๕. ปฐมมหารุกขสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 261
๕. ปฐมมหารุกขสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 261
๕. ปฐมมหารุกขสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน
[๒๐๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๒๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๒๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรม
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 262
ทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๒๐๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมา ตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วพึงผ่า ครั้นผ่าแล้วเกรียกให้เป็นชิ้นๆ แล้ว พึงผึ่งลม ตากแดด ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรงหรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น ถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังต้นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
จบปฐมมหารุกขสูตรที่ ๕
อรรถกถาปฐมมหารุกขสูตรที่ ๕
พึงทราบวินิจฉัยในปฐมมหารุกขสูตรที่ ๕ ต่อไป.
ข้อว่า "อุทฺธํ โอชํ อภิหรนฺติ นำโอชาขึ้นเบื้องบน" ได้แก่ นำรสดินและรสน้ำขึ้นเบื้องบน. เพราะโอชาได้ถูกดูดขึ้นเบื้องบน ต้นไม้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 263
สูงตั้ง ๑๐๐ ศอก ก็มียางเหนียวจึงตั้งอยู่ได้ เหมือนหยาดน้ำที่ปลายหน่อ.
ในข้อนี้ มีการเทียบเคียงด้วยข้ออุปมาดังนี้ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ เหมือนต้นไม้ใหญ่. อายตนะทั้งหลายเหมือนรากไม้. การก่อกรรมทางทวาร ๖ เหมือนการดูดโอชาขึ้นทางราก. การตั้งอยู่ได้เป็นเวลานานของปุถุชนผู้โง่เขลา ซึ่งอาศัยอยู่ในวัฏฏะ พยายามก่อกรรมทางทวาร ๖ อยู่ ด้วยอำนาจวัฏฏะในภพต่อๆ ไป มีความเจริญงอกงามเหมือนต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ได้ชั่วกัป เพราะโอชาเจริญงอกงาม.
บทว่า กุทฺทาลปิฏกํ แปลว่า จอบและกระบุง.
ข้อว่า ขณฺฑาขณฺฑิกํ ฉินฺเทยฺย ความว่า ตัดให้เล็กให้ใหญ่ ได้แก่ให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย.
ในข้อนี้ มีการเทียบเคียงด้วยอุปมาดังนี้.
ก็ในพระสูตรนี้ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ เหมือนต้นไม้ใหญ่. พระโยคาวจรเหมือนบุรุษผู้ต้องการโค่นต้นไม้. ญาณคือความรู้เหมือนจอบ สมาธิเหมือนกระบุง ญาณเหมือนขวานสำหรับตัดต้นไม้ ปัญญาของพระโยคีผู้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักอาจารย์แล้ว มนสิการอยู่ เหมือนเวลาที่ต้นไม้ถูกตัดที่ราก. เวลามนสิการมหาภูตรูป ๔ โดยย่อ เหมือนเวลาที่ตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย. เวลามนสิการโดยพิสดาร ในโกฏฐาส ๔๒ เหมือนการผ่า. การกำหนดนามรูปด้วยอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้ คือ อุปาทายรูป และวิญญาณอันมีรูปขันธ์เป็นอารมณ์ เหมือนเวลาเกรียก การแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั่นแหละ เหมือนการถอนรากไม้. การบรรลุผลอันเลิศ (อรหัตตผล) ของพระโยคีผู้เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ ได้สัปปายะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อกัมมัฏฐานปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ นั่งขัดสมาธิท่าเดียวกระทำสมณธรรมอยู่ เหมือนเวลาที่ผึ่งลม ตากแดด แล้วเอาไฟเผา. เวลาที่พระโยคีไม่ปรินิพพานในวันที่ตนบรรลุพระอรหัต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 264
นั่นเอง แต่ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุ เปรียบเหมือนมนสิการ. ความสงบแห่งวัฏฏะของพระขีณาสพ ผู้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุเพราะความแตกแห่งขันธ์ที่มีใจครอง พึงทราบเหมือนการโปรยเขม่าในลมแรงและลอยไปในแม่น้ำ.
จบอรรถกถาปฐมมหารุกขสูตรที่ ๕