พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ธนุคคหสูตร ว่าด้วยการจับลูกธนู

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36735
อ่าน  435

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 733

๖. ธนุคคหสูตร

ว่าด้วยการจับลูกธนู


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 733

๖. ธนุคคหสูตร

ว่าด้วยการจับลูกธนู

[๖๗๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี... พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายขมังธนู ๔ คน ถือธนูอันมั่นคง ได้ศึกษามาดีแล้ว เป็นผู้มีความชำนาญ เป็นผู้มีศิลปะอันได้แสดงแล้ว ยืนอยู่แล้วในทิศทั้ง ๔ ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักจับลูกธนูทั้งหลายที่นายขมังธนูทั้ง ๔ เหล่านี้ยิงมาจากทิศทั้ง ๔ ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ควรจะกล่าวได้ว่า บุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้หรือ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าแม้บุรุษจะพึงจับลูกธนูที่นายขมังธนูเพียงคนเดียวยิง ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน ก็ควรจะกล่าวได้ว่า บุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม จะกล่าวไปไยถึงการจับลูกธนูทั้ง ๔ ลูกที่นายขมังธนู ๔ คนยิงมาจาก ๔ ทิศ แม้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 734

ฉันใด.

[๖๗๑] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้าพระจันทร์พระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษและความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วนั้นๆ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

จบธนุคคหสูตรที่ ๖

อรรถกถาธนุคคหสูตรที่ ๖

ในธนุคคหสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ทฬฺหธมฺมา ธนุคฺคหา ได้แก่ นายขมังธนูผู้แม่นธนู.

ธนูที่ใช้กำลัง ๒,๐๐๐ คนโก่ง เรียกชื่อว่า ทัฬหธนู (ธนูหนัก). บุคคลผู้โก่งธนู จับที่คันธนู ซึ่งผูกสายธนูแล้ว อันหนักด้วยเครื่องประกอบที่หัวคันธนูมีโลหะเป็นต้น แล้วยกคันธนูขึ้น ให้พ้นพื้นดิน ชั่วระยะลูกศรหนึ่ง.

บทว่า สุสิกฺขิตา ได้แก่ ศิลปะที่เรียนในสำนักอาจารย์ตลอด ๑๒ ปี.

บทว่า กตหตฺถา ความว่า ผู้ที่เรียนเฉพาะแต่ศิลปะเท่านั้น ไม่มีการฝึกฝีมือ. ส่วนชนผู้ฝึกฝีมือเหล่านี้ มีความชำนาญที่อบรมมาแล้ว.

บทว่า กตูปาสนา ได้แก่ ผู้ที่ประลองศิลปะในราชตระกูลเป็นต้นแล้ว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 735

บทว่า ตสฺส ปุริสสฺส ชโว ความว่า ขึ้นชื่อว่า บุรุษอื่นเห็นปานนี้ไม่เคยมี. ส่วนพระโพธิสัตว์เท่านั้น ได้ชื่อว่า ชวนหังสกาล. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้นำลูกธนูทั้ง ๔ มาแล้ว.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พี่น้องชายของพระโพธิสัตว์บอกว่า ข้าแต่พี่ชาย พวกเราจักแล่นแข่งไปกับพระอาทิตย์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่าพระอาทิตย์เร็วมาก พวกเจ้าไม่อาจไปเร็วเท่าพระอาทิตย์ได้. พี่น้องกล่าวอย่างนั้นแหละ ๒ - ๓ ครั้ง คิดว่าจะไปในวันหนึ่ง จึงบินขึ้นไปจับอยู่ ณ ภูเขายุคันธร. พระโพธิสัตว์ถามว่า พี่ชายของเราไปไหน เมื่อเขาตอบว่าไปแข่งกับพระอาทิตย์ จึงคิดว่า ผู้มีตบะจักพินาศ สงสารพี่ชายทั้งสอง ตนเองจึงไปจับอยู่ในสำนักของพี่ชายทั้งสอง. ครั้นพระอาทิตย์ขึ้น พี่น้องทั้งสองก็บินสู่อากาศพร้อมพระอาทิตย์ทีเดียว. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็บินไปกับพี่ชายทั้งสองด้วย. บรรดาพี่น้องทั้งสองนั้น เมื่อตัวหนึ่งไปยังไม่ถึงเวลากินอาหารเลย เกิดไฟขึ้นในระหว่างปีก. จึงเรียกพี่ชายบอกว่า ฉันไม่สามารถ ดังนี้. พระโพธิสัตว์ปลอบโยนพี่ชายนั้นว่า อย่ากลัวเลย ให้พี่ชายเข้าไปอยู่ในกรงปีก บรรเทาความกระวนกระวายแล้ว ส่งไปว่า ไปเถิด.

พี่ชายตัวที่สองบินไปชั่วเวลากินอาหาร ไฟตั้งขึ้นในระหว่างปีก จึงกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้กระทำอย่างนั้นแหละ ส่งไปว่า ไปเถิด. ส่วนตนเองบินไปจนเที่ยงวัน คิดว่าสองพี่น้องนี้โง่ บินกลับด้วยคิดว่า เราไม่พึงโง่ ได้บินไปยังกรุงพาราณสีด้วยหมายใจว่าจักเฝ้าพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน). เมื่อพระโพธิสัตว์บินวนอยู่เหนือนครนั้น. นคร ๑๒ โยชน์ได้เป็นเหมือนบาตรที่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 736

ฝาบาตรครอบไว้. ขณะเมื่อพระโพธิสัตว์กำลังบินวนอยู่ ได้ปรากฏช่องในที่นั้นๆ แม้พระโพธิสัตว์เองก็ปรากฏเหมือนหงส์หลายพันตัว. พระโพธิสัตว์ลดกำลังลงบินมุ่งหน้าต่อพระราชมณเฑียร พระราชาทรงตรวจดู ทรงทราบว่าหงส์มีกำลังเร็ว เพื่อนรักของเรามาแล้ว ทรงเปิดพระบัญชร จัดตั้งตั่งรัตนะประทับยืนทอดพระเนตรอยู่. พระโพธิสัตว์จับบนตั่งรัตนะ.

ลำดับนั้น พระราชาทรงเอาน้ำมันที่หุงตั้งพันครั้งทาปีกทั้งสองของพระโพธิสัตว์แล้วได้พระราชทานข้าวตอกมีรสอร่อยและปานะมีรสอร่อย. ต่อแต่นั้นพระราชาได้ตรัสถามพระโพธิสัตว์ผู้บริโภคเสร็จแล้วว่า เพื่อน ท่านได้ไปที่ไหนมา. พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องนั้นแล้ว ทูลว่า มหาราช หม่อมฉันบินไปจนเที่ยงวัน การบินไม่มีประโยชน์ ดังนั้นหม่อมฉันจึงกลับมา. พระราชารับสั่งกะพระโพธิสัตว์ว่า นาย ฉันปรารถนาจะเห็นกำลังความเร็วของท่านกับพระอาทิตย์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ทำได้ยาก มหาราช พระองค์ไม่อาจจะเห็นได้. พระราชาตรัสว่า นาย ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงแสดงพอให้คล้ายๆ กัน. พระโพธิสัตว์ทูลว่า ดีแล้ว มหาราช ขอพระองค์โปรดให้พวกขมังธนูประชุมกันเถิด. พระราชามีรับสั่งให้พวกขมังธนูประชุมกัน. พญาหงส์ไปพาพวกขมังธนู ๔ คนให้กระทำเสาระเนียดท่ามกลางนคร ให้ประดับลูกธนูที่คอของตน บินขึ้นไปจับบนเสาระเนียด กล่าวว่า ขอนายขมังธนู ๔ คนจงยืนพิงเสาระเนียดผินหน้าไป ๔ ทิศ ยิงลูกธนูทีละลูก ดังนี้ ตนเองทีแรกบินขึ้นไปพร้อมกับลูกธนูทีเดียว ไม่จับลูกธนูนั้น จับลูกธนูที่ไปทางทิศทักษิณ ซึ่งห่างจากธนูเพียงศอกเดียว ลูกที่ ๒ ห่างเพียง ๒ ศอก ลูกที่ ๓ ห่างเพียง ๓ ศอก จับลูกที่ ๔ ยังไม่ทันตกถึงพื้นดินเลย. ขณะนั้นนายขมังธนูได้เห็นพญาหงส์นั้น ในเวลาที่จับลูก

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 737

ธนูทั้ง ๔ ลูกแล้วบินมาเกาะที่เสาระเนียดนั่นเอง. พญาหงส์กราบทูลพระราชาว่า โปรดทรงเห็นเถิด มหาราช ความเร็วของหม่อมฉันเร็วอย่างนี้. พึงทราบว่า ลูกธนูเหล่านั้นพระโพธิสัตว์นำมาในครั้งเสวยพระชาติเป็นหงส์เร็ว ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ปุรโต ธาวนฺติ ความว่า แล่นไปก่อนๆ แต่เทวดาเหล่านั้นมิได้อยู่ข้างหน้าตลอดเวลาเลย บางคราวอยู่ข้างหน้า บางคราวอยู่ข้างหลัง.

จริงอยู่ ในวิมานพวกอากาสัฏฐกเทวดา มีทั้งอุทยานทั้งสระโบกขรณี. เทวดาเหล่านั้นอาบเล่นกีฬาน้ำในที่นั้น อยู่ข้างหลังบ้าง ไปด้วยกำลังเร็วล้ำหน้าไปอีกก็มี.

บทว่า อายุสงฺขารา ท่านกล่าวหมายรูปชีวิตินทรีย์.

จริงอยู่ รูปชีวิตินทรีย์นั้นสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วของเทวดานั้น. แต่ใครๆ ไม่อาจจะรู้ทั่วถึงการแยกอรูปธรรมได้.

จบอรรถกถาธนุคคหสูตรที่ ๖