๖. ภัททิยสูตร ว่าด้วยเรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 766
๖. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยเรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 766
๖. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยเรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
[๗๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระลกุณฏกภัททิยะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
[๗๐๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระลกุณฏกภัททิยะมาแต่ที่ไกลเทียว แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือไม่ ซึ่งภิกษุกำลังมาอยู่โน่น มีวรรณะไม่งาม ไม่น่าดู เตี้ย เป็นที่ดูแคลนของภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแล มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อนึ่ง สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้า เธอก็ได้โดยง่าย เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่.
[๗๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
สัตว์ทั้งหลาย จำพวกหงส์ นกกะเรียน นกยูง ช้าง เนื้อฟาน ทั้งหมด ย่อมกลัวราชสีห์ ความเสมอกันในกายไม่มี ฉันใด ในมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 767
เหมือนกัน ถ้าคนหนุ่มมีปัญญา เขาก็ย่อมใหญ่ในมนุษย์เหล่านั้น ไม่เหมือนคนพาล ซึ่งถือร่างกายเป็นใหญ่ ดังนี้.
จบภัททิยสูตรที่ ๖
อรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๖
ในภัททิยสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ทุพฺพณฺณํ ได้แก่ มีผิวกายไม่งาม.
บทว่า โอโกฏิมกํ ได้แก่ เตี้ย.
บทว่า ปริภูตรูปํ ได้แก่ ถูกดูแคลนเรื่องขนาด.
ได้ยินว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ปรามาสท่านลกุณฏกภัททิยะว่า ท่านภัททิยะ ท่านภัททิยะ หยอกล้อแบบต่างๆ ฉุดมาบ้าง รั้งไปรอบๆ บ้าง ในที่นั้นๆ เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปริภูตรูปํ ดังนี้.
ก็เพราะเหตุไร ท่านลกุณฏกภัททิยะจึงมีรูปอย่างนี้.
เล่ากันมาว่า ท่านลกุณฏกภัททิยะนี้ เคยเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง พระองค์ทรงรังเกียจพวกคนแก่และหญิงแก่ๆ ถ้าพระองค์เห็นคนแก่ๆ ให้เกล้ามวยผมของคนเหล่านั้น ให้ผูกรักแร้ แล้วให้เล่นตามชอบใจ แม้เห็นหญิงแก่ๆ ก็ทำพิเรนๆ ตามปรารถนาแก่หญิงเหล่านั้น ให้เล่นตามชอบใจ โทษใหญ่ย่อมเกิดขึ้นในสำนักแห่งบุตรและธิดาเป็นต้นของคนเหล่านั้น การกระทำความชั่วของท่าน ได้กระทำให้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวตั้งแต่แผ่นดินจดถึงเทวโลก ๖ ชั้น.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะมีพระดำริว่า คนอันธพาลเบียดเบียนมหาชน เราจักข่มเขา. ท้าวสักกะจึงแปลงเพศเป็นคนแก่ชาวบ้าน ยกตุ่มเต็มด้วย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 768
เปรียงตุ่มหนึ่งไว้บนยานน้อย ขับยานเข้าพระนคร. ฝ่ายพระราชาทรงช้างเสด็จออกจากพระนคร ทอดพระเนตรเห็นเขา ตรัสว่า คนแก่นี้มุ่งหน้ามาหาเราด้วยยานน้อยเต็มด้วยเปรียง ห้ามเขาไว้ ห้ามเขาไว้. พวกมนุษย์วิ่งหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่เห็น. เพราะท้าวสักกะทรงอธิษฐานไว้อย่างนี้ว่า พระราชาเท่านั้นจงเห็นเรา คนอื่นอย่าได้เห็น. ลำดับนั้น เมื่อมนุษย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ที่ไหนพระองค์ ที่ไหนพระองค์ เท่านั้น พระราชาพร้อมทั้งช้างเสด็จเข้าไปใต้ยาน เหมือนลูกโคอยู่ใต้แม่โคฉะนั้น. ท้าวสักกะก็ทรงทุบตุ่มเปรียงแตกออก ตั้งแต่นั้น พระราชามีพระวรกายเปรอะเปื้อนไปด้วยเปรียง ท้าวเธอให้ขัดสีพระวรกาย สรงสนานในสระโบกขรณีในสวน ตกแต่งพระวรกายเสด็จเข้าพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นเขาอีก ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงตรัสว่า คนแก่ที่เราเห็นนี้นั้นปรากฏอีก จงห้ามเขา จงห้ามเขา. พวกมนุษย์กราบทูลว่า ที่ไหนพระองค์ ที่ไหนพระองค์ เที่ยววิ่งพล่านไปมา. พระองค์ประสบอาการผิดปกติอีกครั้ง ขณะนั้น ท้าวสักกะให้โคและยานหายไป ประทับยืนในอากาศตรัสว่า คนอันธพาล ท่านสำคัญเราว่า ผู้นี้เป็นพ่อค้าเปรียง เราคือท้าวสักกเทวราช มาเพื่อจะห้ามการทำชั่วของท่านนั้น ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้ต่อไป ทรงคุกคามแล้วเสด็จไป. ด้วยกรรมอันนี้ ท่านจึงมีผิวพรรณทราม.
ก็ในครั้งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านลกุณฏกภัททิยะนี้ เป็นนกดุเหว่าชื่อจิตตปัตต์ อยู่ที่มิคทายวันอันปลอดภัย วันหนึ่งบินไปป่าหิมวันต์ เอาจะงอยปากคาบผลมะม่วงหวานบินมา เห็นพระศาสดามีภิกษุสงฆ์แวดล้อมจึงคิดว่า วันอื่นๆ เราไม่มีอะไร เห็นพระศาสดา แต่วันนี้เรามีผลมะม่วงสุกนี้ เราจักถวายผลมะม่วงแด่พระทศพล ดังนี้ บินร่อนอยู่
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 769
ในอากาศ พระศาสดาทรงทราบจิตของนกดุเหว่า ทอดพระเนตรดูอุปัฏฐาก. อุปัฏฐากนำบาตรออกวางไว้ในพระหัตถ์ของพระศาสดา. นกดุเหว่าวางมะม่วงสุกลงในบาตรของพระทศพล. พระศาสดาประทับนั่ง เสวยมะม่วงสุกในที่ตรงนั้นเอง. นกดุเหว่ามีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงคุณพระทศพลร่ำไป ถวายบังคมพระทศพลแล้วบินไปสู่รังของตน ให้เวลาล่วงไปด้วยความสุขเกิดแต่ปีตินั่นเองตลอด ๗ วัน. ด้วยกรรมอันนี้ นกดุเหว่านั้นจึงมีเสียงไพเราะ.
ในครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเริ่มสร้างเจดีย์ พวกช่างปรึกษากันว่า เราจะทำขนาดไหน ขนาด ๗ โยชน์ นี้ใหญ่เกินไป ขนาด ๖ โยชน์ แม้นี้ก็ใหญ่เกินไป ขนาด ๕ โยชน์ แม้นี้ก็ใหญ่เกินไป ขนาด ๔ โยชน์ ๓ โยชน์ ๒ โยชน์ ดังนี้ ครั้งนั้น ท่านลกุณฏกภัททิยะนี้เป็นหัวหน้าช่าง กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ในอนาคตควรจะประคับประคองความสุขไว้ ด้วยอาการอย่างนี้ถือเชือกวัดไปยืนในที่สุดคาวุตหนึ่ง กล่าวว่า มุขหนึ่งๆ คาวุตหนึ่ง จักเป็นพระเจดีย์กลมโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง. ช่างเหล่านั้นได้ทำตามคำหัวหน้าช่าง. ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงสร้างเจดีย์สำเร็จ. ท่านได้ทำประมาณของพระพุทธเจ้าผู้หาประมาณมิได้ ด้วยประการฉะนี้ ดังนั้น ด้วยกรรมนั้น ท่านจึงเกิดเป็นคนเตี้ย.
บทว่า หตฺถิโย ปสฏมิคา ได้แก่ ช้างและเนื้อฟาน.
บทว่า นตฺถิ กายสฺมิํ ตุลยตา ความว่า ชื่อว่าขนาดในกายไม่มี อธิบายว่า ขนาดกาย ไม่สำคัญ.
จบอรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๖