พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. อปคตสูตร ว่าด้วยการละมานะว่าเรา ว่าของเรา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36707
อ่าน  489

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 697

๑๒. อปคตสูตร

ว่าด้วยการละมานะว่าเรา ว่าของเรา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 697

๑๒. อปคตสูตร

ว่าด้วยการละมานะว่าเรา ว่าของเรา

[๖๓๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 698

ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระราหุลนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไร มนัสจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานะในกายที่มีใจครองนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก ก้าวล่วงส่วนแห่งมานะด้วยดี สงบระงับ พ้นวิเศษแล้ว.

[๖๓๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั้น อริยสาวกเห็นแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นไปเพราะไม่ถือมั่น [ขันธ์ทั้ง ๕ ก็ควรทำอย่างนี้].

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี ที่เป็นอนาคตก็ดี ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั้น อริยสาวกเห็นแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นไปเพราะไม่ถือมั่น ดูก่อนราหุล

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 699

เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้แล มนัสจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานะในกายที่มีใจครองนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก ก้าวล่วงส่วนแห่งมานะด้วยดี สงบระงับ พ้นวิเศษแล้ว ดังนี้.

จบอปคตสูตรที่ ๑๒

จบทุติยวรรคที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จักขุสูตร

๒. รูปสูตร

๓. วิญญาณสูตร

๔. สัมผัสสสูตร

๕. เวทนาสูตร

๖. สัญญาสูตร

๗. เจตนาสูตร

๘. ตัณหาสูตร

๙. ธาตุสูตร

๑๐. ขันธสูตร

๑๑. อนุสยสูตร

๑๒. อปคตสูตร.

จบราหุลสังยุตที่ ๖

อรรถกถาอปคตสูตรที่ ๑๒

พึงทราบวินิจฉัยในอปคตสูตรที่ ๑๒ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อหํการมมํการมานาปคตํ ได้แก่ ปราศจากอหังการทิฏฐิ มมังการตัณหา และมานะ.

บทว่า วิธา สมติกฺกนฺตํ ได้แก่ ก้าวล่วงด้วยดีซึ่งส่วนแห่งมานะ.

บทว่า สนฺตํ สุวิมุตฺตํ ได้แก่ ชื่อว่าสงบ เพราะสงบกิเลสเสียได้ ชื่อว่าหลุดพ้นด้วยดีจากกิเลสทั้งหลาย.

คำที่เหลือง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาอปคตสูตรที่ ๑๒

จบอรรถกถาทุติยวรรคที่ ๒

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 700

แม้ในวรรคทั้งสอง ก็ตรัสอเสกขภูมิไว้. แต่ในวรรคทั้งสองนั้น วรรคที่ ๑ ทรงแสดงแก่พระราหุลผู้ทูลขอ. วรรคที่ ๒ ทรงแสดงแก่พระราหุลผู้มิได้ทูลขอ. แต่ตรัสธรรมอันอบรมบ่มวิมุตติสำหรับพระเถระในราหุลสังยุตแม้ทั้งสิ้นแล.

จบราหุลสังยุต