๒. พฬิสสูตร ว่าด้วยลาภสักการะเหมือนเหยื่อเกี่ยวเบ็ด
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 640
๒. พฬิสสูตร
ว่าด้วยลาภสักการะเหมือนเหยื่อเกี่ยวเบ็ด
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 640
๒. พฬิสสูตร
ว่าด้วยลาภสักการะเหมือนเหยื่อเกี่ยวเบ็ด
[๕๓๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า.
[๕๓๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาบางตัวเห็นแก่
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 641
เหยื่อ กลืนเบ็ดที่พรานเบ็ดเกี่ยวเหยื่อหย่อนลงในห้วงน้ำลึก มันกลืนเบ็ดของพรานเบ็ดอย่างนี้แล้ว ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ พรานเบ็ดพึงทำได้ตามความพอใจฉะนั้น.
[๕๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า "พรานเบ็ด" นี้เป็นชื่อของมารใจบาป คำว่า "เบ็ด" เป็นชื่อของลาภ สักการะ และความสรรเสริญ ภิกษุบางรูปยินดี พอใจลาภ สักการะ และความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนี้เรากล่าวว่า กลืนเบ็ดของมาร ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ อันมารใจบาปพึงทำได้ตามความพอใจ ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า อย่างนี้แล.
[๕๔๑] เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและความสรรเสริญเสีย และลาภสักการะและความสรรเสริญที่บังเกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเราทั้งหลายตั้งอยู่ไม่ได้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
จบพฬิสสูตรที่ ๒
อรรถกถาพฬิสสูตรที่ ๒
พึงทราบวินิจฉัยในพฬิสสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
บทว่า พาฬิสิโก ได้แก่ พรานเบ็ดถือเอาเบ็ดเที่ยวฆ่าปลา.
บทว่า อามิสคตํ คือ เกี่ยวด้วยเหยื่อ.
บทว่า อามิสจกฺขุ ได้แก่ ชื่ออามิสจักษุ เพราะอรรถว่า เห็นเบ็ดติดเหยื่อ.
บทว่า คิลพฬิโส คือ กลืนเบ็ด.
บทว่า อนยํ อาปนฺโน ได้แก่ ถึงทุกข์.
บทว่า พฺยสนํ อาปนฺโน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 642
ได้แก่ ถึงความพินาศ.
บทว่า ยถากามกรณีโย ความว่า พรานเบ็ดปรารถนาปลานั้นตามต้องการ คือ ตามความชอบใจอย่างใด พึงกระทำปลานั้นได้อย่างนั้น.
บทว่า ยถากามกรณีโย ปาปิมโต ความว่า อันมาร คือ กิเลส พึงทำได้ตามความใคร่ คือ พึงให้ถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัยก็ได้.
จบอรรถกถาพฬิสสูตรที่ ๒