พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. วิฬารสูตร ว่าด้วยภิกษุเปรียบด้วยแมว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36739
อ่าน  403

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 747

๑๐. วิฬารสูตร

ว่าด้วยภิกษุเปรียบด้วยแมว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 747

๑๐. วิฬารสูตร

ว่าด้วยภิกษุเปรียบด้วยแมว

[๖๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเที่ยวในสกุลเกินเวลา ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ อย่าเข้าไปเที่ยวในสกุลเกินเวลาเลย ภิกษุนั้นถูกพวกภิกษุว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่พอใจ ลำดับนั้น ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้เข้าไปเที่ยวในสกุลเกินเวลา ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ อย่าเข้าไปเที่ยวในสกุลเกินเวลาเลย ภิกษุนั้นถูกพวกภิกษุกล่าวอยู่ย่อมไม่พอใจ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 748

[๖๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีแมวได้ยืนคอยจับลูกหนูอยู่ในที่กองหยากเยื่อที่ทางระบายคูถโคในบ้าน ระหว่างที่ต่อเรือนสองหลัง ด้วยคิดว่า ลูกหนูจักไปหาเหยื่อในที่ใด เราจักจับมันกินเสียในที่นั้น ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ลูกหนูได้ออกไปหาเหยื่อ แมวจับลูกหนูนั้นแล้วรีบกัดกลืนลงไป ลูกหนูนั้นกัดทั้งไส้ใหญ่และไส้น้อยของแมวนั้น แมวนั้นย่อมเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ.

[๖๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เวลาเช้า นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต มีกายวาจาและจิตอันไม่รักษาแล้ว มีสติไม่เข้าไปตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์อันไม่สำรวมแล้ว เธอเห็นมาตุคามในบ้านหรือนิคมนั้น นุ่งห่มผ้าลับๆ ล่อๆ ความกำหนัดย่อมรบกวนจิตของเธอ เพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มผ้าลับๆ ล่อๆ เธอมีจิตอันราคะรบกวน ชื่อว่าย่อมเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย การที่เธอบอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อหีนเพศนั้น ชื่อว่าเป็นความตายในอริยวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เธอต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง การปรากฏแห่งการออกจากอาบัติตามที่ต้องนั้น ชื่อว่าเป็นทุกข์ปางตายทีเดียว เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีกายวาจาและจิตอันรักษาแล้ว มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว เข้าไปสู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

จบวิฬารสูตรที่ ๑๐

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 749

อรรถกถาวิฬารสูตรที่ ๑๐

ในวิฬารสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สนฺธิ ในคำว่า สนฺธิสมลสงฺกติเร ได้แก่ ที่ต่อแห่งเรือนทั้งสอง.

บทว่า สมลา ได้แก่ ทางเป็นที่ออกของคูถ จากบ้าน.

บทว่า สงฺกติเร ได้แก่ ที่ทิ้งหยากเยื่อ.

บทว่า มุทุมูสิํ ได้แก่ หนูอ่อน.

บทว่า วุฏฺานํ ปญฺายติ ได้แก่ การแสดงย่อมปรากฏ.

จบอรรถกถาวิฬารสูตรที่ ๑๐