พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. นันทสูตร ว่าด้วยเรื่องนันทะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ก.ย. 2564
หมายเลข  36749
อ่าน  416

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 772

๘. นันทสูตร

ว่าด้วยเรื่องนันทะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 772

๘. นันทสูตร

ว่าด้วยเรื่องนันทะ

[๗๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะ ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าแม่น้าแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ห่มจีวรที่ทุบแล้ว ทุบอีก หยอดนัยน์ตา ถือบาตรมีสีใส เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๗๑๐] ครั้นท่านพระนันทะนั่งเรียบร้อยแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนนันทะ ข้อที่เธอห่มจีวรที่ทุบแล้วทุบอีก หยอดนัยน์ตา และถือบาตรมีสีใส ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ข้อที่เธอถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่พึงเป็นผู้อาลัยในกามทั้งหลายอยู่อย่างนี้ จึงสมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.

[๗๑๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

เมื่อไร เราจะพึงได้เห็นนันทะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโภชนะที่เจือปนกัน ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย ดังนี้.

[๗๑๒] ลำดับนั้น ท่านพระนันทะ โดยสมัยต่อมา ได้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 773

อาลัยในกามทั้งหลายอยู่.

จบนันทสูตรที่ ๘

อรรถกถานันทสูตรที่ ๘

ในนันทสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อาโกฏิตปจฺจาโกฏิตานิ ความว่า ที่ใช้ฝ่ามือหรือค้อนทุบที่ข้างๆ หนึ่ง.

บทว่า อญฺชิตฺวา ได้แก่ เต็มด้วยยาตา.

บทว่า อจฺฉํ ปตฺตํ ได้แก่ บาตรดินที่มีสีใส.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระเถระจึงทำอย่างนั้น.

ตอบว่า เพื่อจะรู้อัธยาศัยของพระศาสดา.

ได้ยินว่า พระเถระนั้นได้ความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพระศาสดาจักตรัสว่า น้องชายของเรานี้ งามจริงหนอ เราจักประพฤติตามอาการนี้แล ถ้าจะเห็นโทษในข้อนี้ เราจะละอาการนี้ ถือเอาผ้าจากกองหยากเยื่อ กระทำจีวรครอง จักอยู่ประพฤติในเสนาสนะสุดท้าย.

บทว่า อสฺสสิ แปลว่า จักเป็น.

บทว่า อญฺาภุญฺเชน ความว่า ก็อาหารการกินของพวกภิกษุผู้แสวงหาโภชนะที่มีกลิ่นหอม ปรุงด้วยเครื่องเผ็ดร้อน ในเรือนของอิสรชน ที่เขากำหนดไว้ ชื่อว่า อัญญาภุญชะ.

แต่โภชนะคละกัน ที่ภิกษุผู้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนตามลำดับเรือน ชื่อว่า อัญญาภุญชะ อัญญาภุญชะนี้ ท่านประสงค์เอาในที่นี้.

บทว่า กาเมสุ อนเปกฺขินํ ได้แก่ ปราศจากความเยื่อใย ในวัตถุกามและกิเลสกาม.

บทว่า อารญฺิโก จ ท่านกล่าวโดยการสมาทานทุกอย่างทีเดียว.

คำว่า กาเมสุ จ อนเปกฺโข ความว่า พระสูตรนี้พระองค์ทรงแสดงนางอัปสรเป็นต้น ในเทวโลก เสด็จมาตรัสไว้ในภายหลัง.

ตั้งแต่วันที่ตรัส

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 1 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 774

พระสูตรนี้ พระเถระเพียรพยายามอยู่โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัต เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.

จบอรรถกถานันทสูตรที่ ๘