พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. นวสูตร ว่าด้วยเรื่องภิกษุใหม่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36745
อ่าน  385

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 762

๔. นวสูตร

ว่าด้วยเรื่องภิกษุใหม่


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 762

๔. นวสูตร

ว่าด้วยเรื่องภิกษุใหม่

[๖๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ สมัยนั้นแล ภิกษุใหม่รูปหนึ่งเดินกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปสู่วิหารแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อยนิ่งอยู่ ไม่ช่วยเหลือภิกษุทั้งหลายในเวลาทำจีวร ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๖๙๗] ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใหม่รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้เดินกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตเข้าไปสู่วิหารแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อยนิ่งอยู่ ย่อมไม่ช่วยเหลือภิกษุทั้งหลายในเวลากระทำจีวร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงไปบอกภิกษุนั้นตามคำของเราว่า พระศาสดาให้หา ภิกษุนั้นทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้วเข้าไปหาภิกษุนั้น ครั้นแล้วได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 763

กล่าวกะเธอว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่าน เธอรับคำของภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเธอว่า จริงหรือภิกษุ ได้ยินว่า เธอเดินกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปสู่วิหารแล้วเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยนิ่งอยู่ ไม่ช่วยเหลือภิกษุทั้งหลายในเวลากระทำจีวร.

ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็กระทำกิจส่วนตัวเหมือนกัน.

[๖๙๘] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของภิกษุนั้นด้วยพระทัย จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ายกโทษภิกษุนี้เลย ภิกษุนี้เป็นผู้มีปรกติได้ฌาน ๔ อันเป็นสุขวิหารธรรมในปัจจุบัน อันอาศัยอธิจิต ตามความปรารถนาไม่ยาก ไม่ลำบาก กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.

[๖๙๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียรด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพานอันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้ แต่ภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นอุดมบุรุษ ชำนะมารทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด ดังนี้.

จบนวสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 764

อรรถกถานวสูตรที่ ๔

ในนวสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก ได้แก่ ไม่มีความขวนขวาย.

บทว่า สงฺกตายติ (๑) ได้แก่ อยู่.

บทว่า เวยฺยาวจฺจํ ได้แก่ กิจที่จะพึงทำในจีวร.

บทว่า อภิเจตสิกานํ ได้แก่ อาศัยอภิจิต คือ จิตสูงสุด.

บทว่า นิกามลาภี ได้แก่ เป็นผู้ได้ตามปรารถนา เพราะเป็นผู้สามารถเข้าสมาบัติได้ในขณะที่ปรารถนา.

บทว่า อกิจฺฉลาภี ได้แก่ เป็นผู้ได้ไม่ยาก เพราะเป็นผู้สามารถข่มอันตรายของฌานเข้าสมาบัติได้โดยง่าย.

บทว่า อกสิรลาภี ได้แก่ เป็นผู้ได้อย่างไพบูลย์ เพราะเป็นผู้สามารถออกได้ตามกำหนด อธิบายว่า มีฌานคล่องแคล่ว.

บทว่า สิถิลมารพฺภ ได้แก่ ใช้ความเพียรย่อหย่อน.

จบอรรถกถานวสูตรที่ ๔


(๑) ม. สงฺกสายติ.