พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อัฏฐิสูตร ว่าด้วยโครงกระดูกลอยฟ้าเป็นเหตุให้แย้ม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36708
อ่าน  577

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 701

๗. ลักขณสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. อัฏฐิสูตร

ว่าด้วยโครงกระดูกลอยฟ้าเป็นเหตุให้แย้ม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 701

๗. ลักขณสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

๑. อัฏฐิสูตร

ว่าด้วยโครงกระดูกลอยฟ้าเป็นเหตุให้แย้ม

[๖๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ.

[๖๓๗] ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปหาท่านพระลักขณะจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้กล่าวชวนท่านพระลักขณะว่า มาไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ด้วยกันเถิดท่านลักขณะ ท่านพระลักขณะรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า อย่างนั้น ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้แย้มขึ้นในที่แห่งหนึ่ง. ทีนั้น ท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ท่านโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้แย้ม ท่านมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านลักขณะ มิใช่เวลาที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ ท่านจงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.

[๖๓๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 702

เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระลักขณะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ท่านมหาโมคคัลลานะ เมื่อลงจากภูเขาคิชฌกูฏท่านได้แย้มขึ้นแล้วในที่แห่งหนึ่ง ดูก่อนท่านพระมหาโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัยทำให้แย้มขึ้น.

[๖๓๙] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า เมื่อผมลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นโครงกระดูกลอยอยู่ในเวหาส พวกแร้งบ้าง กาบ้าง พญาแร้งบ้าง ต่างก็โผถลาตามเจาะ จิก ทึ้งโครงกระดูกนั้น ได้ยินว่า โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง ผมคิดว่า อัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาหนอ สัตว์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี ยักษ์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็จักมี.

[๖๔๐] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุหนอ เป็นผู้มีญาณหนอ เพราะว่า แม้สาวกก็จักรู้ จักเห็นสัตว์เช่นนี้ หรือจักเป็นพยาน เมื่อก่อนเราได้เห็นสัตว์ตนนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พยากรณ์ไว้ หากเราพึงพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนอื่นๆ ก็จะไม่พึงเชื่อถือเรา ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน แก่ผู้ไม่เชื่อถือเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้เป็นคนฆ่าโคอยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เอง ด้วยผลของ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 703

กรรมนั้น เขาจึงหมกไหม้อยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยผลของกรรมนั่นแหละที่ยังเหลืออยู่ เขาจึงต้องเสวยการได้อัตภาพเห็นปานนี้.

จบอัฏฐิสูตรที่ ๑

[สูตรทุกสูตรนี้ขึ้นต้นเหมือนสูตรที่ ๑ แต่มีเนื้อความต่างกันดังต่อไปนี้]

ลักขณสังยุต

ปฐมวรรคที่ ๑

อรรถกถาอัฏฐิสูตรที่ ๑

ในลักขณสังยุตมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

พระลักขณเถระ ที่ท่านกล่าวว่า อายสฺมา จ ลกฺขณตฺเถโร เป็นผู้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นผู้หนึ่งแห่งชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ คน บรรลุพระอรหัตในเวลาจบอาทิตตปริยายสูตร พึงทราบว่า เป็นพระมหาสาวกรูปหนึ่ง.

ก็เพราะเหตุที่ท่านประกอบด้วยอัตภาพสมบูรณ์ด้วยลักษณะ บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง เสมอด้วยพรหม. ฉะนั้น จึงได้สมญาว่าลักขณะ. ส่วนท่านมหาโมคคัลลานะบรรลุพระอรหัตในวันที่ ๗ นับแต่วันที่ท่านบวช เป็นพระอัครสาวกองค์ที่ ๒.

บทว่า สิตํ ปาตฺวากาสิ ความว่า ได้กระทำการแย้มน้อยๆ ให้ปรากฏ ท่านอธิบายไว้ว่า ประกาศ คือ แสดง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 704

ถามว่า ก็เพราะเห็นอะไร พระเถระจึงกระทำการแย้มให้ปรากฏ.

ตอบว่า เพราะได้เห็นสัตว์ผู้เกิดในเปตโลกตนหนึ่ง มีแต่ร่างกระดูก ซึ่งมาแล้วในบาลีข้างต้น. ก็แล ท่านเห็นสัตว์นั้นด้วยทิพยจักษุ หาได้เห็นด้วยปสาทจักษุไม่.

จริงอยู่ อัตภาพเหล่านั้นย่อมไม่ปรากฏแก่ปสาทจักษุ.

ถามว่า ก็เมื่อท่านเห็นอัตภาพเห็นปานนี้แล้วควรกระทำความกรุณา เพราะเหตุไรจึงกระทำการแย้มให้ปรากฏ.

ตอบว่า เพราะระลึกถึงสมบัติของตน และพุทธญาณ.

จริงอยู่ พระเถระเห็นอัตภาพนั้นแล้ว ระลึกถึงสมบัติของตนว่า "เราหลุดพ้นแล้วจากอัตภาพเห็นปานนี้ ที่บุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะจะพึงได้ นั่นเป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ และระลึกถึงสมบัติแห่งพุทธญาณ อย่างนี้ว่า โอ ญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมวิบากเป็นอจินไตย ไม่ควรคิด ดังนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงแสดงกรรมวิบากอันนั้นให้ประจักษ์หนอ. ธรรมธาตุอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแทงตลอดดีแล้ว" ดังนี้ จึงทำความแย้มให้ปรากฏ.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านพระลักขณะจึงไม่เห็น ท่านไม่มีทิพยจักษุหรือ.

ตอบว่า ไม่มี หามิได้. แต่พระมหาโมคคัลลานเถระนึกถึงอยู่จึงได้เห็น. ฝ่ายพระลักขณเถระไม่ได้เห็นเพราะไม่นึกถึง. เพราะธรรมดา พระขีณาสพทั้งหลาย จะแย้มโดยเหตุอันไม่สมควรก็หาไม่ ฉะนั้น พระลักขเถระจึงถามท่านว่า "ท่านโมคคัลลานะ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้การแย้มปรากฏ" ดังนี้. ฝ่ายพระเถระได้อ้างพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 705

เป็นพยาน เพราะผู้ที่มิได้เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตนเองจะเชื่อได้ยาก จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อกาโล โข อาวุโส ดังนี้ เพราะประสงค์จะพยากรณ์อ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพยาน ต่อแต่นั้น เมื่อถูกถามในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพยากรณ์โดยนัยมีอาทิว่า อิธาหํ อาวุโส ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฏฺิสงฺขลิกํ ได้แก่ โครงกระดูกขาว ไม่มีเนื้อและเลือด.

บทว่า คิชฺฌาปิ กากาปิ กุลลาปิ ความว่า แม้นกเหล่านี้ ทั้งแร้งยักษ์ ทั้งกายักษ์ ทั้งพญาแร้งยักษ์ เข้ารุม ก็รูปอย่างนั้นย่อมไม่ปรากฏแก่แร้งเป็นต้นตามปกติ.

บทว่า อนุปติตฺวา ได้แก่ ติดตาม.

บทว่า วิตุเทนฺติ ความว่า ใช้จะงอยปากเหล็กซึ่งคมกริบเหมือนดาบ เจาะตัดถากข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง.

บทว่า สุทํ ในบทว่า สา สุทํ อฏฺฏสฺสรํ กโรติ นี้ เป็นนิบาต. อธิบายว่า โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง คือเสียงแสดงความอาดูรเดือดร้อน. อัตภาพเช่นนั้นมีประมาณถึง ๓ โยชน์ บังเกิดขึ้นเพื่อเสวยวิบากของอกุศลกรรม เป็นอัตภาพใสขึ้นพองเหมือนฝีสุก. ฉะนั้น โครงกระดูกนั้นเดือดร้อนเพราะเวทนามีกำลัง จึงส่งเสียงร้องประหลาดเช่นนั้น.

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงคิดว่า ธรรมดาสัตว์ผู้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ย่อมไม่พ้นจากอัตภาพเห็นปานนี้ เมื่อจะแสดงธรรมสังเวชที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตสฺส มยฺหํ อาวุโส เอตทโหสิ อจฺฉริยํ วต โภ ดังนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศอานุภาพของพระเถระ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 706

จึงตรัสคำมีอาทิว่า จกฺขุภูตา วต ภิกฺขเว สาวกา วิหรนฺติ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น สาวกชื่อว่า จกฺขุภูตา เพราะภิกษุเหล่านั้นเกิดมีจักษุ. อธิบายว่า ภิกษุเหล่านั้นมีจักษุเกิด ยังจักษุให้เกิดขึ้นอยู่.

แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า ยตฺร ในคำว่า ยตฺร หิ นาม นี้บ่งถึงเหตุ.

ในข้อนั้นมีอัตถโยชนาประกอบความดังต่อไปนี้.

แม้ธรรมดาว่าสาวกย่อมรู้เห็นสัตว์เห็นปานนี้ หรือจักกระทำให้เป็นพยานได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุหนอ เป็นผู้มีญาณหนอ ด้วยคำว่า ปุพฺเพว เม โส ภิกฺขเว สตฺโต ทิฏฺโ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราเมื่อกระทำสัตตนิกาย และภพ คติ โยนิ ฐิติ นิวาส อันหาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ ให้เป็นพยานด้วยการแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิมัณฑสถาน ได้เห็นสัตว์นั้นแล้วในกาลก่อนแล.

บทว่า โคฆาตโก ได้แก่ สัตว์ผู้ฆ่าโคแล่กระดูกและเนื้อขายเลี้ยงชีพ.

บทว่า ตสฺเสว กมฺมสฺส วิปากาวเสเสน ความว่า อปราปริยกรรมนั้น อันประมวลไว้ด้วยเจตนาต่างๆ.

จริงอยู่ เมื่อวิบากของเจตนาอันเป็นเหตุให้เกิดปฏิสนธิในนรกนั้นสิ้นแล้ว ปฏิสนธิกระทำกรรมที่เหลือ หรือกรรมนิมิตให้เป็นอารมณ์แล้วเกิดในเปรตเป็นต้นอีก. เพราะเหตุนั้น ปฏิสนธินั้น ท่านเรียกว่า เป็นเศษวิบากของกรรมนั้นเอง เพราะมีส่วนเสมอกับกรรม หรือเพราะมีส่วนเสมอกับอารมณ์. ก็สัตว์นี้เกิดขึ้นแล้วด้วยอาการอย่างนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ด้วยเศษวิบากของกรรมนั้นนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 707

ได้ยินว่า ในเวลาที่สัตว์นั้นจุติจากนรก กองกระดูกของโคทั้งหลายที่ไม่มีเนื้อนั่นแล ได้ปรากฏเป็นนิมิต. สัตว์นั้นกระทำกรรมที่ปกปิดไว้ แม้นั้นเหมือนปรากฏแก่วิญญูชน จึงเกิดเป็นอัฏฐิสังขลิกเปรต.

จบอรรถกถาอัฏฐิสูตรที่ ๑