พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. นขสิขสูตร ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อย เหมือนฝุ่นติดปลายเล็บ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36731
อ่าน  371

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 727

๒. นขสิขสูตร

ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อย เหมือนฝุ่นติดปลายเล็บ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 727

๒. นขสิขสูตร

ว่าด้วยสัตว์ที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อย

เหมือนฝุ่นติดปลายเล็บ

[๖๖๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อยไว้ที่ปลายพระนขาแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ที่ปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนี้ อย่างไหนมากกว่ากัน.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาปฐพีนั่นแหละมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขานี้มีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการนับ ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการเทียบเคียง ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งส่วนแห่งเสี้ยว เพราะเทียบมหาปฐพีเข้าแล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขามีประมาณเล็กน้อย.

[๖๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีประมาณน้อย สัตว์ไปเกิดในกำเนิดอื่นจากมนุษย์มีมากกว่ามากทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 728

เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้นั่นแหละ.

จบนขสิขสูตรที่ ๒

อรรถกถานขสิขสูตรที่ ๒

ในนขสิขสูตรที่ ๒ มีวินิฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มนุสฺเสสุ ปจฺจาชายนฺติ มีอธิบายว่า เหล่าชนที่จุติจากมนุษยโลกแล้วเกิดในมนุษยโลกนั้นแล มีประมาณน้อย.

บทว่า อญฺตฺร มนุสฺเสหิ ความว่า เหล่าชนที่จุติจากมนุษยโลกแล้วไม่เกิดในมนุษยโลก ไปเกิดเฉพาะในอบาย ๔ มีมากกว่า เหมือนฝุ่นในมหาปฐพี.

ก็ในพระสูตรนี้ ท่านรวมเทวดากับมนุษย์ทั้งหลายเข้าด้วยกัน. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ผู้เกิดในเทวโลกมีประมาณน้อย เหมือนผู้ที่เกิดในมนุษยโลก ฉะนั้น.

จบอรรถกถานขสิขสูตรที่ ๒