พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ขันธสูตร ว่าด้วยเบญจขันธ์ไม่เที่ยง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36703
อ่าน  387

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 692

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยเบญจขันธ์ไม่เที่ยง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 692

๑๐. ขันธสูตร

ว่าด้วยเบญจขันธ์ไม่เที่ยง

[๖๓๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

ท่านพระราหุลกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.

รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรละหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา.

รา. ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนราหุล อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.

จบขันธสูตรที่ ๑๐

จบปฐมวรรคที่ ๑

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ

๑. จักขุสูตร

๒. รูปสูตร

๓. วิญญาณสูตร

๔. สัมผัสสสูตร

๕. เวทนาสูตร

๖. สัญญาสูตร

๗. เจตนาสูตร

๘. ตัณหาสูตร

๙. ธาตุสูตร

๑๐. ขันธสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 693

อรรถกถาขันธสูตรที่ ๑๐

ในขันธสูตรที่ ๑๐ รูปขันธ์เป็นกามาวจร ขันธ์ ๔ ที่เหลือเป็นไปในภูมิ ๔ ด้วยการกำหนดรวบรวมธรรมทั้งหมด. แต่ในพระสูตรนี้ พึงถือว่าเป็นไปในภูมิ ๓.

จบอรรถกถาขันธสูตรที่ ๑๐

จบอรรถกถาปฐมวรรคที่ ๑