พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. จังกมสูตร ว่าด้วยการจงกรมของภิกษุหลายรูป

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36584
อ่าน  676

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 441

๕. จังกมสูตร

ว่าด้วยการจงกรมของภิกษุหลายรูป


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 441

๕. จังกมสูตร

ว่าด้วยการจงกรมของภิกษุหลายรูป

[๓๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์. ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระมหากัสสปก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอนุรุทธก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอุบาลีก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอานนท์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระเทวทัตก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 442

[๓๖๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสารีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก พวกเธอเห็นมหากัสสปกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท พวกเธอเห็นอนุรุทธกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก พวกเธอเห็นอุบาลีกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย พวกเธอเห็นอานนท์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 443

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต พวกเธอเห็นเทวทัตกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่.

ภิ. เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก.

[๓๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี.

แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้วกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี.

แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว จักคบค้ากัน จักสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี จักคบค้ากัน จักสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี.

แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี.

จบจังกมสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 444

อรรถกถาจังกมสูตรที่ ๕

พึงทราบวินิจฉัยในจังกมสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้.

บทว่า ปสฺสถ โน แปลว่า ท่านเห็นหรือไม่.

บทว่า สพฺเพ โข เอเต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งพระสารีบุตรเถระไว้ในเอตทัคคะ ในบรรดาภิกษุผู้มีปัญญาว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปัญญามาก คือพระสารีบุตร เป็นยอด. พวกภิกษุผู้มีปัญญามาก ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามปัญหาอันลึกซึ้ง ที่กำจัดไตรลักษณะได้แล้ว ในลำดับขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน และโพธิปักขิยธรรม ด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ย่อมตอบปัญหาที่เขาถามแล้วและถามแล้วแก่พวกภิกษุเหล่านั้น เหมือนแผ่ซึ่งแผ่นดิน เหมือนยกทรายจากเชิงภูเขาสิเนรุ เหมือนทำลายภูเขาจักรวาล เหมือนยกภูเขาสิเนรุขึ้น เหมือนขยายอากาศให้กว้างขวาง และเหมือนให้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู มหาปญฺา" ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งพระมหาโมคคัลลานะไว้ในเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์ คือโมคคัลลานะ เป็นยอด. พวกภิกษุผู้มีฤทธิ์ ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามซึ่งบริกรรม อานิสงส์ อธิษฐาน การกระทำต่างๆ ด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ตอบปัญหาที่เขาถามแล้วและถามแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วแล. เพราะ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 445

เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู มหิทฺธิกา ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งแม้พระมหากัสสปะไว้ในเอตทัคคะ ในบรรดาภิกษุผู้ธุตวาทะว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเรา ผู้เป็นธุตวาทะ คือมหากัสสปะ เป็นยอด. พวกภิกษุผู้ธุตวาทะ ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามซึ่งการบริหารธุดงค์ อานิสงส์การสมาทาน การอธิษฐาน ความต่างกัน ด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ได้ตอบปัญหาที่เขาถามแล้วและถามแล้ว ให้แจ่มแจ้งอย่างนั้นเหมือนกัน แก่ภิกษุเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู ธุตวาทา" ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งแม้พระอนุรุทธเถระไว้ในเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มีทิพยจักษุว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้มีทิพยจักษุ คืออนุรุทธะ เป็นยอด. พวกภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามซึ่งบริกรรม อานิสงส์ อุปกิเลสของภิกษุผู้มีทิพยจักษุด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ย่อมตอบปัญหาที่เขาถามแล้วและถามแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน แก่ภิกษุเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู ทิพฺพจกฺขุกา" ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งแม้พระปุณณเถระไว้ในเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เป็นพระธรรมกถึกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเรา ผู้ธรรมกถึก คือปุณณมันตานีบุตร เป็นยอด. พวกภิกษุผู้ธรรมกถึก ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามอาการนั้นๆ ในความย่อ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 446

พิสดาร ยากง่าย และถ้อยคำไพเราะเป็นต้น แห่งธรรมกถาด้วยประการฉะนี้ แม้พระเถระนั้น ย่อมบอกนัยธรรมกถานั้น อย่างนี้ แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ผู้มีอายุ ธรรมดาพระธรรมกถึก ควรเริ่มต้นการพรรณนาคุณบริษัท ในท่ามกลางควรประกาศสุญญตธรรม ที่สุดควรถือเอายอดด้วยอำนาจสัจจะ ๔ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู ธมฺมกถิกา" ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งแม้พระอุบาลีเถระไว้ในเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงวินัยว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเรา ผู้ทรงวินัย คืออุบาลี เป็นยอด. พวกภิกษุผู้ทรงวินัย ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามอาบัติหนัก อาบัติเบา อาบัติแก้ไขได้ แก้ไขไม่ได้ อาบัติและอนาบัติด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ย่อมตอบปัญหาที่เขาถามแล้วและถามแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู วินยธรา ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตั้งแม้พระอานนทเถระไว้ในเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้พหูสูตว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสาวกของเรา ผู้พหูสูต คืออานนท์ เป็นยอด. พวกภิกษุพหูสูต ย่อมห้อมล้อมพระเถระนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามความรู้ในพยัญชนะ ๑๐ อย่าง เหตุเกิด อนุสนธิเบื้องต้นและเบื้องปลายด้วยประการฉะนี้. แม้พระเถระนั้น ก็บอกเรื่องทั้งปวงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า นี้ควรว่าอย่างนี้ นี้ควรถือเอาอย่างนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขุ พหุสฺสุตา" ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 447

ส่วนเทวทัตปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ. เพราะเหตุนั้น พวกภิกษุผู้ปรารถนาลามก ห้อมล้อมเทวทัตนั้น ด้วยคิดว่า เราจักถามการปกครอง เพื่อการสงเคราะห์ตระกูล ความหลอกลวงมีประการต่างๆ กัน. แม้เทวทัตนั้น ก็บอกการกำหนดนั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพ โข เอเต ภิกฺขเว ภิกฺขู ปาปิจฺฉา ดังนี้.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ภิกษุเหล่านั้น จงกรมแล้วในที่ไม่ไกล.

ตอบว่า เพื่อถือการอารักขาว่า เทวทัต คิดร้ายในพระศาสดา พยายามจะทำความฉิบหายมิใช่ประโยชน์.

ถามว่า ครั้งนั้น เทวทัตจงกรมแล้ว เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพื่อปกปิดโทษอันตนกระทำแล้ว เป็นเหตุให้ผู้อื่นรู้ว่า ผู้นี้ไม่ทำ ถ้าทำเขาก็ไม่มา ณ ที่นี้.

ถามว่า ก็เทวทัตเป็นผู้สามารถเพื่อจะทำความเสียหายต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้หรือ หน้าที่ต้องอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า มีอยู่หรือ.

ตอบว่า ไม่มี.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อานนท์ ข้อที่ตถาคต พึงปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสจะมีได้.

ส่วนภิกษุทั้งหลายมาแล้วด้วยความเคารพในพระศาสดา. เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอย่างนี้แล้ว จึงรับสั่งให้ปล่อยภิกษุเหล่านั้นไป ด้วยพระดำรัสว่า อานนท์ เธอจงปล่อยภิกษุสงฆ์เถิด ดังนี้.

จบอรรถกถาจังกมสูตรที่ ๕