พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. โปกขรณีสูตร ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเหมือนน้ำที่วิดด้วยปลายหญ้าคา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36560
อ่าน  412

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 395

๒. โปกขรณีสูตร

ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเหมือนน้ำที่วิดด้วยปลายหญ้าคา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 395

๒. โปกขรณีสูตร

ว่าด้วยเปรียบทุกข์ที่เหลือเหมือนน้ำที่วิดด้วยปลายหญ้าคา

[๓๑๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย... แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณียาว ๕๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ ลึก ๕๐ โยชน์ มีน้ำเต็มเสมอขอบ กาดื่มกินได้ บุรุษพึงวิดน้ำขึ้นจากสระโบกขรณีนั้นด้วยปลายหญ้าคา เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคาก็ดี น้ำในสระโบกขรณีก็ดี ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระโบกขรณีนี้แหละมากกว่า น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคามีประมาณน้อย น้ำที่บุรุษวิดขึ้นด้วยปลายหญ้าคาเมื่อเทียบกันเข้ากับน้ำในสระโบกขรณี ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด.

[๓๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละ ของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 396

ทิฏฐิ ตรัสรู้แล้ว เป็นทุกข์มากกว่า ส่วนที่เหลืออยู่มีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดไปสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้.

จบโปกขรณีสูตรที่ ๒

อรรถกถาโปกขรณีสูตรที่ ๒

ในโปกขรณีสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า โปกฺขรณี ได้แก่ บึง.

บทว่า อุพฺเพเธน ได้แก่ เพราะลึก.

บทว่า สมติตฺติกา ได้แก่ เสมอขอบปาก.

บทว่า กากเปยฺยา ความว่า กาอยู่ที่ฝั่งใหญ่ สามารถจะหย่อนจะงอยปากลงไปดื่มเองตามปกติได้.

จบอรรถกถาโปกขรณีสูตรที่ ๒