อมีความมืดอันประกอบด้วยองค์ ๔ จะละความมืดได้ก็ด้วยการจุดประทีปให้ลุกโชติช่วง ฉันใด เมื่อวิชชาเกิดขึ้น ก็พึงทราบว่าเป็นอันละอวิชชาได้ ฉันนั้น.

บทว่า "ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก" ได้แก่ ไม่ยึดมั่น คือ ถือมั่นธรรมอะไรๆ ในโลก.

บทว่า "เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว" อธิบายว่า เมื่อไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ถือมั่น ก็ย่อมไม่สะดุ้งเพราะตัณหา ไม่สะดุ้งเพราะกลัว ความว่า ย่อมไม่อยาก ไม่กลัว.

บทว่า "เฉพาะตัวเท่านั้น" ได้แก่ ย่อมปรินิพพานด้วยตนเองเท่านั้นแหละ ไม่ปรินิพพานเพราะอานุภาพของผู้อื่น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 249

ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำนี้ว่า ภิกษุนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนา.

ตอบว่า ทรงเริ่มเพื่อแสดงการพิจารณาของพระขีณาสพแล้วแสดงธรรมเครื่องอยู่เนืองนิจ.

บทว่า "อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา" คือ อันตนไม่กล้ำกลืนเก็บยึดถือไว้ด้วยตัณหา.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใด จึงตรัสถึงทุกขเวทนา. ผู้ที่เพลิดเพลินทุกขเวทนานั้นยังมีอยู่หรือไร.

ตอบว่า ใช่ ยังมีอยู่ เพราะผู้ที่เพลิดเพลินความสุขอยู่นั่นแหละ ชื่อว่าย่อมเพลิดเพลินทุกข์ เพราะผู้ถึงทุกข์ปรารถนาความสุข และความสุขก็กลายเป็นทุกข์เพราะปรวนแปร.

บทว่า "ที่ปรากฏทางกาย" คือ กำหนดได้ด้วยกาย. อธิบายว่า กาย คือทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่ตราบใด บุคคลย่อมเสวยเวทนาทางทวาร ๕ ที่เป็นไปแล้วอยู่ตราบนั้น.

บทว่า "ที่ปรากฏทางชีวิต" ได้แก่ กำหนดได้ด้วยชีวิต. อธิบายว่า ชีวิตยังเป็นไปอยู่ตราบใด บุคคลย่อมเสวยเวทนาทางมโนทวารที่เป็นไปแล้วอยู่ตราบนั้น.

บรรดาเวทนาทั้งสองนั้น เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เกิดขึ้นทีหลัง แต่ดับก่อน. เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวาร เกิดขึ้นก่อน แต่ดับทีหลัง.

ก็ในขณะปฏิสนธิ เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวารนั้น ย่อมตั้งอยู่ในวัตถุรูปเท่านั้น.

ในปวัตติกาล เวทนาที่เป็นไปทางทวาร ๕ เป็นไปอยู่ด้วยอำนาจทวาร ๕, ในเวลาที่คนมีอายุ ๒๐ ปี เป็นต้นในปฐมวัยย่อมมีกำลังแรงยิ่ง ด้วยอำนาจความรัก ความโกรธ และความหลง, ในเวลาที่คนมีอายุ ๕๐ ปีย่อมคงที่ จำเดิมแต่เวลาที่คนมีอายุ ๖๐ ปี ก็จะเสื่อมลง, ครั้นถึงเวลาที่คนมีอายุได้ ๘๐ - ๙๐ ปี ก็จะอ่อนลง (ในที่สุด) ใน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 250

ครั้งนั้น (คือในเวลาที่มีอายุ ๘๐ - ๙๐ ปี).

เมื่อพวกชนกล่าวว่า พวกเรานั่งนอนรวมกันเป็นเวลานาน สัตว์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่รู้สึก คือย่อมกล่าวถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้นแม้มีประมาณยิ่งว่า เราไม่เห็น ไม่ได้ยิน คือไม่รู้ว่า กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น ดีหรือไม่ดี แข็งหรืออ่อน เวทนาอันเป็นไปทางทวาร ๕ ของชนเหล่านั้นย่อมเป็นอันแตกแล้วอย่างนี้. ส่วนเวทนาที่เป็นไปทางมโนทวารยังเป็นไปอยู่. เวทนาแม้นั้น เมื่อเสื่อมไปโดยลำดับ ย่อมอาศัยที่สุดแห่งหทัยนั่นแหละเป็นไปในเวลามรณะ.

อนึ่ง เวทนานั้น ยังเป็นไปอยู่ตราบใด ก็พูดได้ว่า สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น. เมื่อใด เวทนานั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้น เรียกว่าสัตว์ตาย คือดับ.

ความข้อนี้ พึงแสดง (เปรียบเทียบ) ด้วยสระ. เหมือนอย่างบุรุษก่อสร้างสระให้สมบูรณ์ด้วยทางน้ำ ๕ สาย. เมื่อฝนตกลงมาครั้งแรก น้ำพึงไหลไปตามทางน้ำทั้ง ๕ สายจนเต็มบ่อภายในสระ ครั้งฝนตกอยู่บ่อยๆ น้ำพึงขังเต็มทางน้ำ ไหลลงสู่ทางประมาณคาวุตหนึ่งบ้าง กึ่งโยชน์บ้าง น้ำที่หลากมาแต่ที่นั้นๆ ครั้นเขาเปิดท่อสำหรับไขน้ำ ทำการงานในนา น้ำก็ไหลออกไป. ในเวลาที่ข้าวกล้าแก่ น้ำก็ไหลออก. น้ำแห้งถึงการที่ควรกล่าวว่า เราจะจับปลา. จากนั้นอีก ๒ - ๓ วัน น้ำก็ขังอยู่ในบ่อนั่นเอง. และถ้าในบ่อยังมีน้ำขังอยู่ตราบใด ก็ย่อมจะนับได้ว่า ในสระใหญ่มีน้ำอยู่ตราบนั้น. แต่ถ้าน้ำในบ่อนั้นแห้งเมื่อใด เมื่อนั้น ก็พูดได้ว่า ในสระไม่มีน้ำ ฉันใด พึงทราบข้อเปรียบเทียบ ฉันนั้น.

เวลาที่เวทนาอันเป็นไปทางมโนทวาร ตั้งอยู่ในวัตถุรูปในขณะปฏิสนธิครั้งแรกนั่นเอง เหมือนเวลาเมื่อฝนตกอยู่ครั้งแรก น้ำไหลเข้าไปตามทาง ๕ สาย บ่อก็

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 251

เต็ม. เมื่อเจตนาทางมโนทวารเป็นไปแล้ว ความเป็นไปแห่งเวทนาทางทวาร ๕ เหมือนเวลาเมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ทาง ๕ สายก็เต็ม.

ภาวะที่เวทนาอันเป็นไปทางทวาร ๕ นั้นมีกำลังมากยิ่ง ด้วยอำนาจความรักเป็นต้นในเวลาที่คนมีอายุ ๒๐ ปี ในปฐมวัย เหมือนน้ำที่ท่วมท้นทางตั้งคาวุตหนึ่งหรือกึ่งโยชน์ น้ำยังไม่ไหลออกจากสระตราบใด เวลาที่เวทนานั้นตั้งอยู่ในเวลาที่คนมีอายุ ๕๐ ปี เหมือนเวลาที่น้ำยังขังอยู่ในสระเก่าตราบนั้น.

ความเสื่อมแห่งเวทนานั้น จำเดิมแต่เวลาที่คนมีอายุ ๖๐ ปี เหมือนเวลาที่เขาเปิดท่อสำหรับไขน้ำทำการงานอยู่ น้ำก็ไหลออก. เวลาที่เวทนาอันเป็นไปทางทวาร ๕ อ่อนลง ในเวลาที่คนมีอายุ ๘๐- ๙๐ ปี เหมือนเวลาเมื่อฝนตกแล้ว น้ำทรงอยู่โดยรอบในทางน้ำ. เวลาที่เวทนาอันเป็นไปทางมโนทวาร อาศัยที่สุดแห่งหทยวัตถุเป็นไป เหมือนเวลาที่น้ำทรงอยู่ในบ่อนั่นเอง.

ความเป็นไปนั่นเหมือนเวลาเมื่อในสระมีน้ำอยู่แม้เพียงนิดหน่อย ก็ควรกล่าวว่า ในสระมีน้ำอยู่ตราบใด เมื่อเวทนาอันเป็นไปทางมโนทวารยังเป็นไปอยู่ ก็ย่อมกล่าวได้ว่า สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น.

อนึ่ง เมื่อน้ำในบ่อแห้งขาดไป ย่อมกล่าวได้ว่า ไม่มีน้ำในสระ ฉันใด เมื่อเวทนาอันเป็นไปทางมโนทวารไม่เป็นไปอยู่ สัตว์ก็เรียกว่า ตายแล้วฉันนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเวทนานี้ (เวทนาที่เป็นไปทางมโนทวาร) จึงตรัสว่า "ภิกษุเสวยเวทนาอันมี ชีวิตเป็นที่สุดรอบ."

คำว่า "กายสฺส เภทา เพราะความแตกแห่งกาย" ได้แก่ เพราะความแตกแห่งกาย.

บทว่า ชีวิตปริยาทานา อุทฺธํ ได้แก่ หลังจากการสิ้นชีวิต.

บทว่า "อิเธว ในโลกนี้แล" คือ ในโลกนี้แหละ เพราะมาข้างหน้าด้วยอำนาจปฏิสนธิ.

บทว่า "สีตีภวิสฺสนฺติ จักเป็น

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 252

สิ่งที่เย็น" ความว่า เป็นสิ่งที่เว้นจากความดิ้นรนและความกระวนกระวาย จึงชื่อว่า เป็นสิ่งที่เย็น คือ มีความไม่เป็นไปเป็นธรรมดา.

บทว่า สรีรานิ ได้แก่ สรีรธาตุ.

บทว่า "อวสิสฺสนฺติ จักเหลืออยู่" ได้แก่ จักเป็นสิ่งที่เหลืออยู่.

บทว่า "กุมฺภการปากา จากเตาเผาหม้อ" ได้แก่ จากที่เป็นที่เผาภาชนะของช่างหม้อ.

บทว่า "ปติฏฺเปยฺย วางไว้" ได้แก่ ตั้งไว้.

บทว่า "กปลฺลานิ กระเบื้องหม้อ" ได้แก่ กระเบื้องหม้อที่เนื่องเป็นอันเดียวกันพร้อมทั้งขอบปาก.

บทว่า "อวสิสฺเสยฺยุํ พึงเหลืออยู่" ได้แก่ พึงตั้งอยู่.

ในคำว่า "เอวเมว โข" นี้ มีข้อเปรียบเทียบด้วยอุปมาดังนี้ ภพ ๓ พึงเห็นเหมือนเตาเผาหม้อที่ไฟติดทั่วแล้ว. พระโยคาวจรเหมือนช่างหม้อ. อรหัตตมรรคญาณเหมือนไม้ขอที่ใช้เกี่ยวภาชนะของช่างหม้อออกมาจากเตาเผา. พื้นพระนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเหมือนภาคพื้นที่เรียบเสมอ. เวลาที่พระโยคาวจรผู้ปรารภวิปัสสนา เห็นแจ้งหมวด ๗ แห่งรูปและหมวด ๗ แห่งอรูป เมื่อกัมมัฏฐานปรากฏคล่องแคล่วแจ่มแจ้งอยู่ ได้อุตุสัปปายะเป็นต้นเห็นปานนั้น นั่งอยู่บนอาสนะเดียว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ ยกตนขึ้นจากอบาย ๔ แล้วดำรงอยู่ในพระนิพพานอันเป็นอมตะ อันไม่มีปัจจัยปรุงแต่งด้วยอำนาจผลสมาบัติ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ช่างหม้อเอาไม้ขอเกี่ยวหม้อที่ร้อนมาแล้ว วางหม้อไว้บนพื้นที่เรียบเสมอ.

ส่วนพระขีณาสพไม่ปรินิพพานในวันบรรลุพระอรหัต เหมือนหม้อที่ยังร้อนฉะนั้น แต่เมื่อจะสืบต่อประเพณีแห่งศาสนาก็ดำรงอยู่ถึง ๕๐ - ๖๐ ปี ย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะความแตกแห่งอุปาทินนกขันธ์ เพราะถึง

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 253

จิตดวงสุดท้าย เมื่อนั้น สรีระที่ไม่มีใจครองของพระขีณาสพนั้น จักเหลืออยู่ เหมือนกระเบื้องหม้อแล.

ก็คำว่า สรีรานิ อวสิสฺสนฺตีติ ปชานาติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อยกความพยายามของพระขีณาสพขึ้น.

บทว่า "วิญฺาณํ ปญฺาเยถ วิญญาณพึงปรากฏ" ได้แก่ ปฏิสนธิวิญญาณพึงปรากฏ.

บทว่า "สาธุ สาธุ ดีละๆ " ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชื่นชมการพยากรณ์ของพระเถระ.

บทว่า เอวเมตํ ความว่า คำว่า เมื่ออภิสังขาร ๓ อย่างไม่มี ปฏิสนธิวิญญาณก็ไม่ปรากฏเป็นต้น.

คำนั้นก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน.

บทว่า อธิมุจฺจถ ได้แก่ จงได้ความน้อมใจเชื่อ กล่าวคือความตกลงใจ.

ข้อว่า "เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส นั่นเป็นที่สุดทุกข์" ได้แก่ นี้แหละเป็นที่สุดทุกข์ในวัฏฏะ คือ นี้เป็นข้อกำหนด ได้แก่ พระนิพพาน.

จบอรรถกถาปริวีมังสนสูตรที่ ๑