๙. ติสสสูตร ว่าด้วยเรื่องท่านพระติสสะ
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 774
๙. ติสสสูตร
ว่าด้วยเรื่องท่านพระติสสะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 774
๙. ติสสสูตร
ว่าด้วยเรื่องท่านพระติสสะ
[๗๑๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระติสสะผู้เป็นโอรสพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทแล้ว นั่งเป็นทุกข์เสียใจ หลั่งน้ำตาอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๗๑๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูก่อนติสสะ ไฉนหนอ เธอจึงนั่งเป็นทุกข์เสียใจหลั่งน้ำตาอยู่.
ท่านพระติสสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายกลุ้มรุมเสียดแทงข้าพระองค์ด้วยวาจาดุจประตัก.
พ. จริงอย่างนั้น ติสสะ เธอว่าเขาข้างเดียว แต่เธอไม่อดทนต่อถ้อยคำ ข้อที่เธอว่าเขาข้างเดียว ไม่อดทนต่อถ้อยคำนั้น ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่ข้อที่เธอว่าเขาด้วยอดทนต่อถ้อยคำได้ด้วย นั่นแล สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา.
[๗๑๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 775
เธอโกรธทำไมหนอ เธออย่าโกรธ ติสสะ ความไม่โกรธเป็นความประเสริฐของเธอ แท้จริง บุคคลย่อมประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกำจัดความโกรธ ความถือตัว และความลบหลู่คุณท่าน ดังนี้.
จบติสสสูตรที่ ๙
อรรถกถาติสสสูตรที่ ๙
ในติสสสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ทุมฺมโน ได้แก่ เกิดโทมนัส.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระติสสะนี้จึงเกิดเป็นทุกข์เสียใจอย่างนี้.
ตอบว่า ก็พระติสสะนี้เป็นกษัตริย์บวช. เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ท่านบวชแล้ว ให้นุ่งผ้าสาฎก ๒ ชั้น ห่มจีวรอย่างดี หยอดตา ทาศีรษะด้วยน้ำมันเจือด้วยน้ำชาด. เมื่อเหล่าภิกษุไปสู่ที่พักกลางคืนและกลางวัน ท่านไม่รู้ว่า ธรรมดาว่าภิกษุต้องนั่งในโอกาสอันสงัด จึงไปโรงฉันขึ้นเตียงใหญ่แล้วนั่ง. ภิกษุทั้งหลายผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้เที่ยวไปในทิศเป็นอาคันตุกะมา คิดว่า ด้วยทำนองนี้ พวกเรามีตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลี ไม่อาจจะเฝ้าพระทศพลได้ เราจะวางสิ่งของไว้ก่อน ดังนี้แล้วก็ไปโรงฉัน.
เมื่อพระมหาเถระกำลังมา ท่านติสสะนั่งนิ่งทีเดียว. ภิกษุเหล่าอื่นถามโดยเอื้อเฟื้อ [ขอโอกาส] ว่า พวกเราจะทำวัตรคือการล้างเท้า พัดด้วยก้านตาลนะ ก็พระติสสะนี้นั่งอยู่นั่นแล ถามว่า พวกท่านมีพรรษาเท่าไร. เมื่อพวกภิกษุนั้นตอบว่า พวกกระผมยังไม่มีพรรษา ก็ท่านเล่ามีพรรษาเท่าไร จึงกล่าวว่า ผมบวชในวันนี้. ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านว่า อาวุโส ท่านจงตัด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 776
มวยผมเดี๋ยวนี้ แม้วันนี้กลิ่นเหาที่โคนศีรษะของท่านส่งกลิ่นฟุ้งทีเดียว เมื่อภิกษุแก่กว่ามีประมาณเท่านี้ ขอโอกาสทำวัตรของเรา ท่านก็นั่งนิ่งเงียบ แม้เพียงความยำเกรงของท่านก็ไม่มี ท่านบวชในศาสนาของใคร ดังนี้แล้ว รุมกันประหารพระติสสะนั้นด้วยหอกคือวาจา กล่าวว่า ท่านไม่อาจเลี้ยงชีพได้เพราะเป็นหนี้ หรือกลัวจึงบวช หรือท่านแลดูพระเถระรูปหนึ่ง เมื่อพระเถระนั้นกล่าวว่า ท่านมองดูเราหรือขรัวตา จึงแลดูอีกรูปหนึ่ง แม้เมื่อท่านรูปนั้นกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ทีนั้น ท่านก็เกิดขัตติยมานะขึ้นว่า ภิกษุเหล่านี้รุมกันใช้หอกคือวาจาทิ่มแทงเรา น้ำตาสีแก้วมณีในดวงตาก็ไหลพราก. แต่นั้นท่านก็กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านมาสู่สำนักของใคร.
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ก็ท่านเล่าสำคัญเราว่ามาสู่สำนักของท่านหรือ พวกเราไม่ใช่อยู่ในเพศคฤหัสถ์นี้ จึงกล่าวว่า พวกเรามาสู่สำนักของพระศาสดาผู้เป็นอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก. พระติสสะกล่าวว่า พวกท่านมาในสำนักพี่ชายของเรา ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักไปตามทางที่พวกท่านมานั่นแล โกรธออกไปแล้วคิดในระหว่างทางว่า เมื่อเราไปโดยทำนองนี้ก่อน พระศาสดาจักให้นำภิกษุเหล่านี้ออกไป จึงเป็นทุกข์เสียใจ เดินน้ำตาไหลไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเกิดเป็นอย่างนี้แล.
บทว่า วาจาย สนฺนิโตทเกน ความว่า ด้วยประตัก คือ ถ้อยคำ.
บทว่า สญฺชมฺภริํ อกํสุ ได้แก่ กระทำให้เต็มแปร้ คือให้ถูกต้องไม่มีระหว่าง. ท่านอธิบายไว้ว่า แทงข้างบน.
บทว่า วตฺตา ความว่า ท่านพูดเรื่องที่ปรารถนากะคนเหล่าอื่น.
บทว่า โน จ วจนกฺขโม ความว่า ท่านไม่อาจอดทนถ้อยคำของชนเหล่าอื่น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่าง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 777
นี้ว่า เธอถูกความโกรธนี้แทงด้วยประตักคือวาจาในปัจจุบันนี้ก่อน แต่ในอดีตเธอถูกพระราชาเนรเทศออกจากแว่นแคว้น. ภิกษุทั้งหลายจึงทูลวิงวอนกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ในกาลไหน พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า ในอดีตกาล พระเจ้าพาราณสีเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี. ครั้งนั้นฤาษี ๒ ท่าน คือท่านหนึ่ง ชื่อว่า ชาติมา ท่านหนึ่งชื่อว่า มาตังคะ. ได้ไปยังกรุงพาราณสี ในฤาษีทั้งสองนั้น ฤาษีชื่อว่า ชาติมา ไปถึงก่อน นั่งที่โรงช่างหม้อ. ภายหลังมาตังคดาบสได้ไปขอพักในที่นั้น. นายช่างหม้อกล่าวว่า ในที่นี้ บรรพชิตผู้เข้าไปก่อนมีอยู่ ท่านจงถามเขาเถิด. มาตังคดาบสนั้น ถือเอาบริขารของตนยืนใกล้ประตูโรงช่างหม้อ กล่าวว่า ท่านอาจารย์ โปรดให้โอกาสข้าพเจ้าพักอยู่ในที่นี้สักราตรีหนึ่งเถิด.
ชาติมาฤาษีกล่าวว่า เข้าไปเถิดท่าน จึงถามท่านผู้เข้าไปนั่งว่า ท่านโคตรอะไร. ตอบว่า ข้าพเจ้าโคตรจัณฑาล. ชาติมาฤาษีว่า ข้าไม่อาจจะนั่งในที่แห่งเดียวกับเจ้าได้ จงไป ณ ส่วนข้างหนึ่ง. มาตังคดาบสลาดเครื่องลาดหญ้าแล้วก็นอนในที่นั้นนั่นเอง. ชาติมาฤาษีนอนพิงประตู. ฝ่ายมาตังคดาบสออกไปเพื่อถ่ายปัสสาวะจึงเหยียบอกชาติมาฤาษีนั้นเข้า. เมื่อชาติมาฤาษีถามว่า ใครนั่น. จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าเองท่านอาจารย์. เฮ้ย เจ้าจัณฑาล เจ้าไม่เห็นทางจากที่แห่งอื่นหรือ. เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าจะไม่ต้องมาเหยียบข้า. ท่านอาจารย์ เมื่อข้าไม่เห็นก็เหยียบเอา โปรดยกโทษให้ข้าด้วยเถิด.
เมื่อมหาบุรุษออกไปภายนอก ชาติมาฤาษีนั้นคิดว่า ผู้นี้แม้ไปภายหลังก็จักมาข้างนี้ จึงนอนพลิกกลับไปเสีย. ฝ่ายมหาบุรุษเข้าไปด้วยคิดว่า ท่านอาจารย์นอนหันศีรษะมาทางนี้ เราจักไปทางที่ใกล้เท้าของท่าน ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 778
จึงเหยียบอกเข้าอีก. ก็เมื่อฤาษีนั้นถามว่า นั่นใคร จึงตอบว่า ข้าพเจ้าเอง ท่านอาจารย์. ฤาษีนั้นกล่าวว่า ชั้นแรกทีเดียว เจ้าไม่รู้จึงทำ บัดนี้เจ้าทำกระทบเรา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ศีรษะของเจ้าจงแตก ๗ เสี่ยง มหาบุรุษไม่พูดอะไรๆ ก่อนที่อรุณจะขึ้นนั่นเอง ได้ยึดดวงอาทิตย์ไว้ ไม่ยอมให้พระอาทิตย์ขึ้น พวกคนและสัตว์เดรัจฉานมีช้างม้าเป็นต้นต่างตื่นกันแล้ว.
พวกมนุษย์พากันไปยังราชตระกูลทูลว่า ขอเดชะ ขึ้นชื่อว่าผู้ที่จะไม่ตื่นทั่วนครไม่มี แต่ไม่ปรากฏว่าอรุณจะขึ้น นี่เหตุอะไรกัน. ถ้ากระไร ขอพระองค์โปรดตรวจตราพระนคร. คนเหล่านั้นเมื่อสำรวจดู ก็พบดาบสสองท่านในโรงช่างหม้อ จึงคิดว่า นี่จักเป็นการทำของสองท่านนี้ จึงได้พากันไปกราบทูลพระราชา ถูกพระราชาตรัสว่า พวกเจ้าจงไปถามท่านดู แล้วจึงพากันมาถามฤาษีชื่อชาติมานั้นว่า พวกท่านทำให้มืดหรือ. ชาติมาฤาษีตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำ แต่เจ้าดาบสขี้โกงตัวเลวมีมายาเหลือหลายนี้ทำ จงถามดูเถิด.
คนเหล่านั้นจึงไปถามมหาบุรุษว่า ท่านเจ้าข้า ท่านทำให้มืดหรือ. ดาบสตอบว่า ใช่ อาจารย์ผู้นี้ได้สาปข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงทำ. คนเหล่านั้นจึงไปกราบทูลพระราชา. ฝ่ายพระราชาเสด็จมาตรัสถามมหาบุรุษว่า ท่านเจ้าข้า ท่านทำให้มืดหรือ. ดาบสทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร. พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร เจ้าข้า. ดาบสทูลว่า อาตมภาพถูกดาบสนี้สาป ถ้าดาบสนี้ขอขมาโทษอาตมภาพไซร้ อาตมภาพจักปล่อยพระอาทิตย์ พระราชาตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจงขมาโทษดาบสนี้เถิด. ฝ่ายฤาษีทูลว่า คนผู้มีชาติเช่นเราจักให้ขมาโทษคนจัณฑาลเช่นนั้นหรือ อาตมภาพไม่ขอขมาโทษดอก.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 779
ลำดับนั้น พวกคนกล่าวกะท่านว่า ท่านจักไม่ขอขมาโทษตามความชอบใจของตนหรือ ดังนี้แล้วช่วยกันจับมือและเท้าแล้วให้นอนหมอบแทบเท้า แล้วกล่าวว่า ขอจงขมาโทษเถิด. ดาบสนั้นนอนเงียบเสียง. คนเหล่านั้นจึงกล่าวย้ำกะดาบสนั้นว่า จงขอขมาโทษเสีย. ลำดับนั้น ดาบสจึงกล่าวว่า โปรดยกโทษข้าเถิดอาจารย์.
มหาบุรุษกล่าวว่า อันดับแรก ข้าพเจ้าจักยกโทษให้ท่านแล้วปล่อยพระอาทิตย์ แต่เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ศีรษะของท่านจักแตก ๗ เสี่ยง ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า ท่านจงเอาก้อนดินเหนียว ขนาดเท่าศีรษะวางไว้บนกระหม่อมของดาบสนี้ แล้วให้ท่านยืนแช่น้ำในแม่น้ำแค่คอ. พวกผู้คนได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ไพร่พลของพระราชาทั่วแว่นแคว้นประชุมกัน. มหาบุรุษได้ปล่อยพระอาทิตย์แล้ว. แสงพระอาทิตย์มากระทบก้อนดิน. ก้อนดินนั้นก็แตก ๗ เสี่ยง. ในขณะนั้นนั่นเอง ดาบสนั้นก็ดำลงโผล่ขึ้นทางท่าหนึ่งแล้วก็หนีไป.
พระศาสดาทรงนำเรื่องนี้มาตรัสว่า บัดนี้ท่านได้บริภาษในสำนักของภิกษุทั้งหลายก่อน. แม้ในกาลก่อนท่านอาศัยความโกรธนี้ จึงถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้น ครั้นทรงสืบอนุสนธิ เมื่อจะโอวาทดาบสนั้น จึงตรัสว่า ติสสะ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เธอแล เป็นต้น.
จบอรรถกถาติสสสูตรที่ ๙