พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ปุพพสูตร ว่าด้วยเรื่องก่อนตรัสรู้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ก.ย. 2564
หมายเลข  36601
อ่าน  583

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 489

๒. ปุพพสูตร

ว่าด้วยเรื่องก่อนตรัสรู้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 489

๒. ปุพพสูตร (๑)

ว่าด้วยเรื่องก่อนตรัสรู้

[๔๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เมื่อเราเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอเป็นความแช่มชื่น อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุ อะไรเป็นความแช่มชื่น อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอาโปธาตุ อะไรเป็นความแช่มชื่น อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุ อะไรเป็นความแช่มชื่น อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริดังนี้ว่า สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยปฐวีธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุ ปฐวีธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งปฐวีธาตุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในปฐวีธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุ.

สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยอาโปธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งอาโปธาตุ อาโปธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งอาโปธาตุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในอาโปธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งอาโปธาตุ.

สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยเตโชธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งเตโชธาตุ เตโชธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเตโชธาตุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเตโชธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุ.

สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยวาโยธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งวาโยธาตุ วาโยธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์


(๑) ม. ปุพเพสัมโพธสูตร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 490

มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวาโยธาตุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวาโยธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวาโยธาตุ.

[๔๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบเท่าที่เรายังไม่ได้ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งธาตุเหล่านี้เพียงใด เราก็ปฏิญาณไม่ได้ว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น.

แต่เมื่อใด เราได้ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งธาตุ ๔ เหล่านี้ เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อนึ่ง ญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้การเกิดอีกย่อมไม่มี ดังนี้.

จบปุพพสูตรที่ ๒

อรรถกถาปุพพสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยในปุพพสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อยํ ปวีธาตุยา อสฺสาโท ความว่า นี้เป็นความแช่มชื่น อันอาศัยปฐวีธาตุ.

ความแช่มชื่นนี้นั้นให้ยืดกายขึ้นไป เหยียดท้องออก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 491

ดุจกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพยายามสอดนิ้วมือของเราเข้าไปในที่นี้เถิด หรือเหยียดมือแล้ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพยายามน้อมกายนี้ลงเถิด.

พึงทราบความแช่มชื่นด้วยสามารถแห่งสุขโสมนัสที่เป็นไปอย่างนี้.

ในบทเป็นต้นว่า อนิจฺจา ความว่า ชื่อว่าไม่เที่ยงโดยอาการว่ามีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่าเป็นทุกข์โดยอาการบีบคั้น ชื่อว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา โดยอาการปราศจากภาวะของตน.

บทว่า อยํ ปวี ธาตุยา อาทีนโว ความว่า ชื่อว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาโดยอาการใด. อาการนี้เป็นโทษแห่งปฐวีธาตุ.

บทว่า ฉนฺทราควินโย ฉนฺทราคปหานํ ความว่า ฉันทราคะแห่งปฐวีธาตุ อันบุคคลกำจัดได้และละได้เพราะอาศัยนิพพาน. เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งปฐวีธาตุนั้น.

บทว่า อยํ อาโปธาตุยา อสฺสาโท ความว่า นี้เป็นความแช่มชื่น อาศัยอาโปธาตุ ความแช่มชื่นนี้นั้น เหมือนเห็นคนอื่นที่ถูกอาโปธาตุเบียดเบียน พึงทราบด้วยสามารถแห่งสุขโสมนัสที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เหตุอะไรผู้นี้ออกและเข้าไปปัสสาวะตั้งแต่เวลาจะนอน.

เมื่อเขาทำการงานแม้เล็กน้อย เหงื่อก็มี แม้ผ้าย่อมมีอาการที่เขาควรบิดได้. เมื่อกล่าวแม้เพียงอนุโมทนา เขาก็ต้องถือพัดใบตาล. แต่เรานอนในเวลาเย็น ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่. สรีระของเราเหมือนหม้อที่เต็ม แม้เพียงเหงื่อ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เราผู้ทำงานหนัก. เมื่อเรากล่าวธรรมอยู่ด้วยเสียงเหมือนเสียงฟ้าลั่น แม้เพียงอาการอบอุ่นในสรีระก็ไม่มีแก่เรา ดังนี้.

บทว่า อยํ เตโชธาตุยา อสฺสาโท ความว่า นี้เป็นความแช่มชื่น อาศัยเตโชธาตุ.

ความแช่มชื่นนี้นั้น เหมือนเห็นคนกำลังหนาว พึงทราบ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 492

ด้วยสามารถแห่งสุขโสมนัสที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เหตุอะไร พวกคนเหล่านี้ดื่มเพียงข้าวยาคูภัตรและของขบเคี้ยวหน่อยหนึ่ง นั่งท้องแข็งแสวงหาเตาไฟอยู่ตลอดคืน. พอหยาดน้ำตกไปใกล้สรีระ พวกเขาก็นอนคร่อมเหนือเตาไฟและห่มผ้า. ส่วนเรากินเนื้อหรือขนมแม้แข็งยิ่ง บริโภคภัตรแต่พอเต็มท้อง ในทันใดนั่นแลภัตรทั้งหมดของเราย่อมย่อยไปเหมือนฟองน้ำ. เมื่อฝนพรำตลอด ๗ วันเป็นไปอยู่ แม้เพียงผ่อนคลายความเยือกเย็นในสรีระ ก็ไม่มีแก่เรา ดังนี้.

บทว่า อยํ วาโยธาตุยา อสฺสาโท ความว่า นี้เป็นความแช่มชื่น อาศัยวาโยธาตุ.

ความแช่มชื่นนี้นั้น เหมือนเห็นคนอื่นกลัวลม พึงทราบด้วยสามารถแห่งสุขโสมนัสเป็นไปอย่างนี้ว่า เมื่อคนเหล่านี้ทำการงานแม้เพียงเล็กน้อย กล่าวแม้เพียงอนุโมทนา ลมก็ย่อมเสียดแทงสรีระ. มือและเท้าของพวกเขาผู้เดินทางไกลแม้เพียงคาวุตเดียวก็ล้า ปวดหลัง. เขาถูกลมในท้อง ลมในสรีระและลมในหูเป็นต้น เบียดเบียนเป็นนิตย์ ก็พากันผสมยาแก้ลมมีน้ำมันและน้ำผึ้งเป็นต้น ใช้กัน. ส่วนพวกเราทำงานหนักบ้าง กล่าวธรรมตลอดคืนสามยามบ้าง เดินทางตลอด ๑๐ โยชน์โดยวันเดียวบ้าง เพียงมือและเท้าอ่อนล้า หรือเพียงปวดหลังก็ไม่มี ดังนี้. ก็ธาตุเหล่านี้ที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าความแช่มชื่น.

บทว่า อพฺภญฺาสิํ ได้แก่ เราได้รู้แล้วด้วยญาณพิเศษ.

บทว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธิํ ได้แก่ การตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง เว้นธรรมอื่นที่ยิ่งกว่า คือประเสริฐกว่าธรรมทั้งหมด.

อีกอย่างหนึ่ง การตรัสรู้ประเสริฐ และดี. ต้นไม้ก็ดี มรรคก็ดี สัพพัญญุตญาณก็ดี นิพพานก็ดี ชื่อว่าโพธิ.

ก็ต้นไม้ในอาคตสถานว่า การตรัสรู้ที่โคนโพธิพฤกษ์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 493

และว่า ในระหว่างต้นโพธิ และคยา เรียกว่าโพธิ. ทางในอาคตสถานว่า ญาณในมรรค ๔. สัพพัญญุตญาณในอาคตสถานว่า ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน บรรลุโพธิญาณ. นิพพานในอาคตสถานว่า บรรลุโพธิญาณอันเป็นอมตะ อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้.

ส่วนในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาอรหัตตมรรค.

ถามว่า อรหัตตมรรค คือ อนุตตรโพธิญาณย่อมมี หรือไม่มีแก่พระสาวกทั้งหลาย.

ตอบว่า ไม่มี.

ถามว่า เพราะเหตุไร.

ตอบว่า เพราะไม่ให้คุณแก่สาวกทั้งปวง.

ก็สำหรับพระสาวกเหล่านั้น อรหัตตมรรค ของใคร ให้เฉพาะอรหัตตผล. ของใคร ให้วิชชา ๓ ของใคร ให้อภิญญา ๖ ของใคร ให้สาวกบารมีญาณ. ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้เฉพาะปัจเจกโพธิญาณ. ส่วนของพระพุทธเจ้าให้คุณสมบัติทุกอย่าง เหมือนการอภิเษกของพระราชาให้ความเป็นใหญ่ในโลกทั้งหมด. เพราะฉะนั้น อนุตตรโพธิญาณ จึงไม่มีแก่ใครๆ อื่น.

บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ปจฺจญฺาสิํ ความว่า เราปฏิญาณอย่างนี้ว่า เราตรัสรู้ บรรลุ แทงตลอดแล้วตั้งอยู่.

บทว่า าณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ความว่า ปัจจเวกขณญาณนั้นแล อันสามารถเห็นคุณที่ตนบรรลุแล้วเกิดขึ้น.

บทว่า อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความว่า ญาณเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า อรหัตตผลวิมุตตินี้ของเราไม่กำเริบ.

ในความไม่กำเริบนั้นพึงทราบความไม่กำเริบโดยอาการ ๒ อย่างคือ โดยเหตุ และโดยอารมณ์.

ก็ความไม่กำเริบนั้น ชื่อว่าไม่กำเริบ แม้โดยเหตุ เพราะกิเลสอันตัดด้วยมรรค ๔ ไม่กลับมาอีก ชื่อว่าไม่กำเริบ แม้โดยอารมณ์ เพราะทำนิพพานมีความไม่กำเริบเป็นธรรมดาให้เป็นอารมณ์เป็นไป.

บทว่า อนฺติมา

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 494

แปลว่า เป็นชาติสุดท้าย.

บทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ ความว่า บัดนี้ ชื่อว่าไม่มีภพอื่นอีก.

สัจจะ ๔ พระองค์ตรัสไว้ในพระสูตรนี้.

ถามว่า อย่างไร.

ตอบว่า ก็อัสสาทะในธาตุ ๔ เป็นสมุทัยสัจ. อาทีนพ เป็นทุกขสัจ. การสลัดออกจากทุกข์ เป็นนิโรธสัจ. มรรคเป็นเหตุรู้ชัดถึงนิโรธ เป็นมรรคสัจ.

จะกล่าวแม้ให้พิสดาร ก็ควรแท้.

แต่ในสูตรนี้ การเข้าใจถึงเหตุที่ละว่า สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยปฐวีธาตุใด นี้เป็นอัสสาทะของปฐวีธาตุ ดังนี้ เป็นสมุทัยสัจ.

การเข้าใจด้วยการกำหนดรู้ว่า ปฐวีธาตุใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นอาทีนพของปฐวีธาตุ ดังนี้ เป็นทุกขสัจ.

การแทงตลอดด้วยการทำให้แจ้งว่า การกำจัดฉันทราคะแห่งปฐวีธาตุใด นี้เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งปฐวีธาตุ ดังนี้ เป็นนิโรธสัจ.

ทิฏฐิ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิใด ในฐานะ ๓ เหล่านี้. การแทงตลอดด้วยภาวนานี้ เป็นมรรคสัจ.

จบอรรถกถาปุพพสูตรที่ ๒