พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ฆฏสูตร ว่าด้วยเรื่องหม้อเกลือใหญ่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36744
อ่าน  591

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 757

๓. ฆฏสูตร

ว่าด้วยเรื่องหม้อเกลือใหญ่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 757

๓. ฆฏสูตร

ว่าด้วยเรื่องหม้อเกลือใหญ่

[๖๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ในวิหารเดียวกัน ในพระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ครั้งนั้นแล เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 758

จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๖๙๒] ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ท่านโมคคัลลานะ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวหน้าของท่านบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ชะรอยวันนี้ ท่านมหาโมคคัลลานะจะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียด.

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันหยาบ อนึ่ง ผมได้มีธรรมีกถา.

สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับใคร.

ม. ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคเจ้า.

สา. เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ไกลนัก ท่านมหาโมคคัลลานะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาหาท่านมหาโมคคัลลานะด้วยฤทธิ์.

ม. ผมไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยฤทธิ์ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ได้เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ผมมีทิพยจักษุและทิพยโสตธาตุอันหมดจดเท่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีทิพยจักษุและทิพยโสตธาตุอันหมดจดเท่าผม.

สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร.

[๖๙๓] ม. ผมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่นี้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้ปรารภความเพียรๆ ดังนี้ ก็บุคคลจะ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 759

ชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยเหตุประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า อาวุโส เมื่อผมกราบทูลอย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะผมดังนี้ว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกายจงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษยังไม่บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุดความเพียรเสียเป็นอันไม่มี โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้แล อาวุโส ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล.

[๖๙๔] สา. อาวุโส เปรียบเหมือนก้อนหินเล็กๆ ที่บุคคลเอาไปวางเปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์ฉันใด เราเมื่อเปรียบเทียบกับท่านมหาโมคคัลลานะก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อจำนงอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปแล.

[๖๙๕] ม. อาวุโส ก้อนเกลือเล็กๆ ที่บุคคลหยิบเอาไปวาง เปรียบเทียบกับหม้อเกลือใหญ่ฉันใด เมื่อผมเปรียบเทียบท่านพระสารีบุตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชม ทรงสรรเสริญ ทรงยกย่องแล้วโดยปริยายมิใช่น้อย มีอาทิว่า ภิกษุผู้ถึงซึ่งฝั่งคือพระนิพพาน เป็นผู้เยี่ยมด้วยปัญญา ด้วยศีลและอุปสมะ คือพระสารีบุตร ดังนี้.

ท่านมหานาคทั้งสองนั้น เพลิดเพลินคำสนทนาที่เป็นสุภาษิตของกันและกัน ด้วยประการดังนี้แล.

จบฆฏสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 760

อรรถกถาฆฏสูตรที่ ๓

ในฆฏสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เอกวิหาเร ได้แก่ ในห้องหนึ่ง.

ได้ยินว่า ครั้งนั้นภิกษุอาคันตุกะประชุมกันเป็นอันมาก. เพราะฉะนั้น เสนาสนะแถวชายบริเวณหรือชายวิหารไม่เพียงพอ พระเถระสองรูปต้องอยู่ห้องเดียวถัน พระเถระเหล่านั้น กลางวันนั่งแยกกัน แต่กลางคืนกั้นม่านไว้ในระหว่างพระเถระทั้งสอง พระเถระเหล่านั้นนั่งในที่ที่ถึงแก่ตนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอกวิหาเร.

คำว่า โอฬาริเกน ท่านกล่าวหมายเอาความมีอารมณ์หยาบ. ด้วยว่า พระเถระนั่น อยู่ด้วยวิหารธรรมคือทิพยจักษุและทิพยโสต.

จริงอยู่ รูปายตนะและสัททายตนะที่พระเถระทั้งสองนั้นฟังแล้ว เป็นอารมณ์หยาบ.

วิหารธรรมนั้นชื่อว่าหยาบ เพราะเห็นรูปด้วยทิพยจักษุ และฟังเสียงด้วยทิพยโสตธาตุ.

บทว่า ทิพฺพจกฺขุํ วิสุชฺฌิ ความว่า ทิพยจักษุได้บริสุทธิ์โดยที่ได้เห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า ทิพฺพา จ โสตธาตุ ความว่า ทิพยโสตธาตุแม้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์โดยที่ได้ฟังพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทิพยจักษุและทิพยโสตทั้งสองแม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็บริสุทธิ์ โดยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปและทรงสดับเสียงของพระเถระ.

ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระเถระคิดว่า บัดนี้ พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหนหนอ จึงเจริญอาโลกกสิณ เห็นพระศาสดาประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎี ในพระเชตวันวิหาร ด้วยทิพยจักษุ ได้ฟังพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยทิพยโสตธาตุ. แม้พระศาสดาก็ได้ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแล. พระศาสดาและพระ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 761

เถระได้เห็นและได้ฟังเสียงกันและกัน ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อารทฺธวิริโย ได้แก่ มีความเพียรบริบูรณ์ คือ ประคองความเพียรไว้แล้ว.

บทว่า ยาวเทว อุปนิกฺเขปนมตฺตาย ความว่า ก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่วางไว้ใกล้ภูเขาหิมวันต์ซึ่งกว้างสามพันโยชน์.

ท่านอธิบายว่า ก้อนหินมีไว้เพียงเพื่อจะเทียบเคียงอย่างนี้ว่า ภูเขาหิมวันต์ใหญ่หนอ ก้อนหินเท่านี้หนอ. แม้ข้างหน้าก็นัยนี้แหละ.

บทว่า กปฺปํ ได้แก่ ตลอดอายุกัป.

ด้วยบทว่า โลณฆฏาย ท่านแสดงเปรียบเหมือนหม้อเกลือที่วางไว้กว้างเท่าขอบปากจักรวาลสูงจดพรหมโลก.

ก็พระเถระเหล่านั้น เมื่อนำอุปมา มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็นกัน และกับคุณที่มีอยู่. อย่างไร.

จริงอยู่ ธรรมดาว่าฤทธิ์นี้เป็นเสมือนภูเขาหิมพานต์ เพราะอรรถว่า สูงลิบ และเพราะอรรถว่า ขนาดใหญ่ ส่วนปัญญาเป็นเสมือนรสเกลือที่ใส่เข้าไว้ในกับข้าวทุกชนิด เพราะอรรถว่า เข้าไปตั้งอยู่ในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ นำมาเปรียบเทียบด้วยอรรถว่า เห็นสมกัน อย่างนี้ก่อน.

ส่วนลักษณะแห่งสมาธิ ปรากฏแจ่มชัดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระ. ชื่อว่าฤทธิ์ที่ไม่มีอยู่ ย่อมไม่มีแก่พระสารีบุตรเถระก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงตั้งพระมหาโมลคัลลานเถระนี้แลไว้ในเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์ มหาโมคคัลลานะเป็นเลิศ.

ส่วนลักษณะวิปัสสนา ปรากฏแจ่มชัดแก่พระสารีบุตรเถระ. ปัญญามีอยู่แม้แก่พระมหาโมคคัลลานเถระก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงตั้งพระสารีบุตรเถระนี้แลไว้ในเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นเลิศ. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งสองจึงรับหน้าที่แห่งกันและกัน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 762

นำมาเปรียบเทียบกับคุณที่มีอยู่ด้วยประการฉะนี้.

จริงอยู่ พระมหาโมคคัลลานเถระ บรรลุความสำเร็จในสมาธิลักษณะ พระสารีบุตรเถระ บรรลุในวิปัสสนาลักษณะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุทั้งสองลักษณะ.

จบอรรถกถาฆฏสูตรที่ ๓