พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. กลิงครสูตร ว่าด้วยหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36737
อ่าน  526

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 741

๘. กลิงครสูตร

ว่าด้วยหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 741

๘. กลิงครสูตร

ว่าด้วยหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า

[๖๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 742

เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า.

[๖๗๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกกษัตริย์ลิจฉวีผู้ทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตสัตรู เวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส แต่กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น ในอนาคตกาล พวกกษัตริย์ลิจฉวีจักเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีมือและเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอน มีฟูกและหมอนหนาอันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระเจ้าอชาตสัตรู เวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ จักได้ช่อง ได้โอกาส แต่กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น.

[๖๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกภิกษุผู้เข้าไปทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรอยู่ มารผู้มีบาปย่อมไม่ได้ช่อง ย่อมไม่ได้โอกาส แต่ภิกษุเหล่านั้น ในอนาคตกาล พวกภิกษุจักเป็นสุขุมาลชาติ มีมือเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอนมีฟูกและหมอนหนาอันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น มารผู้มีบาป ย่อมได้ช่อง ได้โอกาสแต่พวกเธอเหล่านั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

จบกลิงครสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 743

อรรถกถากลิงครสูตรที่ ๘

ในกลิงครสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า กลิงฺครูปธานา ได้แก่ กระทำท่อนไม้ คือท่อนไม้ตะเคียนเป็นหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้า.

บทว่า อปฺปมตฺตา ได้แก่ ไม่ประมาทในการเรียนศิลปะ.

บทว่า อาตาปิโน ได้แก่ เริ่มประกอบความเพียรคือความหมั่นอันเป็นเหตุทำกิเลสให้เร่าร้อน.

บทว่า อุปาสนสฺมิํ ได้แก่ ในการเริ่มประกอบศิลปะและในการเข้าไปนั่งใกล้อาจารย์.

ได้ยินว่า ในกาลนั้น พวกเขาลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ไปโรงศิลปะ เรียนศิลปะในโรงศิลปะนั้นแล้ว กระทำการประกอบความเพียรด้วยการเรียนและการสาธยายเป็นต้น ล้างหน้าแล้ว ไปดื่มข้าวยาคู ดื่มข้าวยาคูแล้วไปสู่โรงศิลปะอีก กระทำการสาธยาย ไปกินอาหารเช้า กินอาหารเช้าเสร็จแล้ว คิดว่า ขอพวกเราอย่าได้หลับนานด้วยความประมาทเลย แล้วหนุนศีรษะและเท้าที่ท่อนไม้ตะเคียน หลับไปหน่อยหนึ่งแล้วไปโรงศิลปะอีก เรียนสาธยายศิลปะ และเวลาเย็นกระทำการสาธยายศิลปะ กลับไปเรือนบริโภคอาหารเย็น ปฐมยามกระทำการสาธยาย เวลาเย็นนอนหนุนท่อนไม้เหมือนอย่างนั้นนั่นแล เขาเหล่านั้น ไม่รู้ขณะ และมีปัญญาอ่อน ซึ่งท่านหมายเอากล่าวไว้ดังนี้.

บทว่า โอตารํ แปลว่า ช่อง.

บทว่า อารมฺมณํ ได้แก่ ปัจจัย.

บทว่า ปธานสฺมิํ ได้แก่ กระทำความเพียรในสถานที่สำหรับทำความเพียร.

ได้ยินว่า ในครั้งปฐมโพธิกาล ภิกษุทั้งหลาย กระทำภัตกิจเสร็จแล้วมนสิการพระกรรมฐาน เมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังมนสิการอยู่นั้นแล พระอาทิตย์ก็อัสดงคต. ภิกษุเหล่านั้น อาบน้ำแล้ว ลงจงกรมอีก จง-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 744

กรมตลอดปฐมยาม. แต่นั้นคิดว่า พวกเราอย่านอนหลับนาน นอนเพื่อบรรเทาความลำบากทางร่างกาย จึงนอนหนุนท่อนไม้.

ก็ภิกษุเหล่านั้นลุกขึ้นในปัจฉิมยาม แล้วลงจงกรม. ท่านหมายเอาภิกษุเหล่านั้น จึงกล่าวไว้ดังนี้.

ในรัชกาลแห่งพระเจ้าแผ่นดินถึง ๓ รัชกาล เกาะแม้นี้ก็เป็นที่มีเสียงระฆังเป็นอันเดียวกัน ได้เป็นพื้นที่สำหรับบำเพ็ญเพียรอันเดียวกัน ระฆังที่เขาตีที่วิหารต่างๆ ก็ดังประสมไปที่ปิลิจฉิโกฏินคร (๑) ระฆังที่เขาตีที่กัลยาณีวิหาร ก็ดังประสมไปที่นาคทวีป ภิกษุนี้จะถูกเขาเหยียดนิ้วชี้ว่า ผู้นี้เป็นปุถุชน. ภิกษุทั้งหมดได้เป็นพระอรหันต์ในวันเดียวกัน.

บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเหตุที่มารไม่ได้เครื่องหนุนคือท่อนไม้เป็นอารมณ์.

จบอรรถกถากลิงครสูตรที่ ๘


(๑) ม. ปิลิจฺฉิโกฏิยํ.