พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ภิกขุนูปัสสยสูตร ว่าด้วยพระอานนท์นิมนต์พระมหากัสสปไปสํานักภิกษุณี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ก.ย. 2564
หมายเลข  36644
อ่าน  419

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 587

๑๐. ภิกขุนูปัสสยสูตร

ว่าด้วยพระอานนท์นิมนต์พระมหากัสสปไปสํานักภิกษุณี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 587

๑๐. ภิกขุนูปัสสยสูตร

ว่าด้วยพระอานนท์นิมนต์พระมหากัสสปไปสำนักภิกษุณี

[๕๑๒] ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ท่านพระมหากัสสปจึงกล่าวว่า ท่านไปเถิดอานนท์ผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ท่านพระมหากัสสปก็กล่าวว่า ท่านไปเถิดอานนท์ผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 588

[๕๑๓] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปนุ่งแล้วถือบาตรและจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังที่พำนักของภิกษุณี ครั้นเข้าไปแล้ว จึงนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ครั้งนั้นภิกษุณีเป็นอันมากพากันเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่พัก ครั้นเข้าไปแล้วจึงกราบท่านพระมหากัสสป แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุณีเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสป ยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปครั้นยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป.

[๕๑๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุณีชื่อถุลลติสสาไม่พอใจ จึงเปล่งคำแสดงความไม่พอใจว่า เพราะเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปจึงสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ เปรียบเหมือนพ่อค้าเข็มสำคัญว่าควรขายเข็มในสำนักของช่างเข็มผู้ชำนาญ ฉันใด พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปย่อมสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ฉันนั้นเหมือนกัน.

ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณีถุลลติสสากล่าววาจานี้แล้ว จึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ผู้มีอายุ เราเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านเป็นช่างเข็ม หรือเราเป็นช่างเข็ม ท่านเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านพระอานนท์จึงตอบว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ ขอท่านโปรดประทานโทษเถิด มาตุคามเป็นคนโง่.

[๕๑๕] งดไว้ก่อนอานนท์ผู้มีอายุ หมู่ของท่านอย่าเข้าไปสอดเห็นให้เกินไปนัก ดูก่อนอานนท์ผู้มีอายุ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 589

ท่านถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างหรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ได้เท่าใด แม้อานนท์ก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน.

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ.

ก. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมณาน ฯลฯ อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน.

[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๕ มีเปยยาลอย่างนี้]

[๕๑๖] อานนท์อาวุโส ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าบ้างหรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้อานนท์ก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐิธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน.

อา. หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 590

ดูก่อนผู้มีอายุ เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้กัสสปก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน.

[๕๑๗] ดูก่อนผู้มีอายุ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดได้ด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้.

ก็แลภิกษุณีชื่อถุลลติสสาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว.

จบภิกขุนูปัสสยสูตรที่ ๑๐

อรรถกถาภิกขุนูปัสสยสูตรที่ ๑๐

พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนูปัสสยสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อายาม ภนฺเต ความว่า ถามว่า ท่านพระอานนท์ ย่อมวิงวอนการไปสู่ที่พักภิกษุณี เพราะเหตุไร.

ตอบว่า ไม่ใช่เพราะเหตุลาภและสักการะ. ย่อมวิงวอนว่า ก็ในที่พักภิกษุณีนี้ พวกภิกษุณีที่ต้องการกัมมัฏฐานมีอยู่. ก็เราจักยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เกิดความขวนขวายแล้ว พึงให้บอกกัมมัฏฐาน ดังนี้.

ถามว่า พระเถระนั้น ตนเองก็ทรงพระไตรปิฎก เป็นพหูสูต มิใช่หรือ ไม่สามารถจะบอกเองหรือ.

ตอบว่า ไม่สามารถ ก็หามิได้. แต่ย่อมวิงวอนว่า พวกภิกษุณีจักสำคัญธรรมของพระสาวกผู้มีส่วนเปรียบด้วยพระพุทธเจ้าอันตนพึงเชื่ออย่างไร.

บทว่า พหุกิจฺโจ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 591

ตฺวํ พหุกรณีโย ถามว่า พระเถระเป็นผู้ขวนขวายในนวกรรมเป็นต้นหรือ จึงกล่าวอย่างนี้กะพระอานนท์.

ก็เมื่อพระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บริษัท ๔ เข้าไปหาพระอานนทเถระ ร้องไห้อยู่ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ท่านรับบาตรและจีวรของใครเที่ยวไปเล่า. ท่านกวาดบริเวณของใคร. ท่านถวายน้ำล้างหน้าแก่ใคร.

พระเถระปลอบบริษัทว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง. พระยามัจจุราชไม่ละอาย ประหารแล้วแม้ในพุทธสรีระ. นั่นเป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญ ดังนี้.

นี้เป็นกิจมากของท่าน. พระเถระหมายถึงข้อนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า สนฺทสฺเสสิ ได้แก่ แสดงคุณแห่งการปฏิบัติ.

บทว่า สมาทเปสิ แปลว่า ให้ถือเอา.

บทว่า สมุตฺเตเชสิ แปลว่า ให้อาจหาญ.

บทว่า สมฺปหํเสสิ ได้แก่ ให้ยินดีรุ่งเรืองด้วยคุณที่ได้แล้ว.

บทว่า ถุลฺลติสฺสา ความว่า ชื่อว่าติสสา เพราะมีสรีระอ้วน.

บทว่า เวเทหมุนิโน คือ บัณฑิตมุนี.

ก็บัณฑิตย่อมนำไป คือ ทำกิจทั้งปวงด้วยความรู้ กล่าวคือ ญาณ. เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เวเทหมุนี.

ชื่อว่าเวเทหมุนี เพราะอรรถว่า มุนีนั้นด้วย เป็นผู้มีความรู้ด้วย.

บทว่า ธมฺมํ ภาสิตพฺพํ มญฺติ ความว่า พระมหากัสป ตนเองอยู่ป่า ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จึงสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวว่า เราเป็นธรรมกถึก ดังนี้ ในที่ต่อหน้าของพระอานนท์ผู้ทรงปิฎก เป็นคลังพระธรรม. พูดดูหมิ่นว่า ก็นี้ได้แก่อะไร ก็นี้เป็นอย่างไร.

บทว่า อสฺโสสิ ความว่า ได้ฟังแล้ว ด้วยสามารถแห่งคำที่บุคคลอื่นมาบอก.

บทว่า อาคเมหิ ตฺวํ อาวุโส ได้แก่ ท่านผู้มีอายุ จงหยุดก่อน.

บทว่า มา เต สงฺโฆ อุตฺตริํ อุปปริกฺขิ ความว่า ภิกษุสงฆ์อย่าเข้าไปสอดเห็นข้อนั้นให้เกินไปในโอกาส.

มีอธิบายว่า สงฆ์

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 592

อย่าสำคัญข้อนั้นอย่างนี้ว่า พระอานนท์ไม่ห้ามสาวก ผู้มีส่วนเปรียบด้วยพระพุทธเจ้า ห้ามแต่ภิกษุณีฝ่ายเดียว. ความคุ้นเคยหรือความเยื่อใยของสาวกกับภิกษุณีนั้นจักมีได้ ดังนี้.

บัดนี้ พระมหากัสสป เมื่อแสดงตนว่ามีส่วนเปรียบด้วยพระพุทธเจ้า จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ตํ กิํ มญฺสิ อาวุโส ดังนี้.

บทว่า สตฺตรตนํ คือ ประมาณ ๗ ศอก.

บทว่า นาคํ คือ ช้าง.

บทว่า อฑฺฒฏฺมรตนํ วา ได้แก่ ๘ ศอกครึ่ง อธิบายว่า ตั้งแต่เท้าหน้าจนถึงกระพองสูง ๗ ศอกคืบ.

บทว่า ตาลปตฺติกาย คือ ด้วยใบตาลอ่อน.

บทว่า จวิตฺถ ความว่า ถุลลติสสาภิกษุณีเคลื่อนแล้ว (จากเพศพรหมจรรย์) คือยังไม่ตาย หรือฉิบหายแล้ว.

ก็เมื่อพระมหากัสสปเถระบันลือสีหนาทด้วยอภิญญา ๖ อยู่ ผ้าย้อมน้ำฝาดของภิกษุณีนั้น เริ่มระคายที่ร่างกายเหมือนเรียวหนาม เพราะกล่าวร้ายสาวกผู้มีส่วนเปรียบด้วยพระพุทธเจ้า. ความพอใจเกิดขึ้น ในขณะเปลื้องผ้าเหล่านั้นออกนุ่งผ้าขาว ดังนี้.

จบอรรถกถาภิกขุนูปัสสยสูตรที่ ๑๐