พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ธาตุสูตร ว่าด้วยความต่างแห่งธาตุ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36570
อ่าน  414

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 407

๒. ธาตุสังยุต

นานัตตวรรคที่ ๑

๑. ธาตุสูตร

ว่าด้วยความต่างแห่งธาตุ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 407

๒. ธาตุสังยุต

นานัตตวรรคที่ ๑

๑. ธาตุสูตร

ว่าด้วยความต่างแห่งธาตุ

[๓๓๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย... แล้วได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความต่างแห่งธาตุแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ณ บัดนี้. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

[๓๓๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ.

จบธาตุสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 408

ธาตุสังยุต

นานัตตวรรคที่ ๑

อรรถกถาธาตุสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในธาตุสูตรที่ ๑ แห่งนานัตตวรรค ดังต่อไปนี้.

ความที่ธรรมมีสภาพต่างกัน ได้ชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะ กล่าวคือมีอรรถว่ามิใช่สัตว์ และอรรถว่าเป็นของสูญ ดังนี้ ชื่อว่า ความต่างแห่งธาตุ.

ในบทเป็นต้นว่า จกฺขุธาตุ ความว่า จักขุปสาท ชื่อว่า จักขุธาตุ, รูปารมณ์ ชื่อว่า รูปธาตุ, จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า จักขุวิญญาณธาตุ.

โสตปสาท ชื่อว่า โสตธาตุ, สัททารมณ์ ชื่อว่า สัททธาตุ, จิตที่มีโสตปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า โสตวิญญาณธาตุ.

ฆานปสาท ชื่อว่า ฆานธาตุ, คันธารมณ์ ชื่อว่า คันธธาตุ, จิตที่มีฆานปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า ฆานวิญญาณธาตุ.

ชิวหาปสาท ชื่อว่า ชิวหาธาตุ, รสารมณ์ ชื่อว่า รสธาตุ, จิตที่มีชิวหาปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า ชิวหาวิญญาณธาตุ.

กายปสาท ชื่อว่า กายธาตุ, โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า โผฏฐัพพธาตุ, จิตที่มีกายปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า กายวิญญาณธาตุ.

มโนธาตุ ๓ ชื่อว่า มโนธาตุ, ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น สุขุมรูป และนิพพาน ชื่อว่า ธรรมธาตุ, มโนวิญญาณ แม้ทั้งหมด ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ,

ก็ในข้อนี้ ธาตุ ๑๖ อย่าง เป็นกามาวจร ธาตุ ๒ ในที่สุดเป็นไปในภูมิ ๔.

จบอรรถกถาธาตุสูตรที่ ๑